มูลนิธิโลกสีเขียวแถลงผลงานวิจัย “สำรวจไลเคนตรวจคุณภาพอากาศมาบตาพุด” เครื่องมือทางชีวภาพที่บ่งชี้มลพิษในพื้นที่ พบว่าภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีอากาศที่แย่ถึงแย่มาก ใจกลางนิคมฯ ไม่พบไลเคนเลย แต่คุณภาพอากาศจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพ้นออกมาจากเขตนิคมฯ
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โครงการนักสืบสายลมมาบตาพุด มูลนิธิโลกสีเขียว แถลงเผยแพร่ผลงานวิจัย “สำรวจไลเคนตรวจคุณภาพอากาศมาบตาพุด” โดย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ มูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า โครงการนักสืบสายลมมาบตาพุดเริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2554 เป็นส่วนหนึ่งของ “นักสืบสายลม” ที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2551 โดยมุ่งหวังให้การสนับสนุนประชาคมทุกฝ่ายของจังหวัดระยอง ด้วยการแนะนำเครื่องมือทางชีวภาพที่สามารถตรวจวัดคุณภาพของอากาศได้ นั่นก็คือ “ไลเคน” ซึ่งชนิดและพันธุ์ไลเคนจะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศ เนื่องจากไลเคนแต่ละชนิดมีความทนทานต่อระดับมลภาวะต่างกัน จึงเป็นเครื่องมือง่ายๆ และราคาถูกที่เหมาะจะให้ประชาคมและเยาวชนสำรวจตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยตนเอง
ในขณะเดียวกันก็สำรวจดูข้อมูลด้านสุขภาพควบคู่กันไป เพื่อเปรียบเทียบความชัดเจนของข้อมูล และเป็นประโยชน์ด้านข้อมูลที่จะทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันหามาตรการในการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป และเป็นฐานคิดที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
การอบรมเรื่องไลเคนดังกล่าว ก็เพื่อให้ทุกๆ ภาคส่วนในระยองตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพในเขตเมือง โดยเบื้องต้นต้องให้ประชาสังคม ชุมชน โรงเรียน มีศักยภาพในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
ส่วนแผนของกิจกรรมจะแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1. พัฒนาและวางแผนการสำรวจไลเคนในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลกับนักวิชาการด้านไลเคน และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมประสานแกนนำในท้องถิ่นเพื่อชี้แจงผลดำเนินงาน และให้บทบาทแกนนำท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากที่สุด
2. อบรมและพัฒนาเครือข่ายประชาคม ตัวแทนชุมชน ครูและเยาวชนในท้องถิ่นจังหวัดระยอง กว่า 200 คน ให้เป็นกำลังหลักในการสำรวจไลเคนในบริเวณต่างๆ โดยมีเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นแกนกลาง
3. จัดทำข้อมูลแผนที่ไลเคน โดยนำข้อมูลที่ได้มาทำแผนที่การกระจายและความหลากหลายของไลเคนในพื้นที่ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยประเมินจากการพบไลเคน และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เดียวกัน
4. นำเสนอข้อมูลการสำรวจไลเคนที่ได้สู่สาธารณะ ทั้งต่อสื่อมวลชนและต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดประเด็นและสร้างเวทีอภิปรายแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งรากึ่งสาหร่าย พบตามต้นไม้ ก้อนหิน และพื้นผิวต่างๆ ทั่วโลก สามารถบ่งชี้ระดับมลภาวะในอากาศโดยเฉลี่ยได้
สำหรับแผนที่ “มองคุณภาพอากาศมาบตาพุด ผ่านไลเคน 2012” ที่สำรวจโดยนักสืบสายลมระยองนั้น ผลปรากฏว่า ในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและตามแนวชายฝั่งระยองทั้งหมด 164 จุด ในช่วงมกราคม 2554 ถึงมีนาคม 2555 พบว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรม IRPC มีอากาศแย่ถึงแย่มาก โดยเฉพาะกลางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้นไม่พบไลเคนเลย แต่เมื่อพ้นเขตนิคมฯ ออกมาพบว่าคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยดีขึ้นเป็นลำดับอย่างชัดเจน ยกเว้นบางเขตที่การจราจรค่อนข้างมาก ผลสำรวจจะถึงแสดงถึงอากาศที่ไม่ดี
ความแตกต่างของคุณภาพอากาศในและนอกนิคมฯ ดังกล่าวแสดงถึงความสามารถในการระบายอากาศของกระแสลมในพื้นที่ ซึ่งเปิดรับลมชายฝั่งและลมมรสุมตามฤดูกาลอย่างสม่ำเสมอ และศักยภาพของดงไม้และแหล่งน้ำในการดูดซับมลพิษ ซึ่งหากมีอยู่มากก็จะมีไลเคนมากตามกัน
แต่การที่ประชาชนเจ็บป่วยเฉียบพลันจากมลพิษในอากาศเป็นครั้งคราวจนต้องส่งโรงพยาบาลนั้น อาจแสดงถึงข้อจำกัดของไลเคนในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ เนื่องจากไลเคนจะบอกคุณภาพโดยเฉลี่ย แต่มลพิษที่ปล่อยมาเฉียบพลันในที่ที่มีการระบายอากาศดี คนจะได้รับผลกระทบทันที่ในขณะที่มลพิษจะระบายไปก่อนที่จะสะสมในไลเคน
