ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > เจาะ “เมกะโปรเจกต์” EEC ปี 64 เอกชนมั่นใจ-ขนเงินลงทุนในพื้นที่กว่าแสนล้าน

เจาะ “เมกะโปรเจกต์” EEC ปี 64 เอกชนมั่นใจ-ขนเงินลงทุนในพื้นที่กว่าแสนล้าน

10 กุมภาพันธ์ 2021


เจาะ “เมกะโปรเจกต์” EEC ปี 64 ปีทองแห่งการลงทุน เอกชนมั่นใจสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เตรียมลงทุนผ่าน BOI – ตอกเสาเข็มโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้าน สกพอ.เดินหน้าวางโครงข่าย 5G – ระบบคลาวด์ – ตั้งศูนย์ Bigdata รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ต่อจากตอนที่แล้ว ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) พยายามหยิบยกตัวอย่างมาอธิบายที่มาที่ไป ตลอดจนกลไกการทำงานของ “EEC องค์กรต้นแบบแห่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ สกพอ. ร่วมกับรัฐมนตรีอีก 14 กระทรวง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อรองรับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

ก่อนจะไปตอบคำถามที่ว่าในปี 2564 สกพอ.เตรียมแผนการขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างไร? ดร.คณิศ ได้กล่าวถึงผลงานของ EEC ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า ตามแผนการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ EEC (ฉะเขิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) เราจะแบ่งออกเป็น 4 เฟส คือ เฟสแรก ผ่านร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 กำหนดยุทธศาสตร์ และจัดทำแผนการลงทุนใน EEC เฟสที่ 2 นำแผนการลงทุน และแผนการพัฒนาพื้นที่ สู่ภาคปฏิบัติ เริ่มจากการออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชน เข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC จนกระทั่งได้ตัวผู้ชนะประมูล และมีการลงนามในสัญญาผูกพันไว้เรียบร้อยแล้ว 4 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 650,000 ล้านบาท อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก , โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 เป็นต้น

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

“3 ปีที่ผ่านมา สกพอ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คิดเป็นมูลค่า 650,000 ล้านบาท มาได้อย่างไรนั้น กลไกที่สำคัญที่สุด คือ การเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐโดยใช้รูปแบบของ PPP ถามว่า ถ้าให้รัฐลงทุนแต่เพียงฝ่ายเดียว เงินจำนวนมากขนาดนี้รัฐบาลจะเอางบประมาณจากไหน แต่ถ้าให้เอกชนลงฝ่ายเดียว เอกชนก็ไม่เอา เพราะกลัวความเสี่ยงโครงการลงทุนใน EEC ไม่เกิด หรือ นโยบายเปลี่ยน เอกชนก็เจ้ง ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องมาแชร์ความเสี่ยงร่วมกัน โดยรัฐลงทุน 20% เอกชนลงทุน 80% หากโครงการลงทุนไม่เกิด ก็จะได้รับผลกระทบกันทั้ง 2 ฝ่าย” ดร.คณิศ กล่าว

เฟสที่ 3 เร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ลงนามกันไปแล้วให้เป็นตามกำหนดเวลา และเงื่อนไขของสัญญา ขณะเดียวกัน ก็ต้องสนับสนุนโครงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ควบคู่ไปกับการยกระดับการศึกษาของบุคลากรในพื้นที่ ทั้งในระดับอาชีวะ ปริญญาตรี-โท-เอก รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งเร่งพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นในโครงการเมืองอัฉริยะ หรือ “Smart City” ความคืบหน้าของโครงการลงทุนใน EEC ตอนนี้อยู่ในเฟสที่ 3

และเฟสที่ 4 ระยะสุดท้าย สกพอ.จะต้องเร่งรัดลงทุนในโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ซึ่งต้องเริ่มลงมือทำกันตั้งแต่ต้นปี 2564 เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตประมาณ 1,000,000 คน รวมทั้งให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ภายหลังโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567

สำหรับความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดร.คณิศ กล่าวว่าหลังจากลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนไปแล้ว การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) กำลังเร่งเวนคืนที่ดินประมาณ 800 ไร่ และเคลียร์พื้นที่บางส่วนที่มีท่อก๊าซธรรมชาติ สายไฟฟ้า ท่อน้ำประปาพาดผ่านตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมแล้วประมาณ 200 ยูนิต คาดว่า รฟท.จะเคลียร์พื้นที่เสร็จ และส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนผู้รับสัมปทานได้ในช่วงกลางปี 2564 จากนั้นเอกชนก็จะเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ทันที

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตอนนี้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการถมดินและคาดว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างท่าเรือได้ภายในปี 2564 ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้คัดเลือกเอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ได้แล้ว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง

ความคืบหน้าล่าสุด โครงการอยู่ระหว่างการเจรจาค่าผลประโยชน์ตอบแทนกับเอกชนผู้รับสัมปทาน ล่าสุดฝ่ายเอกชนได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนแบบคงที่ประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ที่ 32,000 ล้านบาท แนวทางแก้ปัญหาในตอนนี้ คือ ฝ่ายเอกชนอาจจะต้องปรับเพิ่มข้อเสนอในส่วนของค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบแปรผัน ซึ่งคำนวณจากปริมาณตู้คอนเทรนเนอร์ที่เข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือ หากได้ข้อยุติ สกพอ.จะต้องทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และที่ประชุม ครม. เพื่อแก้ไขมติที่ประชุม ครม.ก่อนหน้านี้ คาดว่า กทท.จะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ภายในช่วงต้นปี 2564 และเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ด้านขีดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด ตอนนี้ยังไม่เต็ม Capacity เท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องเริ่มลงทุนพัฒนาท่าเรือให้มีความทันสมัย รองรับประมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตกันตั้งแต่วันนี้

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ สกพอ.ส่งทีมงานเข้าไปสำรวจท่าเรือแหลมฉบัง พบว่ามีการขนส่งสินค้าทางรางประมาณ 4-5% ขณะที่ท่าเรือในต่างประเทศส่วนใหญ่มีการขนส่งทางรางเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ดังนั้น ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เราจะเอารถไฟเข้าไปที่ท่าเรือ รวมทั้งติดตั้งแท่นยกสินค้าลงจากเรือ หรือ ยกสินค้าขึ้นเรือ ด้วยระบบออโตเมชั่น (Automation) ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรางให้ได้ 30% ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้อีกด้วย

“ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างท่าเรือแแหลมฉบัง เฟสที่ 3 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ก็จะดำเนินโครงการท่าเรือบก หรือที่เรียกว่า “Dry port” ควบคู่ไปด้วย เพื่อเชื่อมโยงกับท่าเรือบกในหัวเมืองสำคัญ ๆของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมืองคุนหมิง ฉงชิ่ง ประเทศจีน , เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต ประเทศลาว , เมืองย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา , เมืองปอยเปต พนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม โดย Dryport ของ กทท. จะเชื่อมโยงมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ทั้งทางบก ราง เรือ และอากาศ ผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคในอนาคต” ดร.คณิศ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ดร.คณิศ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ “UTA” ได้จัดส่งแผนแม่บทฉบับเบื้องต้นโครงการ (Preliminary Master Plan) มาให้ สกพอ.พิจารณาแล้ว และก็เริ่มกันพื้นที่เตรียมก่อสร้างสนามบิน , โรงไฟฟ้า , วางระบบสาธารณูปโภค ส่วนกองทัพเรือก็ได้จัดส่งรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาตรการป้องกันและแก้ไข ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) มาให้ สกพอ.พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 และกำลังเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา นอกจากนี้ สกพอ.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการโครงการ ฯ ขึ้นมาประสานงานและแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อระหว่างสนามบินอู่ตะเภากับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2567

“สรุป 3 ปีที่ผ่านมา สกพอ.ทำสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนไปทั้งหมด 4 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 650,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจัดงบลงทุนลงไปประมาณ 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% เป็นเงินลงทุนของภาคเอกชน ยกตัวอย่าง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รัฐลงทุนครึ่งหนึ่ง เอกชนลงทุนอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเอกชนลงทุนเองทั้งหมด ทั้งนี้ยังไม่นับรวมโครงการลงทุนโดยตรงทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกปีละ 2-3 แสนล้านบาท นี่คือ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนใน EEC ตอนนี้เราอยู่ในเฟสที่ 3 ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจสำคัญของ สกพอ.ในปี 2564 คือ เร่งรัดโครงการลงทุนที่มีการลงนามในสัญญา ฯไปแล้ว 650,000 ล้านบาท ให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน รวมทั้งเร่งวางโครงข่าย 5G รองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ , จีโนมิกส์ การแพทย์สมัยใหม่ และเริ่มวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ซึ่งบางโครงการ สกพอ.อาจต้องเข้าไปร่วมลงทุนกับชุมชนในพื้นที่ด้วย

“จากข้อมูลที่นำมาแสดงจะเห็นว่าภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 น่าจะคลี่คลายภายในปีนี้ หลังจากที่หลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนโควิดฯให้กับประชาชนรวมทั้งในประเทศไทยด้วย ดังนั้น ในปี 2564 เราจะเห็นตัวเลขการลงทุนของโครงการต่าง ๆในเขตพื้นที่ EEC มีวงเงินลงทุน รวมทั้งสิ้นประมาณ 312,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 110,237 ล้านบาท โดยเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะมาจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการ อันได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , สนามบินอู่ตะเภา , ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด เฟสที่ 3 รวมทั้งสิ้น 62,893 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอกชน 49,605 ล้านบาท และในส่วนของภาครัฐ 13,288 ล้านบาท และที่น่าสนใจ คือ ตัวเลขการลงทุนโดยตรงผ่านบีโอไอในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 50,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงผ่าน BOI ที่เคยอั้นมานานในช่วงโควิด ฯระบาด เริ่มมาลงทุนกันในปีนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนกำลังกลับมา” ดร.คณิศ กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม หากไปดูสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในพื้นที่ EEC ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – พฤศจิกายน 2563) จะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 387 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 128,158 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีอยู่ 96,885 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 55% ของมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

“และถ้าดูตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน เฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยภาพรวมถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ถ้าเจาะลึกลงไปดูในรายละเอียด จะเห็นว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ยังไปกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า , อิเล็กทรอนิกส์ , ยานยนต์และชิ้นส่วน , ปิโตรเคมี , เกษตรแปรรูปอาหาร , ท่องเที่ยว ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ สกพอ.เน้น เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ , การแพทย์ , ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน และอุตสาหกรรมดิจิทัล ยังมีมูลค่าน้อยมาก กล่าวโดยสรุป คือ ตัวเลขการลงทุนมีแนวโน้มดี แต่คุณภาพยังไม่ได้” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ สกพอ.ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจังในปี 2564 นอกเหนือจากการเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน ล่าสุดนี้ สกพอ.ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกค่าย เข้ามาช่วยกันวางโครงข่าย 5G ในพื้นที่ EEC โดยจะเริ่มวางโครงข่าย 5G กันตั้งแต่บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ , สนามบินอู่ตะเภา, นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไล่ไปจนถึงอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงานภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะต้องวางโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ทั้งหมด

การพัฒนาโครงข่าย 5G ของ สกพอ.ไม่ใช่แค่วางท่อ – เสา -สาย เท่านั้น แต่เรายังต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการข้อมูลควบคู่กันไปด้วย โดยผลักดันให้ภาครัฐและเอกชน จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ จากนั้นก็จะนำเข้ามูลที่สามารถเปิดเผยได้เอาเข้ามาเก็บไว้ใน ศูนย์ข้อมูลกลาง (Data Center) ทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักศึกษา ประชาชน นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาต่อยอดธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ สกพอ.ยังต้องเร่งพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ EEC เพื่อผลิตบุคลากรดิจิทัลอีก 100,000 คน เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง” ดร.คณิศ กล่าวย้ำ

