ThaiPublica > คอลัมน์ > แด่ปีเตอร์และแมรี่

แด่ปีเตอร์และแมรี่

23 กุมภาพันธ์ 2013


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

สองนักปั่นชาวอังกฤษนายปีเตอร์ รูท และนางแมรี่ ทอมป์สัน ที่มาภาพ : http://sin.stb.s-msn.com/
สองนักปั่นชาวอังกฤษนายปีเตอร์ รูท และนางแมรี่ ทอมป์สัน ที่มาภาพ : http://sin.stb.s-msn.com/

การเสียชีวิตของสองนักปั่นชาวอังกฤษนายปีเตอร์ รูท และนางแมรี่ ทอมป์สัน บนถนนสาย 304 สะเทือนใจทั้งคนไทยคนเทศและโดยเฉพาะคนขี่จักรยานอย่างแรง

หนุ่มสาวคู่นี้ปั่นจักรยานเดินทางท่องเที่ยวรอบโลก ผ่านกลุ่มประเทศอาหรับ ผ่านอัฟกานิสถาน ทิเบต จีน เวียดนาม กัมพูชา มาโดยสวัสดิภาพ แต่มาจบชีวิตอยู่ข้างถนนจังหวัดฉะเชิงเทรา เพียงเพราะหนุ่มไทยขับรถกระบะพุ่งเข้าชน ในขณะก้มลงเก็บหมวกที่ดันหล่นไป

มือหนึ่งถือพวงมาลัย ตีนเหยียบคันเร่ง แต่หัวพร้อมลูกตามุดลงไปเก็บหมวก

คนไทยทุกคนรู้ดีว่า พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่พฤติกรรมหายากแปลกประหลาดบนท้องถนนไทยแลนด์ และปีเตอร์กับแมรี่ก็ไม่ใช่เหยื่อรายแรก พ่อปรีดาแม่มาลีไทยๆ ของเราเองตายจากความประมาทงี่เง่าบนถนนในอัตราที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาจากพม่าเท่านั้น และแม้ว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องถือเป็นความก้าวหน้าของสังคม (จาก 146 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2545 เป็น 107 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2554) แต่อัตราการตายยังลดลงไม่เท่าไหร่เลย (จาก 21 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2545 เป็น 14 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2554)1

ปีเตอร์และแมรี่ถูกรถชนตายอย่างไร้สาระเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แต่เรามารู้ข่าวกันเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ หลังจากเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ ประจานวัฒนธรรมการขับรถในประเทศไทย เราจึงเอะอะกันขึ้นมา ทางการออกมาขอโทษขอโพย และนัยว่าจะปรับปรุงทำป้ายจราจรเป็นภาษาอังกฤษเพิ่ม ทั้งๆ ที่มันไม่เกี่ยวพันกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเลย

เราให้ค่ากับสวัสดิภาพมนุษย์ในชีวิตประจำวันกันต่ำมาก จนภัยอันตรายที่ทุกคนต้องผจญบนถนนทั่วประเทศ บนทางม้าลาย และบนฟุตบาทที่ปล่อยให้มอเตอร์ไซค์วิ่งเฉี่ยวตลอดเวลา กลายเป็นเรื่องปกติที่สังคมจำรับสภาพ

ตำรวจนอกจากจะไม่เอาผิดกับคนทำผิดกฎจราจรแล้ว ตัวเองยังละเมิดกติกาอยู่เป็นประจำ ฝรั่งมาเมืองไทยก็รับเอาวัฒนธรรมนี้มาปฏิบัติหน้าตาเฉย วันก่อนทักเจ้าหนุ่มผมทองบิดมอ’ไซค์บนฟุตบาทถนนสุขุมวิทว่าอยู่บ้านยูไม่ได้ทำแบบนี้ใช่ไหม มันก็แกล้งทำหน้าเหลอพูดว่า “วอทๆ”

อย่าไก๋เลย ประโยคแค่นี้ ไอสปีคอิงลิชชัดหรอกน่า

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับสังคมไทย? ทำไมเราชุ่ยและโอเคกับความชุ่ยที่มีศักยภาพฆ่าคนตายได้ขนาดนี้

ในประเทศอังกฤษ อย่าว่าแต่เมาห้ามขับเลย กินเหล้าแล้วไปนั่งหลังพวงมาลัยในรถที่จอดอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ โดนจับเลย โทษฐานถือครองอาวุธอันตรายในขณะมึนเมา ไม่ได้สติเต็มร้อย

สังคมเขาตระหนักว่า รถยนต์ไม่ใช่แค่พาหนะ แต่รถยนต์ยังเป็นอาวุธฆ่าคนได้อีกด้วย

เมื่อราวสองปีก่อน รถยนต์ในกรุงอัมสเตอร์ดัมขับเฉี่ยวคนปั่นจักรยาน 4 คนบาดเจ็บ ไม่ตาย ไม่สาหัส แต่เป็นข่าวใหญ่ เพราะคนขับรถยนต์สะเพร่า จึงโดนทั้งกฎหมายทั้งสังคมวิจารณ์อย่างหนัก จนนักข่าวอเมริกันที่บังเอิญมาเยือนกรุงอัมสเตอร์ดัมในขณะนั้นรู้สึกแปลกใจและทึ่งต่อปฏิกิริยาของสังคมดัชต์ จนต้องลุกขึ้นเขียนบทความตั้งคำถามถึงการให้ค่าแก่สวัสดิภาพชีวิตมนุษย์ และความชินชากับอุบัติเหตุบนท้องถนนของสังคมอเมริกา ที่ที่เหตุการณ์รถเฉี่ยวจักรยานไม่มีวันเป็นข่าว

สังคมไทยชินชากับอุบัติเหตุจราจรยิ่งกว่าอเมริกามากนัก เราไม่มองว่าสวัสดิภาพบนท้องถนนและทางเท้าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับแล้วร่วมกันผลักดัน แต่สังคมกระแสหลักเรากลับมองว่าคนปั่นจักรยานอยู่ดีไม่ว่าดี หาเรื่องใส่ตัว อยู่ๆ ไปเลือกเป็นคนอ่อนแอเสี่ยงภัยจากคนแข็งแรงกว่า ต้องคุ้มครองตนเองโดยเลือกเป็นกลุ่มแข็งแรงเสียเอง มีเกราะ มีพลังเหนือกว่า จึงถือเป็นทางเลือกที่ฉลาด ยอมรับโลกตามความเป็นจริง

ความจริงบนถนนเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จะดีจะเลวมันขึ้นอยู่กับเราเอง

แต่ก้าวแรกต้องเชื่อก่อนว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ แล้วมาช่วยกันคิดว่าเราทั้งสังคมทำอะไรได้บ้าง

กราฟแสดงอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การตาย การบาดเจ็บ ต่อประชากร 100,000 คน ระหว่างปี 2545-2554 (สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง 2555)

กราฟแสดงอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การตาย การบาดเจ็บ ต่อประชากร 100,000 คน ระหว่างปี 2545-2554 (สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง 2555)
กราฟแสดงอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การตาย การบาดเจ็บ ต่อประชากร 100,000 คน ระหว่างปี 2545-2554 (สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง 2555)

หมายเหตุ: 1 “อุบัติเหตุบนทางหลวง 2554” สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง