ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดงานวิจัยมาบตาพุด (2) : ความล้มเหลวของการเติบโตอย่างยั่งยืน – ระยองรองรับมลพิษไม่ไหวแล้ว

เปิดงานวิจัยมาบตาพุด (2) : ความล้มเหลวของการเติบโตอย่างยั่งยืน – ระยองรองรับมลพิษไม่ไหวแล้ว

19 กันยายน 2011


แผนที่ Google Earth ปักหมุดแสดงการใช้พื้นที่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง แยกตามบริษัท และประเภทอุตสาหกรรมดังนี้: หมุดสีชมพู = โรงกลั่น, เหลือง = เคมีภัณฑ์, ฟ้า = ก๊าซ/ยาง, น้ำเงิน = ผลิตไฟฟ้า, แดง = เหล็ก, เขียว = บำบัดน้ำเสีย/จัดการขยะ, ขาว = อื่นๆ


ดู การใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

แม้ความเป็นจริงที่ว่าการที่เราจะมีอยู่มีกิน หรือการที่เราจะมีกินมากขึ้น ก็ต้องหากินจากอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่ระดับที่สูงขึ้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่การขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงในทางลบด้วย

จากงานวิจัย รศ.ดร.ฉวีวรรณ สายบัว ระบุว่าหลังจากนิคมอุตสาหกรรมมาบพุดได้ถูกตั้งขึ้นเพียงไม่กี่ปี หลังจากนั้น (ปี 2531) ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง เริ่มร้องเรียนมากขึ้นตามลำดับ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นับตั้งแต่เรื่องกลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสียที่โรงงานปล่อยสู่ลำคลอง ชายหาดสีขาวเปลี่ยนเป็นพื้นทรายที่ปนเปิ้อนไปด้วยคราบน้ำมัน น้ำทะเลสีดำคล้ำ

ทุกหน้าแล้งชาวมาบตาพุดพากันเดือดร้อนเพราะโรงงานแย่งน้ำใช้

ผลตรวจสอบของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าแหล่งน้ำจืด ลำคลอง และน้ำบาดาลในระยองปนเปื้อนด้วยโลหะหนักเกินมาตรฐาน

บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเอาขยะพิษ ถังเคมีอันตรายโยนทิ้งข้างถนน หรือไม่ก็เอาไปทิ้งกลางป่า

ชาวบ้านมาบตาพุดเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคใหม่ๆ ที่มากับโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคผิวหนัง ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ เมื่อสำรวจคุณภาพอากาศ พบสารเคมีกว่า 40 ชนิดลอยฟุ้งเหนือท้องฟ้าระยองเกินกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

สถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดในอำเภอเมืองจังหวัดระยองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่นมากที่สุด สูงกว่าอำเภออื่นๆ ถึง 5 เท่า

ในงานวิจัยได้ตั้งคำถามว่าทำไมปัญหาความเดือดร้อน ความทุกข์ของประชาชนไม่ค่อยได้รับการไข จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ารัฐบาล โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น หรือการแก้ปัญหาทำแค่เฉพาะหน้า หรือแก้ไขเพียงเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้า ดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตั้งขึ้น เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหากรณีมาบตาพุดที่เกิดขึ้น ได้กล่าวว่า “ปัญหามาบตาพุดไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่เกิดมากว่า 10 ปีแล้ว แล้วทุกครั้งเกิดปัญหา รัฐในอดีตก็ไม่ได้แก้ที่รากเหง้า ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ติดปลาสเตอร์ ทายาแดง ให้กินแอสไพรินเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น”

ดังนั้นการเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงที่มองเห็นว่าขนาดของพื้นที่ และศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับมลพิษแทบจะเต็มแล้ว ปัจจุบันมีโรงงานกว่า 300 โรงในนิคมมาบตาพุด

เพราะฉะนั้นหากในพื้นที่หนึ่งๆ มีโรงงานจำนวนมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ และมีการปล่อยมลพิษ แม้จำนวนมลพิษที่ปล่อยออกมาจะได้มาตรฐานการปล่อยมลพิษก็ตาม แต่เมื่อมารวมกันในพื้นที่หนึ่งๆ อาจจะเกินกำลังความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ในพื้นที่นั้นๆ และทำให้ระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตเลวลง

นี่คือประเด็นปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึงว่า ทำไมถึงปล่อยให้มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้ และจะแก้ปัญหากันอย่างไร

ภาพจากเนชั่นกรุ๊ป น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ 4 มีนาคม 2552
ภาพจากเนชั่นกรุ๊ป น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ 4 มีนาคม 2552

