สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
มาบตาพุดเป็นที่ที่ตลกจนหัวเราะไม่ออก
ถ้าใครเคยไปเยือนนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ คงจะสังเกตเห็นป้ายจอไฟฟ้าสีๆ ขนาดยักษ์ใหญ่บอกคุณภาพอากาศ แลดูไฮเทค เสมือนว่าเป็นระบบตรวจอากาศอัตโนมัติเพื่อสาธารณะ น่าเชื่อถือ แต่ถ้าไปบ่อยๆ จะพบว่า แม้เมื่อมีควันดำพวยพุ่งออกมาจากปล่องโรงงาน หรือได้กลิ่นแปลกๆ ดมพักเดียวปวดหัวตึ้บ แต่ป้ายคุณภาพอากาศจะแสดงหน้ายิ้มสีเขียว บอกว่าอากาศดี๊ดีอยู่ตลอดเวลา
บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า ป้ายคุณภาพอากาศที่มาบตาพุดอาจเป็นป้ายไฟโฆษณาธรรมดา ไม่ได้ต่อกับเครื่องดักวัด
คุณภาพอากาศจริงๆ จึงไม่ได้ต่างจากป้ายขายเบียร์ไฮเนเก้น เป็นความสุขที่คุณหายใจได้
ในยุคดิจิทัลแห่งโลกโมเดิร์น เราถูกทำให้เชื่อตัวเลขกะพริบไฟบนจอมากกว่าเชื่อการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสของร่างกายเรา ทั้งๆ ที่อวัยวะของเรา – หู ตา จมูก ปาก ผิวหนัง – เป็นเครื่องมือบนตัวที่ช่วยส่งสัญญานเตือนภัยให้เราอยู่รอดมาได้หลายล้านปี จากคุณทวดลูซี่จนถึงเลดี้กาก้าในวันนี้
การยอมรับแต่ข้อมูลตัวเลขจากเครื่องไฮเทคราคาแพง หมายความว่าอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลและอำนาจในการควบคุมข้อมูล ตกอยู่ในมือผู้มีเงินและเทคโนโลยีอยู่เพียงกลุ่มเดียว พวกเขาจึงเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะเป็นผู้กำหนด “ข้อเท็จจริง” ในสังคม
แต่เรายังมีข้อมูลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้ถ้าหัดสังเกต นั่นคือการปรากฎตัวของชีวิตชนิดต่างๆ รอบตัวเรา พูดให้ฟังเป็นวิชาการหรูหราได้ว่า “ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ” การปรากฎตัวของชีวิตต่างๆ เหล่านี้บอกให้เรารู้ว่า คุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เป็นเช่นไร เพราะพืชและสัตว์ชนิดต่างๆ มีความต้องการหรือความสามารถในการปรับตัวต่างกัน พวกมันยังบอกว่าวิถีชีวิตที่เราดำเนินอยู่นั้นยั่งยืนหรือไม่ สามารถอยู่ร่วมกับชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ในโลกได้หรือไม่ เพราะที่สุดแล้ว เราอาศัยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในการขับเคลื่อนระบบวงจรทั้งหลายในธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ อยู่ในภาวะสมดุลเหมาะกับชีวิตของมนุษย์
สำหรับคุณภาพอากาศที่เราหายใจ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่ใช้ได้ดีที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ไลเคน พวกมันเป็นชีวิตขนาดจิ๋ว กึ่งรากึ่งสาหร่าย ขึ้นเกาะตามเปลือกต้นไม้และพื้นผิวต่างๆ มันอาศัยเกาะเฉยๆ ไม่เป็นพิษภัยต่อต้นไม้และมนุษย์ ไลเคนส่วนใหญ่ไม่ทนมลพิษในอากาศ แต่บางชนิดพอทนได้ และบางชนิดทนได้ดีมาก แต่ถ้าอากาศมีมลพิษมากจริงๆ ไลเคนก็ขึ้นไม่ได้เลย

การรู้จักสังเกตชนิดและปริมาณของไลเคนพันธุ์ต่างๆ จึงสามารถบอกให้เรารู้ได้ว่าคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยในพื้นที่หนึ่งๆ นั้นเป็นอย่างไร งานวิจัยหลายชิ้นในยุโรปยังแสดงให้เห็นว่า การกระจายของไลเคนสัมพันธ์กับการกระจายของผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดโดยตรง เพราะทั้งคนและไลเคนรับผลกระทบจากคุณภาพอากาศ ที่ใดที่ไลเคนอยู่ได้ดี คนก็อยู่ได้ดีด้วย
ในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงมีนาคม 2555 มูลนิธิโลกสีเขียวร่วมกับเครือข่ายนักสืบสายลมระยอง จึงออกสำรวจสังคมไลเคนเป็นแนวยาวตลอดพื้นที่ใกล้ชายฝั่งระยอง ครอบคลุมพื้นที่ควบคุมมลพิษละแวกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปจนถึงเขตอำเภอแกลง (ดูผลสำรวจและรายละเอียด อ่านที่นี่หรืออ่านที่นี่)
ถ้าเราใช้สัญญลักษณ์เดียวกับป้ายไฟสีๆ บอกคุณภาพอากาศ: สีเขียวอากาศดีมีไลเคนขนาดใหญ่มากมาย, เหลืองพอใช้, น้ำตาล/แดงอากาศแย่ และดำแย่ที่สุดไม่พบไลเคนเลย ภาพที่เราได้มาก็เป็นจังหวัดผืนสีเขียวแกมเหลือง สดใส งดงาม แต่มีรอยดำไหม้คล้ายบุหรี่จี้ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและ IRPC
นี่ขนาดว่าพื้นที่นี้มีลมระบายอากาศดีสม่ำเสมอตลอด มลพิษปล่อยออกมา ลมพัดออกไปเลย
มันเป็นรอยดำไหม้ที่บอกว่า จมูกที่ได้กลิ่นเหม็นของเรา สายตาที่เห็นควันดำของเรา ไม่ได้โกหก ตัวโกหกน่าจะเป็นป้ายจอไฟฟ้าหน้ายิ้มแป้นแล้นตอแหลที่บอกว่าอากาศดี๊ดีอยู่ได้ตลอดเวลา
สังคมต้องการข้อมูลการตรวจวัดอากาศที่ละเอียดในลักษณะที่เครื่องตรวจวัดอากาศทำได้ แต่เมื่อเรารู้สึกว่าข้อมูลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ เราก็ไม่เชื่อใจกัน ซึ่งหมายความว่าเราเดินหน้าแก้ปัญหาร่วมกันไม่ได้
ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยภาพไลเคนบนต้นไม้ในสวนเกษตรธรรมชาติปลอดสารที่บ้านสองสลึง อำเภอแกลง เพื่อเตือนสติให้เราเห็นว่าภาวะปกติของสภาพแวดล้อมรอบตัวเราควรเป็นเช่นไร
แล้วหันไปดูต้นไม้ที่บ้านคุณ มันล่อนจ้อนมีแต่เปลือกหรือมีไลเคนห่อหุ้มอยู่