ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (4): เอเอ็มซีที่ดี “ต้องไม่ซื้อมา ขายไป”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (4): เอเอ็มซีที่ดี “ต้องไม่ซื้อมา ขายไป”

17 ตุลาคม 2012


ไทยพับลิก้า : ตอนที่คุณบรรยงเข้ามานั่งเป็นผู้บริหาร บสก. อยากให้เล่าว่าได้เข้ามาทำอะไรบ้างกับบรรดาลูกหนี้ทั้งหลาย

บรรยง : คือผมเริ่มงานที่เอเอ็มซีครั้งแรกที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) คือตัวที่ไปประมูลจาก ปรส. ก็เข้าไปมีส่วนในการแก้ไขหนี้ เจรจากับลูกหนี้เหมือนกัน วันนั้นเรามีทิศทางว่า “ตัวเราไม่ใช่ผู้ซื้อมาขายไป” หมายถึงว่า ซื้อหนี้เสียมาแล้วก็ขายต่อ เราไม่ใช่พวกนั้น เราเป็นพวกปรับโครงสร้าง เราเป็นพวกแก้ไขหนี้จริงๆ คือเราซื้อมาเพื่อจะปรับให้เป็นหนี้ดี เนื่องจากเราเป็นองค์กรของรัฐบาล กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ดังนั้นเราคงไม่คิดเรื่องทำกำไรเป็นจุดหลัก เราคิดถึงเรื่องจะฟื้นฟูลูกหนี้ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจนั้นมันเดินต่อได้ อันนั้นเป็นภารกิจอันดับที่หนึ่ง

จากการที่เราคิดอย่างนั้น 15 ปีผ่านมา ในวันนี้เห็นผลว่า เออ จริงๆ เรามีส่วนช่วยเยอะนะ วันนี้มองไปในตลาดหลักทรัพย์ก็มีลูกหนี้หลายรายมาก รายใหญ่ๆ ที่เคยเป็น เคยประสบปัญหาในช่วงปี 2540 มาวันนี้เขาฟื้นได้ เขายืนได้อย่างแข็งแรงและมีส่วนในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุคนี้ เราก็เลยคิดว่าวิธีการอย่างที่เราทำมันถูกต้องแล้ว คือไม่ไปเป็นคนซื้อมาขายไป เราแก้เขาจริงๆ เขาติดปัญหาเราก็เข้าไปช่วยเขาจริงๆ อันนั้นเราเรียกว่า การทำงานที่เราใช้วิญญาณของเอเอ็มซีเข้าไป

ถ้าเราคิดว่าเราซื้อมาขายไป เราคงไม่ไปใส่ใจว่าเขาจะอยู่รอดหรือไม่ ถึงวันนี้ก็เหมือนกันนะครับ วันนี้ก็พิสูจน์ว่า คนที่ซื้อหนี้จาก ปรส. ไปในช่วงปี 2540 นั้นนะ ส่วนใหญ่ก็ปิดกันหมดแล้ว ก็คงได้รับกำไรกันไปพอควรจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นด้วย และจากราคาสินทรัพย์ซึ่งเดิมต่ำก็ขยับขึ้นมา แต่วันนี้คนก็ยังอาจจะลืมเอเอ็มซีไปไม่ว่าจะเป็น บบส. บสก. หรือตัว บสส. (บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท) ก็ถือว่าเอเอ็มซีทุกแห่งมีส่วนช่วยในการลดหนี้ด้อยคุณภาพ จากวันนั้น 50% ลงมาวันนี้เหลือ 3% ตัวเอเอ็มซีมีส่วนช่วยเยอะ ทำให้วันนี้สถาบันการเงินอยู่ในฐานะที่สุขภาพดีมาก จนวันนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังหรือใครๆ ก็ตามบอกว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรงพอที่จะรับวิกฤติของยูโร ก็ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่มันมีระบบการเงินที่พอรับได้ แข็งแรงพอสมควรที่มีวิกฤติภายนอกเข้ามา เรากล้าพูดได้ว่าระบบการเงินไทยกระทบไม่มาก

ถ้าวันนั้นไม่มีเอเอ็มซี แบงก์พาณิชย์คงจะใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะลดหนี้ด้อยคุณภาพได้ขนาดนั้น แล้วก็จะพัฒนาตัวเองให้มีสภาพเข้มแข็งได้อย่างในวันนี้คงอาจไม่ได้มากขนาดนั้น วันนี้ก็เลยคิดว่าเอเอ็มซีที่ดีมันน่าจะเป็นเอเอ็มซีที่สามารถรองรับเศรษฐกิจไทยทั้งในสภาพปกติแบบวันนี้ที่เราถือว่าปกติ หนี้เสียเราประมาณ 2-3% จากสินเชื่อรวม แล้วเอเอ็มซีก็อาจจะเหมาะกับเหตุการณ์ที่มันเกิดปี 2540 ซึ่งตอนนั้นเราไม่มี

