ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ม.มหิดลเปิดหลักสูตร ป.เอกว่าด้วย “ผู้นำที่ยั่งยืน” และ “ศาสตร์พระราชา”

ม.มหิดลเปิดหลักสูตร ป.เอกว่าด้วย “ผู้นำที่ยั่งยืน” และ “ศาสตร์พระราชา”

27 กุมภาพันธ์ 2018


การเปลี่ยนแปลงและภูมิทัศน์ใหม่ของโลกในศตวรรษที่ 21 กำลังพาเราไปเผชิญความท้าทายมากเกินกว่าความคิดและชุดความรู้เดิมในอดีตที่เคยมีมาจะแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่สุดโต่งในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของเทคโนโลยี ไปจนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และแม้ว่าผู้นำประเทศและผู้นำธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักในเรื่องนี้ แต่ประเด็นกลับอยู่ที่ว่า พวกเขากลับไม่รู้อย่างแท้จริงว่าจะสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร นั่นอาจหมายรวมถึงความเข้าใจผิดของผู้นำองค์กรธุรกิจที่อาจจะเข้าใจว่าการรับมือกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ทางศีลธรรม โดยไม่เชื่อว่าการจะอยู่รอดขององค์กรนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์กรในการตอบสนองกับปัญหา

องค์ความรู้ที่ว่าด้วยเรื่องที่ “ผู้นำ” และ “ความยั่งยืน” จึงเป็นความรู้ที่จำเป็นมากขึ้นในปัจจุบันและจะยิ่งจำเป็นมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะความรู้ใหม่และมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ “ผู้นำที่ยั่งยืน”  ซึ่งมีความสามารถในการนำองค์กรในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยไม่ลิดรอนสิทธิ์คนรุ่นอนาคต

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่งมีความพยายามที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ตั้งศูนย์ Cambridge Institute for Sustainability Leadership เพื่อศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ยั่งยืนในมุมมองธุรกิจ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ในนิวยอร์ก ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีการศึกษาเรื่องนี้ในศูนย์วิจัยที่เรียกว่า The Earth Institute

พิธีเปิดศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ศ. ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์

ล่าสุดที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดตั้ง“ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Center for Research on Sustainable Leadership: CRSL)  ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิมั่นพัฒนา พร้อมเปิดหลักสูตรปริญญาเอก “สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” (Ph.d in Sustainable Leadership) จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

หลักสูตรปริญญาเอก “สาขาวิชาภาวะผู้นำที่ยั่งยืน” นี้เป็นแห่งแรกของโลกที่ศึกษา แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือ “ศาสตร์พระราชา” และศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล

และในหลักสูตรนี้ยังได้ ศ. ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์ นักวิชาการด้านภาวะผู้นำ จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ที่เคยมีประสบการณ์ในการบริหาร ศูนย์ด้านภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APLC) มหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้กลายเป็นที่ยอมรับในระดับโลก มาประจำที่ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีหน้าที่ให้การดูแลและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน โดยดำรงตำแหน่ง ศาสตรเมธาจารย์มั่นพัฒนา (TSDF Chair Professor Phillip Hallinger) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

สร้าง “ผู้นำที่ยั่งยืน” ในยุควิกฤติผู้นำ

ตอนหนึ่งในการกล่าวปาฐกถาในวันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ ศ. ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์ กล่าวว่า “จากการศึกษาวิจัยด้านภาวะผู้นำที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดภาวะผู้นำที่ยั่งยืน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจุบันที่โลกกำลังเผชิญภาวะย้อนแย้งในโลก ระหว่างมุมมองสุดขั้วในการบริหารจัดการองค์กร องค์กรที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนส่วนใหญ่ ผู้นำต้องมี “ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน” (Sustainable Leadership)

กรณีอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาบารัก โอบามา เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า “ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน” นั้นทำงานอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงของการตัดสินใจในภาวะที่ท้าทาย

ในปี 2558 อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตัดสินใจประกาศแผนพลังงานสะอาด (Clean Power Plan) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐอเมริกาด้านพลังงานเกี่ยวกับโลกร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในแผนนั้นมุ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าของรัฐบาลท้องถิ่น ด้วยเหตุว่าพลังงานเป็น 1 ใน 3 ของสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกรองจากจีน

การประกาศในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกและเรียกสิ่งนี้ว่า  “ตัวเปลี่ยนเกม” (Game Changer) นโยบายดังกล่าวทำให้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐอเมริกาเติบโตหลายเท่า บนเส้นทางนี้การช่วยสร้างมูลค่าตลาดคาร์บอนให้เปลี่ยนไปด้วยซึ่งส่งผลที่ดีมากกับโลก

แม้ว่าเมื่อพ้นสมัยบารัก โอบามา เรื่องนี้จะถูกล้มเลิก ภายใต้การประกาศอิสรภาพด้านพลังงานของประธานธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หันกลับมาสนับสนุนและปลดปล่อยอุตสาหกรรมน้ำมันและถ่านหิน แต่การประกาศแผน CCP ของโอบามา ก็ถือว่าเป็นการถางทางให้การแก้ปัญหาโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาและในโลก

ถอดรหัสหลักสูตร ป.เอก สาขา “ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน”

ภายใต้กรอบคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ที่เป็นสากล มิติของความยั่งยืนครอบคลุม การเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรมทางสังคม ศ. ดร.ฟิลิป มองว่า นั่นทำให้ผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่ยั่งยืน ต้องมีคุณสมบัติแตกต่างจากเดิม โดยให้ความสำคัญกับหลายเรื่องที่อาจจะไม่เคยสนใจ และต้องมองความสามารถในการทำกำไร การสร้างนวัตกรรม ควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นพลเมืองของโลก ตลอดจนการมองในระยะยาวมากกว่าการมองระยะสั้น

จากการศึกษาวิจัยภาวะผู้นำอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาพบว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยมีส่วนคล้ายคลึงกับการสร้างภาวะผู้นำในระดับสากล แม้ว่าหลักการหรือคำนิยามจะไม่ตรงกันทีเดียว แต่ในแง่หลักปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนั้นถือว่ามีเป้าประสงค์และจุดหมายในทิศทางเดียวกัน โดยมีหลายประเด็นที่ “ภาวะผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง” (SEP Leadership) นั้นมีความคล้ายกับ “ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน” (Sustainable Leadership) ในระดับสากล แต่ก็มีหลายประเด็นที่ “ภาวะผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง” มีลักษณะเฉพาะ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องคุณธรรม ตลอดจนกรอบแนวคิดที่กว้างกว่า

รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร

รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ที่บุกเบิกหลักสูตรซึ่งเคยมีผลงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการบริหารจัดการองค์กร มองว่า “ภาวะผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง” (SEP Leadership) นั้นจะมีสิ่งที่มากกว่า ภาวะผู้นำที่ยั่งยืนในหลักสากล โดยเฉพาะในเรื่องจริยธรรม ซึ่งเน้นค่านิยมร่วมเกี่ยวกับคุณงามความดี ตลอดจนการบริหารทรัพยากรบุคคลและบริหารงานองค์กรโดยใช้ แนวคิดและวิธีการที่พอประมาณ มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้หลายเรื่องยังให้ความสำคัญเกินขอบเขตมากกว่าแนวคิดความยั่งยืนสากล เช่น “Triple Bottom Line” ที่ให้ความสำคัญในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในประเด็นนี้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขยายขอบเขตในด้านมิติทางวัฒนธรรม ไปด้วย

นอกจากนี้ ในมิติของการบริหารจัดการองค์กรหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นยังเป็นทั้งหลักคิดและแนวทางในการบริหารองค์กร ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาในการผลักดันแนวคิดนี้สู่สากล แนวคิดนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากนักวิชาการด้านความยั่งยืนในระดับสากลที่จะเข้ามาเรียนรู้ ทำให้เป็นโอกาสดีที่นักศึกษาปริญญาเอก ในหลักสูตรสาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนจะได้ที่ปรึกษาในศาสตร์ความยั่งยืนที่ยังไม่มีในไทย

“หลักสูตรนี้เริ่มต้นจากแนวโน้มที่เราพูดกันมากเรื่องความยั่งยืน แต่กรอบและแนวทางที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นแนวคิด มีแต่การกำหนดเป้าหมายแต่ไม่มีวิธีการ อย่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เขาบอกแต่ว่าคืออะไรแต่ไม่ได้บอกวิธีการว่าถ้าจะทำจะต้องทำอย่างไร”

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจในไทยยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านความยั่งยืน ซึ่งแม้จะมีองค์กรธุรกิจมากมายที่ทำเรื่องความยั่งยืน แต่ก็ไม่มีคนที่รู้จริงและบ่อยครั้งก็ไม่อาจจะมั่นใจได้จริงว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง การจัดตั้งหลักสูตรนี้จึงเป็นความพยายามที่จะรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการสร้างองค์กรความยั่งยืน กรณีศึกษาและวิธีการในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

รศ. ดร.สุขสรรค์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลักสูตรจะครอบคลุมองค์ความรู้ในหลายมิติ ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการของผู้นำ (Management Areas of Leadership) โดยมุ่งเน้นศึกษาวิจัยและสร้างความเข้าใจในการสร้างภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนอันเป็นคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้าน ที่ผู้นำต้องมีเพื่อพาองค์กรสู่ความยั่งยืน คือ 1. มีคุณธรรม (Virtue) คือภาวะผู้นำที่นำเอาความดีงาม เช่น ความซื่อสัตย์ อดทน ขยันหมั่นเพียรและการแบ่งปัน ทั้งหมดมาเป็นพื้นฐานในการบริหารงาน 2. มีความคิดแบบพอประมาณ (Sufficiency Mindset) คือไม่มากไปไม่น้อยไป 3. มีผลลัพธ์ของการจัดการที่สมดุล (Sufficiency Balanced Outcomes) คือมีการบริหารจัดการให้สมดุลทุกด้าน คือ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ และ4. มีภูมิคุ้มกัน (Self Immunity) มีการสร้างภูมิคุ้มกันในองค์กร เมื่อเจอวิกฤติจะผ่านไปได้อย่างประสบความสำเร็จหรืออาจไม่ได้รับผลจากวิกฤตินั้นเลย

หลักสูตรนี้เหมาะกับผู้ที่อยู่ในสายงานพัฒนา ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ และผู้บริหารภาครัฐที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้แก่โดยหลักสูตรนี้เรียนแบบเต็มเวลา จะเปิดรับรุ่นแรกประมาณ 10 คน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับสมัครไปจนถึง 5 มีนาคม 2561 ในหลักสูตรมีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 1 ล้านบาท และมีทุนการศึกษาสนับสนุนตลอดหลักสูตรจาก มูลนิธิมั่นพัฒนา  และโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cmmu.mahidol.ac.th/phdinsl