ThaiPublica > คนในข่าว > “พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล” นักวิจัยป่าต้นน้ำชี้ “ระยองเปลี่ยนไป” – ซ่อม”เขายายดา” ให้เป็นปอด-โอ่งน้ำธรรมชาติ

“พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล” นักวิจัยป่าต้นน้ำชี้ “ระยองเปลี่ยนไป” – ซ่อม”เขายายดา” ให้เป็นปอด-โอ่งน้ำธรรมชาติ

11 มิถุนายน 2012


ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ผู้อำนวยการส่วนวิจัยต้นน้ำ

ในระยะหลังคนจะรู้จัก “มาบตาพุด” มากกว่า “ระยอง” หรือไม่นั้น ก็ยังพอจะถกเถียงกันได้

แต่ถ้าได้ยินชื่อมาบตาพุด ก็รู้สึกไปไกลถึงมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ “ระยอง” ยังมีความจริงอีกหลายด้านหลายมุมที่ยังไม่ได้พูดถึง

ความจริงที่ว่าระยองเปลี่ยนไป พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม มีการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และประชาชนทั่วไป มีการขยายพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมจนติดพื้นที่ชุมชน

หลายคนที่อยู่ในพื้นที่มานานรู้สึกได้ถึงระยองที่เปลี่ยนไป มีทั้งเปลี่ยนไปในทางบวกและทางลบ

เมื่อต่างคนต่างถอยไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือโรงงานอุตสาหกรรม แล้วจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

เราอาจได้ยิน “เขายายดา” จากหนังโฆษณาฝายชะลอน้ำ อนุรักษ์น้ำ ของเอสซีจี

“เขายายดา” เป็นอีกมุมบวกของจังหวัดระยอง เมืองอุตสาหกรรมที่มักจะได้ยินว่าเต็มไปด้วยมลพิษมากมาย เมืองที่ไม่มีใครอยากมาอยู่อาศัย

เป็นโชคดีของคนระยองที่ยังมี “เขายายดา-เขาท่าฉุด”

“เขายายดา”ได้รับการเรียกขานที่แตกต่างกันไป เป็นทั้งปอดและแหล่งน้ำสำคัญของชาวระยอง เสมือนเป็นโอ่งขนาดใหญ่ 28,000 ไร่ และเป็นปอดขนาดยักษ์ที่ช่วยฟอกอากาศให้เมืองระยอง

กว่า 20 ปีที่เขายายดา-เขาท่าฉุด ถูกบุกรุกทำลายป่าจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นที่ทำมาหากิน ทำการเกษตร

กว่าชาวบ้านจะรู้ตัวก็เกือบสายไป เมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวสวนไม่มีน้ำรดน้ำต้นไม้ ไม่มีน้ำใช้ ชาวบ้านที่บุกรุกต่างก็เป็นโจรกลับใจ หันมาร่วมไม้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ช่วยกันดูแลป่า ช่วยรักษาป่าต้นน้ำ ช่วยกันคืนธรรมชาติสู่ผืนป่าเขายายดา เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำอีกครั้ง

นักวิจัยป่าต้นน้ำได้เข้ามาดำเนินการแก้ไขด้วยการปลูกป่า สร้างสวนป่าขึ้นทดแทนป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรม และส่งเสริมป่าที่กินได้ หรือเกษตร 4 ชั้นทดแทน ทำเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2519 แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน จนกระทั่งปี 2540 ที่สถานการณ์เลวร้ายสุดๆ เกิดขึ้น เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งจนต้องซื้อน้ำ ภาวะวิกฤตทำให้ชาวบ้านฉุกคิดว่า การมาหากินแบบวิถีเดิมๆ เดินมาผิดทาง จึงเป็นจุดพลิกกลับ ร่วมใจรวมพลังพลิกฟื้นเขายายดา-เขาท่าฉุดขึ้นมาใหม่

เขายายดา

เมื่อบรรดาโจรกลับใจ รู้สึกรักและหวงแหนผืนป่าขึ้นมา ประกอบกับองค์ความรู้ของนักวิชาการ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำอย่าง “เอสซีจี เคมีคอลส์” มาร่วมสานฝันของชาวบ้านให้เป็นจริง ป่าดิบแล้งเขายายาดา-เขาท่าฉุดก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา กลายเป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์อีกครั้ง

ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ผู้อำนวยการส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญกับการอนุรักษ์ผืนป่าเขายายดามาตั้งแต่ปี 2519 และอยู่ที่นี่จนเป็นชาวระยอง ได้เล่าให้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม การเปลี่ยนไปของจังหวัดระยองหลังจากที่กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไขปัญหาว่า

ปี 2519 สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายป่า และการหาแนวทางแก้ไข ป้องกันที่เขายายดา-เขาท่าฉุด โดยวิธีการปลูกสร้างสวนป่า งานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บวัดข้อมูลอากาศ ควบคู่ไปกับการเก็บวัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกชนิดต่างๆ ว่าต้นไหนเจริญเร็วกกว่ากัน จะได้เป็นแนวทางในการปลูก พอเราปลูกไป ชาวบ้านก็มาเผา เป็นปัญหาต่อเนื่องเรื้อรังมานาน

การเผาไม่ได้ไหม้เฉพาะสวนป่าของเรา แต่ลุกลามไปบนเขายายดาด้วย ตอนนั้นผมก็เปลี่ยนความคิดว่า จะทำอย่างไรภูเขาจึงไม่มีไฟ เพราะผมรู้ว่าไฟอันตรายยิ่งกว่าอย่างอื่น ไฟจะทำลายลูกไม้ พอทำลายก็จะมีแต่เรือนยอดข้างบน เมื่อฝนตก หากมีความแรงเกิน 25 ฟุต ซึ่งความเร็วสูงสุด เมื่อมีแรงตกกระทบมากสุด ตัวนี้ทำให้ดินแน่นไม่ดูดซับน้ำ พอฝนตกตามมาภายหลัง กลายเป็นน้ำไหลบ่าหน้าดินแทนที่จะซึมลงไปในดิน ตัวนี้จะฉะเอาหน้าดินไป ทำให้ชั้นดินบางลง เก็บน้ำได้น้อย ฝนตกไม่เท่าไหร่ก็เกิดน้ำบ่า เหมือนที่ภาคใต้ที่เกิดน้ำบ่าในขณะนี้

“ตอนนั้นผมก็คิดว่า จะหาพันธุ์ไม้อะไรมาปลูก ก็พบว่าเป็นยางพารา แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสนใจ และเป็นประโยชน์กับชาวบ้านด้วย ผมก็ใช้วิธีคุยกับชาวบ้าน หาแนวร่วมและใช้วิธีให้ครูมาช่วยเป็นผู้สื่อสาร แต่พอทำจริงๆ ผมไปเริ่มที่ห้วยมะเฟือง ไม่ใช่เขายายดา รวบรวมมาได้ 7 ครอบครัว เริ่มปลูกยาง ตอนแรกแล้งมากเพราะเขาปลูกมันสำปะหลังมานาน เหลือแต่หิน ชาวบ้านก็ช่วยคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เขาก็บอกว่าปลูกกล้วยนำ แต่พอปลูกไป ตายหมด เนื่องจากมันแล้งมาก พอปีที่ 2 โชคดีที่ไม่แล้งมาก ก็ปลูกกล้วยนำอีกครั้ง ก็โตขึ้นมา ปีที่ 3 ปลูกยางแซม ปีที่ 4-5 ตัดกล้วยได้ อันนี้เป็นวิธีที่เราค้นพบ”

แต่พอเราตั้งแปลงตะกอน เรารู้ว่ามันไม่ดีจริง เพราะยางพารามีเรือนยอดชั้นเดียว แม้จะมีใบหนาแน่น เราศึกษาการร่วงหล่นและการสลายตัวของใบยาง รวมทั้งบ้านเราฝนจะตก 2 ช่วง พอปลูกยางพาราไประยะ เรารู้แล้วว่าเราเดินทางผิดแล้ว เราจึงต้องเอาพืชอื่นมาเสริมให้มีเรือนยอดหลายชั้น เช่น ปลูกต้นเร่ว เอามาจากเมืองจันทร์ จากนั้นผมก็เริ่มกลับมาที่เขายายดา

ไทยพับลิก้า : ตอนปี 2519 ต้องการทำวิจัยอย่างเดียว

ทำวิจัยอย่างเดียว ตอนนั้นชาวบ้านเขาทำไร่มันกัน บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนที่เขายายดาเหลือ 78% ตอนนี้เป็นเท่าไหร่ไม่แน่ใจ ต้องสำรวจใหม่ ต้องใช้ภาพถ่ายดาวเทียม

แต่สิ่งที่เราทำมายังไม่ได้ประสบความสำเร็จทีเดียว เราต้องดูสัดส่วนของพืชเศรษฐกิจที่เป็นไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุก ว่าสัดส่วนใดที่ให้ผลผลิตและสร้างรายได้มากที่สุดสำหรับชาวบ้าน และไม่กระทบพื้นที่ข้างล่าง โดยเฉพาะเรื่องการดูดซับและระบายน้ำ ต้องสมดุลกัน ต้องหาจุดนี้ให้ได้ก่อน

หลังจากนั้นก็ต้องศึกษารายได้ปัจจุบันที่เขาทำอยู่ มีรายได้เท่าไหร่จากพืชเชิงเดี่ยว เอาความแตกต่างนั้นมาทำ PES: Payment for Ecological Services (การจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศน์) แล้วหาผู้จ่าย อย่างเอสซีจีเขาต้องซื้อน้ำอยู่แล้ว ก็เอาตัวนี้ (ส่วนต่างนี้) มาจ่ายให้ชาวบ้านคอยดูแลป่า ผมว่าไม่น่าจะมากเท่าไหร่ ทางภาคเอกชนน่าจะรับได้ เมื่อเทียบกับน้ำที่เขายายดาจะซัพพลายให้ผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ไทยพับลิก้า : หลักการ PES ถือเป็นเรื่องใหม่

เราคิดมานาน แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมและยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ตอนหลังมีหลายพื้นที่เริ่มทำรูปแบบนี้เยอะ และผมไปทำที่ทุ่งจ๊อ ใกล้ๆ แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีชนเผ่ากะเหรี่ยงช่วยดูแลรักษาป่าส่วนใหญ่ ที่ทุ่งจ๊อเราปลูกป่ามานาน 40 ปี จนเป็นป่าธรรมชาติ เราต้องการเปรียบเทียบ 2 พื้นที่นี้มีคุณค่าต่างกันเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า : การฟื้นฟูป่าต้องใช้เวลานานมาก

ใช่ เขาถึงว่าตัดไม้หนึ่งนาที แต่กว่าจะปลูกใช้เวลานานเป็น 100 ปี

อย่างที่เชียงดาว เราปลูกมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนเป็นป่าสน เป็นป่าธรรมชาติไปหมดแล้ว แต่เราตรวจสอบน้ำท่าที่ไหลในลำธารยังไม่เหมือนเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนเขาใช้ประโยชน์ที่ดินมานาน ทำให้ดินมันบาง เก็บกักน้ำได้น้อย แม้ต้นไม้ข้างบนเขาเป็นเหมือนป่าแล้วก็ตาม ถึงบอกว่าต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่ามันจะฟื้นกลับมา

ไทยพับลิก้า : อะไรคือปัญหาใหญ่ของการรักษาป่า ณ วันนี้

ณ วันนี้ต้องให้การศึกษา อย่างที่ประชาชนในชุมชนเขายายดาบอกว่า พวกเขาทำมาชั่วลูกชั่วหลาน (บุกรุกป่า) เขาไม่รู้สึกว่าเกิดผลกระทบ น้ำกลับเยอะขึ้น กลับเป็นสิ่งที่ดี เพราะพอต้นไม้ถูกตัด ต้นไม้ใช้น้ำน้อยลง ก็กลายเป็นน้ำท่ามากขึ้น แต่ตอนนั้นน้ำยังไหลปกติอยู่ ชาวบ้านพอเห็นว่าน้ำเยอะขึ้นก็ทำนา การทำนาก็ใช้น้ำมากขึ้นอีก และชาวบ้านก็ยังรุกป่าไปเรื่อยๆ แต่พอถึงจุดหนึ่ง แต่ละพื้นที่มีความทนอยู่ได้ไม่เหมือนกัน (Sharing capacity) มันจะพลิกเปลี่ยนทันที แทนที่น้ำจะมากขึ้น ไหลสม่ำเสมอ ไม่ใช่แล้ว น้ำมาพรวดเดียวหมดและแห้งไปเลย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านเริ่มมองเห็น โดยเฉพาะปี 2540 ไม่มีน้ำฝนให้ในพื้นที่

