ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (2): ตั้งเอเอ็มซีซื้อหนี้เสีย ช่วยลดเอ็นพีแอลระบบสถาบันการเงิน

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (2): ตั้งเอเอ็มซีซื้อหนี้เสีย ช่วยลดเอ็นพีแอลระบบสถาบันการเงิน

17 ตุลาคม 2012


นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

ไทยพับลิก้า : ที่คุณบรรยงเล่าว่า มีหนี้เน่าเกิดขึ้นค่อนข้างมากเกือบ 50% คิดว่าตอนนั้นกระบวนการบริหารหนี้มีการจัดการได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

บรรยง : คือตอนนั้นไม่มีใครบ้านเราคิดถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงแบบนั้น ทุกคนจะแก้ตัวบอกว่า “คาดไม่ถึงมาก่อน” ตอนนั้นเอเอ็มซีก็ยังไม่มีการตั้ง เพราะเราไม่มีการเตรียมตัวเลย ไม่มีใครคิดว่ามันจะมีการล้มแบบรุนแรงและก็ค่อนข้างรวดเร็ว เอเอ็มซีมาตั้งตอนหลังจากปี 2540 หลังจากเกิดวิกฤติแล้วก็แบ่งเป็น 3 ตัวใหญ่ๆ

ตัวแรกก็จะเป็นที่เราเรียกว่า บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) จะเป็นเอเอ็มซีที่รัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เจตนาก็คือโอนหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไปรวมเพื่อให้หนี้เสียของระบบธนาคารลดลงแล้วธนาคารพาณิชย์จะได้มีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อได้ ก็เป็น บสท. ตัวหนึ่งตัวแรกนะครับ

อีกตัวหนึ่งก็จะเป็นเอเอ็มซีของเอกชน เราเรียกว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน จะเป็นเอเอ็มซีของแบงก์ต่างๆ เช่น เอเอ็มซีของกสิกรไทย ของกรุงเทพ ของกรุงศรีฯ ของไทยพาณิชย์ ต่างๆ เราเรียกย่อๆ ว่าเป็น “เอเอ็มซีเอกชน” ออกเป็นพระราชกำหนดตั้งเอเอ็มซีตัวนี้ขึ้นมา ทุกธนาคารสามารถตั้งได้นะครับ เพราะเจตนาเพื่อจะโอนหนี้เสียจากแบงก์ไปเหมือนกัน ไปอยู่ที่เอเอ็มซีเพื่อให้แบงก์เองมีจำนวนหนี้เสียที่น้อยลง จะได้มีสุขภาพดี ปล่อยสินเชื่อได้

อีกตัวหนึ่งที่ทางการตั้งมาเราเรียกว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หรือชื่อย่อสมัยนั้นเรียกว่า บบส. ก็เจตนาเพื่อให้ไปซื้อหนี้เสียของไฟแนนซ์ 56 แห่งที่ถูกปิด

ทั้ง 3 ตัวก็ได้ถูกตั้งขึ้นตามเจตนา คือ ตัว บสท. รับโอนหนี้แบงก์ไปก็ประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาท ได้ของแบงก์พาณิชย์โอนไป ส่วน บบส.เองก็เข้าประมูลจาก ปรส. ก็ได้มาบางส่วนนะครับ ได้มาบางส่วนก็สัก 30-40% ของหนี้ที่เขาขาย ก็เป็นตัวช่วยว่าทำให้หนี้ของระบบตอนนั้นของไฟแนนซ์ลดลง

ตอนนั้นต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่มีเงิน ธุรกิจล้มละลายเยอะมาก รัฐบาลก็ไม่มีเงิน ต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ต่างชาติเท่านั้นที่คิดว่าพอมีศักยภาพที่จะมาประมูลหนี้ของ ปรส. ได้ แต่ก็ยังดีที่รัฐบาลเขาตั้ง บบส. เข้าไปเพื่ออย่างน้อยพยุงราคา อย่างน้อยว่าถ้ามีการกดราคาก็มี บบส. ของรัฐนะ เข้าไปช่วยพยุงราคาไว้ว่าไม่ให้มันต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่วันนั้นโดยรวมการขายน่าจะขายได้อยู่ที่ประมาณสัก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของต้นเงิน ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นความผิดใครหรอก เพราะว่าสภาพตอนนั้นเราไม่มีเงินจริงๆ

