ThaiPublica > คอลัมน์ > คุณหนูพลเมืองดี

คุณหนูพลเมืองดี

20 กันยายน 2012


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ที่มาภาพ : http://sitemaker.umich.edu/jillianbarbutti/files/children_learning.gif
ที่มาภาพ : http://sitemaker.umich.edu/jillianbarbutti/files/children_learning.gif

ที่ทำงานผู้เขียนอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนสตรีผู้ดีเก่าแก่แห่งหนึ่ง ช่วงเช้าและช่วงบ่ายถนนแถวนี้จะเป็นอัมพาตด้วยจำนวนรถยนต์มหาศาลที่จอดรอรับบรรดาคุณหนูหน้าใส ซ้อนกันสามแถวเป็นแนวยาวเหยียดจากบริเวณมิวเซียมสยามล้นไปถึงปากคลองตลาด หางแถวหน้าตลาดนั้นจะซ้อนกันถึงห้าแถว ถ้าใครไม่ได้เป็นอิสรชนผู้ปั่นจักรยาน ก็อย่าได้หวังว่าจะขยับไปธุระแห่งหนใดในช่วงนั้นเป็นอันขาด

อีกไม่กี่ปีรถไฟฟ้าใต้ดินก็จะมาถึงย่านนี้ สถานีจะตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนเพียงร้อยกว่าเมตร แต่คาดว่าโรงเรียนก็จะยังทำให้การจราจรติดขัด ไม่ต่างจากโรงเรียนสตรีย่านชิดลม

ถ้าถามผู้ปกครอง พวกเขาจะบอกว่าจำเป็นต้องมีรถส่วนตัวมารับไปส่งลูก เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะเดี๋ยวนี้รถตู้ลักเด็กเยอะมาก แต่คุณหนูเหล่านี้ไม่ธรรมดา พวกเธอมีกิจกรรมพิเศษมากมายเพื่ออบรมขัดเกลาให้เติบโตเป็นเลดี้เปี่ยมพร้อมความสามารถ คุณพี่มีเรียนเปียโน คุณน้องยิมนาสติก เลิกเวลาไม่ตรงกัน บ้านเดียวกันจึงต้องส่งรถพร้อมคนขับมารับคุณน้องเวลาหนึ่ง คันที่สองมารับคุณพี่อีกเวลาหนึ่ง

อันที่จริงเรื่องแค่นี้ทำไมจะจัดการไม่ได้ ไปทางเดียวกันไปกลับคันเดียวกันก็ได้ สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก อยู่เล่นที่โรงเรียนจนเย็นค่ำเป็นประจำ ก็ติดรถกลับกับเพื่อนที่บ้านอยู่ไกลถึงสำโรง ผ่านบ้านคนอื่นหมด คุณพ่อเพื่อนก็ทำหน้าที่ส่งลูกเพื่อนตามรายทาง จนได้ชื่อว่าเป็นแท็กซี่ประจำชั้น สนุกกว่ากลับบ้านแบบตัวใครตัวมัน

ไม่ก็ให้คนขับรถที่มารับไปส่งนั่นแหละ พาขึ้นเรือด่วนต่อรถไฟฟ้าท่าสาทร เร็วกว่านั่งเก๋งเป็นไหนๆ

อ้างเหตุผลให้ตาย ที่สุดแล้วส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องความสะดวกสบายส่วนตัว

