ThaiPublica > คนในข่าว > “ธนิต พินทุเสน” และเสียงจากชาวบ้าน คำร้องขอของชุมชนพื้นที่มาบตาพุด – พื้นที่กันชนหายไปไหน!

“ธนิต พินทุเสน” และเสียงจากชาวบ้าน คำร้องขอของชุมชนพื้นที่มาบตาพุด – พื้นที่กันชนหายไปไหน!

21 พฤษภาคม 2012


นายธนิต พินทุเสน ชาวบ้านชุมชนหนองแฟบ
นายธนิต พินทุเสน ชาวบ้านชุมชนหนองแฟบ

กรณีถังเก็บโทลูอีนของโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์จำกัดระเบิด และการรั่วของคลอรีนของโรงงานบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 5 และ 6 พฤษภาคม 2555 ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดถึงความความเสี่ยงภัยที่ยังไม่มีมาตรการป้องกัน เพราะพื้นที่มาบตาพุดนับวันจะอัดแน่นไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมทั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมฯ

จากข้อมูลรายงานวิจัยของ รศ.ดร.ฉวีวรรณ สายบัว คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อเรื่องการกำหนดและการดำเนินการตามนโยบายเพื่อสาธารณประโยชน์: กรณีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อพฤษภาคม 2554 ถึงความหนาแน่นของโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งประกอบด้วย 5 นิคมอุตสาหกรรม ระบุว่า 5 นิคมฯ ประกอบด้วย 1. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พื้นที่ 10,215 ไร่ จำนวน 65 โครงการ 2. นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก พื้นที่ 2,500.52 ไร่ จำนวน 31 โรงงาน 3. นิคมอุตสาหกรรมผาแดง พื้นที่ 540 ไร่ จำนวน 4 โรงงาน 4. นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย พื้นที่ 2,490 ไร่ จำนวน 7 โรงงาน และ 5. นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล พื้นที่1,703 ไร่ จำนวน 3 โรงงาน

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดระยองที่เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก (รายละเอียดจะนำเสนอในซีรี่ย์นี้ต่อไป)

การเกิดอุบัติภัยสาธารณภัยครั้งนี้ ยิ่งสะท้อนปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ดังที่นายธนิต พินทุเสน ชาวบ้านชุมชนหนองแฟบ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงความรู้สึกจากความเสี่ยงอุบัติภัยสาธารณภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์หลังจากที่นายธนิตได้ร่วมแสดงความคิดในงานเสวนา “การสื่อสารความเสี่ยงเพื่อสุขภาพคนมาบตาพุด” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ที่วัดหนองแฟบ พื้นที่มาบตาพุด

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ของชุมชนตอนนี้เป็นอย่างไร จะอยู่ได้ ไม่ได้ เพราะอะไร

เพราะว่าโรงงานจะกลืนหมด จากข้อกำหนดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าจะต้องมีแนวกันชน ระหว่างโรงงานกับชุมชนจะต้องมีพื้นที่ 5 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันโรงงานเข้ามาอยู่ติดกับชุมชน อย่างวัดหนองแฟบห่างจากโรงงานแค่ 400-500 เมตร แค่ข้ามถนน (2 เลน) อย่างสี่แยกใกล้วัดหนองแฟบมีโรงงานในเครือ ปตท. จากที่เคยประกาศไว้ว่าต้องมีพื้นที่กันชน 5 กิโลเมตร แล้ว 4 กิโลเมตรกับ 600 เมตร มันหายไปไหน

โรงงานเขารุกเข้ามาหาชุมชน แต่เขาไม่พยายามแก้ไขว่าชุมชนจะอยู่กับเขาอย่างไร รัฐบาลก็บอกเสมอว่าชุมชนกับโรงงานจะต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แต่รัฐบาลไม่เคยมาดูเลยว่าจะทำอย่างไรให้โรงงานกับชุมชนอยู่ด้วยกันได้ รัฐบาลและโรงงานไม่มีความจริงใจให้ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านมีความจริงใจตลอด และพร้อมที่จะพูดกับรัฐบาลหรือใครที่มีความรับผิดชอบในพื้นที่ตรงนี้ เพราะในชุมชนไม่ได้รวยทุกคน รวยอยู่ไม่กี่คน แล้วทีนี้คนจนจะไปอยู่ที่ไหน