ถามว่า ทำไมสกพอ.ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง 5G มากเป็นกรณีพิเศษ ดร.คณิศ กล่าวว่าจากผลการศึกษาของ EEC พบว่า การลงทุนวางโครงข่าย 5G มันจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจได้ถึง 5 เท่า ยกตัวอย่าง เราลงทุนวางโครงข่าย 5G สร้างระบบคลาวด์ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง เร่งพัฒนาบุคลากรดิจิทัลลงทุนไป 100,000 ล้านบาท มันจะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 500,000 ล้านบาท แต่ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ลงทุนทำอะไร ก็ไม่ได้

และที่สำคัญเป้าหมายของ สกพอ.คือ การนำโครงข่าย 5G เข้าไปเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ EEC ทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) , อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ , อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ หรือ จีโนมิกส์ , อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร , ระบบโลจิสติกส์ (Smart Intelligent Transportation) , E-Commerce , Smart Grid, Smart Network ไปจนถึงเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีความจำเป็นต้องใช้ 5G นำมาเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลและควบคุมโปรแกรมการทำงานแบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากติดตั้งโครงข่าย 5G เสร็จ สกพอ.ก็จะพยายามผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ประมาณ 10,000 แห่ง และโรงแรมอีก 300 แห่ง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

จากนั้น สกพอ.ก็ต้องมาเร่งรัดโครงการลงทุนในศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ (GenomicMedicine) ในเขตพื้นที่ EEC ต่อ เพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรในประเทศไทย หรือ ผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลาง Medical Hub” โดยศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์จะตั้งอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อให้บริการทดสอบและถอดรหัสพันธุกรรม ตรวจวิเคราะห์โรคขั้นสูง ฝึกอบรมบุคลากร รวมทั้งให้บริการงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ภาคเอกชนเป็นการเฉพาะ

ถัดมาที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2564 ก็คือ โครงการก่อสร้างห้องเย็นภายใต้ “โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก” (Eastern Fruit Corridor : EFC) ซึ่งโครงการนี้ สกพอ.ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน บนพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งนี้ ทางบริษัท ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และออกแบบห้องเย็น โดยนำความเย็นจากการแปลงสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” มาเป็นก๊าซธรรมชาติ นำความเย็นที่ได้มาใช้ในการเก็บรักษาคุณภาพของผลไม้ให้อยู่ในสภาพดี สดใหม่ และรสชาติคงเดิม ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ช่วยแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาตกต่ำ และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจากการขายผลไม้นอกฤดูกาล โดยจะเริ่มนำร่องกับทุเรียนก่อนจากนั้นถึงจะขยายไปยังผลไม้อื่น ๆต่อไป

เรื่องสุดท้ายที่ต้องเริ่มทำในปีนี้ คือ เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรที่จะเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ EEC ในอนาคตประมาณ 1,000,000 คน โดย สกพอ.จะเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการวาง Concept ออกแบบ และพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ EEC โดยในปีนี้ สกพอ.ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่เข้าไปพัฒนาตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่องร่วมกับเอกชนภายใต้วงเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สกพอ.กำลังศึกษายกร่างกฎหมาย เพื่อรักษาพื้นที่บริเวณชายหาดต่าง ๆ และป้องกันการรุกล้ำลำน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายหาดให้อยู่ในสภาพคงเดิม รวมทั้งร่วมมือกับกลุ่มพลังสตรีในพื้นที่ ตรวจสอบและดูแลการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ EEC

“ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภารกิจในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน EEC ปี 2564 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาคนอีอีซีไม่เคยพูดว่า EEC เป็นความหวังของประเทศไทย เราไม่เคยขายฝัน ไม่ใช่ความหวัง แต่มันต้องทำเกิดขึ้นจริง ๆ” ดร.คณิศ กล่าวทิ้งท้าย