ไทยพับลิก้า :คิดว่า 15 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำหรือไม่ได้ทำอะไร ตรงนี้คุณศิริวัฒน์มองอย่างไร แล้วจะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร
ศิริวัฒน์ : ได้ทำไปเยอะ ไม่ได้ทำก็เยอะ ผมพูดภาพรวมแล้วกัน ผมคงต้องตำหนินักการเมืองและรัฐบาล ไม่ว่ายุคไหน พรรคไหน ใครเป็นรัฐบาลก็ตาม มักจะคิดถึงพรรคตัวเองมากกว่า ปากก็พูดนะเพื่อประชาชน เวลาหาเสียงก็เพื่อประชาชน แต่พอมาถึงต้องทำจริงๆ คิดถึงพรรคตัวเองก่อน ให้อยู่เป็นรัฐบาลให้ได้
เพราะฉะนั้นจะให้ fault signal หรือ “สัญญาณที่ผิด” อะไรก็แล้วแต่ อย่าว่าแต่อดีตเลยครับ วันนี้ดูปัจจุบัน ขอวกมาปัจจุบัน ถ้าตราบใดที่รัฐบาล พรรคการเมือง บริหารแบบนี้ทั้งอดีตและปัจจุบัน ประเทศไทยไปไม่ได้ ที่บอกขอเอามาพูดปัจจุบัน สัญญาณออกมาแล้ว ส่งออกมันไม่โต ก็ยังดื้อดันอยู่อย่างนั้นว่าปีนี้ส่งออกต้องโต 15% จีดีพีพูดตั้งแต่ปลายปีที่แล้วบอกจะโต 7% ใครจะไปคิดว่าวิกฤติยุโรปจะบานปลาย
วิกฤติยุโรปเกิดตั้งแต่ปีที่แล้ว ต้นหรือกลางปีจำไม่ได้ ตั้งเป้าเอาไว้เพราะว่าไปเจอน้ำท่วมไง ดังนั้นปีนี้ต้องโต 7% อ้าว วิกฤติยุโรปยังไม่จบ มันบานปลายไปอีก จากกรีซตอนนี้ขยายไปอิตาลีจนกระทั่งสเปนอะไรนี่ จนขนาดเยอรมันหรือฝรั่งเศสจะไปอุ้มนี่ ฝรั่งเศสกับอังกฤษก็โดนดาวน์เกรด โดน มูดี้ส์ลดความน่าเชื่อถือ
เยอรมันวันนี้ตัวเลขความล้มเหลวของธุรกิจเกิดขึ้น คนว่างงานเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ เศรษฐกิจเยอรมันตอนนี้ขาลง แล้วใครจะไปช่วยใคร แล้วก็ยังบอกว่าไม่ได้ ส่งออกต้องโตได้ 15% จีดีพี 7% ทั้งๆ ที่หน่วยงานของรัฐซึ่งพอเชื่อถือได้บอกมาแล้วว่าส่งออกโตแค่ 12% กว่า จีดีพีอย่างเก่งก็ 5% กว่า เห็นไหม นโยบายบอกว่าไม่ได้ ฝืนแล้วไง แล้วบอกไม่เป็นไรตลาดส่งออกเราตลาดใหญ่ก็คืออเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ถึงแม้กำลังซื้อเขาลดลงเราก็ไปหาตลาดใหม่ โห! หาตลาดใหม่มันได้ แต่ตลาดใหม่อาจจะเป็นประเทศที่ยากจน แอฟริกาอย่างนี้ ขายได้เก็บเงินได้ไหม
ไทยพับลิก้า : ไม่แน่ใจ
ศิริวัฒน์ : เออ ไม่แน่ใจ ซื้อเยอะไหม ไม่เยอะ เวลาซื้อต่อรองราคาไหม ต่อรองราคา ในขณะที่วันนี้ต้องยอมรับ ข้าวเราส่งออกเป็นอันดับหนึ่งมา 20 กว่าปี กำลังจะสูญเสียแล้ว เพราะข้าวเราแพงกว่า คืออะไรต่างๆ ผมถึงบอกว่าทั้งหมดโทษใคร ผมถึงโทษผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารประเทศก่อน อดีตหรือปัจจุบันผมไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง หากจะทำ ทำไหม เช่น แก้กฎเกณฑ์ต่างๆ นานา ก็มีการแก้บ้าง เหมาะสมกับสมัยบ้างไม่เหมาะสมกับสมัยบ้าง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ผมก็เลยไม่อยากจะพูดว่าได้ทำอะไรหรือไม่ได้ทำอะไร
ผมขอว่าใครก็ตามที่มาบริหารประเทศ พรรคไหนก็ได้ รัฐบาลไหนก็ได้ ขอให้บริหารด้วยความจริง
ความจริงก็คือ โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องผลประโยชน์คอร์รัปชันนะ อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย ประเทศที่เจริญแล้วเขาก็มี เพียงแต่ว่าทุกอย่างมันต้องตรวจสอบได้ อะไรอย่างนี้ เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม มันก็ต้องมีเรื่องผลประโยชน์ แต่ว่าประเทศต้องเจริญก้าวหน้าและอยู่กับความจริง ความจริงเท่านั้นที่จะทำให้ภาคเอกชนเขารู้ว่าเขาต้องปรับตัวอย่างไร ไม่ใช่ไปบอกเขาให้ฝันหวานอยู่เรื่อยนะ
ไทยพับลิก้า : มีโอกาสที่ไทยจะเจอวิกฤติอย่างนั้น
ศิริวัฒน์ : โอ้ แน่นอนที่สุด ต้องเข้าใจนะ ผมมักจะบอกหลายๆ คน บอกว่าเรามานั่งคุยกันอย่างนี้ดีกว่า คุยตั้งแต่จบ ม.ปลายจนถึงวันนี้ คุณเห็นเลยว่าอเมริกาเจริญรุ่งเรืองร่ำรวย ยุโรปเจริญรุ่งเรืองร่ำรวย ญี่ปุ่นหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเจริญรุ่งเรืองร่ำรวย ไต้หวัน ร่ำรวย
ถามว่าประเทศเหล่านี้ วันนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง ขาลงใช่ไหม เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านี้ได้ทำให้เศรษฐกิจโลก รวมทั้งประเทศไทย จากประเทศที่ด้อยพัฒนาเป็นกำลังพัฒนา ได้โตขึ้นเพราะกำลังซื้อจากพวกนี้ วันนี้พวกนี้กำลังซื้อกำลังถอยลง ใครจะมาช่วยซื้อเรา
อย่างที่ผมบอกนะครับ ซื้อได้แต่ไม่มีเงินจ่าย
ดังนั้น เศรษฐกิจโลกกำลังขาลง และจะกระทบประเทศไทย ซึ่งเราเป็นประเทศเล็กๆ นะ หลายคนบอกว่าจีนยังอยู่ ผมก็ถามว่าจีนรวยเพราะใคร จีนรวยเพราะอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น วันนี้เขาเริ่มไม่รวยแล้ว แล้วจีนจะรวยไหม เศรษฐกิจจีนก็เห็นแล้ว เริ่มโต รัฐบาลจีนก็พูดมาแล้ว ท่านประธานาธิบดี ท่านนายกฯ จีนก็บอกว่า “สงสัยเราต้องช่วยซื้อของจีน” แล้วนะ เพราะต่างประเทศเขาไม่มีปัญญาซื้อของเรา เขาเรียกว่า buy china แล้วคนจีนช่วยซื้อของจีน คุณคิดว่าจะได้ราคาดีเท่าสหรัฐฯ ยุโรปไหม ไม่มีทาง
