ThaiPublica > คนในข่าว > “สมชาย หวังวัฒนาพาณิช” เอสซีจี เคมีคอลส์ 28 ปีผู้บุกเบิกกับก้าวแห่งฝัน “มาบตาพุด Eco Town”

“สมชาย หวังวัฒนาพาณิช” เอสซีจี เคมีคอลส์ 28 ปีผู้บุกเบิกกับก้าวแห่งฝัน “มาบตาพุด Eco Town”

30 กันยายน 2012


นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด

โลกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีสิ้นสุดในทุกๆ ด้าน

ความพยายามที่จะยื้อโลกให้ช้าลง โดยหวังว่าความสมดุลที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนการทำลายนั้นจะช่วยชะลอสิ่งใดๆ ให้กลับสู่ภาวะสมดุลรอบใหม่ นับเป็นความพยายามของมนุษย์ในเรื่องว่าทำอย่างไรให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้

แต่ทำอย่างไรที่จะให้คนกับโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้!!

เพราะแม้จะมีความขัดแย้งของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะๆ ก็ตาม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน และต่างเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย

พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นอีกตัวอย่างของความพยายามนี้ บ่อยครั้งที่ภาคอุตสาหกรรมมักถูกมองเป็นผู้ร้าย ขณะที่ชุมชนเป็นผู้ถูกกระทำ

28 ปีของ “สมชาย หวังวัฒนาพาณิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัทเอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด ในฐานะผู้บุกเบิกและคลุกคลีในพื้นที่ตั้งแต่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกได้เริ่มขึ้น ได้เล่าเรื่องวันวานของมาบตาพุด และพัฒนาการจนมาเป็นมาบตาพุดในวันนี้ โดยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้า เมื่อคราวไปดูโครงการสร้างฝายชะลอน้ำเขายายดาเมื่อหลายเดือนก่อนว่า

ไทยพับลิก้า : คุณสมชายอยู่ที่นี่มา 28 ปี อยากให้มองย้อนกลับไปถึงความเปลี่ยนแปลงของมาบตาพุด

ตอนที่มาที่นี่ อุตสาหกรรมไม่มี มีโรงแยกแก๊สอย่างเดียว สมัยแรกไม่คิดว่าจะเติบโตใหญ่ขนาดนี้ ตอนนั้นมีการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นครั้งแรก ในโครงการพัฒนาพื้นที่ทะเลชายฝั่งภาคตะวันออก มีการวาดผังไว้ระดับหนึ่ง ตอนนั้นการนิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มต้นจาก 5 โรงงาน มีโรงงานปิโตรเคมีแห่งชาติเป็นบริษัทต้นน้ำ ที่เหลือเป็นบริษัทปลายน้ำ (ดาวน์สตรีม)

“ตอนนั้นชุมชนก็สนุกสนาน ราคาที่ดินขึ้นทุกวัน คนในชุมชนบางคนเป็นเศรษฐี ผมจ้างคนขับรถสมัยนั้น คนขับรถผมมีเงิน 30ล้านบาท เมื่อ 27 ปีที่แล้ว เขาขายที่ดินแล้วเขาเอาเงินฝากธนาคาร แต่ไม่อยากอยู่เฉยๆ มารับจ้างขับรถเครนยกของหนักที่บริษัท ทำงานอยู่กับบริษัทกว่า 10 ปี เพราะเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร ชุมชนมีความสุขที่มีโรงงานมาตั้ง เขาบอกว่าโชติช่วงชัชวาล อะไรสดใสหมด”

จากนั้นอุตสาหกรรมก็ขยายออกไปเรื่อยๆ จาก 5 โรงงานก็เป็นคอมเพล็กซ์ใหญ่ขึ้น มีอุตสาหกรรมหลากหลายมากขึ้นๆๆ ตอนนั้นก็ยังไม่มีปัญหา ในช่วง 0-15 ปี โดยรวมยังโอเคอยู่ เพราะโรงงานมีไม่เยอะมาก ยังไม่กระจายอุตสาหกรรมมากนัก เน้นปิโตรเคมี ทุกคนดูแลชุมชน อยู่ร่วมกัน ชุมชนก็ไม่ได้ขยายออกไปมากนัก

ก็มาช่วง 15 ปีหลัง มีอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันเข้ามา ที่ต้องการพื้นที่ใหญ่ก็ไปขยายพื้นที่ ก็มีโรงอุตสาหกรรมเหล็ก มีโรงไฟฟ้าจากทางประจวบ ก็มาอยู่ที่นี่ ..โอ้โฮ ทุกอย่างมาอยู่ที่นี่หมดเลย ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้ามันแตกต่างจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

กล่าวคือ กฎหมายสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้ายอมให้ปล่อย emission เยอะมาก ผมจำตัวเลขไม่ได้ เป็นเท่าๆ ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงทำให้รู้สึกว่ามลพิษของมาบตาพุดมันเต็ม เต็มทั้งพื้นดิน เต็มทั้งอากาศ

แต่ถามว่าจากการวัดตามสถานีตรวจวัดมันเกินไหม ที่บอกว่าเกินๆ มันยังไม่เกิน แต่ที่เกินมาจากจำลอง (simulation ) ดังนั้น ถ้าวัดจากสถานีตรวจวัดมันไม่เกิน ก็กลายเป็นว่าข้อมูลมันซับซ้อน มันคล้ายจำลองจากโมเดลเป็นอย่างนี้ แต่วัดจริงเป็นอย่างนี้ คนไม่ชอบก็บอกว่าเชื่อการจำลอง คนที่บอกว่าอยากจะขยายโรงงานต่อก็เชื่อจากสถานีตรวจวัดจริง การตรวจวัดจริงก็พิสูจน์ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกพื้นที่ ก็มีข้อถกเถียงกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงงานเยอะ ขยายออกไปเยอะ ก็ไปติดชุมชนมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นตระหนักระหว่างพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและชุมชน มากน้อยแค่ไหน

เขามีพื้นที่ผังเมืองอยู่แล้ว ตอนนั้นมีพื้นที่สีม่วง ถ้าไม่ใช่สีม่วงก็ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผังเมืองประเทศไทยเป็นม่วงกับเขียวติดกันโดยไม่มีอะไรระหว่างกลาง พอซื้อพื้นที่สร้างโรงงาน (สีม่วง) ก็ติดกับพื้นที่สีเขียว ซึ่งในพื้นที่สีเขียวนี้คือพื้นที่ยอมให้สร้างอาคารได้ในสัดส่วน 25% ก็มีการสร้างที่อยู่อาศัยกระจัดกระจาย ทั้งนี้เพราะความเจริญมันเข้ามา ชุมชนก็ขยายเข้ามา โรงงานก็ขยายออกไป เมื่อก่อนมันมีพื้นที่สีเขียว ก็เลยอยู่ติดกันก็กลายเป็นไม่มีพื้นที่กันชน
แต่ติดกันมันไม่ใช่ประเด็นหากเราดูแลชุมชนดี ดูแลตัวเองดี ดูแลสิ่งแวดล้อมของโรงงานดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในนิคมมาบตาพุดมีกว่า 130 โรงงาน มันก็มีอุตสาหกรรมหลากหลาย มีทั้งโรงงานที่มี good governance มีทั้งโรงงานที่ออกแบบได้มาตรฐานแต่อาจจะไม่ได้สูง (high standard) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นก็ไม่ได้เป็นโรงงานที่ดีที่สุดทั้งหมด ก็ขึ้นกับแต่ละโรงงานมีความรับผิดชอบขนาดไหน มี good governance ขนาดไหน เพราะโรงงานที่ดีๆ ก็เป็นส่วนใหญ่ก็ดีนะ

ถ้าดูข้อมูลการนิคมอุตสาหกรรม มีโครงการธงขาวดาวเขียว มีการตั้งคณะกรรมการร่วมการนิคมฯ เทศบาล ชุมชน และเอกชน คอยตรวจโรงงาน โดยมีคณะกรรมการ 4 ชุด แต่ละชุดตรวจไตรมาสละ1 โรงงาน ก็เวียนกันมาตรวจ ใน 1 ปี 1 โรงงานจะถูก 4 กลุ่มนี้ตรวจสอบ แล้วจึงให้คะแนนโดยมีชุมชนร่วมด้วย

จำนวนโรงงานที่ได้ระดับสีเขียว คือระดับดี มีประมาณกว่า 70% ก็มีกว่า 10% ที่ต้องปรับปรุง และที่อยู่กลางๆ ประมาณ 20% ก็ถือว่ามาตรฐานส่วนใหญ่ก็ดี ก็ยอมรับว่ามีอยู่บ้างที่ต้องปรับปรุง

ซึ่งตรงนี้ หากทุกคนทำให้มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทำโรงงานสีเขียวให้ดี และดูแลชุมชนให้ดี ก็อยู่ด้วยกันได้ ในอดีตเราก็อยู่ด้วย ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ไทยพับลิก้า : ในช่วง 15 ปีหลัง มีจุดเปลี่ยนอะไร

มันขยายตัวเร็ว มีทั้งอุตสาหกรรมเข้ามา ชุมชนเข้ามา อุตสาหกรรมที่ไม่ควรจะอยู่ก็มาอยู่ อย่างโรงไฟฟ้า ทำให้ผสมปนเป อุตสาหกรรมตัวหลักที่ปล่อยมลพิษเยอะไม่ควรมาอยู่กับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มเยอะ ทำให้อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มเยอะเสียโอกาสของประเทศ ในทำนองนั้น

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัทเอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัทเอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด

เมื่อมีการบริหารจัดการไม่ดี และเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว ทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันโดยที่ทุกคนต้องดูแลโรงงานสีเขียว คือลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

ไทยพับลิก้า : ประเด็นสำคัญว่าวันนี้ไม่มีใครถอยได้ ทั้งชุมชน โรงงาน จะอยู่ร่วมกันอย่างไร

ก็ต้องอยู่ด้วยกัน ทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน ต้องคุยกัน ชุมชนที่อยู่รอบโรงงานก็ไม่ใช่เพิ่งมาอยู่ อยู่มานานเป็น 20 ปี ตั้งแต่ผู้นำชุมชนบางคนเป็นเด็กๆ เขาก็เห็นการเปลี่ยนแปลง คิดว่าการอยู่ด้วยกันต้องคุยกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และเรา (อุตสาหกรรม) ต้องไปสร้างประโยชน์ให้ชุมชนด้วย ให้เขารู้สึกว่าโรงงานมาตั้งตรงนี้แล้วเขาไม่เสียประโยชน์ เขาได้เรื่องการจ้างงาน การพัฒนาอาชีพ เรื่องการศึกษาของเยาวชน

ไทยพับลิก้า : หากมองภาพจากข้างนอก จะเห็นความขัดแย้งรุนแรงตามที่ปรากฏในสื่อ แต่ภาพจริงๆ ที่อยู่กันในวันนี้เป็นอย่างไร ระหว่างโรงงานกับชุมชน

ถ้าชุมชนกับเราไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะเราดูแลตัวเองให้ดี ให้เป็นโรงงานสีเขียว green manufacturing เราดูแลตัวเองไม่ให้กระทบกับเขา ถ้ากระทบเมื่อไหร่ก็เป็นสิ่งที่ต้องคุยกัน และเราต้องมีข้อผูกมัดว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง หากสัญญาไปแล้วเราต้องปรับปรุงจริง และมาตรฐานของเอสซีจีทำให้ดีกว่ามาตรฐานสากลหรือมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของกฎหมายในบ้านเรา ถ้าเราสามารถรักษาบ้านของเราให้ดีและกระทบเขาน้อย และเราออกไปดูแลเขาทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพเขา พัฒนาอาชีพเขา ทำให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น แม้ว่าจะมีโรงงานอยู่ใกล้มีผลกระทบกับเขา แต่เขามีสิ่งที่ดีขึ้น เขาก็ยอมให้เราอยู่ เพราะเรามาแทรกในพื้นที่เขา เขายอมให้เราอยู่อย่างเกื้อกูลกันได้

ไทยพับลิก้า : ในช่วงที่ศาลปกครองประกาศระงับโครงการชั่วคราว บรรยากาศในพื้นที่ตอนนั้นเป็นอย่างไร

ชุมชนในพื้นที่กลับช่วยเรา เพราะจริงๆ ชุมชนอยู่กับโรงงานอยู่แล้ว เพราะเราอยู่ด้วยกันมาตลอด แล้วเราสร้างอาชีพ สร้างความเติบโตให้ชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชน และชุมชนคิดว่ายังอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรมได้

ไทยพับลิก้า : ในส่วนของเอสซีจีเองมีมาตรฐานจุดยืนชัดในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม แต่ในภาพรวม คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เขามองเห็นสัญญาณหรือจุดร่วมบางอย่างหรือยัง ว่ามันต้องเปลี่ยน

หลังเกิดกรณี 76 โครงการ อันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญก็ออกไม่ทัน ขณะเดียวกัน ขณะที่กฎหมายใหม่ไม่ออก การอนุมัติโครงการใหม่ก็ใช้ตามกฎหมายเก่า จึงเป็นช่องว่างว่าจะใช้กฎหมายอะไรกันแน่ มีการฟ้องร้องขึ้นมา ก็เป็นเรื่อง 76 โครงการที่เกิดขึ้น
ทุกอย่างที่ทำมาเกิดการตื่นตัว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาครัฐที่ระงับโครงการ กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ถามว่าวันนี้ฟื้นหรือยัง …

ยัง เพราะนักลงทุนต่างชาติเขาไปแล้ว เวลาเขาจะลงทุนที่ไหนเขาต้องตัดสินใจล่วงหน้า 4-5 ปี ไม่ใช่ปีนี้จะลงก็ลงนะครับ ดังนั้น 4-5 ปี จึงไม่มีการลงทุน ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว การลงทุนต่างชาติจึงไม่อยู่ในสายตาของแผนเขา เขาเฉียดไปเวียดนาม มาเลเซีย ไปสิงคโปร์ เขาไม่มาไทยเพราะมีความไม่แน่นอน ดังนั้นเราเสียประโยชน์ไป 5 ปีจากวันนั้น วันนี้คิดว่าคนที่ลงทุนจริงก็กลัวเรื่องนี้อยู่ ประเด็นนี้ภาครัฐรู้

ส่วนภาคเอกชนก็รู้ว่าต้องทำอะไร คือต้องดูแลให้มากขึ้น ดูแลให้จริงจังมากขึ้น ก็รวมตัวกันตั้งเพื่อนชุมชนขึ้นมา เราเรียกว่า community partnership model เป็นโมเดลอันหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องดูแลชุมชน คำว่าเพื่อนซึ่งไม่ใช่เพื่อนชุมชนอย่างเดียว แต่เพื่อนผู้ประกอบอื่นๆ ด้วย เราบอกว่ามีกิจกรรมหลากหลาย ผู้ประกอบรายนั้นมีมาตรฐานสูง หรือคนนั้นดูแลดี คนนั้นดูแลไม่ดี เพื่อนชุมชนก็พยายามช่วยโรงงานด้วย เป็นเพื่อนชุมชนด้วย โดยมี 5 บริษัทใหญ่ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมโรงงานดีอยู่แล้วในระดับสากลเป็นพี่ใหญ่ มีศักยภาพและบุคลากรที่พอจะช่วยอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือในมาบตาพุดด้วยกัน

โมเดลนี้ที่จังหวัดอื่นก็ทำตาม เช่น ที่จังหวัดสระบุรี

ไทยพับลิก้า : มีแนวร่วมเข้ามาทำงานมากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้เราตั้งเป็นสมาคมเพื่อนชุมชน จากผู้ก่อตั้ง 5 บริษัท ตอนนี้เข้ามาเพิ่มเป็น 10 บริษัท ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เวลามีเรื่องกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงงานเราก็แชร์เทคโนโลยีแชร์ความรู้กัน ขณะเดียวกัน หากเขา (โรงงาน) ขอความรู้มาในแง่วิศวกรรม เราก็ส่งคนไปอธิบาย หรือมาดูโรงงานก็ได้ เมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่ เวลาจะมาดูโรงงานก็หวง แต่ตอนนี้โอเพ่นเฮ้าส์เลย เข้ามาดูได้เลย

