สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ด้วยความร้อนเหยียบๆ 40 องศา เดือนเมษายนที่ผ่านมาเรากระหน่ำเปิดแอร์กันบ้าคลั่ง จนได้บันทึกการใช้ไฟฟ้าเยอะเป็นประวัติการณ์ เกือบ 25,000 เมกะวัตต์ ถึงขั้นที่การไฟฟ้าต้องหันไปใช้น้ำมันเตาและดีเซลล์เป็นเชื้อเพลิงเสริมปั่นไฟ มันหมายถึงค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามราคาเชื้อเพลิง
ปรากฎการณ์ร้อนเป็นบ้ากระตุ้นให้เกิดการอภิปรายถึงสาเหตุของความร้อนในสื่ออินเทอร์เน็ต กลุ่มต้นไม้ใหญ่ ผู้รณรงค์การอนุรักษ์ต้นไม้และฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเมืองและตามถนนหนทาง หยิบยกข้อมูลอุณหภูมิในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นไม้เยอะๆ มาเปรียบเทียบ เช่น สิงคโปร์ ร้อนน้อยกว่าเราร่วม 10 องศา เป็นต้น
จริงๆ แล้ว สาเหตุที่ย่านกลางเมืองสิงคโปร์เย็นกว่าเราทั้งๆ ที่ตั้งบนเส้นศูนย์สูตร มาจากปัจจัยหลายประการ แน่นอนว่าต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านคลุมถนนและพื้นที่สีเขียวมากมายเป็นปัจจัยสำคัญมาก ถ้าอยากพิสูจน์ ก็แค่ลองวัดอุณหภูมิตามถนนเปรียบเทียบระหว่างใต้ร่มไม้กับกลางแดด เท่านั้นยังต่างกันได้ถึง 3-4 องศาเซลเซียส แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่มีต้นไม้เป็นดง พื้นเป็นดินเป็นหญ้าแทนคอนกรีต และไม่มีรถพ่นท่อไอเสียร้อนๆ อุณหภูมิยิ่งต่างมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีดงไม้กระจายอยู่มากมายทั่วเมือง ก็จะต่างได้อีกหลายองศา แต่นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นเกาะ ได้ลมทะเล และการวางทิศทางผังเมืองอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้นก็เป็นฐานสำคัญ เช่น ให้ถนนสายหลักตั้งรับทิศทางลมตามธรรมชาติ
กรุงเทพฯ ของเราตั้งอยู่ใกล้ทะเลก็จริง แต่ถนนกลางเมืองของเรามากมายหลายสายตั้งขวางทิศทางลม พอสร้างตึกสองข้างทางก็ไม่มีลมพัดระบายความร้อนระอุอ้าวจากคอนกรีต คายร้อนแอร์ และมลพิษจากท่อไอเสีย ความร้อนของกรุงเทพฯ จึงเป็นความร้อนที่มนุษย์สร้างเสียหลายองศาเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นความร้อนเชิงนโยบาย เพราะขาดนโยบายผังเมืองที่จะดูแลกายภาพและสิ่งแวดล้อมเมืองให้เหมาะสมกับภูมิประเทศท้องถิ่น
เมื่อเราไม่รู้จักคิดใช้ประโยชน์จากพลังของธรรมชาติ ไม่คิดให้ธรรมชาติบริการเรา เราก็ต้องลงทุนบริการตัวเอง ก็จ่ายค่าไฟกันไป ช่วงนี้จึงได้เห็นบทความแนะนำวิธีใช้ไฟฟ้าเปิดแอร์อย่างมีประสิทธิภาพตามสื่อต่างๆ ออกมาถี่เป็นพิเศษ
เพราะว่าเราพึ่งเครื่องปรับอากาศ แนวทางการประหยัดไฟฟ้าของเราจึงมุ่งสู่การปรับปรุงบ้านให้เป็นฉนวนกันความร้อนเก็บความเย็น
นั่นมักหมายถึงการใช้วัสดุก่อสร้างมากขึ้น กระจกสองชั้น ผนังสองชั้น หลังคาหลายๆ ชั้น