มลพิษท่วมทุกด้าน

30 ปี ของการพัฒนาอุตสาหกรรมในนิคมมาบตาพุด ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น งานวิจัยระบุว่ามลพิษทางอากาศในปี 2548 กรมควบคุมมลพิษตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือวีโอซีในบรรยากาศที่มาบตาพุดกว่า 40 ชนิด ในจำนวนนี้มี 20 ชนิดมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ของหน่วยงานควบคุมสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา

จากเอกสารอ้างอิง “เอกสารข้อมูลความปลอดภัยเคมีภัณฑ์หรือ MSDS” พบว่าในบรรยากาศของมาบตาพุดมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย อย่างน้อย 55 ตัว และในจำนวนนี้มีสาร 45 ตัวที่มีอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายเช่น ตับ ไต การทำงานของหัวใจ ระบบประสาท

และพบว่าสารที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะในร่างกายของคนมากที่สุดคือคลอโรเบนซิน จะส่งผลกระทบต่อไต ตับ ปอด ไขกระดูก อัณฑะ ต่อมไทมัสและม้าม ยิ่งไปกว่านั้นสารวีโอซีบางชนิดได้รับการยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

ส่วนก๊าซพิษ มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง พบว่าโรงงานและโรงไฟฟ้า 4-5 โรงในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นผู้ก่อมลพิษประเภทนี้มากที่สุด โดยรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 70-80% ของการปล่อยมลพิษของโรงงานทั้งหมดตามที่ได้รับอนุญาตในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามจากการตรวจวัดตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ถึงเดือนธันวาคม 2553 กรมควบคุมมลพิษได้มีการติดตามตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่าย 9 ชนิด พบว่ามี 3 ชนิดที่มีค่าเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องในหลายสถานี ซึ่งได้แก่สารเบนซิน สารบิวทาไดอีน และสารไดคลอโรอีเทน มีค่าสูงสุดประมาณ 60 เท่าของค่ามาตรฐาน

แม่น้ำระยองรับเต็มๆ

ทางด้านมลพิษทางน้ำ พบว่าคุณภาพน้ำผิวดินของแม่น้ำระยอง เป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมืองระยองมีคุณภาพเสื่อมโทรมลงตั้งแต่ปี 2548-2549 โดยปี 2549 มีค่าดัชนีคุณภาพน้ำโดยทั่วไปเพียง 36.710 คะแนน จากคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มลพิษหลักของแม่น้ำระยองมาจากน้ำทิ้งจากชุมชน(บ้าน ตลาด โรงพยาบาลฯ) และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนคลองรับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมีปริมาณของแข็งละลาย (total dissolved solids) หรือ TDS สูงมาก เช่น คลองซากหมาก 5,149-10,917 มิลลิกรัมต่อลิตร คลองบางเปิด 11,035 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลองบางกระพรุน 2,480 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ค่ามาตรฐานปริมาณของแข็งละลายน้ำรวมอยู่ทึ่ 3,000 มิลลิกรัมต่อลิตร

อุบัติภัยสารเคมี

นอกจากนี้ในด้านขยะและของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม เนื่องจากมาบตาพุดถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักที่ใช้เทคโนโลยี่ขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและแยกแก๊ส และอื่นๆ ในแต่ละปีต้องขนถ่ายสารเคมีและวัสดุต่างๆ อีกทิ้งผลิตกากของเสียอันตรายที่มีความเป็นพิษสูงในปริมาณมาก

ขณะที่ขีดความสามารถในการจัดการสารเคมี และวัตถุมีพิษภายนอกโรงงานกลับต่ำกว่ามาตรฐานมาก พบว่ามีแหล่งรองรับและบำบัดกากของเสียเหล่านี้ค่อนข้างจำกัดและขาดประสิทธิภาพที่เพียงพอ ในทางปฏิบัติจึงมักพบว่ามีการลักลอบขนขยะพิษ หรือสารเคมีอันตรายไปทิ้งตามที่สาธารณะเป็นประจำ ส่งผลให้พื้นที่มาบตาพุดกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงกับอุบัติภัยสารเคมี และเป็นที่ลักลอบทิ้งของเสียอยู่เสมอ

ตัวอย่างของอุบัติภัยจากสารเคมี เช่นในช่วงปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 พบว่าเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมีในโรงงานมาบตาพุดที่เป็นข่าว 4 ครั้ง

ครั้งที่1 ที่โรงงานบริษัทแพรกซ์แอร์ (Praxair) เป็นโรงงานผลิตน้ำแข็งแห้ง ตั้งอยู่หลังปั๊มปตท. ตำบลมาบตาพุด เกิดเหตุท่อและถังแก๊สแอมโมเนียระเบิด เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2550

