ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. เปิดเสรีเงินไหลออก “ลงทุนโดยตรงไม่ต้องขออนุญาต-ไม่จำกัดวงเงิน” และถือเงินสดข้ามชายแดน 2 ล้าน

ธปท. เปิดเสรีเงินไหลออก “ลงทุนโดยตรงไม่ต้องขออนุญาต-ไม่จำกัดวงเงิน” และถือเงินสดข้ามชายแดน 2 ล้าน

28 กุมภาพันธ์ 2013


งานสัมมนา "สัมมนา “การลงทุนต่างประเทศ: ทางเลือก โอกาส และการบริหารความเสี่ยง” ณ โรงแรมคอนราด วันที่ 27 ก.พ. 2556
“สัมมนา “การลงทุนต่างประเทศ: ทางเลือก โอกาส และการบริหารความเสี่ยง” ณ โรงแรมคอนราด วันที่ 27 ก.พ. 2556

แบงก์ชาติเปิดเสรีเงินทุนไหลออกเต็มรูปแบบภายปีนี้ ระบุเป็น “Big Bang” ครั้งแรกที่นักลงทุนสามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ธปท. และไม่จำกัดวงเงิน ส่วนกรณีถือเงินสดข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดไทย จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 5 แสนบาท เล็งปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาท

ประเทศไทยมีการปริวรรตเงินตราภายใต้กฎหมายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 70 ปี การปริวรรตเงินตราของไทยกำลังก้าวไปสู่จุดที่เปิดเสรีค่อนข้างเต็มที่ทั้งเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออก โดยเฉพาะเงินทุนไหลออก ทาง ธปท. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เคยจำกัดไว้เกือบทั้งหมดภายใต้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 งานสัมมนา “การลงทุนต่างประเทศ: ทางเลือก โอกาส และการบริหารความเสี่ยง” ได้ถูกจัดขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเข้ารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ได้บรรยายในหัวข้อ “แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย” ตอนหนึ่งว่า แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ เป็นการผ่อนคลายด้านเงินออกอย่างเป็นระบบ และเป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อเนื่องมานาน และในครั้งนี้ทำพร้อมกันหลายเรื่อง ค่อนข้างจะเป็น “ Big Bang” และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยการผ่อนคลายมีทั้งหมด 5 รูปแบบ

ได้แก่ 1. การลงทุนโดยตรง 2. การลงทุนในหลักทรัพย์ 3. การรับฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) 4. การบริหารความเสี่ยงและการลดต้นทุน 5. การผ่อนคลายคุณสมบัติของธุรกิจและผู้รับอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา (MCMT)

นางผ่องเพ็ญกล่าวว่า การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ ธปท. ดำเนินการต่อเนื่องมานาน ครั้งนี้อาจเป็นแพ็คเกจใหญ่หน่อย เป็นการคลายกฎระเบียนด้านเงินทุนขาออก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้ภาคธุรกิจไปลงทุนประเทศได้สะดวกขึ้น และสามารถจัดการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง (ดูรายละเอียดได้จากตารางการผ่อนคลายตามแผนแม่บทเงินทุนฯ)

แนวทางการผ่อนคลายตามแผนแม่บทเงินทุนฯ

“ทั้งหมดเราคาดหวังว่า คนไทย นักลงทุนไทย จะมีการลงทุนที่กระจายตัวมากขึ้น ไปต่างประเทศมากขึ้น ทั้งเรื่องของหลักทรัพย์ และการลงทุนโดยตรง และรู้วิธีการบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเอง และในที่สุดแล้วจะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่าทางเดียวหรืออ่อนค่าทางเดียว อันนั้นคือสิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากเรื่องนี้ทั้งหมด” นางผ่องเพ็ญกล่าว

นอกจากแนวทางการผ่อนคลาย 5 รูปแบบหลักแล้ว ธปท. ยังพิจารณาผ่อนคลายการถือเงินสดออกไปประเทศที่มีชายแดนติดกับไทยเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน แหล่งข่าวจาก ธปท. ระบุว่า ธปท. ได้พิจารณาปรับเพิ่มวงเงินสำหรับให้บุคคลธรรมดานำเงินสดถือข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้านจาก 5 แสนบาท เป็น 2 ล้านบาท โดยการดำเนินการดังกล่าวได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง และหารือกับธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทยแล้ว ซึ่งธนาคารกลางของประเทศที่เจรจาแล้วและไม่ขัดข้องให้ดำเนินการได้คือ ลาว กัมพูชา ยูนาน

ดังนั้น คาดว่า ธปท. จะสามารถออกเป็นประกาศ ธปท. ให้ดำเนินการได้ประมาณปลายเดือน มี.ค. นี้ โดยจะดำเนินการได้เฉพาะประเทศที่ธนาคารกลางอนุญาตเท่านั้น ขณะที่ประเทศพม่ากับมาเลเซีย ซึ่งมีชายแดติดกับไทย ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน

นางผ่องเพ็ญกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการอนุญาตเพิ่มวงเงินให้ถือเงินสดข้ามไปประเทศที่มีชายแดนติดกับไทยก็คือ ต้องการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าขายแดนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 30% ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง และจะดำเนินการได้ต่อเมื่อธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้านอนุญาต

นางสาวสุธาศินี นิมิตกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท.
นางสาวสุธาศินี นิมิตกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท.

ด้าน นางสุธาศินี นิมิตกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่การผ่อนคลายครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น “Big Bang” เพราะเมื่อผ่อนคลายตามแผนที่กำหนดไว้แล้ว จะเป็นครั้งแรกที่นักลงทุน นักธุรกิจ ไม่ต้องมาขออนุญาต ธปท. นำเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และไม่จำกัดวงเงิน

ตั้งแต่ ธปท. ผ่อนคลายให้นักลงทุนไทยไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศตั้งแต่ต้นปี 2553 ทำให้มีเงินไหลออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2552 มีจำนวนเพียง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ทั้งนี้ ประเภทอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากที่สุดคือ การทำเหมืองแร่และเหมืองน้ำมัน รองลงมาเป็นกิจการทางการเงิน การประกันภัย และการผลิต เป็นต้น

“กระทรวงการคลังและ ธปท. สนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ เพราะการจะยกระดับประเทศจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขยับขึ้นไปเท่ามาเลเซียและสิงคโปร์ แนวทางหนึ่งที่ทำได้คือไปขยายการเติบโตในต่างประเทศ เราจึงพยายามผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนขาออก เพื่อสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. กล่าว

ขณะที่ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน (รักษาการ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ซึ่งร่วมสัมมนาฯ กล่าวว่า การลงทุนของคนไทยในต่างประเทศในช่วงปี 2549-2554 หรือยอดสะสม 6 ปี มีจำนวน 28,294 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังต่ำกว่าหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน โดยการลงทุนไทยในต่างประเทศมีขนาดเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่มียอดคงค้างจำนวน 59,305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีขนาดแค่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับฮ่องกงซึ่งมีเงินลงทุนต่างประเทศถึง 378,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน เมื่อมองประเทศที่รับการลงทุนจากไทย ดร.เวทางค์กล่าวว่า 9 อันดับแรกที่รับเงินทุนของไทย มีประเทศพม่ารับการลงทุนโดยตรงจากไทยมากที่สุด 4,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2549-2554 แต่ที่น่าสังเกตคือมี 5 ประเทศที่การลงทุนส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นการลงทุนเพื่อไปลงทุนต่อหรือลดภาษี

โดย 5 ประเทศที่คนไทยไปลงทุนในลักษณะดังกล่าวได้แก่ เกาะเคย์แมน สิงคโปร์ ฮ่องกง มอริเชียส และเกาะบริติชเ วอร์จิน ซึ่งในช่วงปี 2549-2554 มีเงินไปลงทุนใน 5 ประเทศนี้จำนวน 10,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“สาเหตุหนึ่งที่การลงทุนของเราผ่านการลงทุนประเทศเหล่านั้น เพราะระบบภาษีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของไทยเป็นระบบภาษีแบบ worldwide income tax system คือ เมื่อนำกำไรที่ได้จากการลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศ จะต้องนำมาคำนวณภาษีรายได้นิติบุคคลด้วย ทำให้นักลงทุนได้กำไรไม่เต็มที่ แต่ข้อดีคือ หากเกิดผลขาดทุนในต่างประเทศ สามารถนำมาขอเครดิตภาษีคืนได้ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ลำบาก” ดร.เวทางค์กล่าว

แบงก์ชาติแจงเงินทุนไหลเข้าต้นปีนี้น้อยกว่าปีก่อน

ธปท.แถลงเศรษฐกิจเดือนม.ค. เติบโตต่อเนื่องเป็นตามที่คาดการณ์ และสินเชื่อยังขยายตัวระดับสูง 15% โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนจต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมแจงเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรช่วงเดือนม.ค.ถึงกลางเดือนก.พ. มีจำนวนเพียง 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินบาทแข็งเพราะเก็งกำไร

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเศรษฐกิจและการเงินเดือนม.ค. 2556ว่า ภาพรวมยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นตามที่ธปท.คาดการณ์ และยังมีแรงส่งให้ขยายตัวต่อไปได้จากปัจจัยทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ดีขึ้น ขณะที่สินเชื่อขยายตัว 15% ชะลอจาก 16% ในเดือนก่อนหน้าแต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นในอัตรา 16.6% และสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 12.8%

“สินเชื่อครัวเรือนที่ขยายตัวสูง ธปท.ยังเป็นห่วงอยู่ โดยจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปเพราะเป็นประเด็นสำคัญด้านเสถียรภาพการเงิน อย่างไรก็ตามสินเชื่อครัวเรือน แม้จะเริ่มมีสัญญาณการผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่น่าตกใจ ส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวที่เร่งขึ้นของมูลหนี้”นายเมธีกล่าว

ส่วนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือนม.ค. 2556 มีเงินไหลทุนไหลเข้าสุทธิ 1,544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชะลอลงจาก 1,994 ล้่านดอลลาร์สหรัฐ และ 2,422 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนนธ.ค. และพ.ย. 2555 ตามลำดับ

นายเมธีกล่าวว่า เงินทุนไหลเข้าส่วนใหญ่ไปลงทุนในตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรธปท. ที่จำนวน 1,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพันธบัตรัฐบาล 261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินที่ไหลเข้าลงทุนในหุ้นมีประมาณ 400 ล้านดอลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้หากดูข้อมูลล่าสุดเดือนม.ค.ถึง 14 ก.พ. 2556 จะพบว่าเงินที่ไหลเข้าลงทุนในพันธบัตรและหุ้นมีจำนวน 2,700 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ช่วงหลังจากกลางเดือนก.พ.จนถึงปัจจุบันพบว่าเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรไม่มาก และในตลาดหุ้นสุทธิไหลออกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นช่วงม.ค.-ก.พ. ปีนี้เงินไหลเข้าน่าจะน้อยกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ”นายเมธีกล่าว

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาทั้งที่เงินทุนไหลเข้าน้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งนั้น ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. อธิบายว่า เงินบาที่แข็งเป็นเรื่องของ sentiment คือถ้าทุกคนคิดว่าเงินจะแข็งค่าก็จะยอมจ่ายแพงขึ้นไป จึงทำให้เงินบาทปรับค่าแข็งขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ ในรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนม.ค. 2556 ระบุว่า ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ 107.29 แข็งขึ้น 3.54% จากสิ้ินปี 2555 เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินเยนเป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ข้อมูลล่าสุดเดือนธ.ค. 2555 อยู่ที่ 103.84 แข็งขึ้น 0.45% จากเดือนก่อนหน้าตามการแข็งค่าของดัชนีค่าเงินบาท