ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (จบ) ถอดบทเรียน ปรส. “ห่วงคนดี ถูกรังแก”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (จบ) ถอดบทเรียน ปรส. “ห่วงคนดี ถูกรังแก”

14 กันยายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นายอมเรศ  ศิลาอ่อน
นายอมเรศ ศิลาอ่อน

ซีรีส์ 15 วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ( ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้
….

แม้อดีตประธาน ปรส. จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลายเรื่องเกี่ยวกับการทำงานที่ ปรส. แต่เขามั่นใจว่า “ไม่เคยทำผิด” และ “ไม่เคยทำอะไรที่ละอาย” พร้อมฝากบทเรียนที่ได้รับจาก ปรส. ส่วนจะเป็นเรื่องใดบ้าง มีรายละเอียดดังนี้

ไทยพับลิก้า : ถ้าถอดบทเรียนที่ดี บทเรียนที่ไม่ควรจะทำ หรือว่าอาจเป็นข้อผิดพลาดตอนนั้น มีอะไรบ้าง

ก็ไม่มีอะไรที่มันจะต้องให้ดีกว่านั้นได้นะ เพราะจริงๆ แล้วคุณธารินทร์ (นิมมานเหมินท์ รมต.คลัง) ก็เป็นคนที่รอบคอบ ตอนที่ตั้งกรรมการ ปรส. ทางคลังมีสิทธิที่จะส่งคนเข้ามาคนหนึ่ง แทนที่จะเอาคนของคลังเข้ามา ท่านไปเอาคุณจุลสิงห์ (วสันตสิงห์) ซึ่งเป็นอัยการพิเศษในขณะนั้นเข้ามาเป็นผู้แทนกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะให้มาดูแลเรื่องกฎหมาย แล้วก็ในระหว่างที่คุณจุลสิงห์อยู่เราก็ทำ ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเลย เขาทำได้ดีมาก

“แล้วก็มีคนจากสำนักอัยการในขณะนั้นมาช่วย ฝ่ายกฎหมายเราเยอะเลยตอนนั้น เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะผิดกฎหมายน้อยมากตอนนั้น”

แต่หลังจากนั้น ทั้งๆ ที่ในที่สุดคุณจุลสิงห์ก็เป็นอัยการสูงสุด ระบบยุติธรรมของเราก็ยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนดีถูกรังแกได้

“มันไม่ได้อยู่ที่ ปรส.หรอก มันอยู่ที่ระบบยุติธรรมทั้งหมด มันอยู่ที่ค่านิยมของสังคม ว่าเราจะรักษาคนดีไว้หรือเปล่า จะเอาไว้ทำยาบ้างไหม หรือจะฆ่ามันให้ตายหมด”

ไทยพับลิก้า : ตอนที่โดนข้อครหาเยอะๆ คุณอมเรศทำยังไงคะ ก่อนที่จะมาไปศึกษาพระอภิธรรม

อันแรกก็ต้องหาทนายดีๆ ก่อน (หัวเราะ) ทางด้านโลกเราก็ต้องแก้ไป ทางด้านโลก ในด้านธรรมะเราก็ต้องแยกกันไปคนละอย่างกัน

ไทยพับลิก้า : ข้อครหาว่าขายชาติ อันนั้นถือว่ารุนแรงสุดไหม

คนที่ไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อชาติ พูดอะไรก็ได้ ถ้าคนไปว่าคนดีว่า “ขายชาติ” คุณนั่นแหละขายชาติ เพราะคุณกำลังทำลายระบบความเป็นธรรมในสังคม คุณทำให้คนสับสนว่าใครเป็นคนดี ใครคือคนเลว ใช่ไหม แล้วโกหกคนทั้งชาติ “บาป”หรือเปล่า

“ก็ปล่อยให้เขารับกรรมไป เขาจะว่าอะไรก็ปล่อยเขาว่าไป โกหกคนคนเดียวยังบาป คุณโกหกคน 60 ล้านคนบาปแค่ไหน”

ไทยพับลิก้า: คุณอมเรศมองว่าได้ทำในสิ่งที่ต้องทำแล้ว ใช่ไหม

คือมันเป็นเรื่องของชะตาชีวิต เป็นเรื่องของกรรม เราเกิดมาอย่างนี้ มีความสามารถอย่างนี้ ทำงานได้มาแค่นี้ ได้เป็นรัฐมนตรีต่างๆ นานา อันนี้ก็เป็นกรรมดีที่เราสร้างมา ทั้งๆ ที่มันก็ไม่มีเหตุอะไรที่น่าจะให้ผมเป็นรัฐมนตรี ก็ได้เป็นและมีโอกาสทำงานให้บ้านเมือง และเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติก็ทำให้อีก

ส่วนคนเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เขาจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไอ้นั้นก็เป็นสิทธิของเขานะครับ ถ้าเผื่อเราทำความดีแล้วเขาไม่เห็นความดีอันนั้นก็เป็นกรรมของเรา ก็ต้องยอมรับ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเราสามารถที่จะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองได้ มันไม่มีทางเลือก เราต้องทำ จะป้องกันตัวยังไงอีกเรื่องหนึ่งนะ จะต้องช่วยบ้านเมืองต่อไปก็ต้องหาทนายดีๆ

ไทยพับลิก้า : สุดท้ายอยากให้คุณอมเรศฝากเป็นข้อเตือนใจ ถ้าเผื่อเจอจะต้องวิกฤติอีก ต้องทำอะไรกันยังไง

สำหรับคนที่เป็นผู้นำสังคม ก็ต้องเตือนไว้ว่า “เลือกให้ดี” เพราะว่าเมื่อเป็นผู้นำแล้ว เกิดมามีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำได้แล้ว จะนำบ้านเมืองไปในทางที่ถูกก็ได้ไปในทางที่ผิดก็ได้ จะทำให้ตัวเองเป็นคนที่ทำบาปก็ได้ จะทำให้ตัวเองเป็นคนที่ทำบุญก็ได้ เราเป็นคนเลือก เรามีสิทธิเลือกนะครับ ตาสีตาสาเขาไม่มีสิทธิเลือก คนที่เป็นผู้นำสังคมเท่านั้นแหละมีสิทธิเลือก แล้วก็ต้องคิดให้ดี เลือกให้ดีนะ

“ผมก็ยังคิดว่าผมโชคดีที่ทำงานมา 30-40-50 ปี ไม่เคยต้องทำอะไรผิด ไม่เคยต้องทำอะไรที่ละอาย แล้วก็ทำมาโดยที่มีชีวิตที่อยู่ได้อย่างสบายโดยที่ไม่ต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่นเขา ถ้าเผื่อใครก็ตามที่เป็นผู้นำสังคมแล้วมีคุณภาพชีวิตอย่างผมก็น่าพอใจแล้ว”

หมายเหตุ : ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)