ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : ผลสำรวจ ” นิคมมาบตาพุด” สะสมมลพิษสาร “ก่อมะเร็ง”

30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : ผลสำรวจ ” นิคมมาบตาพุด” สะสมมลพิษสาร “ก่อมะเร็ง”

26 มกราคม 2013


ที่มาภาพ: Greenpeace
ที่มาภาพ: Greenpeace

เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประชาชนจังหวัดระยองอยู่ในสภาวะจำยอมต้องเสีย “ต้นทุนชีวิต” มากกว่าพื้นที่อื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนสุขภาพ ที่ทุกวันนี้ชาวระยองต้องเผชิญกับปัญหาการปล่อย “มลพิษ” ของโรงงานอุตสาหกรรม

ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เป็นการตั้ง “สมมุติฐาน” ขึ้นมากล่าวหา

จากข้อมูลกรมมลพิษ ซึ่งสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รายงานไปก่อนหน้านี้ เปิดรายงานคุณภาพน้ำมาบตาพุด – พื้นที่ควบคุมมลพิษ จ.ระยอง (1) … ปนเปื้อนทั้งสารหนู เหล็ก แมงกานีส ห้ามบริโภค!! และ เปิดรายงานคุณภาพน้ำมาบตาพุด–พื้นที่ควบคุมมลพิษ จ.ระยอง (2)…สารพิษปนเปื้อนทั้งในดิน–น้ำใต้ดิน–สัตว์น้ำ

นอกจากนี้จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในปี 2550 ของกรมควบคุมมลพิษ ที่พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs จำนวน 60 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งถึง 20 ชนิด ประกอบไปด้วย

Acetaldehyde, Acrylonitrile, Benzene, Benzyl Chloride, 1,3-Butadiene, Bromomethane, Carbon Tetrachloride, Chloroethane/Ethylchloride, Chloroform, 1,2-Dibromoethane, 1,4-Dichlorobenzene

1,2-Dichloroethane, Dichloromethane, 1,2-Dichloropropane, 1,4-Dioxane, 2-Propenal/Acrolein, Tetrachloroethylene, 1,1,2,2-Tetrachloroethane, Trichloroethylene และ Vinyl Chloride

นอกจากนี้ ยังพบฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) เจือปนในอากาศด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมหลักอย่างอำเภอมาบตาพุด

จากการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพจากศูนย์บริการสาธารณสุขในปี 2552 ทั้ง 5 แห่งในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ประกอบด้วย ตำบลเนินพะยอม ตำบลตากวน ตำบลเกาะกก ตำบลมาบข่า และตำบลโขดหิน พบว่า อัตราการเจ็บป่วยที่พบมากที่สุดคือ โรคระบบหายใจ ที่มีประวัติผู้ป่วยนอกอยู่ถึง 21,223 ราย รองลงมาคือ โรคระบบย่อยอาหาร รวมโรคในช่องปาก 13,388 ราย อันดับที่ 3 โรคระบบไหลเวียนเลือด 8,196 ราย อันดับที่ 4 อาการแสดงและสิ่งผิดปกติที่พบได้จากการตรวจทางคลินิก และทางห้องปฏิบัติการ ที่ไม่สามารถจำแนกโรคในกลุ่มอื่นได้ 7,123 ราย

อันดับที่ 5 โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่างและเนื้อยึดเสริม 4,933 ราย อันดับที่ 6 โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตาบอลิซึม 4,880 ราย อันดับที่ 7 โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง 2,812 ราย อันดับที่ 8 โรคติดเชื้อและปรสิต 1,797 ราย อันดับที่ 9 สาเหตุจากภายนอกอื่นๆ ที่ทำให้ป่วยหรือตาย 1,432 ราย อันดับที่ 10 โรคตารวมส่วนประกอบของตา 1,184 ราย

อันดับที่ 11 โรคระบบประสาท 1,040 ราย อันดับที่ 12 โรคระบบสืบพันธ์รวมปัสสาวะ 680 ราย อันดับที่ 13 โรคหูและปุ่มกกหู 531 ราย อันดับที่ 14 โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด และความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน จำนวน 332 ราย อันดับที่ 15 ภาวะการแปรปรวนทางจิตและพฤติกรรม 273 ราย อันดับที่ 16 อุบัติเหตุจากการขนส่งและผลที่ตามมา 210 ราย อันดับที่ 17 ภาวะแทรกในการตั้งครรภ์ การคลอด และระยะหลังคลอด 139 ราย

อันดับที่ 18 เนื้องอก มะเร็ง จำนวน 111 ราย อันดับที่ 19 ภาวะผิดปกติของทารกที่เกิดขึ้นในระยะปริกำเนิด (อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึง 7 วันหลังคลอด) 30 ราย อันดับที่ 20 รูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด การพิการจนผิดรูปแต่กำเนิดและโครโมโซมผิดปกติ 18 ราย และอันดับที่ 21 การเป็นพิษและผลที่ตามมาจำนวน 1 ราย

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มโรคที่ชาวมาบตาพุดมีปัญหามากที่สุด คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ซึ่งหากย้อนไปดูสถิติตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจะพบว่า การเพิ่มของกลุ่มโรคดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2548 มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 11,113 ราย

ปี 2549 มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 12,745 ราย

ปี 2550 มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 15,970 ราย

ปี 2551 มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 18,959 ราย

ปี 2552 มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 21,223 ราย

นอกจากนี้ ใน “การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากอุตสาหกรรม” โดย รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ และคณะ ได้ทำการศึกษาและพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) มีความสัมพันธ์กับกลุ่มโรคบางโรค เช่น มะเร็ง การคลอดก่อนกำหนด และการเกิดของทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

โดยการศึกษาดังกล่าว ได้ศึกษาจากประชากรที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในรัศมี 10 กิโลเมตร

ผลการศึกษาได้บ่งชี้ว่า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบนิคมอุตสาหกรรม ทั้งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ผลกระทบที่เกิดจากการรวบกวนระบบประสาท รวมถึงผลกระทบต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติ

โดยผู้ที่อยู่อาศัยใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบมากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยห่างขึ้นตามระยะทางระหว่างที่อยู่อาศัยกับนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากจุดที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมมีปริมาณของมลพิษมากกว่าจุดที่อยู่ห่างออกไป

ในส่วนของผลการศึกษาอาการทางระบบประสาทพบว่า โดยรวมแล้วผู้ที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมมีผลทดสอบด้อยกว่าผู้ที่อยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรม โดยในบางแบบทดสอบ ผู้ที่อยู่ในระยะทางน้อยกว่า 3 กิโลเมตรจากนิคมอุตสาหกรรม มีคะแนนถูกต้องน้อยกว่าผู้ที่อยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรม 7 กิโลเมตร ถึง 2 เท่า!

แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชุมชนที่สัมผัสมลพิษทางอากาศจากนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการมีผลการทดสอบทางประสาทจิตวิทยาขั้นต่ำ

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่อาศัยในระยะทางน้อยกว่า 3 กิโลเมตร มีอาการหลายด้าน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม อ่อนล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง วิตกกังวล หลงลืมง่าย และซึมเศร้ามากกว่า 1-2 เท่าของของผู้ที่อยู่ห่างออกจากนิคมอุตสาหกรรม สอดคล้องกับรายงานที่ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในระยะ 4 กิโลเมตรจากนิคมอุตสาหกรรม จะได้กลิ่นเหมือนละมุดหรือฝรั่งสุก ซึ่งอาจเป็นกลิ่นของ Styrene ที่อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทส่วนกลางทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลกระทบถึงหญิงมีครรภ์ที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด และการให้กำเนิดทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศต่างๆ แต่หากมีการลดมลพิษลงอาจสามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึงร้อยละ 17

ที่สำคัญยังพบว่า มลพิษที่ชาวมาบตาพุดไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น อาจจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพของเด็กในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมองในวัยต่างๆ หากมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปอด อาจก่อให้เกิดการเป็นหอบหืด และนำไปสู่การเกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้

ผลการศึกษาชิ้นนี้ถือว่ามีความสำคัญทางสาธารณสุข โดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุด เนื่องจากได้ทำการศึกษาครอบคลุมประชาชนกว่า 20,000 คน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลในส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสุขภาพ และพัฒนานโยบาย กลยุทธ์ และการวางแผนเพื่อส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อให้ชาวมาบตาพุดมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าเดิมได้

แต่ทว่าในปัจจุบัน “ตัวเลข” ของสารอินทรีย์รเหยง่ายที่อ.มาบตาพุดที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำการสำรวจพบว่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายบางตัวยังคงมีค่าความเข้มข้นเกินค่ามาตราฐานอยู่!