ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (จบ): ประสบการณ์แก้หนี้ “อสังหาฯ” ยากสุด

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (จบ): ประสบการณ์แก้หนี้ “อสังหาฯ” ยากสุด

17 ตุลาคม 2012


ไทยพับลิก้า :การแก้หนี้ในช่วงนั้นปัจจัยต่าง ๆ ค่อนข้างบีบรัด มันยากลำบากยังไงบ้าง

บรรยง : ความยากลำบากคือความเร่งรีบด้วย และลูกค้าเขาไม่มีสตางค์ เราเองก็ไม่มีเงินปล่อยสินเชื่อด้วย ก็มีความยุ่งยากมาก ก็ค่อนข้างจะเรียกว่าค่อนข้างมืดเลย โดยเฉพาะหนี้พวกอสังหาริมทรัพย์นะครับ เนื่องจากยุคนั้นภาคอสังหาฯ “ตายสนิท” เลย ต้องใช้คำว่าตายสนิท คือ โครงการต่างๆ สร้างค้างไว้ด้วย แล้วคนก็ไม่มีกำลังซื้อ โครงการที่สร้างค้างไว้ก็ไม่มีเงินสร้างต่อ

ภาคอสังหาฯ คือธุรกิจที่มีสภาพคล่องหรือเงินที่ได้จากโครงการที่ขายเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ข้อดีอย่างหนึ่งคือมันมองง่าย มันมองจากของที่เห็นตรงหน้าว่าจะเป็นเงินสดได้เท่าไร เวลาเราประนอมหนี้ เราก็จะค่อนข้างจะชัดเจนว่าเวลาทำแล้วราคาของจะเหลือเท่าไหร่ หักค่าใช้จ่ายไปเท่าไร มันไม่ค่อยจะซับซ้อนมาก แต่มันมีความยากคือว่ามันจะทำอย่างไร หาเงินอย่างไร

อีกซีกหนึ่งคือ ด้านพาณิชยกรรม ยังไม่ตายเสียทีเดียว เพราะว่ามันก็ยังมีรายได้เข้ามาบ้าง เพียงแต่ยอดขายมันตก เราก็ต้องพยายามช่วยเขายื้อเวลาให้เขาหาตลาดเพิ่มเติม ลดค่าใช้จ่ายเขาบ้าง ลดอัตราดอกเบี้ยบ้าง

ดังนั้น ความยากง่ายของแต่ละธุรกิจ เราคงจะใช้สูตรสำเร็จมาจัดการกับทุกชนิดของสินเชื่อไม่ได้ อสังหาฯ ก็ดูอย่างหนึ่ง พาณิชยกรรมก็ดูอย่างหนึ่ง รายย่อยก็ดูอีกอย่างหนึ่ง

แต่โดยรวมแล้วเราใช้วิธีการประนอมหนี้ที่หลากหลาย มีทั้งแฮร์คัทให้ เพราะบางครั้ง อย่างอสังหาฯ ถ้าไม่แฮร์คัทไม่มีทางรอด เพราะเงินที่ได้มาจากการกู้นั้นใส่ลงไปในโครงการหมดแล้ว ทำถนนอะไรไปแล้ว ก่อสร้าง สร้างงาน ซื้อเหล็ก แล้วมันไม่พอ ราคามันตก ถ้าไปให้เขารับหนี้เท่าเดิมมันเป็นไปไม่ได้

การแฮร์คัทสมัยก่อน คือ ลดต้นเงิน จำเป็นต้องใช้ให้เหมาะกับรายรับเขา การผ่อนยืดเงินต้น ผ่อนเวลา ขยายเวลา เช่น ช่วงปีแรกเขาไม่มีรายได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาดอกเบี้ยเขา หรือแม้แต่ต้นเงินก็เป็นไปไม่ได้ บางครั้งก็จะมีระยะเวลาปลอดชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย บางทีอาจเป็นปีเลย ตัวนั้นต้องเป็นหน้าที่เอเอ็มซีจะต้องช่วย เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเอาดอกเบี้ยและต้นเงินเขาในเดือนแรกที่มาเจรจาเลยก็ไม่ได้

