ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” ถอดบทเรียน 15 ปี เอเอ็มซีช่วยลดหนี้เสียกว่า 30%

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” ถอดบทเรียน 15 ปี เอเอ็มซีช่วยลดหนี้เสียกว่า 30%

17 ตุลาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัวและได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

แม้วิกฤติปี 2540 จะผ่านมา 15 ปีแล้ว แต่ร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่จางหายไป โดยเฉพาะปัญหาหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินที่มีจำนวนมหาศาล แนวทางหนึ่งที่มีการดำเนินการแก้ไขคือ การตั้งองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ซึ่งสำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษ “อมเรศ ศิลาอ่อน” ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังมีหนี้เสียอีกจำนวนมากที่ตกค้างอยู่ในสถาบันการเงิน ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ทั้งของภาครัฐและเอกชน ขึ้นมาบริหารจัดการหนี้เสียที่เหลืออยู่ในระบบสถาบันการเงิน

ในการบริหารจัดการหนี้เสียดังกล่าว เอเอ็มซีมีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินให้หลุดพ้นจากปัญหาเรื้อรังมากน้อยแค่ไหน และวิธีการบริหารจัดการหนี้เสียจำนวนมากทำอย่างไร ดังนั้นซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สำนักข่าวไทยพับลิก้า จึงสัมภาษณ์พิเศษ “นายบรรยง วิเศษมงคลชัย” กรรมการและประธานคณะกรรมการจัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานที่เอเอ็มซีถึง 2 แห่ง คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) กับ บสก. มากว่า 10 ปี

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

ทั้งนี้ เนื้อหากการสัมภาษณ์บางส่วนได้นำเสนอในรูปแบบคลิปสัมภาษณ์พิเศษ ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” สวมวิญญาณ “เอเอ็มซี” แก้หนี้เน่า ต้องไม่ใช่แค่ “ซื้อมาขายไป” แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่น่าสนใจจึงขอนำเสนอเพิ่มเติมในลักษณะการสัมภาษณ์ถาม-ตอบ ดังนี้

ไทยพับลิก้า : เนื่องจากปีนี้ครบรอบ 15 ปี วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คุณบรรยงในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารองค์กรที่บริหารจัดการหนี้ที่มีปัญหาในช่วงวิกฤติ อยากจะให้เล่าตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า ช่วงนั้นมีสัญญาณอะไรบ้างที่ส่อเค้าว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

บรรยง : ในช่วงปี 2535 ผมทำงานอยู่ที่ฝ่ายกฎหมาย ธนาคารกสิกรไทย มีหน้าที่เตรียมสัญญาทั่วๆ ไป ก็มีความแปลกใจเหมือนกันว่ามีการส่งสัญญากู้ต่างประเทศ สกุลเงินต่างประเทศ มาให้ทำสัญญาเยอะมาก ประเภทด่วนๆ ทั้งนั้นครับ มาวันนี้เอาพรุ่งนี้ มาเช้าเอาเย็น แต่ด้วยตอนนั้นคงไม่มีใครคิดอะไรว่าเราจะกู้เงินต่างประเทศมากเกินไป แต่วันนี้ก็เห็นว่าเงินกู้ เขาเรียกว่า BIBF (Bangkok International Banking Facilities) กู้ 1 ล้านเหรียญ 2 ล้านเหรียญ 10 ล้านเหรียญ เป็นว่าเล่นในสมัยนั้น เงินทองก็คงเอามาใช้ตรงวัตถุประสงค์ก็มี แต่บางส่วนคงเอามาใช้เก็งกำไรต่างๆ

เหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สอดคล้องกับการกู้ยืมเงิน คือเรื่องของการเก็งกำไรอสังหาฯ ซึ่งทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นก็จะรู้ว่า บางทีเราซื้อขายกระดาษกัน โครงการทาวน์เฮาส์เกิดขึ้นมานี่แทบจะไม่ต้องสร้างก็ขายหมดแล้ว แล้วมาซื้อขายใบจองต่อกันได้หมื่น สองหมื่น สามหมื่น ก็เอากันแล้ว ก็เป็นอะไรที่ซื้อง่ายขายคล่อง ที่ต่างจังหวัดก็มาตัดกระดาษแบ่งเป็นแปลงๆ ขายกันเลย ยังไม่เห็นที่ก็ซื้อกันแล้วนะครับ เป็นเหตุการณ์ที่ส่อเค้าว่าจะเกิดวิกฤติ แต่วันนั้นไม่มีใครมีความรู้พอว่าเหตุการณ์มันจะเกิดเหมือนปี 2540