ด้าน รศ.ดร.กัณฑรีย์ บุญประกอบ หน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ผลจากการสำรวจไลเคนมีข้อจำกัดที่ว่า ไม่สามารถแปลงผลที่ได้ออกมาเป็นตัวเลขแสดงปริมาณสารเคมีได้ แต่ทุกคนสามารถทำได้และแทบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ต่างกับเครื่องดักจับอากาศที่วิเคราะห์ทางเคมีได้เป็นอย่างดี สามารถแสดงค่าเป็นตัวเลขได้ ซึ่งมีราคาแพงมาก และการเดินเครื่องวัดก็มีค่าใช้จ่ายสูง
อีกทั้งความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจำแนกพันธุ์ไลเคนของผู้สำรวจ เพราะไลเคนแต่ละพันธุ์จะมีความสามารถในการทนทานสารพิษที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ก็มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เช่น ไม่สามารถเข้าไปสำรวจได้ เพราะเป็นพื้นที่เอกชนเช่น สวนการเกษตร หรือบางพื้นที่มีต้นไม้ที่ไม่เหมาะกับการตรวจไลเคน เช่น ไม้เปลือกล่อน จึงต้องเว้นการสำรวจไว้ หรือบางแห่งปลูกล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่จากที่อื่น จึงมีไลเคนจากแหล่งอื่นติดมาด้วย ทำให้ผลประเมินคาดเคลื่อน ดังนั้นจึงต้องพยายามเลี่ยงสำรวจไม้ที่ล้อมไม่ถึง 10 ปี
นอกจากนี้ เครือข่ายประชาคมท้องถิ่นในจังหวัดระยองได้ร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “ประสบการณ์ที่ได้รับจากกระบวนการเรียนรู้เรื่องไลเคน และแนวทางการขยายผลสู่ท้องถิ่น” ด้วย
นางสาวบุบผาทิพย์ แช่มนิล ตัวแทนกลุ่มรักษ์เขาชะเมา กล่าวว่า หลังจากได้รับการอบรมเรื่องไลเคนจากมูลนิธิฯ ก็ได้ขยายผลโดยอบรมให้กับชุมชน และทำโครงการร่วมกับ อบต. และกำลังขยายผลของโครงการไปยังระดับภูมิภาคด้วย
นอกจากนี้ก็ใช้แผนที่ไลเคนที่สำรวจได้มาการันตีคุณภาพอากาศในพื้นที่การเกษตร หากที่ไหนมีคุณภาพดีก็จะได้โลโก้ “ควายยิ้ม” เป็นสัญลักษณ์การันตีคุณภาพ ซึ่งการทำแผนที่ไลเคนนี้ทำให้รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีอากาศอย่างไร ควรป้องกัน ดูแล รักษามันอย่างไร
ด้านนางสาวจิราภรณ์ ภู่สิงห์ ตัวแทนจากโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนเมื่ออบรมเสร็จครูก็นำความรู้มาต่อยอด ใช้ในการเรียนการสอนและตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้นมา เพื่อสำรวจไลเคนในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบ ส่วนเด็กนักเรียนก็นำความรู้กลับไปสอนผู้ปกครองต่อ นอกจากนี้ยังนำความรู้เรื่องไลเคนมาทำเป็นโครงงานด้วย ซึ่งความรู้ที่ได้มานั้นก็ย้อนกลับมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับครูอีกต่อหนึ่ง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครูสู่นักเรียน นักเรียนสู่ผู้ปกครอง และนักเรียนสู่ครู ซึ่งสิ่งที่นักเรียนได้รู้แน่ๆ ก็คือคุณภาพอากาศของบ้านพวกเขา และพื้นที่อื่นๆ ที่เขาได้สำรวจ และก็จะพยายามหาทางแก้ไขในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศไม่ดี เช่น ปลูกต้นไม้
ในขณะที่นางสาวธารทิพย์ อุปะไชย ตัวแทนโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา กล่าวว่า เมื่อเด็กๆ ได้ลองเอาสิ่งที่ได้อบรมมาปฏิบัติจริง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ เด็กๆ ช่างสังเกตมากขึ้น รู้จักไลเคนทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเข้าใจว่าเป็นเชื้อรา เวลาที่เห็นไลเคนตามต้นไม้ก็จะเกิดข้อถกเถียงกันว่าเป็นไลเคนพันธุ์อะไร จากการที่เอาเรื่องไลเคนมาเรียนในหลักสูตรโดยตรง และช่วยให้เด็กๆ มีจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติมากขึ้น และพยายามคิดที่จะหาวิธีแก้ไข
ในส่วนของหน่วยงานรัฐนางสาวนิตยาวรรณ ประกอบกิจ ตัวแทนเทศบาลนครระยอง กล่าวว่า สิ่งสำคัญของความรู้เรื่องไลเคนคือ เป็นประโยชน์อย่างมากในด้านเครื่องมือการสำรวจ ช่วยลดต้นทุนการวิจัย และเป็นแนวทางจะสามารถเชื่อมโยงหรือสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับชุมชนได้
สุดท้ายนายอนุลักษณ์ ถนอมสิทธิกุล ตัวแทนสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า ไลเคนเป็นสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก เป็นการสำรวจที่ทุกคนสามารถทำได้ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หมดเวลาที่จะต่างคนต่างแก้ปัญหาแล้ว
การสำรวจไลเคน ถือเป็นเครื่องมือบ่งชี้มลพิษทางชีวภาพต้นทุนต่ำ ที่ประชาชนทั่วสามารถทำได้ เป็นเครื่องมือสาธารณะที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบสภาวะปกติสุขในท้องถิ่น