ดังนั้น การแฮร์คัท การยืดเวลาการชำระหนี้ ปลอดชำระหนี้ เหล่านี้มีส่วนช่วย การลดอัตราดอกเบี้ยมีส่วนช่วย รวมทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน บางครั้งก็ลูกค้าไปไม่ไหว แต่ก็ไม่มีเงินด้วยก็อาจจะโอนหุ้นให้ชำระหนี้ หุ้นวันนั้นอาจจะไม่มีค่า แต่เราก็ต้องรับไว้ เพราะเวลาถ้าเขาฟื้นมาหุ้นตัวนั้นอาจจะมีค่าฟื้นกลับขึ้นมา ก็หลากหลายวิธีครับ แล้วก็แต่ละชนิดของธุรกิจก็ต่างกัน

เหมือนคนไข้ไปหาหมอ ก็คงมีหลายชนิด บางคนก็แย่ ไปแล้วโคม่า บางคนก็อาจเป็นหวัดเล็กน้อย บางคนก็อาจจะต้องให้ยาแรงหน่อยแต่ไม่ถึงกับโคม่า อะไรอย่างนี้ ก็ดูตามโรคตามที่เขาเป็น โรคภัยที่เขาเป็นและความหนักเบา เหมือนกันครับ คนที่มีอาชีพแก้ไขหนี้ก็ต้องมีความใส่ใจ มีความละเอียด ตกลงลูกค้าเราป่วยด้วยอะไร แล้วเป็นโรคชนิดไหน แล้วเราจะได้รักษาเขาถูก ฉะนั้น ถ้าเราจะเอาสูตรสำเร็จ บอกว่าไม่รู้แหละ คุณต้องมาชำระผมภายใน 1 ปี 2 ปี ต้องมาจ่ายหมด ดอกเบี้ยเท่านี้ เป็นสูตร แบบนั้นใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนแก้หนี้จึงเหนื่อยหน่อย

ผมเองที่นั่งอยู่ตอนนั้นมีบางส่วนที่นั่งอยู่ผู้อำนวยการฝ่ายประนอมหนี้ เจรจากับลูกค้า ดูข้อมูลต่าง ๆ แทบจะไม่มีเวลาพักเพราะว่าลูกค้าเยอะ บางครั้งนี่อ้วกอยู่ใต้โต๊ะเลย เพราะมันเครียดด้วยและก็เหนื่อย ตัวเราเองก็ต้องทำงานให้ทันเวลา องค์กรเองเราก็ต้องดูแลเพราะตอนนั้นเงินก็เข้า เพราะมันไม่มีเงิน บบส. ซื้อมาทั้งหมด 190,000 ล้านบาท 70% เป็นสินเชื่ออสังหาฯ ซึ่งไม่มีสภาพคล่องเลย จะให้ลูกค้าจ่ายเงินไม่ได้เลยเพราะโครงการเขาไม่ได้ทำต่อ ดังนั้น บบส. ก็ต้องแบกดอกเบี้ยไปก่อน ซื้อจาก ปรส. จ่ายตั๋วไปทั้งหมด 33,000 ล้าน แบกดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนแรกแล้วครับ เพราะฉะนั้นจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ก็ต้องเอาเงินทุนจากรัฐบาลที่ให้มาบางส่วนจ่ายดอกเบี้ยไปก่อน บบส. ตั้งปี 2542 เงินจะเข้าจริงๆ ปลายปี 2544 ดังนั้นจึงแบกภาระไป 2 ปีกว่า ก็โชคดีที่เราปรับโครงสร้างและเริ่มได้ผล แล้วเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นด้วย อสังหาฯ ก็เริ่มฟื้นด้วย ก็เลยได้เงินกลับเข้ามา

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

อสังหาฯ เป็นภาพที่หนักหน่อยแต่แก้ไขได้ถ้ามองให้ถูกแล้ว ให้เวลาเขามีวิธีจัดการที่ดี ก็อยู่รอดเหมือนกัน ภาคพาณิชยกรรมเป็นภาคที่ซับซ้อน แต่เวลาคนส่วนใหญ่ปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเป็นนักลงทุนอื่นเขาจะชอบ เพราะเขาเรียกว่ามี value added เยอะ เช่น โครงการที่มันตายแล้วมีมูลค่าเพิ่ม โครงการที่มันตายแล้วราคาหนึ่ง โครงการที่เดินอยู่ หรือ ongoing คือโรงงานที่เดินกับโรงงานที่มันปิดนี่ราคามันต่างกันเยอะ หนี้เสียที่รับซื้อมา ถ้าเป็นโรงงานที่ปิด เช่น ราคา 100 บาท ถ้าเราปรับโครงสร้างแล้วโรงงานที่เดินอาจจะ 300 หรือ 1,000 เลย มูลค่ามันต่างกัน