เคยมีสมาชิกเทศบาลตำบลมาบตาพุดคนหนึ่งเคยพูดกับผมว่า “พี่ เขาไม่มาซื้อพี่หรอก เขาให้พี่อยู่จนพี่อยู่ไม่ได้ พี่ต้องไปเอง” ก็จริงอย่างที่เขาพูด รัฐบาลไม่เคยเข้ามาเลย ไม่เคยเข้ามาดูว่าชาวบ้านจะอยู่อย่างไร และส่งหน่วยงานเข้ามาหาข้อมูล และเป็นคนที่ไม่สามารถตัดสินใจหรือให้ความหวังกับชาวบ้านได้ว่า ถ้าชาวบ้านมีข้อเสนออย่างนี้มันจะได้ไหม เขาบอกว่าเขาก็ตัดสินใจไม่ได้ เขาเป็นเพียงแค่คนมาหาข้อมูลเพื่อเสนอบริษัทที่อยู่รายล้อมชุมชนอยู่

“ผมเคยบอกเขาว่าคุณไม่ต้องส่งคนมาสำรวจมาอะไรหรอก เพียงแค่คุณสองบริษัทนี้มาคุยกับชาวบ้านว่าคุณจะเอาที่ดินตรงนี้ คุณต้องการอยู่แล้ว เพราะคุณรุกเข้ามา ซึ่งพื้นที่รายรอบชุมชนหนองแฟบมีแต่เครือ ปตท. และเอสซีจี ล้อมรอบชุมชนอยู่”

คุณ (บริษัท) มีเงินสามารถสร้างโรงงานมากมาย แต่ทำไมกับการที่คุณจะหาที่ให้คนชุมชนหนองแฟบอยู่ ทำไมคุณหาให้ไม่ได้ และคุณส่งคนเข้ามาสำรวจ ไปหาบ้าน ก. บ้าน ข. บ้าน ค. ว่าอยากจะไปอยู่ตรงไหน และเขาก็ไปหาข้อมูลว่ามีที่ดินตรงนั้นราคาเท่านั้นเท่านี้ ถามว่าคนที่จะไปมีกำลังที่จะไปซื้อตรงนั้นไหม อย่างเขาตีราคาที่ดินหนองแฟบราคาไร่ละ 3.5 ล้านบาท ในพื้นที่เรารู้ว่ามีแค่ 2 ราย ที่มีที่ดินที่ขายแล้วรวย หากเขาขายเขาได้ 200 ล้านบาท แล้วคนที่มีที่ดินแค่ปลูกบ้านอยู่ 50 ตารางวา 25 ตารางวาจะไปอยู่ที่ไหน เขาต้องทนอยู่ที่นี่ เพราะอยู่ที่นี่ยังพอกระเสือกกระสนได้ ปากกัดตีนถีบอยู่ได้ หากย้ายไป กำเงินแค่ 1 ล้านบาท ถามว่าไปทำอะไรได้

การที่เขามาสำรวจว่าชาวบ้านอยากไปอยู่ที่ไหน ใครจะไปที่ไหนก็ไป มันไม่ใช่ คุณต้องย้ายเขาไปทั้งชุมชน

ไทยพับลิก้า : ความต้องการของคนในชุมชนหนองแฟบอยากไปอยู่ที่ไหน

มี 15 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จะแยกกันไปอยู่ใน 5 พื้นที่ตามที่เขาสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านไว้ อย่างที่เขามาสอบถามว่าชุมชนหนองแฟบถ้าไม่อยู่ตรงนี้ อยากจะไปอยู่ตรงไหน แต่เป็นการโยกย้ายที่เป็นดาวกระจาย ไม่ได้ย้ายไปทั้งชุมชนไปอยู่ที่เดียวกัน แต่เขาจะระบุเป็นครอบครัวไป ครอบครัวนี้ชุมชนนี้ไปอยู่ที่นี่ และเขาบอกว่าย้ายไปแล้วสามารถเข้ามาทำงานในนิคมมาบตาพุดได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล ผมถามว่าอย่างนี้ย้ายไปทำไม คุณอยู่ที่นี่ไม่ดีหรือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

