ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (8) : การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายทำได้ชั่วคราว

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (8) : การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายทำได้ชั่วคราว

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนมากยิ่งขึ้น กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องบริหารจัดการ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียที่มีเงินทุนไหลเข้าออกรวดเร็ว แต่การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายควรเป็นอย่างไรในมุมมองดร.ธาริษา มีรายละเอียดดังนี้

ภาวิน: ฉะนั้นเราก็มีการกำกับในแต่ละสถาบันการเงิน มีการกำกับในระดับใหญ่ขึ้นมาเป็น Macro prudential มี Inflation Targeting ก็คือกรอบเงินเฟ้อที่จะควบคุมความเสี่ยงทั้งระบบเศรษฐกิจ เรามีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัวตามตลาดแล้ว ที่นี้มีบางประเด็นที่เราเคยได้ยินมาบ้างแม้จะมีการถกเถียงกันมาบ้างแม้จะไม่กว้างขวางนัก ก็คือการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทย หรือจากไทยออกไปต่างประเทศ ในความคิดเห็นคุณธาริษาคิดว่าอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเปล่าครับสำหรับเมืองไทย

เรื่องของเงินทุนไหลเข้าไหลออก ขณะนี้มีปัญหามากเพราะว่าในเศรษฐกิจโลกมีสภาพคล่องเยอะมากจากการที่ประเทศประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นอเมริกา หรือทางยุโรป อังกฤษ เขาก็ต้องใช้นโยบายทางด้านทางการเงิน เพราะว่าดอกเบี้ยเขาลงมาเตี้ยติดดินแล้ว ลดต่ำกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ก็ต้องใช้วิธีอัดสภาพคล่องเข้าไป สภาพคล่องเหล่านี้จึงไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก

และเนื่องจากขณะนี้ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีกว่า และก็มีความระมัดระวังทุกอย่าง มีความแข็งแกร่งมากกว่า เงินก็เข้ามาทางนี้ ไม่ใช่แค่ได้ดอกผลอย่างเดียว แต่ยังมีโอกาสที่จะมองว่าถ้าเศรษฐกิจแข็งอีกหน่อยค่าเงินก็จะแข็งเขาก็จะกำไรด้วย เพราะฉะนั้นเงินจึงเข้ามามาก

“ตอนนี้การที่จะไปใช้มาตรการควบคุมเงินไม่ให้ไหลเข้าไหลออกจะไม่ได้ผล เพราะว่าเป็นสภาพที่ทุกคนเจอ ประเทศในภูมิภาคนี้หรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าประเทศประเทศหนึ่งถูกโจมตี และการที่ถูกโจมตีนั้นไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจเรา อันนั้นต้องเป็นมาตรการที่เราต้องแก้ไขเพื่อป้องกันตัวเราเอง”

แต่ในเมื่อปัญหามาจากทั่วโลกแบบนี้ ก็จะต้องแก้กันในระดับสากล ประเทศใดประเทศหนึ่งคงจะทำได้ยาก ทางไอเอ็มเอฟตอนหลังก็เริ่มออกมาพูดว่า “ภายใต้บางสถานการณ์การใช้มาตรการกำกับการดูแลเรื่องการไหลเข้าไหลออกของเงินก็ทำได้” ก็คงมีบางสถานการณ์

สมมติเงินเข้ามาก และออกมาก ผันผวนมาก แล้วค่าเงินไม่ได้สอดคล้องกับพื้นฐานของประเทศตัวเอง ความต่างอันนี้มีมากก็คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ใช้มาตรการพวกนี้ได้ แต่ก็มีการใช้มาตรการ “ชั่วคราว” เท่านั้น

เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขกันในระดับสากล ซึ่งไม่ง่ายนัก เพราะแต่ละประเทศก็มีวาระมีผลประโยชน์ของตนเอง

“การร่วมไม้ร่วมมือกันทำกันตรงนี้จึงไม่ง่ายเท่าไหร่”

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)