ดังนั้น ถ้านักปรับโครงสร้างหนี้จริงๆ ถ้าเน้นผลกำไร เขาอยากไปปรับโครงสร้างหนี้พาณิชยกรรมมากกว่า เพราะเขาได้ธุรกิจไปด้วย

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าช่วงนั้นของภาคอสังหาฯ คือหนักที่สุด

บรรยง : อาการหนักเพราะว่าไม่เห็นอนาคตและไม่มีรายรับเข้าเลย พาณิชยกรรมยังพอมีบ้าง ยอดขายยังพอมีบ้าง แต่ก็ยังขาดทุนนะ แต่อสังหาฯ ยอดขายไม่มีเลย เพราะว่ามันมีหนี้เสียแล้วมันโอนไม่ได้แล้ว ยอดขายจะเข้ามาเพราะว่าต้องถ่ายของจำนองออกซึ่งเป็นไปไม่ได้ ไฟแนนซ์ก็ปิดด้วย ก็มีความยากลำบากค่อนข้างเยอะในยุคนั้น กว่าจะแก้ได้นั้นยาก ผู้ที่แก้สำเร็จในภาคอสังหาฯ ซึ่งเราเห็นว่าในตลาดวันนี้ก็คือผู้ที่ยืนอยู่จากวิกฤตได้ ถือว่า “สุดยอด” เพราะว่าต้องช่วยตัวเองมหาศาลแล้วต้องอดทนต้องแก้ปัญหาที่ลูกบ้าน อสังหาฯ จะมีลูกบ้านรายย่อย รายย่อยไปซื้อๆๆ วางเงินดาวน์แล้ว พอโครงการมันล้มเจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบนะ บางรายก็ถูกฟ้องคดีอาญา โยงใยมาอีรุงตุงนัง

ดังนั้น การที่จะฟื้นได้ต้องถือว่าสุดยอดจริงๆ ต้องถือว่าเป็นคนที่มีความสามารถด้วย แล้วก็มีความตั้งใจจริงถึงจะฟื้นจากยุคนั้นได้

ไทยพับลิก้า :ช่วงนั้นมีทั้งลูกหนี้ที่เป็นหนี้เน่าและลูกหนี้ strategic NPL

บรรยง : เออ ช่วงนั้นทุกคนยากหมด ลำบากหมด ตัวธนาคารเองก็อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างลำบาก การปล่อยกู้ช่วงนั้นยากมากครับ ใครไปกู้แบงก์ได้ในช่วงปี 2543-2544 ก็ถือว่าเก่งมาก เพราะว่าแบงก์เองก็อยู่ในฐานะที่มีหนี้ด้อยคุณภาพค่อนข้างเยอะ การปล่อยกู้ต้องมีการตั้งทุนสำรองตามเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเงินไม่พอที่จะปล่อยกู้ ตัวลูกหนี้เองก็ต้องไปหาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งวันนั้นดอกเบี้ยนอกระบบก็อยู่ที่ 25% 30% ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะว่าใครที่คิดจะทำโครงการหรือต้องการใช้เงินในธุรกิจต้องแบกดอกเบี้ยขนาดนั้นเพราะเงินฝากก็ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว

เรื่องของหนี้ที่เรียกว่า strategic NPL คือเป็นลูกหนี้ที่ดีแต่ทำเป็นลูกหนี้เสีย ก็มีบ้างครับ เป็นธรรมดา แต่ส่วนใหญ่ต้องบอกว่าลูกหนี้ที่ดีเยอะกว่า โดยทั้งจำนวนเงิน จำนวนรายลูกหนี้ที่ดีเยอะมาก โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นรายย่อย จากประสบการณ์การแก้หนี้ที่ผ่านมา ลูกหนี้รายย่อยเป็นผู้ที่รักษาวินัยและก็รักษาความเชื่อถือ หรือที่เรียกว่าเครดิตของตัวเอง ดีมากครับ ก็เป็นลูกหนี้ที่น่าชมเชยว่าไม่ถือโอกาสว่าในภาวะประเทศที่มีหนี้เสียแล้วตัวเองจะต้องเป็นหนี้เสียด้วย ก็ต้องชมเชยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ไทยพับลิก้า : จากที่เจอลูกหนี้เยอะๆ มีความประทับใจหรือมีกรณีไหนที่อยากจะบอกเล่าไหม

บรรยง : คือโอกาสที่ผมทำก็เจอทั้งลูกหนี้รายใหญ่รายย่อยนะ เราก็ช่วยหมด แนวคิดเรื่องนี้ตอนที่ บบส. ทำเรื่องแก้หนี้ก็เจอเยอะนะครับ แต่มาเป็นเอ็มดีที่ บสก. นี่ ก็เคยสั่งทางเลขาไว้ว่า ถ้าใครมาพบก็อย่าไปปิดกั้นเขา หรือแม้ไม่ได้นัดก็ให้เขาเข้ามา เพราะว่าคนที่อยากมาพบเอ็มดีหรือกรรมการผู้จัดการขององค์กรต้องมีอะไรแล้วล่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นเขาไม่บากหน้ามาจากต่างจังหวัดมาพบเราหรอก

มีรายหนึ่งเข้ามา ซึ่งเป็นรายย่อยนะครับ หนี้ประมาณ 2 ล้านกว่า จริงๆ ผมจำชื่อไม่ได้ แต่อยู่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เขามีอาชีพเพาะเลี้ยงผึ้ง ทำน้ำผึ้งขาย รายได้ต่อเดือนคงสัก 4,000-5,000 บาท ตอนวิกฤติผมไม่รู้นะว่าเขาไปทำอะไร หนี้มัน 2 ล้านกว่าบาท แต่ก็มีหลักประกัน ก็พอใช้ได้ ก็มีที่นาที่บ้านค่อนข้างเยอะ แต่ปัญหาคือว่าไม่มีเงินใช้หนี้ แล้วเขาก็ไม่มีทางออกจริงๆ แล้วคนต่างจังหวัดเราบอกว่าหนี้ 2 ล้านเยอะไหมบางทีเราบอกว่าไม่เห็นมากเลย แต่จริงๆ เยอะนะสำหรับคนที่มีรายได้แค่ 4,000-5,000 บาท ถือว่าเยอะ แล้วคนต่างจังหวัดบางครั้งเขาไม่มีทางออก เขาคิดไม่ออกว่าเขาจะทำอย่างไร เขาก็มีความเครียดในครอบครัวจนสามีเขาจะเป็นประสาท แต่ไม่ถึงกับบ้านะ บ้างครั้งมันรุมเร้าขึ้นมาก็ไปพูดเพ้อเจ้อกับต้นไม้บ้าง อะไรบ้าง อันนี้จากที่ภรรยาเขาเล่าให้ผมฟังนะ

พอเขามีโอกาสเข้ามากรุงเทพแล้วก็แวะมาหาผม ผมก็ได้มีโอกาสคุย พอได้ฟังปั๊บผมบอกว่า ขอให้เชื่อผมนะ อย่าแบกหนี้เลย 2 ล้านกว่าบาท ถ้าผ่อน 3,000-4,000 ตามรายได้ชาตินี้ก็ไม่หมดหรอก มีแต่งอก อะไรที่เป็นส่วนจำเป็นส่วนงอกบอกผมได้ไหม จำเป็นส่วนไหนเขาบอกส่วนจำเป็นคือบ้าน ไม่อยากเสียไป กับที่เพาะเลี้ยงผึ้ง และรอบๆ ที่นาไม่เอาก็ได้ ผมก็บอก เออ ส่วนนั้นมันทำให้เราน้ำหนักเกิน เราแบกเกินไป ถ้าเราแบกจะเสียหมดเลยนะ บ้านก็ไม่รอด เขาบอกแบ่งได้เหรอ เราบอกแบ่งได้ อ้าว เขาไม่รู้ นี่คือความไม่รู้ของคน