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะเห็นผลกระทบ และอาจารย์ก็ต้องต่อสู้มานานมาก

คือมีใจรัก บวกกับความอยากรู้อยากเห็น ตอนนั้นพอเขายายดามีปัญหา ผมถอย ผมไปเริ่มศึกษาที่ห้วยมะเฟืองแทน ผมเก็บข้อมูลเรื่องการใช้ที่ดินทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2528 ศึกษาอุทกวิทยา ว่าฝนตกลงมาผ่านเรือนยอด ซึมลงไปในดินเท่าไหร่ เก็บน้ำไว้ในดินเท่าไหร่ ตอนนี้ก็ยังเก็บข้อมูลอยู่ ก็ยังกรองตัวเลข เพื่อให้เรามีข้อมูลใช้ในระยะยาวต่อไป แต่พอเราฝังตัวเต็มที่กับชาวบ้าน ก็ได้รับความร่วมจากชาวบ้านอย่างดี

ไทยพับลิก้า : ที่เขายายดาเป็นตัวอย่างการรักษาป่าต้นน้ำไหม

ก็ได้ แต่มีหลายที่ของกรมอุทยานฯ ที่เขาทำ อย่างคีรีวง แต่ตอนหลังเริ่มเพี้ยน ที่ว่าเพี้ยนคือทำไมฝนตกแล้วเกิดน้ำหลาก จากสมัยก่อนเขาปลูกพืชผสมหลายอย่าง แต่ตอนหลังพอเศรษฐกิจบีบรัดเขาเปลี่ยนพืชไปตามที่เขาต้องการ แต่ไม่สมดุลกับธรรมชาติ เกิดปัญหาน้ำหลากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีคนเสียชีวิต นั่นคือฝนตกข้างบนภูเขา แต่ข้างล่างไม่ตกเลย ตอนนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากที่เราเจอ

อย่างที่ระยองที่เราเจอเช่นกัน ทั้งอุณหภูมิปกติ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.2 เซลเซียสเฉลี่ยตลอดปี และอุณหภูมิน้ำค้างสูงขึ้น 0.3 เซลเซียส อุณหภูมิจะมีอัตราการลดลงตามระดับความสูงที่แตกต่างกัน อุณหภูมิปกติจะลดลงประมาณ 5 องศาฟาเรนไฮต์ทุกๆ 1,000 ฟุต และอุณหภูมิน้ำค้างจะลดลง 1 องศาฟาเรนไฮต์ทุกๆ 1,000 ฟุต

เราพบว่า จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่จังหวัดระยองทำให้ฐานเมฆลดต่ำลง อากาศมันจะขยายตัวเพราะมันร้อนขึ้น เหมือนโอ่งที่ขยายตัวเมื่อร้อนขึ้น พอขยายตัวรองรับไอน้ำได้มากขึ้น โอกาสที่ฝนจะตกน้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่อากาศร้อน อากาศแห้ง ในทางตรงข้าม เขายายดามันชื้นและเย็น ฝนมาตกที่นี่ นี่คือปัญหา บางทีข้างล่างไม่รู้ว่าฝนตกบนเขายายดา 3 วัน 3 คืน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว

ไทยพับลิก้า : ไม่ตกในพื้นที่เกษตร

ใช่ เพราะมันร้อน นี่คือปัญหา

ไทยพับลิก้า : สัญญาณการเปลี่ยนแปลงอากาศที่ระยองเริ่มที่เห็นชัดเมื่อไหร่

ประมาณปี 2540 เพราะเขาเริ่มทำอุตสาหกรรมปี 2525

วิธีการแก้ไขต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เยอะขึ้น จะได้กระจายความชื้น แทนที่จะกระจุกเฉพาะบนเขา ฝนจะได้ตกทั่วๆ การปลูกต้นไม้จึงต้องไม่ปลูกเฉพาะบนเขา ต้องกระจายในพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ข้างล่างด้วย อย่างรอบๆ โรงงานต้องปลูกให้มากขึ้น เพราะต้นไม้พวกนี้จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ อย่าลืมต้นไม้ว่าดูดซับได้แค่คาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ขณะที่มีเทนทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 20 เท่า

ดังนั้นจังหวัดระยองต้องเพิ่มต้นไม้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องส่งเสริมปลูกต้นไม้เต็มที่

ไทยพับลิก้า : พื้นที่ลดลงด้วย

ใช่

ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่เป็นคนที่นี่ รู้สึกไหมว่าที่ระยองไม่น่าอยู่

ก็มีความรู้สึกว่าเวลาขับรถไปจันทบุรี อากาศต่างกันเยอะ เมื่อก่อนปี 2519 เวลาขับรถเข้าสวนผลไม้จะเย็นยะเยือก แต่เดี๋ยวนี้ต่างกันลิบ ไม่มีเลย

ไทยพับลิก้า : ในแง่มลพิษที่บอกว่าอยู่ระยองไม่ได้แล้ว จริงไหม

คนเราเหมือนกันต้นไม้ ที่มีความทนแตกต่างกัน บางคนแพ้มากก็จะออกอาการ บางคนแพ้น้อย แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้รับสารเคมีจากโรงงานอย่างเดียว บางคนรับสารเคมีมาตั้งแต่เด็ก ฉีดยาฆ่าหญ้า ฉีดอะไรต่มิอะไร มันซึมเข้าตลอดเวลา มันพิสูจน์ได้ยากว่ามาจากโรงงานหรือภาคเกษตร ต้องดูปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด

ไทยพับลิก้า : การที่จะทำให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้ จะทำอย่างไรได้บ้าง นอกจากธุรกิจที่มาช่วยทำฝาย

สมัยก่อนผมไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ทุกวันนี้จะทำอย่างไรให้โรงงานกับชุมชนอยู่ด้วยกันได้ ผมพยายามคิด 1. ต้องเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านให้ได้ก่อน ว่ามันอยู่ด้วยกันได้จริงๆ 2. ต้องมีความจริงใจ บางโรงงานก็ไม่จริงใจ ไม่ขอเอ่ยนาม บางโรงงานก็จริงใจ หากจะไม่ให้ชาวบ้านกลัว ต้องมีข้อมูลให้เขาเห็นว่ามันไม่เสี่ยงนะ เก็บข้อมูลตลอดทั้งปี เพราะทิศทางลมไม่เหมือนกันทั้งปี ต้องเปิดเผยให้เขาเห็น มายืนยันกัน ช่วงไหนที่เป็นอันตรายโรงงานก็ต้องชี้แจง มันถึงจะอยู่ด้วยกันได้ เพราะประชาชนก็ถอยไปไหนไม่ได้แล้ว ขณะที่โรงงานก็ต้องอยู่ ผมว่าต้องอยู่ที่ความจริงใจ

เราไม่อยากคิดในเชิงลบ เราอยากคิดในเชิงบวกด้วย คือมาตรการ PES เมื่อเราไม่สามารถย้ายคนได้ ตอนนี้หน้าที่ของกรมอุทยาน กรมป่าไม้ ต้องระบุให้ได้ว่าตรงไหนประชาชนอยู่ได้หรือประชาชนอยู่ไม่ได้ โดยมีเหตุผลอะไร ถ้าอยู่ได้จะให้เขาอยู่แบบไหน อย่างไร เราต้องกำหนดให้เขาอยู่

จากการศึกษาวิจัยว่าจะให้ปลูกต้นไม้ผสานผสานอย่างไร มีรายได้เท่าไหร่ เอาผลต่างมาจ่ายให้เขาไป เอาระบบ PES เข้ามาใช้ แทนที่จะเอางบประมาณไปปลูกป่า ให้ประชาชนเขาจัดการดูแลกันเอง เรามีหน้าที่เป็นผู้จัดการ คอยตรวจสอบว่าที่ทำไปได้ผลจริงไหม จะขยับขยายอย่างไร เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ต้องมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุง ซึ่ง PES ตัวนี้มีเทคนิคการหาสัดส่วนแล้วให้เกิดมีรายได้สูงสุดอย่างไร

ไทยพับลิก้า : หากจะนำระบบ PES จะเริ่มต้นทำอย่างไร

ต้องหารูปแบบให้ได้ ซึ่งรูปแบบคือการคิดสัดส่วนของพืชเศรษฐกิจที่เป็นทั้งพืชล้มลุกและพืชยืนต้น ที่นำมาผสมผสานกันแล้ว เมื่อปลูกไปแล้ว ตรวจสอบแล้วคล้ายคลึงกับป่ามากที่สุด เอามาเป็นเกณฑ์แล้วเอามาให้ชาวบ้านทำ ขณะเดียวกันก็ศึกษาว่าผลผลิตที่เกิดจากรูปแบบอันนี้มีเท่าไหร่ และมาเปรียบเทียบกับรายได้ปัจจุบันของชาวบ้านที่ทำอยู่ เอาผลแตกต่างมาเปรียบเทียบเป็น PES ออกมา อันนี้คือลู่ทางที่จะทำ หรือแนวทางในการแก้ปัญหา

ไทยพับลิก้า : กรมอุทยานยังไม่ได้นำระบบ PES มาใช้

ยัง ผมคลุกอยู่ที่นี่ (ระยอง) ก็รู้ปัญหา พยายามนำระบบนี้มาแก้ปัญหา เอาประสบการณ์จากที่อื่นมาใช้ด้วย มาดัดแปลงลองใช้ดู

ไทยพับลิก้า : นโยบาย PES ของกรมอุทยาน

ต้องศึกษาก่อน ต้องเร่งรีบศึกษาไม่เช่นนั้นจะสายเกินไป

ไทยพับลิก้า : ตัวอย่าง PES ต่างประเทศมีไหม

เขามี แต่เป็นเฉพาะเรื่อง อย่างญี่ปุ่น มีบริษัทโตโยต้าเขายอมจ่ายให้ชาวบ้านที่อยู่ข้างบนดูแลป่า ในฐานะที่โตโยต้าเป็นผู้ใช้น้ำ

ไทยพับลิก้า : เมืองไทยถ้าจะปฏิบัติจริงจะติดข้อกฎหมายไหม

ใช่ ค่อนข้างยาก

ไทยพับลิก้า : ทำไม 5 ปีที่เขายายดา ทำฝายแค่ 5 ปีแล้วได้ผลเร็ว

มันแล้วแต่พื้นที่ ตรงนี้ฟื้นตัวได้พอสมควรแล้ว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2550) การสร้างฝายชะลอน้ำรอบพื้นที่เขายายดา-เขาท่าฉุด ซึ่งมีลำน้ำ 30 สาย โดยแต่ละสายมีความยาวเฉลี่ย 800 เมตร จะส่งผลให้ช่วยลดน้ำหลากได้ 1,658.39 ลบ.ม. ในทำนองเดียวกัน จะกันน้ำท่าในฤดูแล้งได้ 757.95 ลบ.ม. และส่งผลทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมดของเขายายดา-เขาท่าฉุด สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น 900.44 ลบ.ม.

นอกจากนี้ ในระยะเวลา 5 ปีที่ชาวบ้านทำฝายชะลอน้ำ มวลชีวภาพของต้นไม้ในป่าเฉพาะในส่วนของพื้นที่ชุ่มน้ำหลังการสร้างฝายชะลอน้ำ หรือพื้นที่สองฟากฝั่งลำน้ำจะมีมวลชีวภาพเพิ่มขึ้นเป็น 23.52 ตัน/ไร่ และมีผลทำให้อัตราการเพิ่มพูนของเนื้อไม้ ของพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 3.10 ตัน/ไร่/ปี ทำให้ผืนป่าบริเวณเขายายดา-เขาท่าฉุดในปัจจุบันสามารถเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งสิ้น 927,974 ตัน เพิ่มขึ้นก่อนสร้างฝาย 221 ตัน และในแต่ละปีจะช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 122,212 ตัน เพิ่มขึ้นจากก่อนสร้างฝาย 30 ตัน

ฝายหินชะลอน้ำ เขายายดา
ฝายหินชะลอน้ำ เขายายดา

โอ่งน้ำ “เขายายดา” 5 ปีในการฟื้นฟู

“เขายายดา” เป็นอีกมุมบวกของจังหวัดระยอง เมืองอุตสาหกรรมที่มักจะได้ยินว่าเต็มไปด้วยมลพิษมากมาย เมืองที่ไม่มีใครอยากมาอยู่อาศัย

“เขายายดา” ได้รับการเรียกขานที่แตกต่างกันไป เป็นทั้งปอดและแหล่งน้ำสำคัญของชาวระยอง เสมือนเป็นโอ่งขนาดใหญ่ 28,000 ไร่ และเป็นปอดขนาดยักษ์ที่ช่วยฟอกอากาศให้เมืองระยอง

กว่า 20 ปีที่เขายายดา-เขาท่าฉุด ถูกบุกรุกทำลายป่าจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นที่ทำมาหากิน ทำการเกษตร

กว่าชาวบ้านจะรู้ตัวก็เกือบสายไป เมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวสวนไม่มีน้ำรดน้ำต้นไม้ ไม่มีน้ำใช้ ชาวบ้านที่บุกรุกต่างก็เป็นโจรกลับใจ หันมาร่วมไม้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ช่วยกันดูแลป่า ช่วยรักษาป่าต้นน้ำ ช่วยกันคืนธรรมชาติสู่ผืนป่าเขายายดา เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำอีกครั้ง

การร่วมกันลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของชุมชน เกิดจากจิตสำนึกที่ไม่ได้ถูกบังคับ เพราะการแก้ปัญหาต้องมาจากผู้ก่อปัญหา จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะชุมชนคือผู้ที่รู้ปัญหาและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบของปัญหามากที่สุด

และนั่นคือบริบทของภาคประชาชน ที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของเขาเอง

ขณะที่บทบาทและมาตรฐานโลกที่กำหนดให้เอกชนต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นบริบทสำคัญที่ขีดเส้นให้องค์กรและคนที่อยู่ในองค์กรต้องปฏิบัติตนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อทุกฝ่ายต่างมีบทบาทต่อความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน แม้จะอยู่กันคนละบริบท ถ้าหากมีจุดร่วมที่เหมือนกัน ความสมดุลก็เกิดขึ้นได้

โจทย์ร่วมกันคือ “น้ำ”

ทั้งชุมชนและเอสซีจี เคมีคอลส์ ต่างก็พร้อมที่จะร่วมกัน “ซ่อมสร้าง” เพื่อฟื้นฟูเขายายดาให้กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม

ผู้ใหญ่เสวกในฐานะผู้นำชุมชนเล่าว่า “เมื่อปี 2519 เราเห็นป่าชุ่มชื้น เขียวชอุ่ม พวกเราทำลายกันเอง เผาป่าอยู่ 20 ปี ทะเลาะกับนักวิชาการ เราทำลายก็ไม่มีใครไล่จับ พอปี 2547 ฝนแล้ง สวนผลไม้ที่กำลังจะขายได้ บ่อแห้ง ไม่มีน้ำ ทาง อบต. ต้องขอรถน้ำมากว่า 16 คัน แต่ละหมู่บ้านให้ผู้นำไปจัดการ ขณะที่ชาวบ้านทะเลาะกัน สวนของผมซื้อน้ำไปเกือบแสนบาท ผมก็กลับมาคิดว่า ตายแน่ จะทำอย่างไร ก็หันไปหา ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล (ผู้อำนวยการส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช) ว่าทำอย่างไรให้มีน้ำใช้ ได้ไปดูงานห้วยฮ่องไคร้ ดูการทำฝายที่ชะลอน้ำที่นั่น ดูงานกลับมาก็ไม่มีเงิน พอเอสซีจีประชาสัมพันธ์ว่าจะดูแลชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ก็ไปขอให้เอสซีจีช่วย เขาก็มาช่วย”

ผู้ใหญ่เสวกเล่าต่อว่า การทำฝายชะลอน้ำที่เขายายดาแตกต่างจากที่ไปดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้ เอามาใช้กับที่นี่ไม่ได้ และการทำฝายไม่ใช่ทำฝายเพื่อกักน้ำ แต่เป็นแค่การชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้ 3 วัน 7 วันก็พอแล้ว ตอนแรกชาวบ้านไม่เอาด้วย มีคนมาช่วยเพียงไม่กี่คน เขาก็ไม่อยากให้ทำ พอปีต่อมาก็เริ่มดีขึ้น สวนยางพาราที่ปลูกไว้ก็เริ่มดีขึ้น ทำฝายตรงไหนยางออกดี ก็บอกว่าผู้ใหญ่ทำไมไม่ไปทำฝายข้างสวนเขาล่ะ ก็มีคนมาช่วยกันเยอะขึ้น