นี่คือการเปลี่ยน อย่างเรื่องการลดพลังงาน เอสซีจีมีเทคโนโลยีลดพลังงาน วิธีลดการใช้น้ำ เราเปิดให้มาดู ของเรามีเรื่องการป้องกันสารอินทรีย์ระเหยง่าย อันนี้ต้องบอกเลยว่าเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่ายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญ ตอนนั้นสมัยคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผมเป็นตัวแทนผู้ประกอบการ ได้รับเรื่องการแก้ปัญหา VOC ปัญหาเรื่อง NOC ปัญหาการรีไซเคิลน้ำที่บำบัดแล้ว ลดกากของเสีย เป็นคำมั่นสัญญาที่ต้องทำ และทุกอย่างเราลดได้ตามเป้าหมดเลย หากทำจริงๆ ร่วมกันทำ ก็ลดได้เยอะ

บริษัทเอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด

“อย่างมาตรฐานกฎหมาย VOC (สารอินทรีย์ระเหยง่าย) ว่าจุดห้ามรั่วซึมของอินทรีย์ระเหยง่ายต้องห้ามเกินเท่านั้นเท่านี้ เราสั่งเทคโนโลยีมาช่วย ก็ลดได้ดีกว่ามาตรฐาน หรือเวลาเก็บตัวอย่างของเสีย เราทำในระบบปิดหมด เวลาระบายของเสีย ทำให้อยู่ในระบบปฏิบัติงานตามมาตรฐาน เพื่อให้ตรวจติดตามได้ โรงงานของเอสซีจีเคมีคอลส์มี 15,000 จุดที่ต้องตรวจ เราติดป้าย เพื่อตรวจติดตามผล เราทำทุกโรงงานในมาตรฐานเดียวกัน ตอนนี้ทำเข้มมากกว่านั้น เราทำในส่วนที่ปล่อยออกบรรยากาศโดยตรง ก็ทำระบบป้องกัน เช่น มีถ่านกัมมันต์คอยดักจับไม่ให้ออกสู่บรรยากาศ คือไม่มีกลิ่นสารอินทรีย์ระเหยง่ายออกไป”

ขบวนการป้องกันเหล่านี้ใส่ตั้งแต่ตอนออกแบบโรงงาน เพิ่มเข้าไปให้มากกว่ามาตรฐาน หาวิธีป้องกันในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำฝาครอบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ไม่ใช่บอกว่าเป็นโรงงานสีเขียว เป็นโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฟังดูเหมือนจับต้องไม่ได้ แต่โรงงานเราเน้นสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ชาวบ้านต้องไม่ถูกกระทบ ชาวบ้านต้องไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ยินเสียง

การสร้างโรงงานเราจะคำนึงว่าจะกระทบกับใคร ชุมชนกังวลอะไร เช่น เรื่องกลิ่น เราต้องออกแบบปิดเรื่องกลิ่น เราต้องลงทุน ชุนชนเขากลัวเรื่องเสียง ก็ต้องออกแบบเครื่องจักรให้เสียงน้อย หากเสียงน้อยไม่ได้ ก็ต้องออกแบบปิดไม่ให้มีเสียง เป็นต้น หรือการปล่อยมลพิษอื่นๆ เช่น NOC เป็นเรื่องดังของมาบตาพุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ไทยพับลิก้า : เรื่องมาตรฐานโรงงานได้สื่อสารกับชุมชนโดยตรงไหม