พ่อแม่รุ่นผู้เขียนดูจะห่วงกลัวลูกลำบากกว่าพ่อแม่รุ่นตายาย ว่าไปแล้ว ตัวผู้เขียนเองก็คงจัดอยู่ในหมวดคุณหนูเหมือนกัน โตมาในสังคมไทยแบบไม่ต้องทำงานบ้านเพราะมีคนรับใช้ ได้รับการศึกษาดี ไปเรียนเมืองนอกตอนวัยรุ่น แต่พ่อแม่รุ่นก่อนส่งลูกไปโรงเรียนประจำเมืองนอกส่วนหนึ่งเพื่อให้รู้จักช่วยตัวเอง ให้ปีกกล้าขาแข็ง โรงเรียนปิดเทอมสั้นๆ ก็ไปอยู่บ้านเพื่อนบ้าง อยู่กับครอบครัวฝรั่ง/ไทยต่างแดนบ้าง เข้ามหาลัยปีหนึ่งก็ไปอยู่หอหรือหาบ้านเช่าอยู่ร่วมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ทำให้หัดรู้จักใช้ชีวิตร่วมกับผู้คน พ่อแม่บางรายอาจซื้ออพาร์ตเมนต์ให้อยู่ แต่ลูกก็ดูแลบ้านเหมือนกับฝรั่งคนอื่นๆ ทำความสะอาดเอง ทำอาหารกินเอง จัดสรรงบบัญชีจ่ายค่าน้ำค่าไฟเองโดยไม่มีการขอเงินเพิ่ม อยากได้อะไรพิเศษก็เก็บเงินหรือทำงานเสริมหาตังค์เอง พูดง่ายๆ คือมีชีวิตปกติ

แต่คนรุ่นผู้เขียน พอมีลูกกลับกลัวลูกลำบาก (ทั้งๆ ที่ตัวเองวัยเด็กก็ไม่ได้ลำบากอะไร) เมื่อส่งลูกไปเรียนนอก สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือบินไปซื้อบ้านในย่านหรู แล้วจัดการหาคนรับใช้ไปดูแลบ้าน ปิดเทอมแม่ก็จะไปอยู่ด้วย หรือให้ลูกบินกลับมาเมืองไทย อายุถึงเกณฑ์ขับรถได้ก็จะซื้อรถอย่างดีให้ขับ ทั้งๆ ที่อยู่ในเมืองที่มีขนส่งมวลชนหรือเส้นทางจักรยานสะดวกสบายอย่างลอนดอน

วิถีชีวิตที่ได้รับการดูแลปรนเปรอตั้งแต่เด็กจนโต หมายความว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กเหล่านี้จะสามารถโตขึ้นมาเป็นพลเมืองดีได้อย่างแท้จริง เพราะความสะดวกสบายที่เขาได้รับจนเคยชินมีฐานมาจากการเบียดเบียนตักตวงทรัพยากรส่วนรวมมากกว่าประชาชนคนอื่นๆ เสมอ และพวกเขาไม่รู้ตัว

พ่อแม่และโรงเรียนอาจจะพร่ำสอนให้เป็นคนดีมีน้ำใจ แบ่งขนมให้เพื่อน พูดจาไพเราะ ฝึกนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ฉลาดเฉลียว รอบรู้วิชา ทั้งเศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม รู้หมดทุกอย่าง แต่จบชั่วโมงก็จบกัน กลับไปเสวยสุขตามที่เคยชินต่อไป เขาอาจโตขึ้นมาเป็นอาจารย์ เป็นผู้บริหารที่เก่งกาจ เป็นคุณหญิงทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงใจ เป็นรัฐมนตรีที่มุ่งมั่นช่วยเหลือประเทศชาติ คิดถึงสาธารณประโยชน์ แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร ในลักษณะที่จำต้องกระทบความสะดวกสบายอู้ฟู่เกินพิกัดที่เขาเคยชิน พวกเขาจะไม่ทำ เพราะเขากลัวที่จะสูญเสียฐานโครงสร้างที่เป็นวิถีชีวิตไป

เขาจึงพร้อมที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมในเรื่องที่จะรักษาผลประโยชน์วิถีชีวิตของเขาควบคู่ไปด้วย อาทิ ปราบคอร์รัปชัน สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ รักษาป่า ปลูกต้นไม้ในเมือง ปรับปรุงคุณภาพอากาศด้วยการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิง แต่ถ้าต้องออกมาตรการลดความสะดวกสบายของรถยนต์ส่วนตัว เช่น สนับสนุนบีอาร์ที แบ่งเลนให้รถเมล์ แบ่งเลนให้จักรยาน จัดสรรเขตเก็บค่ารถติดจากรถยนต์ส่วนตัว พวกเขาส่วนใหญ่จะไม่เล่นด้วย เพราะความสะดวกสบายของผู้อื่นบังเอิญขัดแย้งกับความสะดวกสบายที่เขาเคยชิน

ระบบการศึกษาที่ดีจึงไม่ใช่การจัดหลักสูตรวิชาความรู้ในห้องเรียน แต่คือการเรียนรู้ที่ถือว่าเป็นทักษะการดำเนินชีวิต อย่างหน้าที่พลเมือง หน้าที่ศีลธรรม หรือสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งหมายถึงความตระหนักรู้ในความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในโลก และความสัมพันธ์กับการกระทำของเรา จนนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมมนุษย์และชีวิตโลกอื่นๆ ต้องเป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง โดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน เป็นวิถีปกติของโรงเรียน ตั้งแต่การเดินทางไปกลับโรงเรียน การลดขยะแยกขยะ ไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ

สมัยนี้เราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่หลายโรงเรียนกลับยกเลิกระบบแก้วน้ำส่วนตัว เลิกบริการก๊อกน้ำดื่ม ไม่มีรถโรงเรียน ไม่มีระบบคาร์พูล ถ้าเด็กนักเรียนถูกทำให้เคยชินว่าพวกเขาเป็นคุณหนู เป็นนางเอกที่ทุกคนต้องให้บริการพิเศษ คนสัญจรคนอื่นๆ ในสังคมต้องยอมเพราะเขาเป็นเด็กหญิงตัวน้อยลูกผู้ดี จะจอดรถส่วนตัวกันเต็มถนนอย่างไรก็ได้ แถมบางคันติดเครื่องเปิดแอร์รอ เขาก็จะเคยชินที่จะเป็นคนมีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองเบียดเบียนเกินควร

ความเคยชินมีพลังมหาศาล ถ้าเราถูกฝึกจนชิน เราก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระที่จะพกขวดน้ำส่วนตัว ใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากขึ้น หรือจัดตารางชีวิตรอขึ้นรถด้วยกัน เมื่อเรามองเห็นว่าความสะดวกสบายของส่วนรวมเป็นความสะดวกสบายเดียวกันกับของเรา เราก็จะอยากขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปด้วยกันอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน และจะพบว่ามันเหนื่อยน้อยกว่าสู้กันแย่งกันมากมาย ทำได้สบายๆ โดยเราไม่ต้องเป็นคนดีศรีสังคมอะไรเลย แค่ขี้เกียจสร้างภาระต่อตนเองและผู้อื่นเท่านั้นเอง

แต่ก็ไม่แปลกที่โรงเรียนชั้นนำจำนวนมากไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ นักวิชาการและข้าราชการไทยยังคงจัดประชุมถกปัญหาโลกร้อน หรือปัญหาการจัดการการเรียนรู้สำนึกสิ่งแวดล้อมโดยมีขวดน้ำพลาสติกขวดเล็กๆ ตั้งแจกจ่ายกันสลอน นั่งห่มผ้าใส่แจ็คเก็ตพูดกันเก่งๆ ในห้องแอร์เย็นเฉียบ มองเห็นปัญหาพฤติกรรมคนอื่นๆ นอกห้องประชุมอย่างทะลุปรุโปร่งได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เขาใช้เงินภาษีเราเดินทางไปดูงานต่างประเทศมามากมาย เห็นตัวอย่างการจัดการการเรียนรู้ในประเทศอื่นๆ ที่บูรณาการวิถีสีเขียวเข้าไปในทุกภาคส่วนของวิถีชีวิตนักเรียนจนเป็นเรื่องปกติ แต่ยังคงกลับมาพูดๆๆ กันถึงแนวทางสร้างหลักสูตรเนื้อหาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาเหมือนที่เคยพูดกันมานานกว่า 15 ปี

ประชุมกันอย่างไร ก็สอนกันในโรงเรียนแบบนั้น และคุณหนูที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นดอกเตอร์ในวันหน้า ก็จะได้มานั่งประชุมกันต่อไปเช่นเดิมกระนั้นหรือ

คิดกันมาเยอะแล้ว พูดกันมาเยอะแล้ว ถึงเวลา ณ บัดนาวที่จะลงมือทำ เพราะทางออกจากวิกฤติคือการ “เป็น-อยู่-คือ” ร่วมกันในสังคม