ไทยพับลิก้า : พอวิกฤติเกิดขึ้นแล้ว คุณบรรยงมองว่ามีการบริหารจัดการตรงนั้นอย่างไรบ้าง

บรรยง : ในช่วงที่เกิดวิกฤติก็จะมีการลดค่าเงินก่อน แต่สัญญาณจะเกิดก่อนนั้นเล็กน้อย ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเรื่องค่าเงิน เศรษฐกิจเราอ่อนแอ และก็การส่งออกเราค่อนข้างจะต่ำ ลดลงจากปีก่อนหน้านั้น จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ของประเทศก็เติบโตน้อยมาก ทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินจนทำให้เกิดการลดค่าเงินขึ้นในประมาณเดือนกรกฎาคมปี 2540 แล้วก็มีการปิดไฟแนนซ์บางแห่งที่ไม่แข็งแรงรวมแล้วประมาณ 50 กว่าแห่ง

ตอนนั้นหนี้ด้อยคุณภาพของประเทศไทยเกิดขึ้นเยอะมากนะครับ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เกือบๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อทั้งหมด หรือคิดเป็นตัวเงินก็ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเหมือนกับว่าเราปล่อยเงินกู้ไป 100 บาท มันเสียซะ 50 บาท ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็จะอยู่แทบไม่ได้ เพราะรายได้แทบไม่มี เอกชนซึ่งเป็นธนาคารเอกชน เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ก็ต้องเพิ่มทุน ตอนนั้นก็หาเงินกันค่อนข้างเยอะ แล้วก็เงินในประเทศเราแทบไม่มี ก็ต้องเพิ่มทุน ก็คือเอานักลงทุนต่างชาติมาถือหุ้น กรุงไทยเองก็ต้องขายหนี้เสียไปให้เอเอ็มซี (บริษัทบริหารสินทรัพย์) บางแห่ง แต่กรุงไทยอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะว่าการขายสินทรัพย์อาจจะได้ราคาที่ดี

แต่ส่วนใหญ่แล้วธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างอ่อนแอในช่วงนั้น ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) ก็ถูกปิดไป เพราะว่าเป็นหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แล้วค่อนข้างจะไม่สามารถจ่ายได้ ก็ถูกทางการเทคไปถือหุ้น 100% แบงก์บีบีซีซึ่งเป็นของเอกชน เมื่อทางการเทคไปก็ได้แยกหนี้ดีกับหนี้เสียออกไป หนี้ดีก็ถูกโอนไปให้ธนาคารกรุงไทยบริหาร ส่วนหนี้เสียก็มีการตั้งเอเอ็มซี ชื่อว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ หรือ บสก. ปัจจุบันเข้ามาติดตามส่วนที่เป็นหนี้เสีย หนี้เสียตอนนั้นของบีบีซีมีอยู่ 150,000 ล้าน ซึ่งถ้าดูจำนวนแล้วไม่มากเท่าไหร่นะครับ แต่ต่อมา บสก. หรือเอเอ็มซีของบีบีซีก็ได้รับซื้อรับโอนหนี้ต่อมา แต่ตอนนั้นหนี้เสียทั้งระบบมีทั้งหมด 2.5 ล้านล้าน คิดเป็นเกือบๆ 50% ของสินเชื่อรวม

ไทยพับลิก้า : ถือว่าเยอะไหมตอนนั้น

บรรยง : ถือว่าเยอะมาก ตามประวัติศาสตร์ไม่เคยมีหนี้เสียของไทยเราเยอะขนาดนั้น ปัจจุบัน ถึงจะมีเรื่องของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์อะไรต่างๆ เมื่อสักปี 2548-2549 มันก็ขึ้นไปแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เอง กระทบเราไม่มาก แต่ตอนนั้นเกิดที่ตัวเราเองเลย เกิดจากเศรษฐกิจไทยโดยตรง ซึ่งเป็นเหมือนกับที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” หมายความว่าเกิดที่ประเทศไทย หนี้เสียเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ซึ่งก็เป็นการยากที่ธุรกิจจะอยู่ แต่เราก็ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ได้ผลเร็วนะครับ เพราะจนสักประมาณเกือบๆ ปี 2550 เราก็ค่อนข้างจะฟื้นค่อนข้างดีแล้วนะครับ ปกติภาวะอย่างนั้นมันต้องใช้ระยะเวลานานกว่านั้นอ่านต่อตอน 2 ตั้งเอเอ็มซีซื้อหนี้เสีย ช่วยลดเอ็นพีแอลระบบสถาบันการเงิน

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)