ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมควบคุมมลพิษรายงานผลตรวจพื้นที่มาบตาพุด “โทลูอีนระเบิด-คลอรีนรั่ว” ระบุอยู่ระดับ”ปกติ”

กรมควบคุมมลพิษรายงานผลตรวจพื้นที่มาบตาพุด “โทลูอีนระเบิด-คลอรีนรั่ว” ระบุอยู่ระดับ”ปกติ”

2 มิถุนายน 2012


กรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวผลการติตตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่มาบตาพุดนายศักดา นพสิทธิ์ (ที่4จากซ้าย)และนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง (ที่5จาก5ซ้าย)
กรมควบคุมมลพิษแถลงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่มาบตาพุด โดยนายศักดา นพสิทธิ์ (ที่4จากซ้าย)และนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง (ที่5จากซ้าย)

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงข่าวผลการติตตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมกรณีเพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ขึ้นบริเวณหน่วยการผลิตที่มีการใช้สารโทลูอีน (toluene) ในการล้างถังและตัวทำละลายของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด ซึ่งมีการรั่วไหลของสารเคมีและควันดำสู่บรรยากาศ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 และเกิดกรณีฉุกเฉินจากการรั่วไหลที่วาล์วควบคุมการจ่ายก๊าซคลอรีนของหน่วยผลิตกรดเกลือ ของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้เกิดก๊าซคลอรีนรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555

ต่อเรื่องดังกล่าว นายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะทำงานในรูปแบบไตรภาคีเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คพ. ส่วนราชการท้องถิ่น และผู้แทนภาคประชาชน โดย คพ. ได้รับมอบหมายให้ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและอากาศ ในพื้นที่เกิดเหตุและชุมชนโดยรอบจำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตากวน ชุมชนซอยโสภณ ชุมชนมาบตาพุด ชุมชนบ้านบน ชุมชนอิสลาม ชุมชนห้วยโป่ง และบริเวณหน้าโรงงาน บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 6-14 พฤษภาคม 2555 ซึ่งภาพรวมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ อากาศ และไอระเหยสารเคมีในดินทุกพื้นที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายบางชนิดในน้ำทิ้งบริเวณรอบโรงงาน

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากการตรวจสอบปริมาณสารเคมีในพื้นที่หลังเกิดเหตุ และติดตามตรวจสอบการตกค้างของสารเคมีในบรรยากาศด้วยเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา (Portable Unit) ในสารเคมี 5 ชนิด ได้แก่ โทลูอีน สไตรีน 1,3-บิวทาไดอีน แอมโมเนีย และไวนีลคลอไรด์ พบค่าความเข้มข้นของสารเคมีดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

ส่วนผลการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศที่มีการตรวจวัดเป็นประจำในพื้นที่มาบตาพุด พบค่าความเข้มข้นของ 1,3–บิวทาไดอีน โทลูอีนและสไตรีน มีค่าไม่เกินจากที่ตรวจวัดได้ในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุ ทั้งนี้ในส่วนของเบนซีน และ 1,3-บิวทาไดอีน และ 1,2-ไดคลอโรอีเธน เป็นส่วนที่พบในพื้นที่อยู่แล้ว

ส่วนผลการตรวจวัดปริมาณไอระเหยสารเคมีในดิน (soil gas) ของทั้ง 6 ชุมชนโดยรอบ พบ 1,3-บิวทาไดอีน และไวนิลคลอไรด์ ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

ด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำ พบว่าน้ำขังที่เกิดจากการดับเพลิงในโรงงานและบริเวณรอบนอกโรงงานบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด ค่าพารามิเตอร์ทั่วไป เช่น ค่าความเป็นกรดด่าง ค่าความนำไฟฟ้า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งอุตสาหกรรม และพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย ได้แก่ โทลูอีน เบนซีน สไตรีน อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน (เนื่องจากไม่มีการกำหนดเกณฑ์คุณภาพน้ำทิ้งอุตสาหกรรม จึงเปรียบเทียบกับเกณฑ์ดังกล่าว)

ส่วนคุณภาพน้ำผิวดินก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายก็อยู่ในระดับปกติ ยกเว้นบริเวณปากคลองชากหมากซึ่งมีสารไดคลอโรมีเทนสูง คาดว่ามาจากโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ ด้านคุณภาพน้ำทะเล คุณภาพน้ำบ่อน้ำตื้นและคุณภาพน้ำฝน พบว่าพารามิเตอร์ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีก่อนเกิดเหตุ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ คพ. ยังคงติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายงานผลแก่ประชาชน และนำมาตรการต่างๆ เช่น โครงการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) การพัฒนาค่ามาตรฐานเฉพาะประเภทโรงงาน และการฝึกอบรมการสื่อสารความเสี่ยง มาดำเนินการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวทางในการควบคุมการปลดปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด นอกจากนี้ยังจะจัดหน่วยงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 16 หน่วย เพื่อให้การดำเนินการควบคุมมลพิษในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