ครั้งที่ 2 โรงงานไทยออร์แกนนิกเคมิคัลส์ ในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลล์ ตั้งอยู่ในนิคมเหมราชตะวันออก เกิดเหตุก๊าซคลอลีนรั่วไหลเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2551 ทางนิคมฯ ไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ชุมชนใกล้เคียงทราบ

ครั้งที่ 3 โรงงานพีทีที ฟีนอลในเครือปตท. อยู่ในนิคมเหมราชตะวันออกเกิดเหตุสารคิวมีนรั่ว ไหลในปริมาณมากระหว่างทดลองเดินเครื่องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2551 มีคนงานกว่า 112 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลมาบตาพุด โดยแหล่งข่าวจากภายในนิคมระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน แต่ทางบริษัทและสาธารณสุขจังหวัดแถลงข่าวว่าไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

ครั้งที่ 4 โรงงานพีทีที ฟีนอลในเครือปตท.ได้เกิดเหตุระเบิดทำให้มีสารเคมีรั่วไหลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2551 เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีการรายงานข่าวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ 6 มีนาคม 2544 รถบรรทุกบริษัทเซออนเคมีคอล ซึ่งบรรทุกสาร Butadiene lafinate จำนวน 16 ตัน พลิกคว่ำที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่ต้องปิดกั้นถนน แต่เนื่องจากสารเคมีไม่เกิดการรั่วไหลออกจากภาชนะจึงไม่เกิดความเสียหาย

27 ส.ค.2550 มีการลักลอบทิ้งกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม บริเวณป่าริมถนนสายบายพาส 36 ระหว่างหลักกิโลเมตร 35-36 เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงไปทั่วบริเวณ

6 ก.พ. 2551 มีการลักลอบทิ้งสารเคมีไม่ทราบชนิดจำนวนมาก มีลักษณะสีขาวข้นในซอยกอไผ่ ต.เนินพระ เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ชาวบ้านเจ็บป่วย 4 รายมีอาการเจ็บคอ หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นตามตัวและแสบผิวหนัง

สถิติในปี 2546 และปัจจุบันระบุว่าจังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีปริมาณของเสียอันตรายมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ชายหาดบริเวณนิคมมาบตาพุดที่ถูกกัดเซาะ ภาพจาก oknation.net
ชายหาดบริเวณนิคมมาบตาพุดที่ถูกกัดเซาะ ภาพจาก oknation.net

ผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ

แนวชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองมีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร เดิมเคยมีพื้นที่ป่าชายเลน 34,375 ไร่ ในปี 2518 ลดลงเหลือเพียง 10,450 ไร่ในปี 2547 หรือลดลงถึง 70 % ซึ่งก่อผลกระทบร้ายแรงที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง คือการกัดเซาะของชายฝั่งที่นับวันจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการถมทะเลเพื่อเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และการสร้างท่าเรือน้ำลึก ทำให้หาดทรายชายฝั่งหายไป 35-36 เมตร และถูกกัดเซาะพังทลาย จนปัจจุบันแทบไม่เหลือสภาพหาดให้เห็น

ทั้งนี้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องสิทธิในระบบนิเวศน์ที่สูญเสียไปจากการถมทะเล ศาลปกครองจังหวัดระยองได้พิพากษาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต้องชำระค่าตอบแทนการปลูกสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ(พื้นที่ถมทะเล)ของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมค่าปรับตั้งแต่ปี 2537-2550 รวมเป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท ให้กับเทศบาลเมืองมาบตาพุด สะท้อนถึงความเป็นจริงแห่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

ปัจจุบันมีภาคเอกชนจำนวน 10 ราย ตั้งอยู่ในพื้นที่ถมทะเล คือ 1.บริษัทไทยพรอสเพอริตี้เทอมินอล 2.บริษัทไทยแท้งก์เทอมินอล จำกัด 3.บริษัท Glow SPP จำกัด 4.บริษัทวินโคสต์ จำกัด 5.บริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด 6.บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด 7.บริษัทมาบตาพุดแท้งก์เทอร์มินัล จำกัด 8.บริษัทท่าเรือระยอง จำกัด 9. บริษัทบีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด และ 10.บริษัทพีทีที จำกัด

ในรายงานระบุว่าผลจากการทำลายทรัพยากร ภาครัฐแก้ปัญหาโดยการฟื้นฟูและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ คลองสาธารณะในพื้นที่เป้าหมาย การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และการพัฒนาชายป่าชายเลน การพัฒนาแหล่งน้ำในลักษณะแก้มลิง

แต่ปัญหาของนิคมมาบตาพุดยังคงอยู่ ปัจจุบันจึงมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เข้าไปเยียวยา อาทิ กลุ่มเพื่อนชุมชน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 5 บริษัทใหญ่เป็นต้น

นี่คือผลที่ระยองได้รับจากการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล