ThaiPublica > เกาะกระแส > หยั่งกระแส “อิสระชน GEN-Y” ก่อนดีเบทยก 2 คืนฝันร้าย “โอบามา” กับชัยชนะ “อเมริกันดรีม”

หยั่งกระแส “อิสระชน GEN-Y” ก่อนดีเบทยก 2 คืนฝันร้าย “โอบามา” กับชัยชนะ “อเมริกันดรีม”

16 ตุลาคม 2012


บรรยากาศภายใน “เมโมเรียล ยูเนียน” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ขณะถ่ายทอดสดการดีเบทศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี
บรรยากาศภายใน “เมโมเรียล ยูเนียน” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ขณะถ่ายทอดสดการดีเบทศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี

“ผู้ว่าการฯ รอมนีย์มีคืนที่น่าพอใจ ส่วนผมมีคืนที่เลวร้าย”

คือวรรคทองของ “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครต ที่พลั้งปากให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอบีซี หลังพลาดท่า-แพ้ดีเบทในยกแรกแก่ “มิตต์ รอมนีย์” ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา

วันที่ “โอบามา” นำ “ความเครียด” กลับมาให้ “มิเชล โอบามา” แทนของขวัญสุดพิเศษในโอกาสครบรอบการแต่งงานปีที่ 20

วันที่สโลแกนการเมืองของพรรครีพับลิกัน “พิทักษ์ฝันชาวอเมริกัน” (Safe the American dream) ออกฤทธิ์

ไม่มีใครรู้ว่า “ผู้นำหมายเลข 1 ของโลก” ผ่านค่ำคืนที่ยาวนานไปด้วยความรู้สึกเช่นไร แต่เขาไม่ยอมถูกตราหน้า-ตกที่นั่ง “ผู้แพ้” นานนัก

“โอบามา” เด้งออกมาสรุปบทเรียนทันควันว่าเป็นเพราะตน “สุภาพมากเกินไป” พร้อมให้คำมั่นว่า “จะทำให้ดีขึ้นอย่างไม่มีข้อกังขาในการโต้วาทีครั้งหน้า”

ก่อนศึกปะทะคารมยก 2 ระหว่าง “โอบามา-รอมนีย์” จะเกิดขึ้นที่นิวยอร์ก ในวันที่ 16 ตุลาคม “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” มีโอกาสเช็คเสียง “โหวตเตอร์” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน

แม้คนเมืองแมดิสันส่วนใหญ่จัดเป็นพวก “เสรีนิยม” (Liberalism) มากกว่า “อนุรักษ์นิยม” (Conservatism) ศรัทธาอุดมการณ์ “เดโมแครต” เหนือ “รีพับลิกัน” แต่เขาก็กล้าวิพากษ์ “ผู้นำ” วิจารณ์ “ระบบ” อย่างตรงไปตรงมา

โดยเฉพาะคน “เจ็น-วาย” (Y-Generation) กลุ่มนี้…

“นาธาน ไมเคิล คลิเวอร์” นักศึกษาปริญญาตรีใน 3 สาขา รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งเป็นคนเมืองแมดิสันโดยกำเนิด และประกาศตนเป็นกลุ่มไม่ฝักใฝ่พรรคใด (Independent) บอกว่าชื่นชอบ “โอบามา” มากกว่านักการเมืองคนอื่น เคยติดตามไปฟัง “ผู้นำในดวงใจ” เปิดปราศรัยที่แมดิสันมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก ระหว่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2008

และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา “นาธาน” เป็น 1 ในแฟนคลับราว 30,000 ชีวิตที่แห่ไปให้กำลังใจ-พบปะ-รับฟัง “โอบามา” ปราศรัยที่ “บาสคอม มอลล์” ใน “ฟ้าวันใหม่” หลังผ่าน “คืนฝันร้าย”