บ้านอีโคที่นำเสนอกันทั้งตามนิตยสารและบริษัทธุรกิจก่อสร้างต่างๆ จึงชอบเป็นอาคารปิดสนิทมิดชิด ป้องกันธาตุดินน้ำลมไฟจากภายนอก ให้อาศัยกันอยู่ในฟองอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุม การันตีความสะดวกสบายตราบใดที่ไฟฟ้าไม่ดับ และน่าสนใจว่าบ้านและอาคารที่เจ้าของบอกว่ารักธรรมชาติ อยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มักจะติดกระจกใหญ่มหึมา เห็นวิว ดูโปร่ง แต่ไม่รับลม เพราะกระจกส่วนใหญ่เปิดไม่ได้ โดยเฉพาะกระจกที่ติดในระดับสูง อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นจึงออกไม่ได้ ต้องกระหน่ำเปิดแอร์อย่างเดียว
ต่อให้ใช้วัสดุดีเท่าไหร่ หรือระบบไฟฟ้าทรงประสิทธิภาพเท่าไหร่ มันยังคงเป็นการออกแบบบ้านที่ไม่เข้าท่าอยู่ดี
แทนที่จะยัดเยียดแบบบ้านไปสู้กับธรรมชาติ เราน่าจะหวนกลับไปที่พื้นฐาน เริ่มต้นที่การออกแบบ ให้ธรรมชาติที่มีอยู่เอื้อประโยชน์แก่เรา แล้วจึงค่อยดึงเทคโนโลยีดีๆ มาเสริม จะประหยัดแรงออมทุนไปได้เยอะ
มันเป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรม สถาปนิกทุกคนก็พูดอย่างนี้ และหลายคนก็ปฎิบัติ แต่เอาเข้าจริง โดยทั่วๆ ไปเรากลับไม่เห็นคนไทยสมัยนี้ทำกันเท่าไหร่เลย
ลองดูการสร้างบ้านของสัตว์ต่างๆ ไม่มีสัตว์ชนิดใดโง่สร้างบ้านต้านพลังธรรมชาติเหมือนมนุษย์ยุคนี้ สัตว์หลายชนิดใช้ดินเป็นกำแพงฉนวนกันความร้อน แต่มันมีช่องระบายอากาศเสมอ ระบบระบายอากาศและควบคุมอุณหภูมิในรังปลวกมีประสิทธิภาพสูงมาก จนเหมือนอยู่ในอาคารติดแอร์เย็นสบายกำลังพอเหมาะตลอดเวลา
สถาปนิกบ้านเมืองอื่นหันไปศึกษารังปลวกอย่างละเอียดจนสามารถออกแบบอาคารให้เย็นตามธรรมชาติได้เหมือนติดแอร์ 25-26 องศา ที่มีชื่อที่สุดคือตึกสำนักงาน/ห้างสรรพสินค้า Eastgate Centre ที่ซิมบับเวย์ในทวีปแอฟริกา
ในวงการออกแบบอาคาร เราพูดถึงรังปลวกกันมาก เพราะมันเจ๋งถึงขั้นมหัศจรรย์ แต่ปลวกก็เป็นแค่สัตว์กลุ่มหนึ่ง ยังมีบ้านสัตว์อีกมากมายให้เราเรียนรู้ เช่น รังนกหลายชนิด ที่เลือกยุทธศาสตร์สร้างบ้านโปร่งภายใต้ร่มไม้คุ้มกบาล
เมื่อผู้เขียนมีโอกาสสร้างบ้านเองเป็นครั้งแรก เลยอยากออกแบบบ้านให้ใช้ประโยชน์จากพลังตามธรรมชาติมากที่สุด โดยไม่ต้องพึ่งระบบไฮเทคสมัยใหม่ และเนื่องจากว่าได้บานประตูหน้าต่างรูปร่างต่างๆ นานาจากบ้านอื่นๆ ถึงสามหลัง เอามาผสมกัน จึงไม่ได้ใช้สถาปนิก เพราะมันกลายเป็นรายละเอียดจุกจิกเกินกว่าที่ใครจะมาอดทนทำให้โดยไม่คิดราคาแพง
บ้านนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งใกล้ๆ กับบ้านเพื่อนอีก 3-4 หลังที่ทำนาปลอดสารร่วมกัน มีวิวภูเขาอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งถ้าหันหน้าไปรับวิวตามจริตคนเมืองโหยหาอาหารตา บ้านก็จะร้อนมาก แต่ผู้เขียนก็อยากได้วิว จึงมีโจทย์ใหญ่ว่าจะออกแบบอย่างไรให้ได้ทั้งทิวทัศน์และความเย็น
เพราะขาดทั้งความรู้และประสบการณ์ ผู้เขียนจึงนั่งดูแดดลมตามมุมต่างๆ ของบ้านเพื่อนและในพื้นที่บริเวณนั้นทุกฤดู แก้แบบไปเรื่อยๆ จนครบปี
ได้แบบแล้วก็เริ่มสร้างกับช่างพื้นเมือง ในตอนเริ่มสร้างก็ไม่มั่นใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ จึงเตรียมแผนสำรองไว้เป็นทางออกเสริม หลักง่ายๆ คือมีใต้ถุน เผื่อน้ำท่วมและหลบร้อนยามบ่าย เอาห้องน้ำและครัวไว้ทางทิศใต้รับแดดไป ด้านหนึ่งของครัวยื่นไปหน้าบ้านทางตะวันตก มีชายคายาวยื่นออกมา บังแดดบ่ายให้ห้องนั่งเล่นซึ่งเปิดบานเฟี้ยมกว้างรับวิว มีระเบียงทั้งด้านหน้าและทางทิศเหนือไว้หลบแดด มีลานโล่งเปิดหลังคาเล็กๆ กลางบ้านให้แสงเข้า และระบายลมจากช่องลมที่เยื้องกัน ทั้งเหนือ-ใต้ และออก-ตก ติดบานไหลแบบไทยบ้าน เปิดรับลมก็ได้ ปิดกันลมยามหนาวก็ได้ หน้าจั่วหลังคาก็มีช่องลม
แต่ที่พิเศษสุดคือ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องที่ทำจากขยะกล่องนมมารีไซเคิล นอกจากจะได้อุดหนุนธุรกิจเขียวของจริงแล้ว หลังคากล่องนมยังเบา ไม่แตก ทนทาน แต่ถ้าต้องซ่อมก็ซ่อมเองได้ไม่ยาก ที่สำคัญ มันสะท้อนความร้อนออกไป ผู้ผลิตว่าช่วยทำให้บ้านเย็นกว่ามุงหลังคาลอนคู่ธรรมดาถึง 3-4 องศา (www.greenroof.in.th)
มุงหลังคาตีฝาเสร็จก็เข้าเดือนเมษาพอดี และช่วงปลายเมษาตอนที่ร้อนกันบ้าคลั่งกลางแจ้ง เราก็ได้พบว่าบ้านเราเย็นสบายลมโชยร่มดีทุกมุม ไม่ใช่เฉพาะใต้ถุนหรือระเบียงทิศเหนือที่เผื่อเอาไว้ ตกลงได้ทั้งวิวทั้งเย็นสมใจ (แต่หน้าหนาวยังต้องรอดู ว่าจะตั้งกระบะจุดไฟผิงกลางลานโล่งกลางบ้าน ปิดบานไหลกันลม แหงนหน้าดูดาว)
นี่ขนาดยังไม่ได้ปฎิบัติการแผนเสริม ปลูกต้นไม้บังแดดสร้างลม หรือติดผ้าบังแดดเสริมชายคา
ความสำเร็จมาจากทิศทางตั้งบ้านและหลังคากล่องนม ซึ่งต้องขอบอกว่าเย็นจริงอะไรจริง เพราะเราตั้งแทงค์น้ำไว้บนหลังคาบ้านเพื่ออาศัยแรงดึงดูดโลกช่วยให้มีน้ำไหล มีกระเบื้องกล่องนมมุงบนหอแทงค์น้ำ เป็นหอโด่ขึ้นมากลางแดด แต่ใต้ร่มหลังคาก็คงเย็นดี
ผู้เขียนออกแบบบ้านด้วยการสังเกตธรรมชาติตามจริตนักนิเวศวิทยา/ภูมิศาสตร์ แต่ผลที่ออกมาคลับคล้ายกับบ้านไทยเรือนหมู่ และได้ดึงเทคโนโลยีบ้านไทยที่สามารถปรับตัวให้โปร่งก็ได้ปิดก็ได้ตามสภาพอากาศ เช่น การใช้บานไหลมาเป็นองค์ประกอบ ถึงวันนี้จึงรู้สึกทึ่งในภูมิปัญญาบรรพบุรุษอย่างประจักษ์แจ้ง หลักสร้างบ้านไทยของเราเป็นการสร้างบ้านได้กลมกลืนกับธรรมชาติท้องถิ่นอย่างมากที่สุด ถ้าเทียบกับบ้านสัตว์ในเขตร้อน มันเป็นบ้านที่ผสมผสานเทคโนโลยีของรังปลวก รังนกกระจาบ และรังนกอีแพรดไปพร้อมๆ กัน
หลักนี้นำมาประยุกต์กับการสร้างอาคารสมัยใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีกาแลฟ้อนกระดกช่อฟ้าที่เข้าใจกันว่าเป็นเอกลักษณ์ไทย ปัญญาไทยลึกซึ้งกว่านั้น เราแค่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ก็อปปี้เพียงรูปลักษณ์ภายนอก
เจนีน เบนีอุส เจ๊ดันแห่งเทคโนโลยีเลียนแบบธรรมชาติ ที่โลกยอมรับกันว่าเป็นเทคโนโลยีของยุคการพัฒนายั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า “ยิ่งโลกของเราขับเคลื่อนได้ลม้ายคล้ายคลึงกับกลไกในโลกธรรมชาติมากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะสามารถดำรงอยู่ในโลกใบนี้ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น”
มันน่าภูมิใจที่สังคมเรามีฐานปัญญาของแนวคิดนี้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะฉลาดดึงมาพัฒนากันหรือเปล่าเท่านั้น