ก็มีแต่นักลงทุนต่างประเทศที่เขามีเงินเยอะกว่าเรา บบส. ตอนนั้นที่เข้าไปซื้อจาก ปรส. ก็ต้องใช้วิธีออกตั๋ว ไม่ได้ใช้เงินสดซื้อ เพราะว่าไม่มีเงิน ก็ออกตั๋วไปเท่าที่จำได้คือประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท หลังจาก บบส. ซื้อหนี้มา 30,000 กว่าล้านบาท แล้วก็บริหารได้เงินกลับไปก็ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่น ตอนนั้นตอนที่ บบส. ถูกรวมกับ บสก. ไปก็มีเงินคืนรัฐบาลครบถ้วนแล้วก็มีกำไรคืนบางส่วน

ไทยพับลิก้า : มองว่าแนวทางที่จัดตั้งลักษณะอย่างนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องไหม

บรรยง : การตั้งเอเอ็มซีเป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ แต่ช่วงนั้นมันอย่างว่าล่ะครับ มันก็เป็นครั้งแรกของเรา อาจจะมีจุดบกพร่องบ้างในเรื่องของจำนวนหนี้ที่มันทะลักออกมา เราอาจจะมองว่าเราได้ราคาไม่ดี แต่ก็เป็นข้อเท็จจริง ถ้าเกิดอีก ถ้าเกิดวิกฤติมันจะเกิดอีก การที่เรามีเอเอ็มซีจากบทเรียนผ่านมา 15 ปี ตัวเอเอ็มซีมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพได้ค่อนข้างเยอะ จนปัจจุบันหนี้เสียที่มันเคยมีทั้งหมดเกือบ 50% อย่างที่ว่าตอนปี 2540 นะครับ ปัจจุบันมันเหลือ 2% กว่า

ส่วนหนึ่งเกิดมาจากเศรษฐกิจมันดีขึ้นนะครับ และสินเชื่อมันขยายตัว ทำให้เอ็นพีแอลลดลงเองด้วย ส่วนหนึ่งก็มาจากแบงก์พาณิชย์ เขามีระบบการจัดการตัวเขาในการแก้ไขหนี้ส่วนของเขา นั่นก็มีส่วนด้วย อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการมีเอเอ็มซี เช่น บสก. บสส. นะครับ แล้วก็มีอีก 2-3 แห่งที่เป็นเอกชน แล้วก็ต่างชาติเข้ามาด้วย ก็เข้าไปรับซื้อรับโอนให้เป็นปกติ ไม่ต้องรอให้มีจำนวนเยอะๆ หรือเกิดวิกฤติก่อนแล้วก็ไปรับซื้อรับโอน อย่างนั้นเราจะได้ราคาที่ไม่ดี เพราะอยู่ในสภาพบังคับขาย

แต่วันนี้ตลาดเดินค่อนข้างปกติ คือว่าแบงก์พาณิชย์หรือสถาบันการเงินไหนที่มีความจำเป็นหรือความต้องการจะขายเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ เพื่อออกมาเป็นกู๊ดแบงก์ที่เป็น clean bank เลย แล้วก็ไปโฟกัส ไปมุ่งทางธุรกิจเป็นธนาคารจริงๆ เขาก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้น การขายก็เป็นได้ราคาที่เขาเรียกว่าเป็นราคาตลาดหรือมาร์เก็ตนะครับ ก็เป็นราคาที่แบงก์พอใจ ไม่พอใจก็ไม่ขายได้ แต่สมัยนั้นไม่พอใจมันไม่ขายไม่ได้ครับ มันต้องขาย

แต่สมัยนี้ยังมีโอกาสที่ว่ามาดูแล้วแบงก์พาณิชย์จะขายหรือไม่ขายก็เป็นการไม่บังคับ ทำให้ราคาทุกวันนี้การซื้อขายเฉลี่ยมันเกือบๆ 50% ของต้นเงิน ฉะนั้น เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของต้นเงินมันก็ต่างกันเยอะ แสดงว่าถ้าเรามีการเตรียมตัว มีการดูแลตั้งแต่ก่อนที่มันจะเกิดวิกฤติ จะทำให้มีผลลัพธ์สินทรัพย์ของบ้านเราไม่ถูกกดราคาเหมือนอย่างที่เป็นตอนปี 2540 อ่านต่อตอน 3 เบื้องหลังไอเอ็มเอฟเคยออกกฎเหล็ก สั่งแก้หนี้ให้ “บังคับจำนองไม่ผ่านศาล”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)