ThaiPublica > คอลัมน์ > กติกาน้ำ ตอน 3: ปรากฎการณ์ในยุโรป (ต่อ)

กติกาน้ำ ตอน 3: ปรากฎการณ์ในยุโรป (ต่อ)

22 ธันวาคม 2011


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

น้ำไม่ได้เป็นเพียงทรัพยากรที่มีโมเลกุลประกอบด้วยไฮโดรเจนสองตัวจับมือกับออกซิเจนหนึ่งตัวที่เราต้องใช้บริโภคอุปโภค หรือเป็นเพียงภัยอันตรายที่ต้องหลีกเลี่ยง แต่มันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชีวิตจำนวนมาก และเป็นสื่อเชื่อมโยงการทำงานของทุกระบบนิเวศ มนุษย์เราไม่ค่อยจะตระหนักรู้ความสำคัญของระบบนิเวศน้ำเท่าไหร่ เพราะเราเป็นสัตว์บก มองไม่เห็นชีวิตใต้น้ำ ยิ่งสัตว์บกในเมืองยิ่งถูกปิดกั้นไม่ได้รับรู้ถึงความเป็นไปในธรรมชาติรอบตัว

ลองหยดน้ำลงบนกระจก สังเกตดูจะเห็นว่ามันไม่เคยไหลลงมาเป็นเส้นตรง ไม่ว่าเราจะตั้งกระจกให้ตรงแค่ไหน น้ำจะไหลคดเคี้ยวเสมอ มีโจ๊กแซวกันในหมู่นักนิเวศแม่น้ำว่า ผู้ที่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดน้ำจึงไม่ไหลเป็นเส้นตรงสมควรได้รับรางวัลโนเบล

แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำไม่ไหลเป็นเส้นตรง แต่เราต้องตระหนักว่านั่นคือพฤติกรรมตามธรรมชาติของมัน และฉลาดพอที่จะไม่ไปบีบบังคับให้มันไหลตรง เพราะธรรมชาติการเคลื่อนไหวของน้ำเป็นปัจจัยหลักที่วางรากฐานระบบนิเวศน้ำ ความคดเคี้ยวของมวลน้ำแกะสลักกายภาพพื้นผิวใต้น้ำให้เป็นภูมิประเทศที่หลากหลายไม่แพ้ภูมิประเทศบนบก มีแก่ง มีเกาะ มีแอ่ง มีวังน้ำ มีถ้ำ มีโพรง มีร่อง ที่สำคัญ โค้งเว้าของลำน้ำทำให้น้ำกระเพื่อมหรือกระฉอกแตกซ่าน ดึงเอาอากาศเข้ามาในมวลน้ำ ฟอกน้ำเหมือนปอดฟอกเลือด ทำให้ลำน้ำมีศักยภาพในการบำบัดตัวเอง

ถ้าคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล มนุษย์ที่ฉลาดจะมองเห็นเม็ดเงินมหาศาลที่จะออมไว้ได้ในกระบวนการผลิตน้ำประปา ประเทศเยอรมันคิดบัญชีตัวนี้ และตกลงอนุรักษ์กายภาพแม่น้ำไว้ให้มันบริการทำความสะอาดน้ำให้สังคมมนุษย์ ใครเคยไปเที่ยวเมืองเบอร์ลิน ก็ให้รู้ด้วยว่าน้ำที่ไขมาจากก๊อกถึง 70 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำกรองจากลำน้ำธรรมชาติล้วนๆ ไม่ผสมคลอรีนหรือสารเคมีใดๆ แค่ฟอกอากาศเพิ่มด้วยการพ่นเป็นสเปรละอองน้ำก่อนกรองเท่านั้นเอง ง่ายกว่า ถูกกว่า สะอาดกว่าน้ำประปาบำบัดเป็นไหนๆ เพราะปลอดสารเคมีแปลกปลอม

สัตว์น้ำใช้ชีวิตตามท้องที่ต่างๆ ใต้น้ำ อาจวางไข่ในแก่ง วางไข่ตามพงพืช เลี้ยงลูกในวัง หากินตามซอกหลืบ ฯลฯ ไม่ต่างจากเราไปทำงานสีลม จ่ายตลาดสุขุมวิท นอนพักที่บางนา หลายชนิดจึงอยู่ไม่ได้ถ้าลำน้ำถูกปรับสภาพดาดปูนให้เป็นท่อตรงๆ

และที่ขาดไม่ได้คือพื้นที่ริมฝั่งน้ำ เป็นพรมแดนแนวตะเข็บระหว่างบกและน้ำ มันเป็นโลกเปียกแฉะครึ่งบกครึ่งน้ำ ช่วงหน้าน้ำก็ท่วมเป็นส่วนหนึ่งของโลกใต้น้ำ พอน้ำลดในหน้าแล้งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกบนบกที่มีปุ๋ยฉาบบนหน้าดินอุดมสมบูรณ์ บางแห่งเป็นหนองเป็นบึงแฉะๆ เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนชั้นดี มีพรรณพืชมหัศจรรย์ที่สามารถปรับตัวอยู่กับน้ำท่วมได้ บางชนิดกินแมลง มีใบแปลกๆ ออกดอกสวยงาม ที่ยุโรปมีทุ่งดอกไม้น้ำท่วม ของไทยมีหลากหลายยิ่งกว่า มีทั้งที่เป็นต้นไม้ ป่าบุ่งป่าทาม และที่เป็นดงหญ้า ดงกก หรือทุ่งดอกไม้สีเหลืองสีม่วงสีเงิน

นอกจากพื้นที่ธรรมชาติริมน้ำจะเป็นที่วางไข่ หากิน จำศีล จับคู่ผสมพันธุ์ ฯลฯ ของทั้งสัตว์น้ำสัตว์บกหลายชนิดแล้ว เหตุผลสำคัญที่มนุษย์พึ่งรักษามันไว้คือเพื่อให้มันบริการรับบทบาทแนวกันชน มันเป็นพื้นที่รับน้ำเอ่อล้นตามธรรมชาติ จึงช่วยป้องกันน้ำท่วม และพืชพงธรรมชาติริมฝั่งน้ำช่วยยึดตลิ่ง ดักตะกอนและดูดซับมลพิษที่ไหลบ่าลงมาสู่แม่น้ำและส่งต่อไปถึงทะเล (ดูตอนที่ 2)

เมื่อสหภาพยุโรปลุกขึ้นวางแนวทางการจัดการน้ำร่วมกัน เป้าหมายสูงสุดที่กำหนดไว้จึงเป็นการฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ถึงขั้นที่ปรากฎ “สถานภาพทางนิเวศที่ดี” (good ecological status) ซึ่งบ่งชี้ได้ด้วย “ความปกติสุขของหลากหลายชีวิตน้ำ” (good welfare of aquatic species) พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ปรากฎเป็นความหลากหลายทางชีวภาพทำหน้าที่ขับเคลื่อนวงจรต่างๆ ในระบบนิเวศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าพวกมันอยู่ได้ดี เราก็รู้ได้เลยว่าระบบการทำงานของสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่มีคุณภาพดีสำหรับชีวิตเราด้วย

ที่สุดแล้ว ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมได้กับชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้คือรูปธรรมของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เป้าที่ตั้งไว้เป็นธงชัยในความฝันที่สหภาพยุโรปต้องวางแผนเดินทางไปให้ถึง โดยแต่ละท้องที่หาวิธีการเองและนำมาแลกเปลี่ยนกัน แผนที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังคือการดำเนินการของรัฐแบรนด์เดินเบิร์ก
กรอบแนวทางจัดการน้ำ (Water Framework Directives, WFD) ตั้งเป้าขึ้นในปี 2000 ในประเทศเยอรมันมีบุคลากรจากรัฐส่วนกลางและรัฐท้องถิ่นเข้าร่วมกันเป็นคณะทำงานพิเศษศึกษาจัดทำข้อเสนอแนะเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติในระดับท้องถิ่น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มีคณะทำงานย่อยซึ่งรวมเอ็นจีโอและผู้นำในท้องถิ่นร่วมงานในส่วนต่างๆ โดยวางกรอบเวลาการทำงานดังนี้

ปี 2004 ได้ระบบข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการจัดจำแนกลักษณะแหล่งน้ำทั้งระบบในท้องที่ ตลอดจนข้อมูลกิจกรรมมนุษย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประตูน้ำ การจัดการริมฝั่งน้ำ การบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

ปี 2007 ระบุระบบการเฝ้าระวัง ทั้งวิธีการเฝ้าระวังตรวจสอบสถานภาพแหล่งน้ำ และเครือข่ายการเฝ้าระวัง

ปี 2009 ได้แผนจัดการลุ่มน้ำ ลำดับความสำคัญ เช่น แหล่งน้ำที่ต้องฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์ปลา และมาตรการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ

ปี 2012 เริ่มดำเนินการตามแผน

ปี 2015 บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ และถ้าพบว่ายังไม่บรรลุให้ปรับแผนและขยับเป้าใหม่เป็นปี 2021 และ 2027 ตามลำดับ

เห็นได้ว่า แผนทั้งหมดเน้นการใช้ข้อมูลและความรู้อย่างละเอียดเป็นฐานการจัดการ ภายในปี 2009 ทางรัฐแบรนเดนเบิร์กจึงได้องค์ความรู้ล่าสุดของสถานภาพแหล่งน้ำ จัดเก็บเป็นแผนที่เข้าถึงได้ง่าย รู้ด้วยว่ายังขาดข้อมูลสำคัญอะไรอยู่

ภายในปี 2009 รัฐแบรนเดนเบิร์กจึงรู้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ถึงเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยแค่ใด ในส่วนของแหล่งน้ำผิวดินได้ข้อสรุปว่า

แหล่งน้ำไหล : 6.9 เปอร์เซนต์อาจบรรลุเป้าภายในปี 2015 ได้ 72.5 เปอร์เซนต์เป็นไปไม่ได้ และ 20.6 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ชัดเจน

แหล่งน้ำนิ่ง : 27.9 เปอร์เซนต์อาจบรรลุเป้าภายในปี 2015 ได้ 51.8 เปอร์เซนต์เป็นไปไม่ได้ และ 20.3 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ชัดเจน

นี่คือจุดแข็งของวัฒนธรรมเยอรมัน ความล้มเหลว การพลาดเป้า ไม่ถือเป็นเรื่องอับอายขายหน้า แต่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและปรับปรุงจนไปถึงเป้าที่วางไว้ให้ได้ในที่สุด
นี่คือทัศนคติที่เราต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

หมายเหตุแนวทางดำเนินการจัดการแหล่งน้ำของรัฐแบรนเดนเบิร์กมีรายละเอียดทางเทคนิคที่น่าสนใจอีกมาก ผู้เขียนจะพยายามแปล power point มาอัพโหลดให้ดูกันในโอกาสต่อไป