ThaiPublica > เกาะกระแส > Fact-Checking เครื่องจับเท็จ “โอบามา-รอมนีย์” สกัด “พินอคคิโอ” ในทำเนียบขาว

Fact-Checking เครื่องจับเท็จ “โอบามา-รอมนีย์” สกัด “พินอคคิโอ” ในทำเนียบขาว

29 ตุลาคม 2012


เว็บไซต์ FactCheck.org
เว็บไซต์ FactCheck.org

“คำพูด” กลายเป็น “นาย” ของ “ผู้พูด” ทุกคน

ไม่ว่าชนชั้นไหน สัญชาติใด

ไม่ว่าจะหลุดจากปาก “นักการเมืองไทย” หรือ “ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” เพราะขึ้นชื่อว่า “มนุษย์” ไม่มีใครพอใจในคำ “โกหก”

เป็นผลให้ขบวนการ “จด-จ้อง-จับผิด” คำพูด “ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ” ซึ่งเป็นการช่วงชิงระหว่าง “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต กับ “มิตต์ รอมนีย์” อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ จากพรรครีพับลิกัน เกิดขึ้นอย่างคึกคักในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้ง 6 พฤศจิกายน

ทุกคำพูดบนเวทีปราศรัย ทุกวาทะในการดีเบต ทุกคำให้สัมภาษณ์สื่อ ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบก่อนเปิดโปง “สิ่งซ่อนเร้น” ในระหว่างบรรทัด ผ่าน “ปฏิบัติการค้นหาความจริง” หรือ “Fact-Checking”

สื่อใหญ่หลายสำนักของอเมริกาลงทุนตั้ง “ทีมจับโกหก” ขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะเป็น “The Fact Checker” ของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ “Truth Squad” ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ รวมถึงสำนักข่าวเอบีซี สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ที่ขึ้นแถบข้อความข้างจอ (Side bar) ประกบการดีเบตเพื่อจับผิดกลางอากาศ

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์อิสระอื่นๆ อาทิ “PolitiFact” ที่มี “บิล อแดร์” ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาและทำเนียบขาว หนังสือพิมพ์แทมปาเบย์ไทม์ เป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง หรือ “FactCheck.org”มี “บรูคส์ แจคสัน” ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีทเจอนัล และสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เป็นผู้บริหารเว็บ ร่วมกับนักข่าวชั้นนำหลายคน

เว็บไซต์ PolitiFact.com
เว็บไซต์ PolitiFact.com

ขณะที่ “สื่อน้อย” อย่าง “เดอะเดลีคาร์ดินัล” หนังสือพิมพ์นักศึกษามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ก็ใช้ประโยชน์จาก Fact-Checking พยายามแสวงหา “ความจริงแท้” ก่อนถ่ายทอดสู่คนอ่าน

“อเลกซ์ ดิทุลลิโอ” บรรณาธิการบริหาร เดอะเดลีคาร์ดินัล เป็นคนหนึ่งที่ใช้ PolitiFact เป็นประจำ เขาเล่าพงศาวดารของมันว่า PolitiFact เริ่มต้นราวปี 2007 (ปี พ.ศ. 2550) ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของระบบมาแล้วหนหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเวลาแคนดิเดตจะพูดอะไร สิ่งนั้นสมควรเป็นเรื่องจริง ขณะที่ในยามปกติ “ทีมความจริงวันนี้” ก็จะคอยสอดส่อง “น้ำคำ” ของคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ผู้ว่าการรัฐ ด้วยเพราะนักการเมืองไม่ชอบพูดความจริง

โดยกำหนด “มาตรวัด” คำพูดนักการเมือง (True-O-Meter) ไว้ 9 ระดับ ผ่านภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ ไล่ตั้งแต่ True (จริง) Mostly True (ส่วนใหญ่จริง) Half True (จริงครึ่งหนึ่ง) Mostly False (ส่วนใหญ่เท็จ) False (เท็จ) Pant on Fire (โกหกโดยสิ้นเชิง) No Flip (รักษาคำพูด) Half Flip (กลับคำพูดบางส่วน) Full Flop (พลิกลิ้น, พูดคนละเรื่องเดียวกัน)

“อย่างในการดีเบต หากแคนดิเดตพูดเท็จ มันง่ายมากที่เราจะรู้ และคนจำนวนมากต้องการรู้ นี่จึงเป็นช่องทางง่ายๆ ที่ทำให้รู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ผมมักจะใช้งานมันผ่านทวิตเตอร์ โดยเฉพาะในวันที่มีดีเบต เพราะเราสามารถดูข้อมูลแบบคำต่อคำ นาทีต่อนาที หลายครั้งฟังแล้วนึกว่าเป็นเรื่องจริง แต่พอไปตรวจสอบใน PolitiFact พบว่าไม่จริงเลย”

อย่างไรก็ตาม “อเลกซ์” ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ใช้งานเว็บดังกล่าวยังน้อยเกินไป หากเทียบกับสัดส่วนประชากรอเมริกัน 312 ล้านคน โดยยอดคนติดตาม PolitiFact ผ่านทวิตเตอร์ อยู่ราว 1.66 แสนคน มีผู้ทวีตข้อความ 6,200 ครั้ง ในระหว่างการดีเบตของโอบามา-รอมนีย์ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่เว็บ FactCheck.org มียอดคลิ๊กในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 5 แสนคลิ๊ก/เดือน

“อเลกซ์ ดิทุลลิโอ” บรรณาธิการบริหาร เดอะเดลีคาร์ดินัล ผู้ใช้งาน PolitiFact เป็นประจำ
“อเลกซ์ ดิทุลลิโอ” บรรณาธิการบริหาร เดอะเดลีคาร์ดินัล ผู้ใช้งาน PolitiFact เป็นประจำ

“คนที่มาใช้งานส่วนใหญ่น่าจะเป็นนักข่าว นักเคลื่อนไหว หรือผู้สนใจการเมืองจริงๆ และมันคงปั่นยอดสูงสุดได้เพียงเท่านั้น ผมหมายถึงในวันที่มีดีเบต จากนี้จนถึงวันเลือกตั้งก็อาจมีคนเข้าไปดูบ้าง ไปตรวจสอบข้อมูลเพื่อความกระจ่างก่อนตัดสินใจ เช่น ดูว่าโอบามาเป็นอย่างไร รอมนีย์เป็นอย่างไร มีนโยบายอย่างไร มีกรอบความคิดอย่างไร ทั้งหมดนี้อาจมีผลบ้างกับกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร แต่ถ้าคนที่ตัดสินใจไปแล้วจะไม่มีผล”

ระหว่าง “นักการเมืองโกหก” กับ “นักการเมืองไม่รักษาสัญญา” เขาบอกว่าเกลียดนักการเมืองจอมโกหกมากกว่า แต่หลายครั้งที่แคนดิเดตไม่ได้โกหกแบบโต้งๆ แต่ใช้วิธีเลี่ยงตอบคำถามของพิธีกรหรือประชาชน เอาแต่จ้อในเรื่องที่ตนต้องการสื่อสารไม่ยอมหยุด หรือบางครั้งพูดว่าอาจจะทำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอาจจะไม่ทำ บางคราวโกหกไปเลยก็มี

จริงๆ แล้วคนอเมริกันอนุญาตให้ผู้นำ “โกหกสีขาว” (White lies) ได้หรือไม่ เช่น ในภาวะวิกฤติ หรือในภาวะสงคราม?

“ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นเลยทีเดียวนะ แต่ในภาวะวิกฤติ คนอเมริกันจะสนับสนุนผู้นำ บางครั้งประธานาธิบดีอาจไม่ได้โกหก เพียงแต่บอกความจริงบางส่วน ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ประชาชนต้องสนับสนุนเขาเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เหมือนกรณีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 43 ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมากในการเปิดสงครามกับอิรักเมื่อปี 2003 (ปีพ.ศ. 2546) แต่หลังจากเขาพ้นจากตำแหน่ง ก็ถูกโจมตีมากมาย ถูกตีแผ่ข้อมูลว่าคำประกาศต่อสาธารณะบางเรื่องเขากุขึ้นมาเอง โดยสรุปแล้วคือ คนอเมริกันอาจไม่ชอบการโกหก ไม่ชอบไวท์ไล แต่ในภาวะวิกฤติ คนอเมริกันต้องเชื่อมั่นในผู้นำ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครมีความสุขหรอกหากรู้ว่าตัวเองถูกหลอก ถูกโกหก ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรประธานาธิบดีสามารถบอกความจริงกับประชาชนได้ ผมเข้าใจ และคิดว่าคนอเมริกันคนอื่นๆ ก็เข้าใจและรับได้ อย่าคิดว่าเราไม่ควรรู้ ทั้งที่เรามีสิทธิที่จะรู้ การโกหกไม่ใช่การให้ข้อมูลที่ดี”

“ดอน สแตนเลย์” อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Sciences Communication) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน
“ดอน สแตนเลย์” อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Sciences Communication) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน

ขณะที่ “ดอน สแตนเลย์” อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Sciences Communication) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการสอนในสาขาวิชาโซเชียลมีเดีย ชี้ว่า ปัญหา “ข่าวลวง-ข้อมูลเท็จ” ว่อนในอเมริกา เป็นผลจากการมี “Political Action Committee” หรือ PACs คอยจัดการการเมืองอย่างเป็นระบบ

“PACs เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยอคติ เช่น พวกเขาสามารถประกอบธุรกิจ หรือมีรายได้จากการทำให้คนเชื่อในบางสิ่ง โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ เขาสามารถชี้นำคนอเมริกันเกี่ยวกับประเด็นการเมือง จากการที่คนไม่รู้แน่ชัดว่าเรื่องนั้นๆ จริงหรือเท็จ จากการที่ทำให้คนรู้สึกว่าพวกเขามีแหล่งข่าวที่ดี ต่างจาก Fact-Checking ที่พยายามตรวจสอบข้อมูลโดยปราศจากอคติ เพราะคนทำเป็นนักข่าว ไม่สามารถสนับสนุน (Promote) หรือปกป้อง (Protect) นักการเมืองได้ เพียงแต่นำเสนอความจริงออกไป แล้วปล่อยให้คนอ่านทำหน้าที่ตัดสินเอาเอง”

“ผมคิดว่ามันเป็นตัวช่วยที่ดีมากในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เวลามีคำถามต่างๆ มันช่วยให้เราแน่ใจว่าเวลานักการเมืองพูดแล้วเขาลงมือทำจริงๆ หรือเป็นเพียงการโฆษณาแฝงวาระทางการเมือง เวลาเราเห็นโฆษณาในทีวี โอบามาสามารถทำอย่างนั้น รอมนีย์สามารถทำอย่างนี้ มันจริงหรือไม่จริง หรือบ่อยครั้งเราจะเห็นแคนดิเดตพูดอย่าง แต่ถึงเวลากลับไปทำอีกอย่าง”

พลเมืองสหรัฐฯ รายนี้บอกว่าไม่ชอบนักการเมืองโกหก ในเวลาหนึ่งพูดอย่างหนึ่งกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ต่อมาไปพูดอีกอย่างกับคนอีกกลุ่ม โดยไม่ลืมอ้างถึงกรณี “คลิปหลุด” ของ “รอมนีย์” ที่ระบุในงานระดมทุนของพรรครีพับลิกันว่า คนอเมริกันร้อยละ 47 ที่สนับสนุน “โอบามา” เป็นพวกที่คิดว่าตัวเองรับเคราะห์ และคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบชีวิตพวกเขา ต่อมาเมื่อถูก “มือมืด” งัดคลิปออกมา “แฉ” แล้วสังคมรุม “ฉะ” ท่าทีและวาทะของ “รอมนีย์” ก็เปลี่ยนไปในงานแถลงข่าว

“สำหรับผมนี่คือการ Flip Flop!”

หลายคนมองว่าสังคมออนไลน์-โซเชียลมีเดียคือ “โลกเสมือนจริง” ใครอยากประกาศให้โลกรู้ว่าเป็นคนแบบไหนก็ไปแสดงในนั้น ทำให้หลายข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่อง “ลวง” มากกว่าเรื่อง “จริง” สิ่งที่ Fact-Checking พยายามทำคือการสร้าง “ชุดความจริง (แท้)” ในโลกเสมือนจริง?

