ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดงานวิจัยมาบตาพุด (3): ความล้มเหลวของการเติบโตอย่างยั่งยืน – การพยายามหากินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว

เปิดงานวิจัยมาบตาพุด (3): ความล้มเหลวของการเติบโตอย่างยั่งยืน – การพยายามหากินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว

4 มิถุนายน 2012


จนถึงวันนี้การเผชิญหน้ากับความตึงเครียดของชาวระยอง โดยเฉพาะพื้นที่มาบตาพุด ยังคงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะหาทางออกได้จริงๆ และสามารถอยู่ได้ยั่งยืน

ยิ่งโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ ในเครือเอสซีจี เกิดเหตุถังบรรจุสารโทลูอีนระเบิด และสารคลอรีนของบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลล์รั่ว เมื่อวันที่ 5 และ 6 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ยิ่งสร้างความตึงเครียดให้ชาวบ้านในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ สายบัว ได้อธิบายถึงโครงสร้างประเทศโดยรวมเพื่อชี้ให้เห็นกรอบแนวคิดของการพัฒนา จากการพยายามหากินจากอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา ที่มองเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนเป็นประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนาล้วนเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมองเห็นหรือเข้าใจว่าความหมายความสำคัญของการพัฒนาประเทศคือการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือพยายามจะหากินจากอุตสาหกรรมตามแบบอย่างประเทศพัฒนาแล้วบ้าง

มีคำถามว่าการหากินจากอุตสาหกรรมคือการหากินจากอะไร

ในรายงานวิจัยเล่มนี้ได้กล่าวว่า โลกในยุคนี้และต่อไปโน้มไปในทางที่ ทุกคน ทุกประเทศ ต้องนึกการทำมาหาเลี้ยงชีพทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรมนุษย์ หรือทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ หรือหากินจากทรัพยากรประเภทความรู้ หรือขีดความสามารถทางด้านสติปัญญาของมนุษย์

ดังนั้น เพื่อให้มีอยู่มีกินกันมากขึ้น ก็ต้องหากินจากอุตสาหกรรม

การที่เราจะหากินจากการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศ ก็คือการหากินจากทรัพยากรประเภทที่สร้างขึ้นด้วยความรู้ความสามารถของมนุษย์ ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และความสามารถของแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี

แล้วประเทศไทยมีอะไรที่จะหากินจากอุตสาหกรรมได้

งานวิจัยนี้ได้รายงานว่าเมื่อมนุษย์มีความเจริญขึ้น มีการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก ก็มาเป็นมนุษย์ใช้เหตุผล สังคมที่มีเหตุผล เป็นสังคมอุตสาหกรรม

สังคมที่เจริญหรือสังคมอุตสาหกรรมจะเป็นการรวมกลุ่มกันตามเหตุผล ขณะที่การรวมกลุ่มในสังคมที่ไม่เจริญ ยังไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือเป็นสังคมเกษตรกรรม อย่างสังคมไทยจะรวมตัวกันตามอารมณ์ ตามสังคม

นอกจากนี้แล้ว ทรัพยากรที่เรามีอยู่จริงภายในประเทศก็มีเพียงแรงงานและที่ดิน หรือทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งแรงงานไทยเกือบ 60% มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือน้อยกว่า และที่ดินกว่า 90% ของที่ดินทั้งหมดของประเทศไทย ก็เป็นของคนข้างบน/ชนชั้นผู้ปกครองที่เป็นคนเพียง 10% ของคนทั้งหมดของประเทศ ซึ่งคนพวกนี้นิยมหรือสนับสนุนการค้า การเงิน ไม่ใช่อุตสาหกรรม เพราะเสี่ยงเกินไป เมื่อได้ส่วนเกินจากภาคเกษตรก็เอามาลงทุนพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ

ฉะนั้น การมีเพียงแรงงานการศึกษาน้อย หรือแรงงานไร้ฝีมือ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม แต่ขาดปัจจัย ความสามารถ ทักษะ และความเชี่ยวชาญทางด้านอื่นที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทุน เทคโนโลยี การบริหาร การตลาดและการจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม และขาดความรู้แรงงานระดับสมองทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

การพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศจึงต้องพึ่งพาทรัพยากรต่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ เทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ และใช้บริการชาวต่างประเทศด้านการผลิต การบริหาร การตลาด และการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศ

เมื่อเป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อทั้งจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก ต้องใช้ทรัพยากรและบริการจากต่างประเทศ เมื่อรายได้เกิดขึ้น รายได้ส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมดก็ตกเป็นของชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และมีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมอย่างมาก แม้เขาไม่ได้ส่งกลับประเทศแต่คนไทยก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ คนไทยมีรายได้เพียงเท่าที่เรามีส่วนร่วม ส่วนใหญ่เป็นค่านายหน้าที่ดินที่เหลือเป็นค่าจ้างแรงงาน อุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยจึงเสมือนเรามีส่วนร่วมเพียงผู้ให้บริการการผลิตเท่านั้น

รายงานวิจัยได้ระบุว่า จากจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เน้นหนักในด้านการขยายกำลังการผลิต การเพิ่มรายได้ของประเทศ และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

คำถามหรือปัญหาคือ เมื่อประเทศมีรายได้มากขึ้น มีเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นที่พอใจแล้ว แล้วประชาชนของประเทศแต่ละคน แต่ละหมู่ แต่ละเหล่า มีรายได้และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

จากข้อมูลที่มีการรายงานออกมาเสมอพบว่า รายได้ประชาชาติหรือรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจมาโดยตลอดในระยะเวลาอันยาวนานตามแผนพัฒนาฉบับที่ 1 จนถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 10 ในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับประวัติการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากในช่วงที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ

การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มิได้คำนึงถึงผลที่มีต่อประชาชนทุกกลุ่มทุกเหล่านั้น มิใช่เรื่องที่ถูกต้องและชอบควร ซึ่งนักคิดนักวางแผนเศรษฐกิจไทยไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอ อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่องยากที่คิดจะวางแผนและดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากการศึกษาในต่างประเทศว่า เมื่อจุดมุ่งหมายการขยายกำลังการผลิตและรายได้ของประเทศในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องแล้ว ผลสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกแก่ทุกๆ คนเองโดยอัตโนมัติตามกาลเวลา

ความเชื่อเช่นนี้มาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะสถานการณ์ของไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วแตกต่างกัน และไทยไม่ใช่ผู้บุกเบิกการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แต่เป็นประเทศเดินตามหลัง ที่ต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศที่เจริญแล้วและเข้มแข็งทางเศรษฐกิจกว่ามาก

ดังนั้น ถ้าถามถึงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของไทย (ถ้ามีจริง) จะชี้ให้เห็นว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้า หรือนานออกไปกว่านั้น ประเทศไทยจะมีขีดความสามารถและฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และด้วยวิธีทางอันพึงเป็นไปได้ตามความเป็นจริงอย่างไร

จนถึงวันนี้ก็ยังมีการถามหายุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทยว่าอยู่ที่ไหน มีหรือไม่มี ?(อ่านต่อตอนต่อไป)