เราบอกหมดเลย ต้องบอกว่าตอนที่เราสร้างโรงงาน เรากลัวมากถึงผลกระทบ แค่ฝุ่น บางทีไม่ได้มาจากโครงการโดยตรง อาจจะเป็นเพราะทิศทางลม หรือกลิ่น ตอนนั้นเรายังไม่ได้สร้างโรงงาน แต่มาจากกองขยะใหญ่ เขาก็บ่น ชาวบ้านเขากังวล เราก็ต้องออกแบบโรงงานไม่ให้ผลกระทบ เราคิดระบบที่เรียกว่า JICA: Job Impact to Community Assessment ต้องวิเคราะห์งานเลยว่างานนี้กระทบชุมชนหรือเปล่า ถ้ากระทบจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น การขนดิน จะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย ก็มีผ้าใบปิด หรือกลางคืนต้องห้ามวิ่งในชุมชน ต้องหาเส้นทางอื่นที่ไม่กระทบชุมชน นี่คือการวิเคราะห์และป้องกันให้กระทบชุมชนน้อยที่สุด

และให้ชุมชนมีส่วนร่วม เรามีจัดประชุมไตรภาคีทุกเดือน มีชุมชน ผู้ประกอบการ การนิคมฯ มาคุยกันว่าเดือนนี้จะทำอะไร ชาวบ้านมีฟีดแบ็คอะไรบ้าง จะแก้ไขปัญหาอย่างไร และเราจะบอกว่าเดือนหน้าเราจะทำอะไร กิจกรรมใหญ่ๆ มีอะไรบ้าง จะกระทบอะไรกับชุมชน ชุมชนก็จะฟีดแบ็คมา เราก็แก้ปัญหาล่วงหน้า

หรือระหว่างที่ทำจริง เราก็มี JICA วิเคราะห์ หากมีกระทบเราก็จะแก้ปัญหา ที่ผมมาอยู่ที่นี่ สร้างโรงงานประมาณ 4 ปี เราดูแลชุมชนตลอด พอโรงงานเดิน ก็ดูแลโรงงาน ดูแลชุมชนด้วย หากเราออกแบบดี ก่อสร้างดี การเดินโรงงานก็ดี ได้ในสิ่งที่เราออกแบบไว้ สารเคมีที่เราผลิตที่เราคิดว่าอันตรายมาก เราต้องเลือกวาล์วที่พิเศษ สองชั้น ไม่ให้มีรั่วซึม และเรามีเครื่องมือตรวจวัดการรั่วซึม ก็จะมีการเตือน หรือเวลาที่เดินโรงงานไปแล้วก็อาจจะมีข้อบกพร่อง ก็ต้องแก้ไข เช่น ไฟฟ้าดับ ทำให้แฟลร์ออกมาเยอะ เราก็ต้องลงทุนอีก 200 ล้าน เพื่อลดผลกระทบชุมชน เป็นต้น

การลดพลังงาน ลดการใช้น้ำ ลดกากของเสียที่จะไปฝังกลบ ตอนนี้ทุกโรงงานเอสซีจีเคมีคอลส์ สิ้นปีนี้ขยะที่จะไปฝังกลบจะเป็นศูนย์ ระบบป้องกันสารอินทรีย์ระเหยง่ายอย่าง VOC FREE ทุกโรงงานได้มาตรฐาน เราทำได้ดีกว่ามาตรฐาน เราทำเข้มข้นมากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องดูทุกกระบวนการทำงาน ปรับปรุงตลอดเวลา และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เทคโนโลยีใหม่มาติดตั้ง หรือการนำนวัตกรรมที่เราคิดขึ้นเองด้วย เช่น นำไส้เดือนให้กินกากของเหลือ เพื่อให้ไส้เดือนกินแล้วถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย เป็นการพัฒนาของเสียให้เป็นของดี เป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์เอาไปใช้ได้

นอกจากนี้เราทำ Eco factory กล่าวคือมีโรงงานสีเขียวในพื้นที่เดียวกันหลายโรงงาน ในลักษณะต่างคนต่างอยู่ แต่ต่างเป็นโรงงานสีเขียว เราเรียก green manufacturing แต่ถ้า 3 โรงงานนี้มีการแลกเปลี่ยนของเสีย ทำให้เป็นของดี หรือมีการลดพลังงานร่วมกัน เอาพลังงานที่เหลือจากโรงงานนี้ไปใช้ในอีกโรงงานหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่า Eco Factory