เฮ-ฮาว?: บรรยากาศภายใน “เมโมเรียล ยูเนียน” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ขณะถ่ายทอดสดการดีเบทศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ต่างส่งเสียงโห่ร้องและเฮให้ “บารัค โอบามา” ต่างจากเวลา “มิตต์ รอมนีย์” พูดถึงนโยบายของพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะมีเสียงตะโกนว่า “ฮาว?” ดังขึ้นเป็นช่วงๆ
เฮ-ฮาว?: บรรยากาศภายใน “เมโมเรียล ยูเนียน” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ขณะถ่ายทอดสดการดีเบทศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ต่างส่งเสียงโห่ร้องและเฮให้ “บารัค โอบามา” ต่างจากเวลา “มิตต์ รอมนีย์” พูดถึงนโยบายของพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะมีเสียงตะโกนว่า “ฮาว?” ดังขึ้นเป็นช่วงๆ

“ที่คนไปดูเพราะชอบโอบามา คนเมืองแมดิสันส่วนใหญ่เป็นพวกลิเบอรัล (เสรีนิยม) โอบามาจึงเปรียบเหมือนร็อคสตาร์ ดาราดัง พอมาถึง คนก็ส่งเสียงโห่ร้องยาวนานด้วยความยินดี แต่ถ้ารอมนีย์มา ผมไม่มีทางไปฟังหรอก เพราะนโยบายเขาไม่ดี ไม่มีอะไรที่ช่วยเหลือประชาชน มีแต่นโยบายดีๆ สำหรับคนมีเงินและผู้มีอำนาจ”

แม้นิยม “โอบามา” แต่เขากลับไม่ประทับใจการดีเบทของแคนดิเดตรายนี้

“ผมได้ฟังสิ่งที่ผมชอบ และผมสนับสนุนคำพูดของโอบามา แต่โอบามาไม่ได้พูดในสิ่งที่ผมต้องการได้ยินเลย โดยเฉพาะการตัดงบประกันสังคม (Social security) เพื่อลดหนี้สาธารณะของภาครัฐ พี่ชายผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องพึ่งพาระบบนี้ โอบามาไม่ได้พูดเลยว่าถ้าเดโมแครตชนะ ฉันจะไม่ตัดโปรแกรมนี้ พูดแค่ว่าเราต้องดูแลระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ ซึ่งที่พูดมาก็คิดว่าดี แต่มันต้องแข็งแรงกว่านี้หน่อย นอกจากนี้การพูดของโอบามาก็ไม่ก้าวร้าว ไม่ดุดัน ไม่มีการโจมตีรอมนีย์ นี่คือเหตุผลที่ทำให้โพลออกมาว่าโอบามาแพ้ดีเบท และผมก็เห็นว่าโอบามาแพ้จริงๆ”

ชัยชนะของ “รอมนีย์” อาจทำให้ “รีพับลิกัน” ลิงโลด แต่นักศึกษาหนุ่มชี้ว่านี่ไม่ใช่เครื่องการันตีว่า “ผู้ท้าชิง” รายนี้จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป

“ถ้าคนไม่ได้ดูดีเบท อ่านแต่ข่าว แล้วเห็นว่าสื่อสำนักต่างๆ ให้รอมนีย์ชนะ ก็อาจเข้าใจไปว่ารอมนีย์ชนะ รอมนีย์เก่ง คนอเมริกันส่วนใหญ่ชอบรอมนีย์ แต่นั่นไม่ใช่ผม จริงอยู่ที่ในการดีเบทนัดแรก ผมให้รอมนีย์ชนะ ทั้งด้วยลีลาและด้วยประเด็น แต่ความจริงคือทั้งคู่ไม่ได้พูดความจริง การดีเบทแคนดิเดตประธานาธิบดีอเมริกาไม่ดี โอบามาอยากพูดอะไรก็พูดได้ รอมนีย์อยากพูดอะไรก็พูดได้ เหมือนกับทอล์คโชว์ คนอยากดูก็ดูไป แต่ถึงเวลาต้องโหวต ต้องตัดสินใจจริงๆ คนอเมริกันจะอ่านข่าว ดูนโยบายของพรรค ดูว่าแคนดิเดตจะทำอะไรเพื่อพวกเขาบ้าง ไม่ใช่ตัดสินที่โพลหลังการดีเบท ดังนั้นใครจะแพ้-ชนะในการดีเบท ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนที่นี่”