“การย้ายไปก็ย้ายเป็นดาวกระจาย แทนที่ว่า เออ…เช่น ชุมชนหนองแฟบมีเท่าไหร่ ย้ายไปอยู่ตรงนี้ จัดสรรให้เขาไปอยู่ให้ได้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ เขาจัดเป็นหลังๆ ไป จะอยู่ตรงไหนก็ตามใจ แล้วแต่จะไปอยู่ จะไปอย่างไรจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อก็ไม่ได้พูดถึง เพียงแต่ให้ความหวังว่าคุณไปอยู่ตรงนี้นะ เขาไปดูราคามาแล้ว เท่านั้นเท่านี้ แค่นั้นจบ ผมก็เสนอที่ประชุมว่า เอาแบบเศรษฐกิจพอเพียงไหม คุณให้พวกผมได้ไหม ครอบครัวละ 10 ไร่ ทำเศรษฐกิจพอเพียง คุณให้ความรู้พวกเรา เพราะเราต้องไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ หากเราไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพวกคุณ พวกคุณไม่สนับสนุน เราก็อยู่ไม่ได้ หรือหากหาที่ดินให้ไม่ได้ก็จ่ายเงินมา กี่ล้านก็ว่ามา 25 ล้านบาทต่อครอบครัวได้ไหม จะไปอยู่ที่ไหนคุณไม่ต้องสนใจ คุณฟาดมาเลย 25 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีคำตอบให้เรา

ผมถามว่า 25 ล้านบาทมากไหม ไม่มาก คุณต้องคิดว่า ชาวบ้านในพื้นที่เขาบุกเบิกมาตั้งแต่เป็นป่าเป็นเขา จนเขาได้รับความเจริญเข้ามา พอความเจริญเข้ามาแล้วให้เขาทิ้งความเจริญไป

“มีคนเก่าคนแก่คนหนึ่งชื่อ ก๋งเพชร เสียชีวิตไปแล้วกระดูกยังอยู่หน้าโบสถ์วัดหนองแฟบ แกเป็นหมอชาวบ้าน แกดูดวงได้ด้วย เคยบอกว่าหนองแฟบจะเจริญ อย่าทิ้งหนองแฟบไปไหน ผมก็เคยเถียงแกในใจไปว่า ก๋ง…ถ้าเจริญแบบนี้เราอยู่ไม่ได้ มันไม่น่าเจริญ มันน่าจะอยู่แบบธรรมดาๆ เป็นชาวไร่ชาวนาดีกว่า พอความเจริญเข้ามาแล้วเราอยู่ไม่ได้ ตอนนี้เริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว คนในชุมชนเริ่มทยอยย้ายออกไปแล้ว”

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้เหลือชาวบ้านเท่าไหร่

ในหนองแฟบมี 3 ชุมชนอยู่ด้วย คือ ชุมชนสำนักมะม่วง ชุมชนหนองแฟบ ชุมชนบ้านบนเนิน รวมกันเป็นชุมชนหนองแฟบ รวมกันประมาณ 200 หลังคาเรือน เป็นคนเดิมๆ ที่ยังทนกันอยู่

ผมก็บอกว่าทางรัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแล แทนที่จะไปบังคับโรงงาน ก็ไม่มี พูดง่ายๆ ถ้ามีความจริงใจที่มีต่อกันก็จะอยู่ด้วยกันได้

ประกาศขายที่ดินในนิคมฯพื้นที่มาบตาพุดเพื่อทำคลังสินค้า
ประกาศขายที่ดินในนิคมฯพื้นที่มาบตาพุดเพื่อสร้างคลังสินค้า

