ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (9) : การก่อหนี้ภาครัฐและเอกชน “ต้องมีสติ”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (9) : การก่อหนี้ภาครัฐและเอกชน “ต้องมีสติ”

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

บทเรียนจากวิกฤติ 2540 ที่ผ่านมาแล้ว 15 ปี มีหลายบทเรียนที่ต้องจดจำ แต่บทเรียนอะไรที่ต้องยึดถือ และระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำรอยประวัติศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้

ภาวิน: ในช่วงท้ายอยากจะขอความเห็นของคุณธาริษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทเรียนในวิกฤติเศรษฐกิจ บทเรียนไหนที่คุณธาริษาเห็นว่าแบงก์ชาติเจ็บและต้องจำมากที่สุดครับ

จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นบทเรียนที่เฉพาะธปท.อย่างเดียว แต่เป็นบทเรียนกับธนาคารพาณิชย์ ภาครัฐ และประเทศไทยทั้งประเทศ คือยุคสมัยเปลี่ยน แนวคิดต่างๆ ก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราต้องไม่อยู่กับที่ เราต้องเรียนรู้เรื่องใหม่และต้องเรียนรู้ว่าอะไรที่เปลี่ยนไปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเรา และทำตัวเองให้พร้อมที่จะรับกับสถานการณ์นั้นๆ

อีกเรื่องที่เรียนไปแล้วเหมือนกันคือแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ทุกคนต้องยึดถือ และการที่จะเป็นหนี้ต้องเป็นหนี้อย่างมีสติ

การมีสติหมายความว่า เราจะต้องมีการวิเคราะห์อยู่แล้วนะค่ะว่าควรจะเป็นหนี้หรือไม่อย่างไร และเมื่อวิเคราะห์แล้วคิดว่าตัวเองเป็นหนี้ระดับนี้แล้วรับได้และจะมีผลผลประโยชน์ในแง่ที่ถ้าเราพึ่งเฉพาะเงินทุนของตัวเองจะไม่สามารถขยายการผลิตของเรา ก็จะต้องไปกู้เขามาก่อน แต่กู้ในระดับที่เราสามารถบริหารจัดการได้ อันนี้คือเป็นหนี้อย่างมีสติไม่เป็นไร

“แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คิดว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ”

ภาครัฐก็เหมือนกัน การที่จะเป็นหนี้ก็ต้องเป็นหนี้อย่างระมัดระวัง และที่สำคัญอย่าไปเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายซึ่งมันหมดไป คือการกู้หนี้ยืมสินเพื่อไปลงทุนก็ยังเป็นกำลังผลิตต่อไปในอนาคต

นี่คงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันระมัดระวัง