ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (10) : ผู้ทำนโยบายต้อง “มองไกล-กล้าตัดสินใจ”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (10) : ผู้ทำนโยบายต้อง “มองไกล-กล้าตัดสินใจ”

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

บทเรียนจากวิกฤติ 2540 ที่ผ่านมาแล้ว 15 ปี มีหลายบทเรียนที่ต้องจดจำ แต่บทเรียนอะไรที่ต้องยึดถือ และระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำรอยประวัติศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้

ภาวิน: .ในส่วนตัวคุณธาริษาถ้าให้บอกว่าบทเรียนที่ได้รับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 บทเรียนไหนที่เราจะเอามาปรับใช้กับตัวเองครับ ที่สำคัญๆ

ที่สำคัญคือต้องมอง “ระยะยาว” อย่าคิดช่วงสั้นๆ

ถ้าคิดช่วงสั้น ยกตัวอย่างตอนที่เศรษฐกิจโตเยอะๆ ช่วงสั้นดีแน่นอน ทุกคนรายได้มากขึ้น ทุกคนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ระยะยาวอันนี้เป็นตัวปัญหาได้ ถ้าสมมติว่าเศรษฐกิจโตมากเกินไป

“เพราะฉะนั้นถ้าเรามองระยะยาวมากขึ้นความระมัดระวังก็จะมีมากขึ้น”

แบงก์ชาติเวลาทำนโยบายเขาต้องมองระยะยาว อย่างเช่นบอกว่า ถ้าจะมีการเรียกร้องว่าช่วงนี้ดอกเบี้ยมันควรจะต่ำเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ถ้าสมมติว่ามองไปแล้ว จริงๆ แล้วเศรษฐกิจมันค่อนข้างใกล้กับ full capacity (เต็มศักยภาพการผลิต) ของเรา ถ้าหากไปกระตุ้นต่อก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ แล้วทิ้งไว้สักพักอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ตามมาอีกก็ได้

เพราะฉะนั้นการทำนโยบายการเงินของแบงก์ชาติต้องมองในระยะยาว การทำนโยบายเหล่านี้บางครั้งอาจจะไม่เป็นที่นิยม ไม่ถูกใจ

คือพูดง่ายๆ ทุกคนก็อยากมีรายได้มากขึ้น อยากให้เศรษฐกิจดี เห็นเฉพาะตรงใกล้ๆตัว แต่ว่าต้องระมัดระวัง แล้วก็ถ้ามองยาวขึ้นก็จะเข้าใจว่า “จริงๆ เรามีความจำเป็นที่ต้องมองระยะยาวมากขึ้น” จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแบงก์ชาติเท่านั้น ทั้งธุรกิจ ทั้งรัฐบาลก็เหมือนกัน

รัฐบาลถึงแม้จะอยู่กันแค่ 4 ปีก็ตาม ก็ต้องคิดถึงอนุชนรุ่นหลัง ว่าอีกหน่อยจะมีปัญหาหรือไม่ นักการเมืองเองก็มีลูกหลานของตัวเองอยู่แล้วก็ต้องเผื่อคิดระยะยาวพวกนี้ไว้ คนทำธุรกิจก็เหมือนกันต้องคิดระยะยาวไม่ใช่ว่าทุ่มทำไปในขณะนี้ ในที่สุดก็มีผลข้างเคียงที่ไม่อยากเห็นตามเข้ามา

“เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อแบงก์ชาติจะทำนโยบายที่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ถูกใจเท่าไหร่ ก็ตรงนี้อยากให้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ และก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติ”

แล้วคนทำนโยบายไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินหรือนโยบายการคลังต้องมี “ความกล้า” ที่จะทำในสิ่งที่ไม่เป็นที่นิยม แต่เป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)