“ดอน” พยักหน้าเห็นด้วยพลางกล่าวว่า “ในโซเชียลมีเดีย คุณสามารถสร้างบัญชีผู้ใช้งานขึ้นมา สร้างชุดข้อมูลที่อยากนำเสนอขึ้นมา แต่ผมคิดว่าเนื้อหาสาระหลักมันเสแสร้งไม่ได้ มันต้องเป็นความจริง อย่างการเลือกตั้งปี 2008 (ปี พ.ศ. 2551) โอบามาชนะการเลือกตั้งเพราะใช้โซเชียลมีเดีย มีคนจำนวนมากสนับสนุนเขา จ่ายเงินระดมทุนช่วยเขา จนเขากลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศนี้ นี่คือนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย”

“กฎแห่งความเป็นจริงประการหนึ่งของโซเชียลมีเดียคือ มันทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการเมือง ทุกวันนี้การสื่อสารในระดับชาติหรือผู้สื่อข่าว ก็จำเป็นต้องมีโซเชียลมีเดียเป็นที่ปรึกษา แม้หลายคนจะไม่ชอบ จะส่ายหน้า บางคนย้อนกลับไปหาสื่อเก่าอย่างวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ แต่สำหรับผมจะอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อดูว่าเมื่อวานเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าต้องการการสนองตอบที่รวดเร็ว ก็ต้องเสพข้อมูลข่าวสารเรียลไทม์ในโซเชียลมีเดีย และกฎอีกประการก็คือ ยิ่งเร็วยิ่งต้องจริงและต้องถูกต้อง ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ Fact-Checking กำลังทำ”

นอกจาก “นักข่าว” และ “นักวิชาการ” เดี๋ยวนี้ “ชาวบ้าน” ก็สามารถหาเรื่องเสกสรรปั้นแต่งระหว่าง “สุนทรพจน์สุดสวยหรู” ง่ายๆ เพียงคลิ๊กเดียว…

“คริสโตเฟอร์ เรเวอเรนด์ ลอง” วิทยากรอิสระในหลักสูตรการเป็นผู้นำและการพัฒนาองค์กร และสมาชิกพรรคเดโมแครต
“คริสโตเฟอร์ เรเวอเรนด์ ลอง” วิทยากรอิสระในหลักสูตรการเป็นผู้นำและการพัฒนาองค์กร และสมาชิกพรรคเดโมแครต

“คริสโตเฟอร์ เรเวอเรนด์ ลอง” วิทยากรอิสระในหลักสูตรการเป็นผู้นำและการพัฒนาองค์กร ยอมรับว่า Fact-Checking เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบางคนที่ต้องการความแน่ใจว่าแคนดิเดตเคยพูดอะไรไว้บ้าง แล้วเขาทำตามที่พูดหรือไม่ เปลี่ยนจุดยืนหรือไม่ แต่ส่วนตัวไม่เคยใช้มัน เพราะสิ่งที่โอบามาพูดไว้เมื่อปี 2008 (ปี พ.ศ. 2551) ตนได้ยินและจำได้ หรือถ้าจำไม่ได้ก็ย้อนไปอ่านข่าวในเว็บไซต์ได้

“ผมไม่สนใจว่าทุกคำพูดของแคนดิเดตต้องเป็นเรื่องจริงหมด แต่ดูภาพรวมว่านโยบายไหนก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง และคิดว่าคนอเมริกันส่วนมากก็คิดเหมือนผม อีกอย่างผมคิดว่า Fact-Checking เป็นสื่อแขนงหนึ่ง บางทีก็อาจจะมีอคติ (Bias) ได้เหมือนกัน เช่น ถ้าผมดูทีวี 3 ช่อง ผมก็จะได้ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันถึง 3 ชุด ดูฟอกซ์ได้ข้อมูลอย่างหนึ่ง ดูซีเอ็นเอ็นได้ข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง ผมจึงสนใจดู ฟัง อ่านข่าวจากต่างประเทศมากกว่า ว่าเขามีมุมมองต่อประเด็นต่างๆ อย่างไรหลังดีเบต ส่วนเรื่องข้อเท็จจริง ผมมีของผมอยู่แล้ว”

แม้ประกาศตัวเป็น “สาวกเดโมแครตตัวเอ้” ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ “คริสโตเฟอร์” ไม่คาดหวังให้นักการเมืองสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาเห็นผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนหาเสียงว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะต้องการชัยชนะ แล้วเขาก็ชนะ แต่ถึงเวลาลงมือทำ บางเรื่องหากรัฐสภา (Congress) ไม่ผ่านกฎหมายให้ มันก็เป็นไปไม่ได้

“หลายคนบอกว่าโอบามาโกหก โอบามาไม่ทำตามที่พูดไว้ ก็เพราะเขาพูดในสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงมันมีข้อจำกัดที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่เขาเปลี่ยนคำพูด เพียงแต่เขาไม่สามารถเปลี่ยนใจสมาชิกรัฐสภาได้ ดังนั้น ถ้าถามผม ผมรับได้หากเขาพูดอะไรไว้แล้วในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีสิ่งที่เขาไม่ได้ทำบ้าง มันเป็นไปไม่ได้ที่ประธานาธิบดีจะสามารถสนองตอบความต้องการของคุณได้ทุกเรื่อง ประชากรอเมริกันมี 300 ล้านคน ต่อให้ทำอย่างไรก็ไม่มีทางสนองตอบได้หมด ดังนั้นผมไม่ใส่ใจหากคำปราศรัยของนักการเมืองเมื่อวานจะแตกต่างจากวันนี้”

ก่อนบทสนทนาว่าด้วยเรื่อง “ผู้นำ-คำโกหก-อำนาจสื่อ” จะยุติลง ท่ามกลางการโหมกระพือวาทกรรม “พิทักษ์ฝันชาวอเมริกา” (Safe the American Dream) ของ “รอมนีย์” และ “ไปข้างหน้า” (FORWARD) พร้อม “โอบามา” ในสังคมอเมริกัน

“ความฝัน” กับ “อนาคต” อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ?

แน่นอนว่า “คริสโตเฟอร์” จะออกไปโหวตเพื่อส่ง “โอบามา” กลับทำเนียบขาวอีกครั้ง ด้วยเหตุผลมีนโยบายที่จับต้องได้ และส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของเขา

“ผมสนับสนุนพรรคเดโมแครต แม้ไม่เพอร์เฟกต์ แต่เชื่อในโอบามาว่าเขาจะแก้ไข 4 ปัญหาใหญ่ของอเมริกา ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การทหาร และการเมือง แต่ถ้าเลือกรอมนีย์ ซึ่งเป็นอดีตนักธุรกิจ เขาอาจทำแค่เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีคำถามมากมายในนโยบายของเขาว่าจะเอาเงินมาจากไหน”

ขณะที่ “ดอน” ขอสงวนสิทธิประกาศจุดยืนทางการเมืองผ่านสื่อ เพื่อรักษาความเป็นกลางทางวิชาการ

เช่นเดียวกับ “อเลกซ์” ที่ไม่ขอเอ่ยนาม “ผู้นำในดวงใจ” แบบตรงๆ แต่เขาเปิดเผยความนึกคิดที่มีต่อแคมเปญหาเสียงฝ่ายผู้ท้าชิงว่า “การทำความฝันให้เป็นจริง หมายถึงการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ (หัวเราะ) ตอนผมได้ยินเรื่องอเมริกันดรีมใหม่ๆ ผมชอบนะ ผมวาดภาพตามว่าประชาชนจากประเทศอื่นกำลังจะเข้ามาที่อเมริกา และเรายินดีต้อนรับ ผมมีความหวัง เวลาเขาพูดถึงการสร้างงาน แต่ความเป็นจริงคือหลายคนไม่มีงานทำ เพราะเศรษฐกิจเลวร้ายมาก หลายคนอยู่อย่างมีฝัน และความฝันของเขาคือการมีงานทำ มีเงินใช้ ผมคิดว่าคนอเมริกันต้องการได้ประธานาธิบดีที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้องการประธานาธิบดีที่ช่วยพวกเขาได้ ประธานาธิบดีที่พวกเขาจะไว้วางใจได้”

ตราบใดที่ยังไม่ถึง “วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง” ตราบนั้น “ประชาชน” ยังเป็น “นาย” นักการเมือง

ตราบใดที่ “นักการเมือง” ได้ลั่นวาจาออกมาแล้ว ตราบนั้น “คำพูด” เป็น “นาย” พวกเขาไปตลอดกาล

ไม่ว่าในวันที่ 6 พฤศจิกายน จะเป็นวันแห่งชัยชนะของ “โอบามา” หรือ “รอมนีย์” แต่คำว่า I make sure (ฉันมั่นใจ), I promise (ฉันสัญญา), I work with you (ฉันทำงานกับคุณ) และอีกสารพัดที่พรั่งพรูออกมากลาง “สงครามน้ำลาย” ตลอดหลายเดือนแห่งการช่วงชิงอำนาจ อาจทำให้เขานั่งอยู่ในทำเนียบขาวอย่างไม่สบายนัก หากกลายเป็น “นักการเมืองจมูกยาว” เหมือน “พินอคคิโอ”!!!

รายงานพิเศษเลือกตั้งอเมริกา ตอนที่ 2 โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