ถ้าเป็นโรงงานในเครือเดียวกัน อยู่ใกล้กัน ก็ทำง่าย ลงทุนร่วมกันได้ หรือบางทีบางเรื่องไม่ได้ประโยชน์ในแง่การลงทุน แต่ทำเพื่อให้เกิดการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ทำ ถามว่าแล้วถ้าโรงงานอยู่ไกลๆ ทำอย่างไร เช่น โรงงานเอสซีจี เคมีคอลส์เอาน้ำมันใช้แล้วจากเครื่องซ่อมรถยนต์ ซ่อมเครื่องจักร เอาไปเป็นเชื้อเพลิงที่โรงปูนที่สระบุรีหรือขอนแก่นได้ ซึ่งอันนี้เป็นขยะของเรา แต่เป็นเชื้อเพลิงของเขา

หรือเรามีโซดาไฟที่ใช้แล้ว ขณะที่โรงงานกระดาษเขาต้องการโซดาไฟไปฟอกเยื่อกระดาษขาว เราก็ทำการวิจัยเพื่อให้เป็นโปรดักส์ให้เขา ก็ศึกษาด้วยกัน นี่ได้นำไปทดลองใช้ คาดว่าจะจดลิขสิทธิ์เร็วๆ นี้ ทำจากขยะให้เป็นสินค้า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช

ไทยพับลิก้า : กรณีการแลกเปลี่ยนของเสียที่จะทำกับบริษัท ปตท. คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ปตท. มี waste gas เขาใช้เป็นเชื้อเพลิง หากเหลือเกินเขาต้องเผาทิ้ง และใน waste gas มีการแยกแก๊ส แก๊สดีสามารถทำประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ให้ทางโรงงานเอสซีจีได้ ก็ศึกษาเรื่องนี้ร่วมกัน เพราะโรงงานอยู่ใกล้กัน เดินท่อ ต้นทุนก็ไม่แพง มันทำได้ ก็เกิดทางเลือกที่ทำได้ เราก็อยากให้เป็นโมเดลแบบนี้ทั่วมาบตาพุด

ไทยพับลิก้า : นี่ถือว่าเป็นต้นแบบ

ที่ผ่านมาเอสซีจีทำโครงการแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างโรงงาน ทำมา 10 ปีแล้ว เราอยากให้ส่งเสริม ทำข้ามกิจกรรม ข้ามบริษัท มันได้ประโยชน์หมดเลย เพราะในมาบตาพุดอยู่ใกล้กัน ทางนิคมฯ ก็ศึกษาเรื่องนี้อยู่แต่ก็ซาไป มีการจ้างที่ปรึกษามาจากเยอรมัน แต่ของเราทำวิจัยและพัฒนาเอง บางอย่างก็ไม่สำเร็จ และที่สำเร็จก็มี

ไทยพับลิก้า : เอสซีจีทำ Eco factory ได้แค่ไหนแล้ว

Eco factory ในกลุ่มเอสซีจีทำไปประมาณ 80% ส่วน Eco town โรงงานสีเขียว ชุมชนสีเขียว ทุกอย่างทำได้มาตรฐานหมด ก็จะเป็นเมืองนิเวศแทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมนิเวศ

ไทยพับลิก้า : จะเริ่มทำอะไรอย่างไรต่อ

เอสซีจีฯ เริ่มชุมชนนิเวศที่ห้วยโป่ง ที่สภาน้ำท่วม ผู้นำชุมชนเขามีวิสัยทัศน์ตรงกัน และเอสซีจีมองว่าน่าจะไปถูกทาง เพราะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็มุ่งมาทางนี้ (Eco town) ต่างประเทศก็มุ่งมาทางนี้ เราเลยทำชุมชนต้นแบบที่ห้วยโป่งใน ที่สภาน้ำท่วม และเราก็ไปชวนกรมควบคุมมลพิษมาร่วมด้วย เขามีนักวิชาการมาช่วย
เราอยากให้มีหนึ่งโรงงานหนึ่งชุมชน ที่ช่วยกันดูแล หากชุมชนอื่น นิคมฯ อื่น เห็นประโยชน์ ก็ทำตาม ก็จะเร็วขึ้น

ไทยพับลิก้า : ภาพความจริงกับภาพความฝันอีกนานแค่ไหน ในแง่ความท้าทายของมัน

ยากตรงที่ชุมชน เพราะโรงงานเขาสามารถทำเป็นโมเดลได้ ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยชิโยดะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เอามาบตาพุดเป็นต้นแบบ มาศึกษาร่วมกัน ว่าอะไรที่แลกเปลี่ยนกันได้ อันนี้ความฝันใกล้เข้ามา ถ้าทำให้เป็นชุมชนนิเวศให้เห็น และถ้าหากจังหวัดช่วยกันผลักดัน ขณะที่โรงงานและชุมชนต้องช่วยด้วย

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้พื้นที่ในระยองยังรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมได้อีกหรือไม่

ผมว่าในอากาศมันยังไม่เต็ม “เต็ม”นี่เรานิยามจากไหน มาตรฐานของเราหรือมาตรฐานต่างประเทศ ถ้ามาตรฐานของไทยที่ประกาศเรื่องมลพิษทางอากาศออกมา 9 ตัว กำหนดว่าเราปล่อยมลพิษได้เท่าไหร่ ยิ่งมีเครื่องมือทันสมัย ออนไลน์ได้ ทางการนิคมฯ จะทราบข้อมูลตลอดเวลา วันนี้ค่าสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีป้ายหน้าโรงงาน มาโชว์ข้างหน้าบริษัทเลย ตรวจสอบได้ แสดงความโปร่งใส

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้ววันนี้ปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่มีจุดร่วมระหว่างชาวบ้านกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่มีกลไกหลายอย่างในการแก้ปัญหา

ประเทศไทยทำตามกฎหมายที่เข้มข้น อย่างมาตรฐาน WHO องค์การอนามัยโลก ขณะที่อังกฤษ ญี่ปุ่น อเมริกา เขาไม่ปฏิบัติ แต่ประเทศไทยปฏิบัติ

หรือการสื่อความหมายของการรายงาน ต้องให้ถูกต้อง เช่น ระดับน้ำใต้ดิน บอกว่ามีโลหะหนัก แล้วบอกว่ามาจากโรงงาน แต่น้ำใต้ดินไม่ได้ผ่านโรงงาน พอไปตรวจสอบกรมธรณีวิทยาปรากฏว่ามีสายแร่โลหะหนักอยู่แล้ว และบางทีมาจากยาฆ่าแมลงก็มี

ดังนั้นข้อมูลบางจุดไม่โอเค เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ขณะเดียวกัน การเก็บตัวอย่าง มีการตักก้อนดินของเก่ามาตรวจสอบ ซึ่งเป็นดินที่สะสมอยู่ หากเอาของเก่าไปวัดยังไงก็เจอ เพราะสมัยก่อนมาตรฐานอาจจะไม่เข้มงวด ก็พบโลหะหนักอยู่

หรือเรื่องเจ็บป่วย คนให้ข้อมูลต้องพูดให้หมด อย่างจังหวัดหนองคายเป็นมะเร็งมากที่สุด จังหวัดระยองอยู่ท้ายๆ แต่เอาระยองไปเทียบกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะเป็นเมืองชายทะเลด้วยกัน ก็อยากให้ดูข้อมูลจริง คนที่อยากโจมตีก็เอาข้อมูลไม่ดีมาโจมตี หรือมีการตรวจเลือดที่จังหวัดจันทบุรีที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมเลย เปรียบเทียบกับระยอง พบว่าจันทบุรีมีสารเคมีปนเปื้อนมากกว่า ก็อยากให้ข้อมูลให้ครบถ้วน

ไทยพับลิก้า : แต่มองภาพจากข้างนอกที่นี่ดูแย่มาก จริงๆ สภาพเป็นอย่างไร

ผมอยู่ที่นี่ 27 ปี ช่วงแรกๆ แทบจะอยู่ที่โรงงาน ผมว่าปกตินะ ไม่มีอะไร