ThaiPublica > คนในข่าว > “กนิษฐ์ พงษ์นาวิน” เสียงสะท้อนเจ้าบ้าน “มาบตาพุด” ความสุขที่หายไปพร้อมกับผู้มาเยือน

“กนิษฐ์ พงษ์นาวิน” เสียงสะท้อนเจ้าบ้าน “มาบตาพุด” ความสุขที่หายไปพร้อมกับผู้มาเยือน

29 ธันวาคม 2012


กนิษฐ์ พงษ์นาวิน เลขานุการเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

“คุณต่างหากที่มาหาเขา เอารั้วมาติดเขา แล้วพื้นที่กันชนมันอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านไม่เคยที่จะรุกล้ำคุณ คุณนั่นแหละรุกล้ำเรา แล้วจะให้เราทำอย่างไร เราเป็นมดตัวเล็กนิดเดียวแล้วคุณคือช้าง”

“จะเอาช้างมาแลกม้า” เป็นคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐที่บอกเล่ากับชาวมาบตาพุด จ.ระยอง ในปี พ.ศ. 2524 ก่อนที่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดจะเริ่มลงหลักปักฐานที่นั่น ตามที่ “กนิษฐ์ พงษ์นาวิน” เลขานุการเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เล่าให้สำนักข่าวไทยพับลิก้าฟัง

ขณะนั้น “กนิษฐ์” เป็นเพียงเด็กหญิง แต่จำความได้อย่างแม่นยำว่า คำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้สร้างความกระจ่างให้กับชาวมาบตาพุดเท่าใดนัก แม้ว่าจะมีการขยายความถึงคำว่า “โรงแยกก๊าซธรรมชาติ” และ “ปิโตรเคมี” ในภายหลัง

“คำว่าก๊าซธรรมชาติ หรือปิโตรเคมี เขาไม่รู้จักหรอก เขารู้จักแต่ทุเรียน เงาะ มังคุด ที่เขาทำเลี้ยงตัวเอง ทำเลี้ยงประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้น เราไม่รู้หรอกว่าช้างของคุณคือการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่บอกกันว่าโชติช่วงชัชวาล และจะทำให้คนระยองรวย แค่เสียม้าตัวเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งวันนี้เราเข้าใจแล้วว่ามันคือทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของพวกเรา”

ตอนนั้นคนระยองก็ถามกลับไปว่า ไอ้ปล่องควันสูงๆ ที่ทำขึ้นมา จะทำให้ต้นทุเรียน มะม่วง เงาะ ของเขาตายไหม เขาบอกว่าไม่ตายหรอก เพราะปล่องควันอยู่สูง ไม่ได้อยู่ข้างล่าง นี่คือการพูดคุยสื่อสารกับชาวบ้านตอนนั้น เขาใช้วิธีการแบบนี้ และคนระยองเองก็ใจกว้าง เราคิดกันว่าคงแค่นั้น

แต่ทว่าในปัจจุบัน จ.ระยอง มีพื้นที่อุตสาหกรรมมากถึง 51,656 ไร่ จากเดิมที่มีการบอกกล่าวกับชาวบ้านไว้เพียง 4,000 ไร่

กนิษฐ์เล่าต่อว่า ตอนที่ยังไม่เกิดอีสเทิร์นซีบอร์ด เราอยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์ มีความสุขมากในวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราที่อยู่กับธรรมชาติ ทำมาหากินกับธรรมชาติ ไม่ว่าใครเอาอะไรมาแลก คนระยองก็ไม่รู้สึกชื่นชมยินดีเลย และเราไม่เคยคิดเลยว่าการที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเข้ามามันจะทำให้ทุกอย่างของเราหายไป โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติที่เราเคยมี แต่สิ่งที่เราได้คืนมาคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี

แม้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของ จ.ระยอง จะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีพีพี) ของจังหวัดระยองสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของทุกปี แต่ “กนิษฐ์” ยืนยันว่า “คนระยอง” กลับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สวนทางกับการพุ่งขึ้นของกราฟจีพีพี

“คุณจะบอกว่ารัฐบาลได้ภาษีอะไรมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้น แต่คนที่ระยองไม่ได้มากขึ้นตาม สภาพความเป็นอยู่ของเราอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น คนที่มีฐานะดีขึ้นหน่อยคือคนที่ขายที่ดินและย้ายตัวเองไปอยู่ที่อื่นเท่านั้น”

ขณะที่คนที่อยู่ในสภาวะ “จำต้องอยู่” ต้องเผชิญกับสภาพมลพิษและอันตรายจากอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ปัญหามันเยอะมาก ที่คุณเอามาตอบแทนเราคือปัญหา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคือปัญหา ปล่อยทั้งสารเคมี มลพิษ ที่ทำให้คนระยองมีสุขภาพที่แย่ มีภูมิต้านทานโรคที่ต่ำลง”

“กนิษฐ์” เล่าว่า ด้วยเพราะ “สุขภาพ” ที่ถูก “บั่นทอน” ลงทุกวันจากผลกระทบทางเคมีจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ชาวมาบตาพุดลุกขึ้นต่อสู้เป็นครั้งแรกในช่วง 15 ปี หลังจากการก่อตัวของนิคมอุตสาหกรรมที่ในขณะนั้นมีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมประชิดชุมชนมากขึ้นทุกที

โดยคณะอาจารย์โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารเป็นผู้นำในการต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรม ที่มาก่อสร้างในระยะใกล้กับโรงเรียน

“เกิดโรงปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมัน มีการปล่อยสารเคมีออกมาโดยที่ไม่มีระบบป้องกันอะไรเลย กำแพงของโรงงานและกำแพงของชาวบ้านอยู่ติดกัน พอเกิดเรื่องที่โรงเรียนขึ้น สุดท้ายโรงเรียนนี้ก็ต้องปิดและย้ายที่ตั้งของโรงเรียนไปพื้นที่ใหม่ ขณะที่โรงงานที่ก่อปัญหายังอยู่”

แม้ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา จะมีผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นตัวกำกับ แต่ไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่กันชนหรือ Buffer Zone ด้วย

“มีการระบุถึงพื้นที่กันชน แต่ความจริงไม่มี โรงงานขยายออกมา บ้านคนอยู่อย่างไรเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น คุณต่างหากที่มาหาเขา เอารั้วมาติดเขา แล้วพื้นที่กันชนมันอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านไม่เคยที่จะรุกล้ำคุณ คุณนั่นแหละรุกล้ำเรา แล้วจะให้เราทำอย่างไร เราเป็นมดตัวเล็กนิดเดียวแล้วคุณคือช้าง”

และเหตุที่ไม่มีพื้นที่กันชนที่มีระยะห่างตามความเหมาะสม ทำให้ทุกครั้งที่เกิดอุบัติภัยขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรม ฝ่ายที่รับเคราะห์ก็คือคนที่อยู่ในละแวกนั้น

เรารู้สึกว่าค่าชีวิตของเราต่ำมากนะ อย่างกรณีบีเอสที ที่มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ทางการมีการสอบถามถึงผลกระทบและมีการชดเชยเยียวยา แต่สรุปแล้วดูเหมือนกับว่าเขาให้หลักประกันชีวิตทุกชีวิตที่อยู่ในสำมะโนครัวที่อยู่ในรัศมีของเขา เมื่อมาดูงบประมาณที่เขาให้ 16 ล้านกว่าบาท หารกับจำนวนประชาชนในพื้นที่นั่น ค่าชีวิตที่เขาให้ชีวิตละ 300 บาทเท่านั้น

ถึงแม้ว่าการต่อสู้ของชาวระยองจะนำไปสู่การประกาศเขตควบคุมมลพิษในปี 2552 แต่ “กนิษฐ์” บอกว่า ในปัจจุบันยังคงพบการลักลอบทิ้งกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน โรงงานบางแห่งที่รับกำจัดกากของเสียเหล่านั้นกลับทำให้เกิดมลพิษเสียเอง โดยเฉพาะ ต.บ้านค่าย ที่ประสบปัญหาเรื่องกลิ่นเคมีอย่างรุนแรง

จากปัญหาที่ “เรื้อรัง” มานานหลายสิบปี ทำให้ประชาชนในหลายหมู่บ้านที่อยู่ใน ต.มาบตาพุด ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ยอมทิ้ง “รกราก” ด้วยการขอย้ายหมู่บ้านออกจากพื้นที่แล้ว!

“กนิษฐ์” เล่าว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอนุมัติแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจรในวงเงินงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ได้มีการบรรจุเรื่องการย้ายชุมชนที่อยู่ชิดโรงงานอุตสาหกรรมในแผนดังกล่าวด้วย

ทีนี้ ในการย้ายชุมชนต้องถามก่อนว่า คนในชุมชนอยากจะย้ายหรือไม่ โดยเฉพาะในรัศมีของชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่น บ้านหนองแฟบ มาบชลูด หรือวัดโสภณ ชุมชนเหล่านี้เขาใกล้จริงๆ เขาเจอปัญหามาเยอะแล้ว ถ้าเขาออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่อื่นได้เขาก็อยากออกไป

ตอนนี้ประธานชุมชนก็เริ่มรวบรวมรายชื่อคนที่ต้องการจะย้ายออกไปนำเสนอกับรัฐบาล แต่เขาเองก็อยากจะขอทราบรายละเอียดของรัฐบาลเหมือนกันว่า ถ้าจะย้ายออกคือย้ายเขาแบบไหน จะหาที่ใหม่ให้เขาไปอยู่หรือว่าจะชดเชยในเรื่องของราคาที่ดินที่เขาต้องเสียไปแบบไหน เขากลัวว่าอยู่ๆ ทางรัฐจะประกาศเป็นกฎหมายเวนคืนที่ดินขึ้นมา

ขณะที่คนที่อยู่ยังคงต้องสู้กันต่อไป

ล่าสุดโรงงานผลิตถ่านหินโค้ก ที่ ต.มาบข่า ก็ขึ้นมาอีกแล้ว ทั้งที่เมื่อ 5 ปีที่แล้วพวกเราไปเป็นพันคนคัดค้านไม่เอาโรงงานนี้จนทางโรงงานยอมแพ้บอกว่าไม่สร้างแล้ว เราดีใจก็ทำมาหากินกันต่อ แล้วอยู่ๆ ก็สร้างขึ้นมาอีก ชาวบ้านแห่กันไปถามว่าสร้างได้อย่างไร ขออนุญาตแล้วหรือ เขาบอกว่าเขาขออนุญาตจาก อบต. แล้ว ให้สร้างอาคารได้ แต่เขายังไม่ได้ขออนุญาตมาผลิตถ่านหิน แต่ตอนนี้มีปล่องควันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจเรื่องนี้ เลยฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครอง

“สิ่งที่ห่วงคือ กลัวว่าเขตอุตสาหกรรมจะรุกล้ำเข้าไปยัง อ.แกลง และ อ.เขาชะเมา เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ยังมีทะเลสวยๆ แต่ถ้าอุตสาหกรรมไปเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละที่เราจะสูญเสียทั้งจังหวัด ถ้าถามคนระยอง มันมีความท้อแท้เหมือนกันนะ สู้จนไม่รู้จะสู้อย่างไรแล้ว”

ส่วนก้าวต่อไปในการต่อสู้ของชาวมาบตาพุดจะเป็นอย่างไรนั้น “กนิษฐ์” กล่าวว่า กระบวนการต่อสู้คงจะเน้นไปที่หลักของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 มากกว่าการต่อสู้ในเรื่องของมวลชนเหมือนที่ผ่านมา

“ก็เหนื่อยนะ วิธีการต่อสู้ มวลชนเองก็ถูกบั่นทอนให้น้อยลง จากทั้งสภาพร่างกาย ภูมิต้านทานต่ำ คนที่เคยสู้กับเรามาก็เสียชีวิตไปมาก ไม่ใช่ลดน้อยลงจากการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ของโรงงานอุตสาหกรรมนะ ฉะนั้น ต่อจากนี้ชุมนุมกันอาจจะมีน้อยลง แต่อาจจะมีไปดูหลักของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 มากขึ้น เราต้องใช้ความเป็นสิทธิของเรารักษาปกป้องตัวเองก่อน จะได้หรือไม่ได้อย่างไรเราก็ต้องใช้วิธีการอย่างนั้น”

“กนิษฐ์” กล่าวว่า ที่อยากจะขอร้องก็คือขอให้มองระยอง มองมาบตาพุดเป็นต้นแบบ โดยอย่าให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นที่อื่นอีกเลย เพราะมาบตาพุดแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ปัญหายังขนาดนี้ ถ้าไปทำแบบนี้กับเซาเธิร์นซีบอร์ด ปัญหาจะขนาดไหน

“การต่อสู้ที่ผ่านมากว่า 30 ปี เราอยากให้เป็นตัวอย่างของทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการเซาเธิร์นซีบอร์ด ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจะทำ หรือแม้กระทั่งทวายของพม่า สภาพลักษณะของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ไม่มีอะไรที่จะรองรับให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศเลย จะเกิดเสียมากกว่าได้ แต่คนที่ได้มากกว่าเสียคือนายทุนเท่านั้น” เลขานุการเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกล่าวทิ้งท้าย