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

ความด้อยในโอกาสที่เขาไม่มีโอกาสรู้ว่าแก้หนี้มันแบ่งแยกได้ ตัดอันนี้ขายได้ เหลือตรงนี้ได้ ก็ไม่มีใครแนะนำเขาที่ถูกต้อง ก็จะเอาแต่เงินก้อนๆ ขายชำระหนี้ทั้งหมด แล้วมันจะขายยังไง เขานึกไม่ออก พอเราบอกเขาว่าเอาบ้านกับตรงเพาะเลี้ยงผึ้งไว้ แล้วเราคิดตามที่เขาสามารถผ่อนได้ เขาก็สว่างขึ้นมา เห็นแสงสว่าง มีกำลังใจ เราก็ตัดแบ่งส่วนนี้ไปให้เขาขายนา หรือตีโอนชำระหนี้ให้กับ บสก. เขาก็พ้นแล้ว ทุกวันนี้เขาพ้น เวลาเขาเข้ากรุงเทพฯ เขาก็หิ้วน้ำผึ้งมาให้ผมขวดหนึ่ง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เวลาที่คุยกัน สามีเขายิ้ม ในวันที่เขามาพบผมเขาแก้หนี้ได้แล้ว เขาก็ผ่อนบ้านเขาตามปกติ เขารอดแล้วไง เขาก็มาออกบูธเมืองทอง โอทอปอะไรอย่างนี้ พอสามีเขายิ้ม เขาบอกเป็นยิ้มครั้งแรกในรอบหลายปี คนเคยแบกปัญหา แล้วเขาเคยบอกผมนะ ถ้าแก้ไม่ได้จะโดดให้รถเมล์ทับที่เมืองทอง อันนี้คือเป็นกรณีที่เงินไม่เยอะนะ เงินแค่ 2 ล้านบาทเอง แต่คลิกนิดเดียว ถ้าเราอยู่ในวงการแล้วบอกว่านิดเดียวเอง แก้ง่าย ทำไมเขานึกไม่ออก เขานึกไม่ออกจริงๆ ครับ แล้วไม่มีใครไปช่วยเขาจริงๆ ถ้าเราจะใช้ตามกฎหมาย ไปบังคับเขาขายหรือไปชำระหนี้ทั้งก้อนมันทำได้อยู่แล้วล่ะ ไม่ผิดด้วย แต่ถามว่ามันยุติธรรมไหม ก็บอกว่าไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ มันเท่ากับฆ่าคนไปสองคนเลยนะ แล้วครอบครัวเขาอีก ผมไม่รู้ว่ามีกี่คน

อันนี้เป็นกรณีหนึ่งที่ไม่ใหญ่ แต่เป็นการช่วยคนและช่วยชีวิตด้วย ก็มีอีกเยอะครับ มีรายย่อยๆ อีกเยอะที่เราได้มีโอกาสไปสัมผัสได้ไปช่วย รายใหญ่ก็ได้ไปสัมผัสและได้ไปช่วย ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าเอเอ็มซีที่ดี นอกจากจะวัดผลกันที่ตัวเงินแล้วต้องดูนโยบายด้วย ว่าแนวคิดการจัดการองค์กรของคุณมีไหม เป็นคนมีวิญญาณไหมครับ

ไทยพับลิก้า : จากบทเรียน 15 ปีที่ผ่านมา มองว่าอนาคตข้างหน้าของประเทศไทยจะเป็นยังไง

บรรยง : คือจากบทเรียนของผมที่เคยอยู่ฝ่ายปล่อยสินเชื่อนะ ก็จะบอกว่าเราหลงระเริงมากกว่า เราเผลอไป เผลอกับตัวระบบทุนนิยม มันทำให้เรามันไม่รู้จักพอจริงๆ และความไม่รู้จักพอจะทำให้เราเก็งกำไร มันต้องการมากขึ้น ไม่รู้จักจบ นั่นคือจุดบอดของมันจริงๆ

ฉะนั้น วันนี้ผมก็คงต้องเตือนสตินะครับ วันนี้ก็ยังอยู่ในระบบเหมือนเดิม คือ ทุนนิยม เพียงแต่เรายังมีเหตุการณ์ที่มันเคยเกิดขึ้น เราอาจจะระแวงๆ บ้าง แต่ผมก็กลัวว่าระบบมันจะทำให้คน “ลืม” แล้วก็อาจจะหลงระเริงอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้ มันก็อาจจะกลับมาซ้ำรอย

ครั้งหน้าไม่แน่นะครับ ที่บอกว่ามันจะเกิด มันไม่แน่หรอกครับ มันอาจจะใหญ่กว่าเดิมก็ได้เพราะว่าโดยความซับซ้อนของมัน ระบบการค้า ระบบเศรษฐกิจมันซับซ้อนกว่าเดิมเยอะ การเคลื่อนของเงินทุนเข้า-ออกมันไม่เหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เข้า-ออกมันเร็วมากและจำนวนเยอะ ก็ต้องระวังไว้ครับ

ผมก็ยังไม่อยากให้มองโลกในแง่ดีนัก เพราะว่าเคยอยู่กับซีกนี้มาค่อนข้างเยอะ แล้วก็เห็นบทเรียนมาเยอะมากกับการแก้หนี้ ก็เห็นความยากลำบากของลูกหนี้ ทั้งของเจ้าหนี้ด้วย ก็ไม่อยากให้มันเกิดเหมือนเดิมอีก ก็คงเตือนสติว่าอย่าหลงระเริงกับมันในเงินทองที่มันซื้อง่ายขายคล่องก็คงต้องระมัดระวังให้มากขึ้น

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)