หางแถว: บรรดาชาวอเมริกันหัวใจเดโมแครตมาต่อคิวตั้งแต่เช้าเพื่อรอเข้ารับฟังคำปราศรัยของ “บารัค โอบามา” ที่บาสคอม มอลล์” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม บางรายใช้เวลาจับจองคิวไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง
หางแถว: บรรดาชาวอเมริกันหัวใจเดโมแครตมาต่อคิวตั้งแต่เช้าเพื่อรอเข้ารับฟังคำปราศรัยของ “บารัค โอบามา” ที่บาสคอม มอลล์” ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม บางรายใช้เวลาจับจองคิวไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม “ดีเบท” คือวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกา เขาจึงเชื่อว่าทีมกลยุทธ์ของ “โอบามา” จะปรับยุทธศาสตร์-ทำทุกทางให้นายพลิกกลับมาคว้าชัยชนะในการดีเบทยก 2 ที่นิวยอร์ก

แน่นอนว่าทุกคนคาดหวังจะเห็น “นิวโอบามา” ในการดีเบทยก 2 ทว่าเป็น “โอบามา” ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เจ้าของสโลแกนก้องโลก “CHANGE” เมื่อ 4 ปีก่อน

“นาธาน” ในวัย 22 บอกว่า โหวตแรกของเขาคือการโหวตให้ “โอบามา” เข้าทำเนียบขาวเมื่อปี 2008 เพราะเชื่อใน CHANGE เชื่อว่าอเมริกาจะมีผู้นำที่สามารถช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส

“4 ปีที่ผ่านมา ผมไม่แน่ใจว่าเดโมแครตทำอะไรให้ประชาชนได้บ้าง ผมเห็นโอบามาช่วยคนได้นิดหน่อย บางช่วงทำได้ดี แต่บางช่วงก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย ต้องพูดว่าเมื่อ 4 ปีก่อน โอบามาไม่ใช่ประธานาธิบดี จึงบอกว่า CHANGE เพราะอยากจะเปลี่ยน ต้องการเปลี่ยน วันนี้เขาอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่แล้ว เขาจึงต้องพูดใหม่ว่า FORWARD”

ทำให้คำถามย้อนกลับมาที่ “โหวตเตอร์” ว่า แล้วจะ “FORWARD” ไปกับ “โอบามา” หรือไม่?

เขาตอบทันทีว่า “อย่างไรเสียโอบามาก็ดีกว่ารอมนีย์”

ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดใน ค.ศ. นี้?

“ผมต้องเลือกคนที่ร้ายน้อยที่สุดต่างหาก นั่นคือความจริง”

ขณะที่ “อิสระชน” (Independent) นาม “กลิน ฟิลลิปส์” หนุ่มที่ดั้งด้นเดินทางมาจาก “รัฐสีแดง” เขตอิทธิพลของพรรครีพับลิกันอย่าง “เวอร์จีเนีย” เพื่อศึกษาปริญญาโท สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ณ ศูนย์รวมปัญญาชนในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดินสัน เป็นอีกคนที่ชื่นชอบ “โอบามา”

และเคยเชื่อว่าจะมี “การเมืองใหม่” เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2008

“เมื่อ 4 ปีก่อน ทุกคนในอเมริกาต้องการใครสักคนที่มาเปลี่ยนแปลงประเทศ และโอบามาคือคนที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเปลี่ยนได้ แต่เอาเข้าจริงเขาไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ เพราะปัญหามันเยอะ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ บางทีคนมักคิดและคาดหวังว่าประธานาธิบดีจะมีความสามารถมากกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าคุณรู้จักการเมือง คุณจะรู้เลยว่าประธานาธิบดีอเมริกาไม่มีความสามารถเลย ส.ส. ส.ว. และข้าราชการยังมีความสามารถมากกว่า เพราะคนเหล่านี้คือผู้ขับเคลื่อนระบบต่างๆ”

กลิน ฟิลลิปส์ : นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ผู้วิพากษ์นิทานเปรียบเทียบเรื่อง “โอบามากับโอบามาร์ค”
กลิน ฟิลลิปส์ : นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ผู้วิพากษ์นิทานเปรียบเทียบเรื่อง “โอบามากับโอบามาร์ค”

