ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (7) : มาตรการรับมือวิกฤติ ไทย”ล้ำหน้า”ตะวันตก

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (7) : มาตรการรับมือวิกฤติ ไทย”ล้ำหน้า”ตะวันตก

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

หลังวิกฤติ 2540 ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินโดยกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ขณะเดียวกันก็นำมาตรการ “Macro prudential” หรือมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะด้านมาใช้ควบคู่กันเพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพระดับราคา หรือเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นจนเกิดเป็นภาวะฟองสบู่ มาตรการด้านสถาบันการเงินช่วยให้ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน มีรายละเอียดเรื่องนี้มีดังนี้

ภาวิน: ภายหลังจากการเกิดวิกฤติซับไพร์ม มีการพูดถึงนโยบาย Macro prudential หรือการกำกับการเงินที่ใหญ่กว่าระดับแต่ละสถาบันการเงิน ทางเมืองไทยผมเข้าใจว่าในช่วงวิกฤติ 2540 ปัจจัยหนึ่งคือทุกธนาคารปล่อยกู้ลงในเซ็กเตอร์เดียวกันหมดเลย ในลักษณะแบบนี้เราควบคุมความเสี่ยงแต่ละธนาคารอาจจะไม่ได้ จะต้องคุมความเสี่ยงในภาพใหญ่ ในประเทศมีลักษณะการกำกับที่เป็นภาพใหญ่บ้างไหมครับ

ในส่วนของภาพใหญ่เศรษฐกิจพวกนี้ เราได้นำเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานของเรา พอเรามีการปรับเปลี่ยนค่าเงินเป็นระบบระบบลอยตัว และในปี 2000 ก็เริ่มใช้ Inflation Targeting (การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ) เป็นกระบวนการที่จะทำนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านของราคา คือไม่ให้เงินเฟ้อหวือหวา หรือสูง

แต่ว่าขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้จากวิกฤติที่เกิดขึ้นว่า การดูแค่ระดับเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพเรื่องของการว่าจ้างงานพวกนี้ยังไม่พอ วิกฤติที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่เราเห็นคือเกิด “ฟองสบู่” หรือเกิดความไม่สมดุลในภาคเศรษฐกิจบางภาค

เพราะฉะนั้นหลังจากที่เราปรับเปลี่ยนการทำนโยบายแล้วก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้ มีการติดตามดูแลใกล้ชิดในภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสเสี่ยงภาวะฟองสบู่ได้ง่าย เราดูเป็นประจำหมดเลยทั้ง 7-8 ภาคเศรษฐกิจ

เช่น ภาคสถาบันการเงิน ก็ดูงบดุลภาคสถาบันการเงิน ว่าขณะนี้มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ ภาคธุรกิจก็เหมือนกัน คือดูว่ามีสัญญาณการก่อตัวของความไม่สมดุลหรือมีภาวะฟองสบู่เริ่มก่อตัวหรือไม่ ภาคธุรกิจ เอกชน ก่อหนี้มากไปหรือไม่ ภาคอสังหาริมทรัพย์อันนี้เป็นตัวที่ติดตามใกล้ชิด และต่างประเทศของเรามีการก่อหนี้มากไปหรือไป ภาครัฐบาลขาดดุลแล้วก่อหนี้มากเกินไปหรือไม่ เป็นต้น พวกนี้เราดูและติดตามต่อเนื่องแล้วนำมาประกอบในการทำนโยบายการเงิน

สรุปแล้วหลังเกิดวิกฤติ 2540 การทำนโยบายของแบงก์ชาติไม่ใช่เน้นเฉพาะเรื่องของเงินเฟ้อที่บางคนเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น จริงๆ นอกจากดูเงินเฟ้อแล้ว ก็ดูเรื่องของเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่พองโตแล้วเกิดฟองสบู่แฟบ อันนี้จะทำให้เกิดความผันผวนอย่างที่เราเห็น ซึ่งไม่ดีต่อเศรษฐกิจแน่นอน พวกนี้เราดูอยู่แล้ว

“ที่นี้ดูแล้วทำอะไรหรือไม่ อาจเป็นคำถามถัดมา เมื่อเราเห็นสัญญาณที่น่ากังวลเราก็รีบใช้นโยบายเข้าไปกำกับดูแล”

ภาวิน: ทางแบงก์ชาติมีเครื่องมือไหมครับ

มีคะ คือปกติเราไม่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย เพราะว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้กับเศรษฐกิจโดยรวม แต่เวลาเกิดภาวะฟองสบู่ส่วนใหญ่จะเกิดในภาคเศรษฐกิจบางภาคเท่านั้น ก็ใช้มาตรการที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคนั้นๆ แทนจะตรงกว่าและจะไม่เกิดผลข้างเคียงกับภาคอื่นๆ ที่จริงๆไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง

อย่างที่ผ่านมา เราก็ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Loan to value ratio” (อัตราส่วนวงเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกัน) ก็คือกำกับว่าถ้าธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ ผู้กู้ต้องมีเงินของตัวเองอย่างน้อยเท่าไหร่ จะเป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้ผู้กู้มีวินัยมากขึ้น เพราะตัวเองต้องมีเงินผ่อนบ้านเอง 20-30% เป็นต้น แล้วถ้าไปกู้ก็กู้แค่ส่วนที่เหลือ แบงก์พาณิชย์เวลาให้กู้ถ้าไม่ใช่ทั้ง 100% ความเสี่ยงก็น้อยลง ปกติแบงก์พาณิชย์ให้กู้ก็จะมีที่ดินมีบ้านเป็นหลักประกันอยู่แล้ว

ดังนั้นเวลามีปัญหายังสามารถนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ซึ่งก็ดีกับทั้ง 2 ฝ่าย นี่ก็เป็นมาตรการที่เราเอามาใช้ ถ้าจำไม่ผิดคือตอนปี 2004 ที่เริ่มเห็นอาการฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตลาดบ้านราคาสูง ตอนนั้นมีหมู่บ้านหลัง90-100 กว่าล้านเกิดขึ้นมาก แต่ไม่ถึงกับเป็น “ดอกเห็ด” แต่เราเห็นสร้างขึ้นมามากก็มีการออกกฎเกณฑ์ว่าถ้าจะให้กู้กับผู้กู้ที่ซื้อบ้านที่ราคาสูงๆ ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารพาณิชย์จะไม่ให้กู้ 100% จะได้แค่ 80% เท่านั้น อันนี้เราก็ใช้

และตอนที่ตลาดบัตรเครดิตขยายตัวมาก 56% ก็มีการออกมาตรการไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป ขณะเดียวกันก็เป็นการดูแลในส่วนของผู้กู้ด้วยเพราะว่ามีการคิดดอกเบี้ย และผู้กู้ไม่ค่อยรับทราบหรอกว่าจริงๆ ตัวเองจ่ายดอกเบี้ยสูงมาก ก็มีการกำหนดรายได้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ถึงจะออกบัตรเครดิตได้ เป็นต้น

แต่ที่สำคัญที่สุดดิฉันคิดว่าคือการที่เราใช้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ (IAS 39) ที่ทำให้แบงก์พาณิชย์จะต้องกันสำรองมากขึ้น คือมาตรฐานบัญชีใหม่อันนี้ จริงๆ ทางสภาวิชาชีพทางบัญชีจะยังไม่อยากประกาศใช้ เขาจะให้เวลาอีก 2 ปีจากจุดนั้น ถ้าจำไม่ผิดคือปี 2006 แต่ดิฉันก็มองว่า และดูกันหลายคนนะคน ถ้าเผื่อเราจะใช้มาตรการที่แบงก์กันสำรองมากขึ้น ควรจะทำตอนที่เขายังแข็งแรง ตอนที่เขายังมีความสามารถที่จะทำอยู่ เราก็เลยบอกว่าให้เอาเกณฑ์การกันสำรองตามมาตรฐานใหม่มาใช้ให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองมากขึ้น

เพราะก่อนหน้านั้นแบงก์กำไรดีมาก และแต่ละปีก็จ่ายเงินปันผลออกไปแทนที่จะกันสำรองเพื่อให้ตัวเองแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำเผื่อผลประโยชน์ในระยะยาว จริงๆ เราจะรอไปเฉยๆ ก็ได้ แต่เราคิดว่าไม่ควรจะรอในเมื่ออยู่ในสภาพที่ทุกอย่างอำนวย แบงก์เองก็มีความสามารถที่จะทำ และทำไปแล้วก็สร้างความเชื่อมั่นให้เรามากขึ้นอีก เราก็ประกาศใช้มาตรการนี้ไป

ทั้งหมดนี้คือมาตรการทาง Macro prudential ทั้งสิ้น ที่ทางผู้กำกับดูแลหรือด้านนโยบายโดยรวมมองว่าอาจจะมีความเสี่ยง เราก็ตัดสินใจทำไป พวกนี้จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีอยู่

“จริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะเราเท่านั้นเอง หลายๆ ประเทศในเอเชียต่างก็ได้เรียนรู้จากวิกฤติ 40 เกือบทุกประเทศก็ใช้มาตรการเหล่านี้”

เที่ยวนี้ที่เกิดวิกฤติทางยุโรปและอเมริกาตอนปี 2008 ทำให้เขาเริ่มประจักษ์เหมือนกันว่าเขาจะ ดูเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพทางราคาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจด้วย ก็หันมาให้ความสำคัญของมาตรการ macro prudential มากขึ้น

ถือว่าตอนนี้ทุกประเทศยอมรับตรงกันว่าบทบาทของธนาคารกลางต้องดูเรื่องเสถียรภาพไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่โตแล้วก็แตก หมุนเวียนกันไปอย่างนี้

ภาวิน: จริงๆ เราอาจจะล้ำหน้าเขาไปด้วยซ้ำ

ใช่คะในแง่นั้น ดิฉันคิดว่าเราล้ำหน้าเขาหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องมาตรการ Macro prudential เท่านั้น อาจเป็นเพราะว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เราเห็นว่าเราเกิดปัญหาทุกคนก็แก้ปัญหาอย่างจริงจัง คือการแก้ปัญหากับภาคสถาบันการเงินจริงๆ ก็มีต้นทุนทั้งสิ้นสำหรับภาคสถาบันการเงิน แต่ทุกคนก็เข้าใจว่าอันนี้ทำไปแล้วจะดีขึ้นทุกคนก็พร้อมใจกันทำ

“ดิฉันคิดว่าอันนี้เราไปในแนวที่ถูกต้องและควรจะยังระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้อยู่ เที่ยวนี้ถ้ามองไปอเมริกา ยุโรปยังไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังเท่าไหร่ ก็ยังเป็นข้อที่ต้องติดตามและเป็นข้อกังวลอย่างหนึ่ง”

ภาวิน: แต่ของเราถือค่อนข้างมีความแข็งแกร่งอยู่ใช่ใหม่ครับ ทางด้านสถาบันการเงิน

ใช่ค่ะ ยกตัวอย่างตอนปี 2008 เป็นวิกฤติที่กระทบไม่ใช่แค่อเมริกาเท่านั้นเอง แต่ไปยุโรปและเอเชียบางประเทศที่ภาคการเงินโดนกระทบ ซึ่งสาเหตุสำคัญอันหนึ่งเป็นเพราะภาคการเงินได้ไปลงทุนในตราสารที่เป็นสมัยใหม่ พวกซีดีโอ ( Collateralized Debt Obligation : CDO) และพวกตราสารที่มีการแพ็กเก็จเป็นผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงมาก แต่คนจะไม่เข้าใจ คนลงทุนเขาลงทุนไปเพราะว่าบริษัทเครดิตเรทติ้ง ก็จัดเรทติ้งว่าดี

แต่ว่าบ้านเราธนาคารพาณิชย์ไปลงทุนซีดีโอ ประมาณ 0.1% ของสินทรัพย์ของเขาเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยมาก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเศรษฐกิจเราไม่ค่อยดี เพราะเรามีปัญหาเรื่องการเงินของเรา เศรษฐกิจก็ไม่ได้เฟื่องฟู ธนาคารพาณิชย์ก็มีเงินสภาพคล่องค่อนข้างมากที่พร้อมจะปล่อยกู้

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเขาสามารถที่จะเอาเงินในกระเป๋าที่มีอยู่ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้ได้อยู่แล้ว เพราะว่าดอกผลเขาดี แต่ก็ลงทุนน้อยมากแค่ 0.1% ดิฉันก็ได้คุยกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เขาก็บอกว่า เขามีความรู้สึกว่าตราสารเหล่านี้เขาไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เขาใช้คำว่ามันเหมือนเป็น “กล่องดำ” หรือ “black box” ดังนั้นเขาจึงไม่อยากเสี่ยง

“อันนี้ดิฉันคิดว่าต้องชื่นชมว่ามันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากต้องระแวดระวัง ว่าอะไรที่เสี่ยง อะไรที่เราไม่เข้าใจ เราต้องปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ใช่อะไรไม่รู้แต่เอาไว้ก่อนน่า คิดในแง่ดี แต่พอถลำเข้าไป ถ้ามันไม่ได้ดีอย่างที่คาดการณ์ผลกระทบก็จะตามมา”

ปรัชญาอย่างนี้ว่าเราต้อง “ระมัดระวัง” ถ้าอะไรที่เสี่ยงเกินไป อะไรที่เราไม่เข้าใจ อะไรที่เราไม่แน่ใจ เราไม่เสี่ยงดีกว่า แนวคิดนี้จะเป็นเกราะกำบังระบบของเราที่ไม่ผลีผลามตามกระแสเขาไป และทำให้เราสามารถที่จะดูแลตัวเองต่อไปในอนาคตได้

นี่คือสิ่งที่จะต้องช่วยกันสานต่อ คือ “ความระมัดระวัง” นี้ ถามว่ามาจากไหน ก็มาจากความพยายามของเราหลังเกิดวิกฤติ แบงก์ชาติก็ปรับ ธนาคารพาณิชย์ก็ปรับ แล้วเราก็คุยกัน มีอะไรเราก็ทำด้วยกัน และแก้ด้วยกันแล้วคนที่เป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นๆ เขาก็เจ็บ เขาก็เห็นของจริง แล้วเขาก็จำ

เพราะฉะนั้นขณะนี้เขาจึงระมัดระวังอยู่ แต่ที่ต้องสานต่อคือ สมมติมีการ “ผลัดไม้”แล้วเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมา ประสบการณ์นี้มันไม่มีแล้วถ้าไม่เราไม่ส่งไม้ให้เขาเข้าใจ

“อย่างรายการนี้ดิฉันก็คิดว่าดีมาก จะได้เอาคนที่ยังจำเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อนได้ มาช่วยกันเล่า และช่วยกันเตือนสติว่า เราอย่าผลีผลามทำอะไรมั้ง มันไม่ดียังไง คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้เห็นของจริงในขณะนั้นจะได้สังวร จะได้เข้าใจว่าความเสี่ยงมันมีนะ เพราะฉะนั้นเราต้องระมัดระวัง”

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)