ThaiPublica > เกาะกระแส > The Day after Election Day “โอบามา” อุ่นในทำเนียบขาว “ออคคิวพายแมดิสัน” หนาวข้างถนน

The Day after Election Day “โอบามา” อุ่นในทำเนียบขาว “ออคคิวพายแมดิสัน” หนาวข้างถนน

12 พฤศจิกายน 2012


รายงานโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

สุนทรพจน์ก้องโลกพรั่งพรูจากปาก “บารัก โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องจากประชาชนที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานใหญ่พรรคเดโมแครต ในนครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ระหว่างการประกาศชัยชนะเหนือ “มิตต์ รอมนีย์” ผู้ท้าชิงเก้าอี้จากพรรครีพับลิกัน ในเวลา 00.35 น. ของวันที่ 7 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น)

“…เศรษฐกิจของเรากำลังฟื้นตัว ทศวรรษแห่งสงครามกำลังสิ้นสุดลง การหาเสียงอันยาวนานสิ้นสุดลงแล้ว…”

“…คุณเลือกผมเพื่อให้ทำงานเพื่อพวกคุณ ไม่ใช่ทำงานให้ผม…”

“…ผมจะยื่นมือเพื่อคุยกับพรรครีพับลิกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน…”

“…พวกเราเป็นครอบครัวอเมริกา และไม่ว่ารุ่งเรืองหรือตกต่ำ ประเทศเราจะเป็นหนึ่ง ทุกคนจะเป็นหนึ่ง…”

วันที่พลเมืองสหรัฐฯ 61.9 ล้านคน พร้อมใจกันโหวตอุ้ม “โอบามา” กลับเข้าทำเนียบขาวอย่างอบอุ่น มีชาวเมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน “หยิบมือหนึ่ง” นอนอยู่ข้างถนน

พวกเขาเร้นกายอยู่ภายในเต็นท์ 15 หลัง บนถนนอีสต์ วอชิงตัน อเวนิว เพื่อหลบความหนาวเย็นจากอุณหภูมิติดลบ

พวกเขากลับมากิน-อยู่-หลับ-นอน “ที่เดิม” ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพื่อสะท้อนปัญหาคนว่างงานและคนไร้บ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

สถานที่พักแรมของกลุ่มออคคิวพาย แมดิสัน บนถนนอีสท์ วอชิงตัน อเวนิว เมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐฯ
สถานที่พักแรมของกลุ่มออคคิวพาย แมดิสัน บนถนนอีสท์ วอชิงตัน อเวนิว เมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐฯ

พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ขบวนการยึดแมดิสัน” หรือ “ออคคิวพาย แมดิสัน (Occupy Madison)”

“โนอาห์ ฟิลลิปส์” นักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ซึ่งสนใจแนวทางการจัดการสังคมโดยปราศจากการแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นผู้ประสานงานกลุ่มออคคิวพาย แมดิสัน เล่าว่า ออคคิวพาย แมดิสันเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2011 (พ.ศ. 2554) จากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ถูกให้ออกจากงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน กลายเป็นคนไร้บ้าน จึงมารวมตัวกันกลางถนนเพื่อสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้ประท้วงในมหานครนิวยอร์กที่เรียกตัวเองว่า “ออคคิวพาย วอลสตรีท (Occupy Wallstreet)”

จาก 200 คนที่มาชุมนุมใกล้เรย์นัลด์ส พาร์ค ย้ายไปปักหลักประชิดศาลาว่าการรัฐวิสคอนซิน (Wisconsin State Capital) บนถนนสเตรท สตรีท โดยชูประเด็นแตกต่างหลากหลาย อาทิ การต่อต้านนโยบายอุ้มธนาคารยักษ์ใหญ่ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปากท้องให้คนสามัญ ไปกระทั่งต่อต้านอาหารที่ผลิตจากพืชจีเอ็มโอ ฯลฯ

ทว่าชุมนุมได้ไม่นาน ก็มีเหตุให้ต้องย้ายสถานกันอีกหน เนื่องจากถนนสายนี้คือสถานที่จัดกิจกรรมฮาโลวีน ฟรีก เฟสต์ (Halloween Freak Fest) ซึ่งถือเป็นเทศกาลใหญ่ของเมืองแมดิสันในทุกวันที่ 31 ตุลาคม

สุดท้าย “ม็อบคนจร” จึงถูก “ม็อบผี” ไล่ที่ ต้องจรลีไปชุมนุมบนถนนอีสต์ วอชิงตัน อเวนิว นับแต่บัดนั้น!

กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2012 มีการเกิดขึ้นของผู้ประท้วงอีกกลุ่มเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายปฏิรูปงบประมาณของ “สก๊อต วอล์คเกอร์” ผู้ว่าการรัฐวิสคอนซิน สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีเนื้อหาหลักให้ลดอำนาจเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานที่เป็นลูกจ้างของรัฐในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซ้ำยังบังคับให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยที่รัฐกลับตัดงบอุดหนุนกองทุนประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน

แม้คนละพวก แต่มีเป้าหมายตรงกันที่การโจมตี “ทุนนิยมสามานย์” เป็นผลให้ “ออคคิวพาย แมดิสัน” กระโดดเข้าร่วมขบวนอย่างไม่ต้องสงสัย กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และกลายเป็นการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีของเมืองแมดิสัน เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมถึง 4 หมื่นคน จากประชากรทั้งหมด 225,000 คน

“ความพิเศษของอเมริกาคือ ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก และสามารถเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการแล้ว ทุกอย่างก็จะหยุด อย่างกรณีของวอล์คเกอร์ เมื่อกฎหมายผ่านรัฐสภาในเดือนมีนาคม ผู้ชุมนุมก็ยกระดับเป็นการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนผู้ว่าการรัฐและ ส.ว. ที่สนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากตำแหน่ง (Recall) เมื่อได้ชื่อครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด พวกเขาก็หยุดรอกระบวนการถอดถอน ผู้ชุมนุมทั้งหมดกลับบ้าน แต่ออคคิวพายไม่มีบ้านให้กลับ ต้องเร่ร่อนไปเรื่อย วันนี้พวกเขาจึงกลับมาอยู่บนถนนอีสต์ วอชิงตัน อเวนิว อีกครั้ง เพื่อสะท้อนปัญหาที่ถูกลืม โดยทุกคนสัญญาว่าจะไม่ใช่ความรุนแรง เพราะพวกเขาออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหา ไม่ได้ออกมาสร้างปัญหาให้สังคมเพิ่มเติม ที่สำคัญคือพวกเขาออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤศจิกายน ทั้งที่ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ดูแลอะไรพวกเขาเลย”

โนอาห์ระบายความในใจก่อนสำทับความความรู้สึกที่มีต่อ “ผู้นำคนใหม่ ซึ่งเป็นคนหน้าเก่า”

โนอาห์ ฟิลลิปส์
โนอาห์ ฟิลลิปส์

“ผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่มีผลอะไรต่อพวกออคคิวพายเลย ไม่ว่าโอบามาชนะหรือรอมนีย์ชนะ เพราะพวกเขาไม่ได้แคร์เรา ผมคิดว่าเขาแคร์คนที่วอชิงตัน ดี.ซี. มากกว่าคนที่แมดิสัน เพราะมันอยู่ในระดับที่แตกต่างกันมาก ทั้งเรื่องฐานะการเงินของนักธุรกิจในเมืองใหญ่กับคนชานเมือง และจำนวนโหวตเตอร์ ตอนโอบามาชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2008 ผู้มีรายได้น้อยก็คิดว่าเขาจะช่วยคนจนให้มีเงิน ช่วยคนไร้บ้านให้มีบ้าน แต่เอาเข้าจริงก็คือไม่มี”

“มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่โหวตให้โอบามา ทั้งที่ใจจริงอยากลงคะแนนให้จิลล์ สเตน ผู้สมัครจากพรรคกรีน แต่โดยระบบการเมืองของสหรัฐฯ มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศนี้ ผมจึงต้องโหวตให้โอบามา เพราะกลัวเศรษฐีที่คิดถึงแต่การปกป้องผลประโยชน์ของเศรษฐีด้วยกันอย่างรอมนีย์จะชนะ ดังนั้น 7 พฤศจิกายน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเรา”

ด้าน “เดวิด แซมเบอรส์” นักศึกษาปริญญาเอกสาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน เป็นอีกคนที่ขนลูก-เมียไปร่วมชุมนุมเมื่อปีก่อน หลัง “ออคคิวพาย แมดิสัน” กลายพันธุ์เป็น “เสื้อแดงแมดิสัน” ทั้งที่ลึกๆ ทั้งเกลียดและกลัวม็อบ เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านมืดในหลายครั้งที่ไปร่วมชุมนุมประจำปีของผู้นับถือนิกายมอร์มอน แล้วถูกคนต่างความเชื่อชุมนุมปิดล้อมหน้าศาสนสถาน

“ผมไปดูการชุมนุมของพวกออคคิวพาย 2 ครั้ง เพราะสนับสนุนความรู้สึกและเหตุผลของพวกเขา ผมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของวอล์คเกอร์ แต่ผมไม่สนับสนุนในวิธีการนี้นะ ที่อเมริกาไม่มีทฤษฎีเรื่องคนรวยตั้งรัฐบาล คนจนล้มรัฐบาล อาจจะมีเรื่องคนรวยช่วยตั้งรัฐบาลบ้าง แต่รากหญ้าล้มรัฐบาลไม่มี เพราะในอเมริกาหากพูดถึงมาร์กซ์ มัน Very bad (แย่มาก) แม้จะมีบางคนเห็นด้วยกับทฤษฎี แต่ไม่มีใครยอมรับการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ ดังนั้น ต่อให้ออคคิวพายบอกว่า We are 99% (พวกเราเป็นคนร้อยละ 99) แต่พวกเขาก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมเพราะหวังจะใช้คนจำนวนมากๆ มาโค่นล้มรัฐบาล พวกเขาต้องการให้รัฐบาลถูกเปลี่ยนแปลงตามระบบ”

เมื่อไม่ปรากฏทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตยภาคอเมริกา” แน่ชัด สิ่งที่อเมริกันชนทำได้จึงอยู่ที่การ “รอ” วันเข้าคูหาเลือกตั้ง เพื่อลงทัณฑ์ หรือให้รางวัล “แคนดิเดต” จาก 2 พรรค

ทั้งๆ ที่คนบางส่วนยังหลอนกับการทิ้งบอมบ์ทางเศรษฐกิจของ “จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 43 จากพรรครีพับลิกัน ด้วยการดำเนินนโยบาย “สารพัดกู้” สร้างความเจริญจอมปลอม จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ

ทั้งๆ ที่คนบางส่วนผิดหวังกับอาการไหลตามระบบทุนนิยมของ “โอบามา” ผู้เคยประกาศกร้าวว่าจะจัดการ “พ่อค้าวอลสตรีท”

บารัก โอบามา ปราศรัยปิดในวันที่ 5 พฤศจิกายน กับชาวเมืองแมดิสัน 2 หมื่นคน บริเวณใกล้ด้านนอกศาลาว่าการรัฐวิสคอนซิน
บารัก โอบามา ปราศรัยปิดในวันที่ 5 พฤศจิกายน กับชาวเมืองแมดิสัน 2 หมื่นคน บริเวณใกล้ด้านนอกศาลาว่าการรัฐวิสคอนซิน

แต่พวกเขาต้องเลือก ทางเลือกที่มีเพียง 2 ทาง ไม่ซ้ายก็ขวา

“ผมคิดว่าคนส่วนมากยอมรับว่าปัญหาเกิดจากบุช และมันเกิดมานานแล้ว แต่ดูเหมือน 4 ปีที่ผ่านมา โอบามาจะพยายามพูดตลอดเวลาว่าปัญหาเกิดจากบุช ทุกอย่างบุชทำ มีบางส่วนเบื่อคำพูดนี้ ต่อให้มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น โอบามาก็จะพูดแบบเดิมว่าปัญหาเกิดจากอดีต แต่ผมไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ผมมองว่าปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มันไม่ใช่ความผิดของนักธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นปัญหาวัฒนธรรมคนอเมริกัน เป็นเพราะคนกู้เงินโกหก บอกว่ามีศักยภาพในการใช้คืน แต่เอาเข้าจริงเขาไม่มีจ่ายทุกเดือน ขณะที่นักธุรกิจก็โลภ สมองคิดแต่เรื่องเงิน ก็เลยมาชนกันแล้วทำให้เกิดปัญหา”

“แซมเบอรส์” โจมตี “ผู้นำจากพรรคเดโมแครต” ที่ดีแต่ผลิตและตอกย้ำวาทกรรม เพื่อฉายความล้มเหลวของพรรครีพับลิกัน ก่อนตั้งข้อสังเกตต่อ

“โอบามาบอกว่าไม่ได้สนับสนุนนักธุรกิจ แต่จริงๆ เหมือนเขาไม่มีอำนาจในการต่อต้านมากกว่า ตอนหาเสียงเมื่อปี 2008 คนละเรื่องกันเลย เขาบอกว่าเราจะทำอย่างนั้นเราจะทำอย่างนี้ พอได้เป็นรัฐบาล มันก็เปลี่ยนไป ผมรู้สึกว่าอาจจะมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นข้างหลังภาพ ผมหมายถึงอาจจะมีสายสัมพันธ์กับคนที่มีอำนาจหรือมีเงินบอกโอบามาว่า ถ้าทำอย่างนี้จะมีปัญหา มีสถาบันที่ตัดสินให้เขาก่อนว่าควรทำอย่างไร แม้เขาอาจจะมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ไม่ทำ”

ถ้าเช่นนั้น “การเปลี่ยนแปลงในระบบ” จะเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าโหวตให้ “รอมนีย์” บางส่วนก็วิจารณ์ว่าเป็นการหนุนหลังนักธุรกิจหิวเงิน แต่ถ้าเทคะแนนให้ “โอบามา” ก็บอกกันว่ามีอำนาจทุนอยู่ข้างหลังภาพ?

“คนบางส่วนอาจออกไปโหวตด้วยความคิดต่อต้านนายทุน ใช่ นั่นคือความคิดคนบางส่วนที่เลือกโอบามา เพราะรู้สึกว่าดีกว่ารอมนีย์ แต่ผมคิดว่า ถ้าเอาเนื้อหาที่รอมนีย์พูด โดยที่เขาทำตามที่พูดทั้งหมด ก็จะเกิดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่มีทางที่ทุกอย่างจะผ่านสภาคองเกรสไปได้ง่ายๆ และที่สุดก็เชื่อว่าจะล้มเหลว”

เดวิด แซมเบอร์ส
เดวิด แซมเบอร์ส

“วันนี้เรามี 2 พรรค แต่มีเป้าหมายเดียวกันที่เรื่องทุนนิยม แต่พวกเขาเกลียดกัน มันแปลกมาก และสิ่งที่ทั้ง 2 พรรคพยายามทำคือการเล่นกับความรู้สึกประชาชนมากกว่ามานั่งคิดแก้ปัญหา เขาส่งเสียงต่อต้านคนอื่น บอกว่าอีกฝ่ายไม่ดี ต้องล้มล้าง ซึ่งเป็นคำพูดแห่งความเกลียดชัง ไม่ใช่สร้างสรรค์ แต่ไม่ได้บอกว่ามีนโยบายอะไร นี่เป็นยุทธการของนักการเมือง ผมบอกตามตรงว่ารู้สึกเบื่อมาก สมัยก่อน รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย สามารถพูดได้ว่าคุณคิดอย่างไร แม้คุณจะเป็นเดโมแครต และคู่สนทนาของคุณเป็นรีพับลิกัน แต่เดี๋ยวนี้พูดไม่ได้” เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยสีหน้าเบื่อหน่ายตามคำพูด

ไม่ว่าความรู้สึกของคนอเมริกัน 1 คนที่มีต่อ “โอบามา” จะเป็นอย่างไร หรือมีคนถึง 58.65 ล้านคนโหวตให้ “รอมนีย์” แต่พวกเขาต้องใช้ผู้นำร่วมกันหลังจากนี้

“อุณหภูมิการเมือง” คลายความร้อนแรงลง “โอบามา” ยังได้รับเสียงตอบรับจากคนอเมริกันอย่างอบอุ่น แต่ “ออคคิวพาย แมดิสัน” หนาวจับขั้วหัวใจ โดยเฉพาะในวันที่ 6 พฤศจิกายน ซึ่งหิมะตกในเมืองแมดิสันเป็นวันแรก

ผู้ชุมนุมสูงอายุเล่าว่า หลายคืนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ลุกขึ้นมาเดินรอบๆ เต็นท์ 15-20 นาที เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงาน เรียกความอบอุ่น

สตรีอีกนางที่กลายเป็นคนไร้บ้านเพราะตกงาน ก็มานอนนอนหนาวอยู่กลางถนน ด้วยเหตุผล “ออคคิวพายคือบ้านของฉัน คือสังคมที่มีความปลอดภัย”

ไม่ต่างจากชายเก็บของเก่าที่มักทอดสายตาไปยังบ้านหลังใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในอีกฟากของถนน “ผมฝันว่าจะได้กลับไปซุกไออุ่นในบ้านเสมอ ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล ปัญหาคนไร้บ้านในอเมริกาก็ไม่ถูกแก้ไข”

ใครบางคนตั้งคำถามขึ้น “เราจะออกไปโหวตเพื่ออะไร ไม่ว่าใครชนะ พวกเราก็ยังต้องนอนอยู่ข้างถนน เพราะไม่มีงานทำ”

แต่สุดท้ายทุกคนออกไปโหวต และพวกเขาโหวตให้ “โอบามา”

แม้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของคะแนนเสียงจากเมืองแมดิสัน แต่พวกเขาก็ภูมิใจที่ช่วยให้ “โอบามา” เก็บแต้มใน “วิสคอนซิน-สวิงสเตรท” แห่งนี้ได้สำเร็จ หลังมาเหยียบแมดิสันเพื่อเปิดปราศรัยถึง 2 หน

และพวกเขาคงภาคภูมิยิ่งขึ้น หากสุนทรพจน์ “…พวกเราเป็นครอบครัวอเมริกา และไม่ว่ารุ่งเรืองหรือตกต่ำ ประเทศเราจะเป็นหนึ่ง ทุกคนจะเป็นหนึ่ง…”

เกิดขึ้นจริงในชีวิตพวกเขา!!!