แม้ต้องการ “ผู้นำใหม่” และถวิลหา “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” แต่ “กลิน” สารภาพว่าไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 เพราะเดินทางมาศึกษาวิจัยปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และยังอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นคนไทยคลั่งไคล้ “โอบามา” มาก

แน่นอนว่า “นิทานเปรียบเทียบ” ว่าด้วย “โอบามา” กับ “โอบามาร์ค” หรือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยผ่านเข้าหูหนุ่มมะกันรายนี้

“ผมเคยได้ยินคนพูดถึงโอบามาเมืองไทยบ่อยๆ และเห็นว่าทั้งคู่มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน 3 อย่างคือ 1. เป็นคนพูดดี พูดเก่ง 2. เป็นคนมีความรู้มาก เพราะเป็นครูบาอาจารย์มาก่อน โอบามาเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ส่วนโอบามาร์คเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ข้อ 3 คือ ทั้งคู่มีปัญหาตรงกัน คือพูดดีกว่าที่ทำได้ ในความคิดผม แม้คุณจะมีไอเดียดีมากที่สุด คุณต้องมีความสามารถเพื่อทำมันให้ได้ด้วย”

แม้เป็น “อัจฉริยะทางการพูด” แต่ก็มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำ-ถูกสื่อจับแพ้ในการดีเบทยกแรก โดย “คลิน” ก็เห็นสอดคล้องว่า “โอบามา” คือ “ผู้แพ้” ทว่าเขาเสนอทางกู้ชื่อ “ผู้นำหมายเลข 1”

“ถ้าผมเป็นทีมกลยุทธ์ จะบอกให้โอบามาพูดน้อยๆ หน่อย เพราะการพูดมากไปมักทำให้เจ็บตัว อย่างไรเสียผมคิดว่าคนอเมริกันจำนวนมากก็ยังไม่ชอบรอมนีย์ เป็นนักการเมืองที่ไม่มีเสน่ห์เอาเสียเลย หลายครั้งที่เขาพูดอะไรที่ฟังดูแล้วโง่ อย่างสมัยเป็นผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ รอมนีย์เป็นผู้ผลักดันกฎหมายประกันสุขภาพให้พลเมืองรัฐ แต่มาครั้งนี้เขาประกาศยกเลิก “โอบามาแคร์” บอกว่าฉันไม่ชอบ ความจริงคือเป็นเพราะคนรีพับลิกันไม่ชอบ ทั้งที่ตัวรอมนีย์เองคิดและทำก่อนโอบามาด้วยซ้ำ ก็แปลกดีที่คนเราสามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อได้”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้อเสนอ” ของ “กลิน” ยากต่อการถูก “สนองตอบ” หลัง “โอบามา” ระบุว่าตนแพ้เพราะสุภาพเกินไป เป็นผลให้หลายฝ่ายคาดหมายว่าจะเห็นลีลาบู๊ล้างผลาญกลาง “ศึกแลกน้ำลายก๊อก 2”

“จริงๆ มันไม่ใช่ปัญหาว่าคุณจะพูดจาสุภาพหรือพูดจาก้าวร้าว แต่ปัญหาคือโอบามาได้แสดงหรือไม่ว่าตัวเองทำอะไรมาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปัญหาคือเขาไม่ได้ทำอะไรไง ก็เลยไม่มีอะไรจะพูด อย่างที่ผมบอกคืออย่าคาดหวังว่าประธานาธิบดีจะมีความสามารถมาก”

ถ้าไม่มีความสามารถ แล้วทำไมคนถึงเลือก?

“ก็เพราะมันคือทางเลือกที่ดีที่สุดที่มีไง โดยผมต้องส่งจดหมายกลับไปโหวตที่บ้านเกิด เพราะผมเป็นนักศึกษา ไม่ได้เป็นเรสซิเดนท์ (ผู้พำนัก) ที่วิสคอนซิน จึงไม่อาจใช้สิทธิข้ามเขตเลือกตั้งรัฐได้”

นั่นหมายความว่าคุณจะโหวตให้ “โอบามา”

“เยส” คือคำตอบหนักแน่นในน้ำเสียง

แฟนรุ่นจิ๋วของ “โอบามา” ที่มาร่วมรับฟังการปราศรัยเมื่อวันที่4 ตุลาคม
แฟนรุ่นจิ๋วของ “โอบามา” ที่มาร่วมรับฟังการปราศรัยเมื่อวันที่4 ตุลาคม

ด้าน “แจมี แบรคคีน” นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ ซึ่งเกิดที่รัฐเทนเนสซี แต่มาเติบโตที่รัฐวิสคอนซิน ท่ามกลางครอบครัว “ลูกผสม” เพราะมีทั้งสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันอยู่ในบ้าน แต่เธอเลือกยืนตรงกลาง-ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ด้วยเพราะสาขาที่เรียน และสายอาชีพที่ทำ ไม่อนุญาตให้เด็กสาว “เลือกข้าง” หรือ “ฉาบสี” ใส่ตัวเอง แต่ขณะเดียวกันมันช่วยให้เธอโฟกัสการดีเบทของ 2 แคนดิเดตได้ดี

“ดิฉันเห็นว่าโอบามาพยายามพูดกับกล้อง ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยากชนะ ก็เลยพูดกับคนดูทีวีอยู่ที่บ้านมากกว่าตั้งใจดีเบทกับรอมนีย์ ซึ่งมันก็ดี แต่ครั้งนี้ต่างกันที่ว่ามันไม่มีเทเลกราฟเตอร์ (จอคอมพิวเตอร์ที่ไว้อ่านสุนทรพจน์) ให้อ่าน และโอบามาไม่รู้ว่ารอมนีย์จะพูดว่าอะไร ตลอด 90 นาที เราจะไม่ได้ยินโอบามาพูดจาท้าทายรอมนีย์เลย ปล่อยให้รอมนีย์โจมตีฝ่ายเดียว ทั้งที่เวลาปราศรัย หรือกล่าวสุนทรพจน์ตามสถานที่ต่างๆ โอบามาทำได้ดีกว่า แต่สำหรับการดีเบทครั้งแรก รอมนีย์เตรียมตัวมาดีกว่ามาก ดิฉันให้รอมนีย์เป็นฝ่ายชนะ”

อย่างไรก็ตาม “แจมี” บอกว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในการดีเบทของ “รอมนีย์” หลายประเด็น โดยหนึ่งในนั้นคือการประกาศตัดงบประมาณอุดหนุนทีวีสาธารณะ หรือพีบีเอส (The Public Broadcasting Service) แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าประชาชนและนักศึกษาบางส่วนอาจรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่ได้ยินโอบามาพูดในสิ่งที่สมควรพูด ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับพวกเขาเลย

“แต่ไม่ว่าผู้คนจะรู้สึกอย่างไรกับการดีเบทของโอบามา แต่วันรุ่งขึ้นที่เขามาปราศรัยบาสคอม มอลล์ เราจะเห็นคนไปรอฟังจำนวนมาก ทุกคนก็ดีใจและมีความสุขที่ได้ดูโอบามาปราศรัย อาจารย์บางคนลงทุนยกเลิกการสอนในวันนั้นเพื่อไปดูโอบามา ไม่ว่าอย่างไรทุกคนต้องการฟังโอบามา เพราะเขาคือประธานาธิบดีของประเทศนี้”

หากโอบามาได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ความคาดหวังของ “ว่าที่บัณฑิตใหม่” ซึ่งจะสำเร็จการศึกษาในเดือนธันวาคม คือ การเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน หลังตัวเลขผู้ตกงานอเมริกาพุ่งสูงถึง 23 ล้านคน

เหล่านี้เป็นความคิด ความหวัง ความฝันของ “อิสระชนเจ็น-วาย” เป็น “อเมริกันดรีม” โดยแท้

แน่นอนว่าเวลา 21.00 น. ของในวันที่ 16 ตุลาคม (ตามเวลา Eastern Time) ทุกพื้นที่หน้าจอโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ภายใน “เมโมเรียล ยูเนียน” มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน จะคลาคล่ำไปด้วย “อเมริกัน” เพื่อรับชมการดีเบทยกที่ 2

ค่ำคืนที่ “โอบามา” ต้องการหลับฝันหวาน หลังผ่าน 13 คืนวันฝันร้าย!!!

รายงานพิเศษโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