แต่ใครจะบอกได้ว่าหลังปี 2555 เมื่อไรมันจะเกิดแบบเดิมอีก ซึ่งผมก็เรียนถามหลายๆ คนเขาก็บอกมันมีโอกาส มีโอกาสที่ประเทศไทยจะมีวิกฤติอีกรอบ มันแน่นอนครับ แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไร วันนั้นที่เราเกิดปี 2540 ก็ไม่มีใครคิดเหมือนกัน วันนี้ก็ไม่มีใครคิดว่าเมื่อไหร่มันจะเกิด วันนั้นเราอาจจะแก้ตัวได้ว่า เราไม่ทราบว่ามันจะเกิดรุนแรงขนาดนี้ แต่วันนี้ถามว่าข้างหน้าจะเกิดไหม ผมว่าส่วนใหญ่จะตอบว่ามีโอกาส

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
ผมเรียนถามว่า วันนี้สินเชื่อเราประมาณ 10 ล้านล้านบาท ถ้าเอ็นพีแอลจะขึ้นไปสัก 10% คุณว่ามีโอกาสจะเกิดไหม ปี 2540เอ็นพีแอลเกือบ 50% แล้ว 10% คุณว่ามันจะเกิดไหม เราเคยเอ็นพีแอลกว่า 10 % จากหลังปี 2540 เป็นเวลาถึง 5 ปีติดต่อกัน ประมาณช่วงปี 2545-2546-2547 มีเอ็นพีแอลกว่า 10 % คืออยู่ประมาณ 17% 18% 15% แล้วจากนั้นเรายืนอยู่ตัวเลขสูงกว่า 5% อยู่อีก 4 ปีติดกัน

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาสูงกว่า 5% ประมาณ 9 ปี ส่วนต่ำกว่า 5% ก็เพิ่งมาช่วงปีท้ายๆ ถ้าเกิดมันมีวิกฤติขึ้นมาเอ็นพีแอลมันขึ้นไปสัก 10% ผมว่าไม่มาก แต่ 10% ของเอ็นพีแอลที่มีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านบาทน่ะ มันเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของปี 2540 ถ้า 1 ล้านล้านบาทแล้วรอให้มันเกิดขึ้นมา แล้วไม่มีเอเอ็มซีรองรับ มันก็จะเหมือนเดิมคือขายโละๆ ทิ้งไป ราคามันคงจะได้แบบเดิม 20-30% ของต้นเงิน มันก็จะเหมือนกับว่าเราไปทำให้ประเทศเราเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น

แต่วันนี้เรามีเอเอ็มซีแล้ว ใช้มันครับ ใช้มันเป็นตัวรองรับ ปกติก็ให้มันเป็นช่องที่ให้ธนาคารพาณิชย์ระบายเอ็นพีแอลขายเหมือนอย่างวันนี้ สำหรับ บสก. รายเดียว ถ้าดูจากสถิติการรับซื้อรับโอนหนี้ของธนาคารพาณิชย์หลังวิกฤติปี 2540 มา หนี้ลดลงเรื่อยๆ เอเอ็มซีตัวเดียวมีส่วนช่วยลดหนี้เอ็นพีแอลลงถึง 30% ถ้าเรามีเอเอ็มซีที่แข็งแรง มันจะช่วยวิกฤติที่เกิดขึ้นให้มีความเสียหายน้อยลง หรืออาจจะไม่เสียหายเลยก็ได้

แต่ถ้าถามผมว่า ถ้าเอ็นพีแอลพุ่งขึ้นมาถึง 10% ในวันนี้ ซึ่งมีสินเชื่อ 10 ล้านล้านบาท สินเชื่อเหล่านี้มีเอ็นพีแอลคือ 1 ล้านล้านบาท ถ้าสินเชื่อหนี้เสียมันถูกขายไปแบบเดิมในราคา 30% มันก็เป็นเงินถึง 300,000 กว่าล้านบาท แค่ 10% นะครับ แล้วหนี้เสียมูลค่า 30% ของที่ขายมา มันเป็นเงินถึงตั้ง 300,000 กว่าล้าน ใครจะมีเงินที่ไหนไปซื้อ ไม่มีเอเอ็มซีไหนแม้แต่วันนี้ที่จะมีเงินไปรองรับหนี้เสียที่จะเกิดแม้แต่ 10% ขึ้นมา

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีเอเอ็มซีมาแล้วผมถือว่ามีช่องทางแล้ว แล้วถ้าดูจากหลังวิกฤติที่ไทยเกิดปี 2540 ต่างประเทศก็เกิดจะมีการตั้งเอเอ็มซีแบบนี้แหละขึ้นมา ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม อาจจะมีชื่อ toxic asset อะไรต่างๆ มันก็คือตัวเอ็นพีแอลนั่นแหละ แล้วก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารจัดการ ก็คล้ายๆ ไทย แต่ลักษณะการทำเอเอ็มซีของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือยุโรป หรือแม้แต่แอฟริกา ก็มีการตั้งเอเอ็มซีหลังจากนี้นะ ทิเบตก็มีการตั้งมาหลังจากก่อนที่เขาจะเกิดวิกฤติ

แต่การจัดการของเอเอ็มซี ผมว่าทั่วโลกก็ว่าได้ ไม่ได้จัดการเสร็จเด็ดขาดจนถึงสุดท้ายที่เป็นเงินสดที่กลับเข้าสู่ระบบ แต่ บสก. เป็นเอเอ็มซีที่ทำค่อนข้างครบวงจร คือทำตั้งแต่เป็นหนี้เสีย ย่อยหนี้เสียออกมา ถ้าเป็นหนี้ดีก็ออกไป ถ้าเป็นหนี้ที่เสียแล้ว ก็กลับมาเป็นทรัพย์สินของการขาย หรือเอ็นพีเอ ก็ถูกดูแล ถูกพัฒนาออกมา ส่งไปยังทรัพย์สินรอการขายเป็นเงินสดกลับเข้าระบบ ถือเป็นการจัดการที่ครบวงจร แล้วก็มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี

ผมก็อยากเห็นการมองเอเอ็มซีว่า เป็นเครื่องมือช่วยให้ทรัพย์สินเราไม่ถูกกดราคา แล้วก็เป็นองค์กรที่มีความพร้อมรองรับวิกฤติภายภาคหน้าได้ วันนี้ถ้าถาม บสก. หรือเอเอ็มซีใดในประเทศไทยที่มีความพร้อมที่จะรับวิกฤติข้างหน้าได้ ที่จะทำให้เอ็นพีแอลของเราไม่ถึง 10% มีไหม ผมตอบว่าไม่มี แม้แต่ บสก. ก็ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะว่าเราไม่มีเงินทุนพอที่จะรองรับตัวนั้น แล้วถ้าเกิดวิกฤติจริงๆ ก็คงไม่มีใครมีเงินเหมือนกับปี 2540

ปี 2540 รัฐบาลก็ไม่มีสตางค์นะครับ ถ้าเกิดวิกฤติอีกมาเกิดรัฐบาลเขาจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการพัฒนาประเทศ เขาก็ไม่มีสตางค์เหมือนกัน แล้วใครจะมีสตางค์เข้าไปรับหนี้เสียตัวนั้น ก็เป็นภารกิจที่ผู้บริหารเอเอ็มซีหรือผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมองว่า ถ้าคิดว่ามีโอกาส เกิดวิกฤติอีกครั้ง ก็มองหาตัวที่จะบรรเทาปัญหาซะ ทำตัวนั้นให้แข็งแรง ให้สามารถมีเงินทุนรองรับ ที่จะไปรับซื้อรับโอนหนี้เสียให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้ไม่ถูกกดราคา ก็ไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์มันซ้ำรอย

ไทยพับลิก้า :จนถึงวันนี้ 15 ปีแล้ว หนี้เสียตรงนั้นได้บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จไปหรือยัง

บรรยง : หนี้เสียที่เกิดก่อน 2540 ส่วนใหญ่หมดแล้วครับ อย่างที่เรียนว่าตอนนั้นบีบีซี (ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ) โอนมาประมาณ 150,000 ล้านบาท ตอนนี้ผมว่าไม่ถึง 10% เหลือค่อนข้างกากแล้ว แต่หนี้เสียหลังจากปี 2540 ก็มีพอสมควร แต่โดยระบบจริงๆ มันคงมีปนอยู่นะครับ เอเอ็มซีอื่นคงมีอยู่บ้าง แต่ของ บสก. เหลือน้อยมาก แต่รับซื้อรับโอนใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้หลังปี 2540 แล้ว แต่ภาระของประเทศที่เกิดในช่วง 2540 ยังไม่ถูกจัดการได้หมดนะ จะเห็นว่ามีการถกเถียงกันว่า หนี้ที่เกิดจากการไปอุ้มสถาบันการเงินในช่วงนั้นประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท อะไรต่างๆ จะถูกจัดการไปอย่างไร

อันนี้ก็ถือว่า 15 ปีแล้วเรายังไม่สามารถที่จะตอบตัวนี้ได้ จริงๆ ทรัพย์สินมี แต่ทรัพย์สินยังอยู่ในหลายจุดนะครับ ก็อยากเห็นการออกจากปัญหาของรัฐบาลให้ชัดเจนตัวนี้ว่าจริงๆ รู้จำนวนหนี้ แต่ทรัพย์สินอาจมองไม่ชัดเจนนัก จำนวนหนี้ลดได้บางส่วน แต่คงจะต้องมีคนรวบรวมและจัดการให้ชัดเจน อ่านต่อตอนที่ 5 ถอดบทเรียนเอเอ็มซี ภารกิจช่วยชาติ

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)