ไทยพับลิก้า : ต้องพูดความจริงกัน

มาตรการความปลอดภัยทุกอย่างที่โรงงานระบุไว้ก่อนที่จะสร้าง คุณ (โรงงาน) มีเท่าไหร่คุณงัดออกมาให้หมด ทำให้ครบ หากคุณทำ บรรยากาศมันไม่เสียหรอก ทีนี้พอคุณปฏิบัติ โรงงานไม่ทำ รัฐบาลก็ไม่จี้ไม่อะไร ปล่อยปละละเลย โรงงานจะทำอย่างไรก็ช่าง ผลกระทบตกหนักอยู่ที่ชาวบ้าน เท่ากับบีบชาวบ้านไปในตัว ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ก็ออกไปเอง เมื่อชาวบ้านออกไปเองเขาก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ถามว่าถ้าพวกเราออกไปแล้วมันจะเป็นของใคร ใครจะมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตรงนี้ ในเมื่อคุณไล่คนพื้นที่ออกไปหมดแล้ว เขาไม่ได้อะไรติดไม้ติดมืออกไปเลย ทั้งที่เขาเป็นคนบุกเบิก รัฐบาลไม่เคยมองจุดนี้เลย

ไทยพับลิก้า : รอบๆ ชุมชนหนองแฟบมีบริษัทอะไรบ้าง

รอบๆ มีเครือ ปตท. กับเอสซีจี 2 บริษัทในละแวกนี้

ไทยพับลิก้า : แล้วคนที่มาทำสำรวจคือคนของใคร

เขาไม่บอกหรอก แต่เรารู้ว่าคนของใคร เพราะละแวกนี้ไม่มีของใครมีแค่ 2 รายนี้

ไทยพับลิก้า : ชาวบ้านที่หารือกันเขาว่าอย่างไรบ้าง

ชาวบ้านก็รวมตัวกันไม่ติด เพราะว่าไม่รู้จะไปเรียกร้องกับใครให้เข้ามาดูตรงนี้ได้ มันไม่มีข้อต่อรองกับใคร รัฐบาลไม่เข้ามาสนใจ แล้วเราจะไปร้องใคร

ไทยพับลิก้า : ผู้บริหารในจังหวัดเข้ามาดูแลไหม

ไม่ได้เข้ามาดู ไม่ได้อะไร

ไทยพับลิก้า : แล้ว กนอ. (การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

ยิ่งไม่ได้มาเหลียวแล ไม่ได้มาอะไรเลย ไม่มาสนใจว่าชาวบ้านจะอยู่อย่างไร

มีแต่ผู้ว่าฯ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชฯ คนเก่าที่เกษียณไป เคยพูดว่า ชุมชนหนองแฟบ ชุมชนตากวน-อ่าวประดู่ ชุมชนห้วยโป่ง ชุมชนสำนักมะม่วง ชุมชนมาบชลูด ชุมชนมาบตาพุด ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับโรงงาน อนาคตต้องย้าย เขายังพูดว่าคุณต้องหาที่ให้เขาอยู่ เพราะคุณรุกเขาเข้ามาเรื่อยๆ และชุมชนหนองแฟบจะต้องขยับขยายก่อนคนแรก เพราะโดนล้อมจากโรงงานอยู่

“ผมว่าต้องแก้ตรงนี้ก่อน ไม่ใช่ปล่อยตามบุญตามกรรม ผมเห็นแล้วก็เซ็ง คนที่เขาไปได้เขาก็ไป อย่างเร็วๆ นี้คนที่อยู่ถนนซอยโรงปุ๋ย ที่มีที่ดินไม่ถึงไร่ ก็ได้กันครอบครัวละ 2 ล้านบ้าง บางคนได้ 5-7 ล้านบาท ไปแบ่งกันในครอบครัวหากมีหลายคน ถ้าได้รับจำนวนน้อยแล้วจะได้คนละเท่าไหร่ ไปซื้อที่ปลูกบ้านจะพอไหม”

และคนที่ซื้อที่ดินตรงโรงปุ๋ยไปก็คือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ (BST) นั่นแหละ ที่จะทำแทงก์ฟาร์มเก็บสารเคมี พื้นที่จากชายทะเลขึ้นมาที่หนองแฟบนี่แหละ ไหนบอกว่าจะไม่มีสารอันตรายทั้งสิ้นไง

ไทยพับลิก้า : โรงงานขออนุญาตเรียบร้อย

เท่าที่ทราบเขาขอเรียบร้อยทุกขั้นตอนแล้ว ชุมชนค้านอย่างไรก็ค้านไม่ได้ รู้ก็รู้แหละว่าเราค้านอะไรเขาไม่ได้ หากโรงงานจะขึ้นก็ขึ้นได้ รัฐบาลแย่ ไม่ได้คอยเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน ปล่อยชาวบ้านให้อยู่ตามบุญตามกรรม ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ก็ออกไปเอง รัฐบาลหนุนแต่บริษัทให้เข้ามาตั้งโรงงาน

ความเห็นของผู้ร่วมเสวนาการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อสุขภาพคนมาบตาพุดเมื่อ 2 มีนาคม 2555

แฟลร์ที่ปล่อยจากโรงงานในนิคมฯ พื้นที่มาบตาพุด
แฟลร์ที่ปล่อยจากโรงงานในนิคมฯ พื้นที่มาบตาพุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555

ประเด็นการรับมืออุบัติภัยสาธารณภัย มีการเรียกร้องและได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2553 แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปฏิบัติ เรื่องนี้ก็ยังค้างคา รอ ครม. พิจารณาอยู่จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะเกิดอุบัติภัยสาธารณภัยสารเคมีรั่วและระเบิดเมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2555 ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ญี่ปุ่น ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้จัดเสวนาการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อสุขภาพคนมาบตาพุดครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 ที่วัดมาบชลูด ต.ห้วยโป่ง เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยมีความเห็นจากผู้เข้าร่วมเสนาบางส่วนที่ได้สะท้อนปัญหาดังนี้

ลุงน้อย ใจตั้ง ชาวบ้านุชมชนหนองแตงเม

อยู่กับปัญหาที่มาบตาพุดมากกว่า 20 ปี การแก้ไขปัญหาที่นี่แปลก ยิ่งแก้ก็ยิ่งปล่อยให้อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาทางสาธารณสุขหรือการรักษา เพราะดูจากผลการตรวจสุขภาพของตัวเองแล้ว เม็ดเลือดขาวในร่างกายเริ่มผิดปกติ แล้วก็มีสารหนูอยู่ในร่างกาย 65.5 ภรรยาของลุงก็มี 280 แต่เมื่อถามทางสาธารณสุขว่า หมอจะรักษาอย่างไร ก็ได้คำตอบว่าไม่ต้องรักษาอะไรหรอก ให้อยู่เฉยๆ ทำให้กังวลใจมากเรื่องเม็ดเลือดขาวผิดปกติ และปอดก็มีพังผืดอยู่ หมอบอกว่าไม่รู้มาจากสาเหตุอะไร ชาวบ้านอย่างเราไม่มีความรู้หรอกว่าอาการเหล่านี้จะรักษาอย่างไร เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้

ลุงเจริญ เดชคุม ชาวบ้านชุมชนเกาะกก

ตราบที่โรงงานอุตสาหกรรมยังไม่หยุด คนมาบตาพุดก็เชื่อว่าปัญหาจะวิกฤตต่อไป โรงพยาบาลจะรับปัญหาไม่ไหว ควรชะลอการสร้างโรงงานเพิ่มไปก่อนแล้วก็ศึกษาให้ชัดเจน ทั้งเรื่องมลพิษ ภาษีน้ำ การทำพื้นที่กันชน ทางผังเมืองบอกว่าจะต้องมีแนวกันชนระยะ 2,000 เมตร แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ จะเห็นว่ามีเรื่องต่างๆ ที่จะต้องทำให้เป็นรูปธรรมก่อนเพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ เราต้องมาช่วยกันคิดว่า ชุมชนจะอยู่อย่างไร โรงงานจะต้องทำอะไร

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ

โดยส่วนตัวเห็นว่ามีหลายฝ่ายพยายามที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดกันอยู่ และหลังสุดรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการสี่ฝ่ายขึ้นมา ซึ่งก็มีความพยายามทำงานให้คืบหน้าไปพอสมควร มีแผนลดและขจัดมลพิษที่หลายฝ่ายช่วยกันทำ แม้จะติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาหลายส่วน เราเองก็คาดหวังว่าสถานการณ์ปัญหาของมลพิษในพื้นที่นี้น่าจะดีขึ้น เพียงแต่ยังติดอยู่ตรงที่ พอเราไปคุยกับชาวบ้านหลายพื้นที่ ก็จะได้ยินได้ฟังข้อวิตกกังวลของชาวบ้านซึ่งยังไม่หายไป ทุกวันนี้ก็ยังมีความวิตกอยู่ เราสงสัยอยู่ว่า ความพยายามของหลายฝ่ายในการแก้ปัญหา เป็นการแก้ที่ไม่ตรงกับประเด็นปัญหาของชาวบ้านอยู่หรือไม่ นี่เป็นโจทย์หนึ่งที่เราอยากหาคำตอบเหมือนกันว่า ข้อกังวลของชาวบ้านจริงๆ แล้วคืออะไร และก็พบว่าชาวบ้านห่วงเรื่องสุขภาพกันมาก นี่เป็นที่มาข้อหนึ่งของการจัดการเวทีพูดคุยในวันนี้…

ตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่นี้มีความเสี่ยงและเป็นความเสี่ยงที่แตกต่างจากชุมชนในหลายพื้นที่ อุตสาหกรรมที่ดำรงอยู่ที่นี่และยังมีการขยายอยู่ในเวลานี้เป็นอุตสาหกรรมที่อันตรายจริงๆ สารพิษที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมและที่ชาวบ้านต้องสัมผัสไม่ว่าจะทางหายใจหรือกินเข้าไป เป็นสารพิษที่มีหลายตัวเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพื้นที่นี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่เราอาจจะตอบไม่ได้ในวันนี้ว่า มลพิษที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมและปล่อยออกมาจากโรงงานสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยได้แค่ไหนอย่างไร เราตอบไม่ได้ในวันนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะทอดทิ้งหรือมองข้ามมันไป เราอาจจะต้องทำอะไรบางอย่างที่จะหาคำตอบให้ชัดเจนขึ้นเพื่อคลายความวิตกกังวล จึงคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ

ถ้าเราสามารถคลายความวิตกกังวลของชุมชนในพื้นที่นี้ได้ แรงต่อต้านอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นจะลดลงไปด้วย เนื่องจากพื้นที่นี้มีการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนของชุมชนจากทั่วประเทศเลย ที่นี่เป็นต้นแบบว่า เมื่อชาวบ้านมีความทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากน้ำดื่ม น้ำใช้ อากาศที่หายใจ และความเจ็บป่วยที่เป็นโรคอะไรไม่รู้ พอเป็นแบบนั้น ทุกคนกลัวอุตสาหกรรมมาก พอเกิดความหวาดกลัว โครงการต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ต่างๆ จะเจอแรงต้านทั้งหมด หากเราคลายความกังวลตรงนี้ได้ เราแก้ปัญหาจรงจุดนี้ได้ ก็เชื่อว่าการพัฒนาจะเดินหน้าต่อไปได้ในทุกพื้นที่

จึงเห็นว่าเราไม่ควรเลี่ยงสิ่งที่มันเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ สิ่งที่หาคำตอบไม่ได้ก็ควรช่วยกันหาคำตอบต่อไป เมื่อหาคำตอบแล้วเราต้องยอมรับความจริง ความเป็นจริงที่ออกมาจะเป็นแง่บวกหรือลบก็ตาม เราเชื่อว่าเราสามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าคำตอบนั้นจะออกมาว่ามลพิษสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้ทารกพิการ หรือออกมาไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ คือขอให้มีการศึกษา ขอให้ค้นหาข้อเท็จจริงเสียก่อน เสร็จแล้วค่อยมาดูกันต่อว่าเราจะเดินไปทางไหนกัน…

บุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก

จริงๆ แล้วมาบตาพุดก่อตั้งมาร่วม 30 ปี ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นยังมีให้เห็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่นี่มีปัญหามาโดยตลอด ในฐานะผู้ใช้แรงงาน ได้สัมผัสกับผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยแก้ไขปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือคนงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงานหรือโรคที่เกิดจากการทำงาน

รัฐมีนโยบายให้มีการตรวจสุขภาพแก่ชุมชน แต่ในภาคแรงงาน เชื่อหรือไหมว่าการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจโรค ตรวจปัสสาวะ ตรวจปอด และอื่นๆ แต่ในรายละเอียดไม่ได้ระบุว่าตรวจจากฟิล์มเล็กหรือฟิล์มใหญ่ บางโรงงานใช้ฟิล์มเล็กนิดเดียว เนื่องจากไม่มีข้อบังคับระบุชัดเจน ว่าโรงงานในนิคมฯ มาบตาพุดหรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีจะต้องตรวจโดยใช้ฟิล์มใหญ่เท่านั้น หรือไม่ได้กำหนดว่าให้มีการตรวจสารก่อมะเร็งแก่คนงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กฏหมายระบุเพียงว่าให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง ส่วนจะตรวจอะไรบ้างให้ไปดูตามกฏกระทรวง พอดูรายละเอียดพบว่ามีแค่การตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป การทำงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่ควรมีเพียงการตรวจสุขภาพพื้นฐานทั่วไป ควรให้ครอบคลุมการตรวจสารเคมีต่างๆ จึงจำเป็นต้องระบุให้ละเอียดในข้อกฏหมายว่าต้องตรวจเพิ่มเติมเรื่องสารก่อมะเร็งและสารเคมีต่างๆ

จากที่ฟังทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ว่าระยองเป็นจังหวัดที่มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เพิ่งตั้งศูนย์เมื่อปี 2553 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการพยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ปัจจุบันยังไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา แล้วการประสานงาน กรณีที่หากเราเจ็บป่วยจากการทำงาน เราจะประสานกับใคร ผมยังไม่รู้ เบอร์โทรศัพท์เก่าที่อยู่ในลิสต์ก็ไม่อัพเดทแล้ว

นี่เป็นประเด็นใหญ่เลยทีเดียว เรากำลังบอกว่าเราจะพัฒนาระยองไปสู่อุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่มาบตาพุดหรือที่ปลวกแดงก็ดี แต่เราไม่มีคนที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคอาชีวเวชศาสตร์หรือโรคที่เกี่ยวกับการทำงานหรือผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหล่านี้โดยตรง นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายมาก

ศ.ดร.ชิเกะฮารู นากาจิ ผู้อำนวยการ Environmental Monitoring Laboratory

3 ปีที่ผ่านมาที่ได้มาเมืองไทยประมาณ 10 ครั้ง รู้สึกดีใจที่ได้เห็นทุกท่านมีความพยายามทำงานร่วมกัน การสื่อสารความเสี่ยงคือ การทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อที่จะหาทางออกอย่างจริงจัง ผมมีความรู้สึกว่าบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษอันตรายอยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่ค่อยได้รับทราบเท่าไร เลยคิดว่าเราต้องคิดวิธีการสื่อสารให้ดีกว่านี้…เราจะรอนโยบายรัฐอย่างเดียวไม่ได้ บริษัทต้องเป็นผู้นำการดำเนินการ ประชาชนและบริษัทต้องมีความร่วมมือกัน ที่ญี่ปุ่นก็มีการสื่อสารความเสี่ยงอย่างนี้เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ตอนนี้มีประเด็นใหญ่คือ ปัญหาของฟูกูชิมะและพลังงานปรมาณู ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ไข ผมเห็นด้วยว่าจะต้องดำเนินกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง อยากให้ทุกท่านสร้างกฏเกณฑ์ของตัวเอง เพื่อดำเนินการสื่อสารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