การทำฝายชะลอน้ำ ปีแรกที่ทำเริ่มมีแรงดันน้ำ ปีสองก็เริ่มมีน้ำในบ่อ จากนั้นไม่ต้องขอรถน้ำมาช่วย เพราะน้ำใต้ดินมีพอ น้ำผิวดินมีพอ ทำให้น้ำบ่อมีเพียงพอ

“วันนี้เราสามารถบอกได้ว่าเขายายดาทั้งลูกกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของชาวระยอง”

ขณะที่ผู้ใหญ่ประสงค์บอกว่า เราทำร้ายป่าทั้งๆ ที่ป่าเป็นที่เก็บสมุนไพรมารักษาโรค ตัดไม้มาทำที่อยู่อาศัย เป็นครัวของชุมชน การทำร้ายป่าในที่สุดก็ได้รับความแห้งแล้งมาก

“ช่วงที่แล้งมากๆ ผมไปช่วยชาวบ้าน 45 วัน ไม่ได้หยุดเลย”

ยิ่งได้เห็นต้นไม้ขนาด 2 คนโอบยืนต้นตาย นั่นคือบทเรียน ที่กว่าจะเรียนรู้ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี

เป็นบทเรียนสำคัญที่กระตุกต่อมสำนึกดี ทำให้ชุมชนหันมาร่วมกอบกู้วิถีชุมชนกลับคืนมาอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อคงความยั่งยืนเช่นนี้เอาไว้ตลอดไป

โครงการทำฝายชะลอน้ำจากความร่วมมือของเอสซีจีเคมีคอลส์ จึงเป็นขบวนการซ่อมสร้างที่จับต้องได้ ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ จากผืนดินที่น้ำแห้งเหือด กลับมาชุ่มชื้นมีน้ำเต็มบ่ออีกครั้ง

นายสมชายกล่าวว่าบริษัทไม่สามารถดูแลโครงการได้ตลอดไป แต่จะช่วยสร้างฝายในใจของคน ในชุมชน เพื่อปลูกจิตสำนึกในการดูแลฝาย คนรุ่นถัดๆ ไปจะได้ใช้ประโยชน์ ใช้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ได้ กลายเป็นการต่อยอดในการสร้างฝายในที่อื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์กับชุมชนเอง และชุมชนในที่อื่นๆ

สอดรับกับผู้ใหญ่เสวกซึ่งอยู่มา 3 แผ่นดิน จากแผ่นดินที่ชุ่มชื้น แห้งแล้ง และกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง บอกว่า “เมื่อเราสร้างฝายเสร็จแล้ว ต่อไปจะให้ลูกหลานมาช่วยกันดูแลอย่างไรเพื่อให้ที่นี่อยู่อย่างยั่งยืน โดยใช้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ ผ่านกระบวนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น เที่ยวสวนผลไม้ หรือการท่องเที่ยวป่าเชิงอนุรักษ์ ว่าต้นไม่ต้นนี้ชื่ออะไร สรรพคุณใช้สอย ให้ลูกหลานได้ศึกษา ให้ลูกหลานเรียนรู้ชุมชน เรียนรู้ป่า มาเที่ยวเขายายดา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องฝายชะลอน้ำว่าชะลอน้ำได้แค่ไหน ให้เด็กมาเรียนรู้ของจริงเปรียบเทียบกัน ขยายความเข้าใจต่อไป อยากให้ช่วยกันดูแล”

ดังนั้น สิ่งที่ชุมชนและเอสซีจีเคมีคอลส์หวังร่วมกัน ที่อยากจะเห็น “มาบตาพุด” ซึ่งมีชุมชนรอบโรงงานมี 90 ชุมชน จากเดิมที่มีแค่ 30 ชุมชน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นเรื่องอีโคทาวน์ โรงงานสีเขียว ชุมชนสีเขียว ทำเป็นชุมชนตัวอย่าง เมื่อโรงงานเขียว ชุมชนเขียว เมืองก็จะเป็นเมืองสีเขียวด้วย หากทำได้ทุกรุ่นทุกสมัยก็จะเป็นเมืองสีเขียวตลอดไป