ดังนั้นคุณถึงเห็นว่า ช่วงนี้ราคาพวกสินค้าพืชไร่อะไรต่างๆ ตกหมด เพราะจีนเริ่มหดตัว เศรษฐกิจเคยโตกว่า 10% ตอนนี้ไม่ถึง 2 หลัก 7-8% ดังนั้น ความต้องการในพวกวัตถุดิบต่างๆ แม้กระทั่งค่าระวางเรือก็ลดลง สมัยก่อนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โอ้โห เรือไม่พอ จีนซื้อทีหนึ่งเหมาทั้งกองทัพเรือเลย อ้าว บริษัทเรือก็ไปต่อเรือเพิ่ม ตอนนี้เศรษฐกิจจีนมันลง คนซื้อน้อยลง เรือก็เหลือเยอะ ค่าระวางก็ลงกันใหญ่ อันนี้มันเรื่องอุปสงค์อุปทาน มันธรรมดา เราต้องดูให้ออกและยอมรับความจริงของทั้งโลก
ดังนั้น ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร คน 67 ล้านคน เราต้องทำยังไง แก้ไขปัญหายังไง ผมบอกได้เลยนะ ถ้าวันนี้ผมเป็นรัฐบาล ไอ้ตลาดส่งออกผมไม่ไปขยันหามันหรอก ผมจะเน้นเรื่องท่องเที่ยว ประเทศไทยเรามีของดีอยู่ พูดง่ายๆ เราไม่ต้องไปหาเขา
ไทยพับลิก้า : ทรัพยากรเรามี
ศิริวัฒน์ : ถูกต้อง การท่องเที่ยวเน้นเอาคนมาประเทศไทเยอะๆ ทำให้มันได้เลยล้านล้าน คือเรามีของดีไงเราไม่ต้องขวนขวายหาของเขา เพียงแต่ไปเชิญชวนให้เขามาใช้ของเรา
ดังนั้น พอมาพูดถึงจุดนี้ วันนี้ค่าเงินบาทควรจะต้องอ่อน ดูสิ 1 เหรียญ มัน 31 บาท นานแล้วนะ ตีซะ 30 บาท ต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อน แบงก์ชาติก็มักจะบอก โอ้ย เสถียรภาพ แต่เขามีเข้าไปแทรกแซง แต่ผมอยากเห็นแทรกแซงให้มันอ่อน การท่องเที่ยวดี การส่งออกดี ประเทศที่ไม่ค่อยมีเงินซื้อแต่อย่างน้อยๆ เขามีดอลลาร์ พวกนี้เขาเก็บดอลลาร์หมดแหละ ก็เอาดอลลาร์มาจ่ายเราสิ
ทีนี้ พอความจริงเป็นอย่างนี้นะ ประเทศก็จะรอดได้ ผมว่าไม่ใช่รอดเพราะเรื่องค่าแรงสามร้อยบาท ตอนนี้กำลังพูดว่าไม่เป็นไร ส่งออกไม่ดี พยายามมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขึ้นจากเท่าไหร่ ผมจำไม่ได้ อย่างเก่ง
ไทยพับลิก้า : 200 กว่าบาท
ศิริวัฒน์ : ให้ 40% แต่ราคาสินค้าขึ้นมากกว่า 40% นะ จริงไหม รายได้คนกินเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 40% แต่ของแพงขึ้นมากกว่า 40% เขาติดลบนะ แสดงว่าเขาติดลบนะ เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทพอไหม ไปถามซิว่าพอไหม ไม่พอ คนโสดยังไม่พอ แล้วคนมีครอบครัวพอไหม
ดังนั้นผมกำลังบอกว่า คือ “พูดน่ะมันง่าย” ส่งออกไม่ได้ก็กระตุ้นในประเทศ คุณกระตุ้นเยอะๆ รัฐบาลทำไง ก็อัดเงินอีก อัดเงินอีกอะไรเกิดขึ้น เงินเฟ้อเกิด คำว่าเงินเฟ้อทุกคนก็รู้ ยิ่งเฟ้อมากๆ ค่าเงินไม่มีความหมาย มันก็คือ “วงจรอุบาทว์”
ผมจึงบอกว่าไม่เป็นไร บริหารประเทศยังไงก็แล้วแต่ ตราบใดที่ประชาชนเลือกท่าน ท่านก็บริหารให้ดี ไม่ดีเขาก็ไม่เลือกท่าน น่าจะเป็นอย่างนั้น