ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > IFC หนุนสถาบันการเงินไทยปล่อย “สินเชื่อสีเขียว” โครงการลุ่มน้ำโขงใช้ “เขื่อนเทินหินบูน” นำร่อง

IFC หนุนสถาบันการเงินไทยปล่อย “สินเชื่อสีเขียว” โครงการลุ่มน้ำโขงใช้ “เขื่อนเทินหินบูน” นำร่อง

11 เมษายน 2012


แผนที่แสดงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในปี 2011 สีเขียวหมายถึงเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว สีเหลืองหมายถึงเขื่อนกำลังก่อสร้าง และสีแดงหมายถึงเขื่อนที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต - ที่มา http://mouthtosource.org
แผนที่แสดงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในปี 2011 สีเขียวหมายถึงเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว สีเหลืองหมายถึงเขื่อนกำลังก่อสร้าง และสีแดงหมายถึงเขื่อนที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต - ที่มา http://mouthtosource.org

แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายยาวที่ทอดจากเทือกเขาหิมาลัยลงสู่ทะเลจีนใต้ ผ่านประเทศในภูมิภาคเอเชีย 6 ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า กัมพูชา ไทย และเวียดนาม มีระยะทางประมาณ 4,350 กิโลเมตร นอกจากจะมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ตลอดเส้นทางที่สายน้ำทอดผ่านแล้ว ระดับน้ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละฤดูยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างกระแสไฟฟ้า เป็นพลังงานให้กับประเทศริมฝั่งโขงอีกด้วย

จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission) พบว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงหรือบริเวณที่แม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงไหลผ่าน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนเขื่อนทั้งสิ้น 29 โครงการ และมีแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกเป็นจำนวนมาก หากไม่นับรวมประเทศจีนที่มีโครงการเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับการผลิตไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขงตอนบน คาดว่าในอนาคตเมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะสามารถทำการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 29,760 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดนี้ เมื่อคิดเป็นสัดส่วนตามประเทศเจ้าของโครงการ ประเทศลาวจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำคิดเป็น 70% ของทั้งหมดในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำในภูมิภาคนี้ สร้างแล้วเสร็จมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้เพียง 2,612 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 7.6% เท่านั้น แปลว่ายังมีโครงการอื่นๆ อีกกว่า 92.4% ที่กำลังก่อสร้างหรือมีแผนจะสร้างเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ ทำให้เห็นว่าอีกไม่นาน การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในภูมิภาคนี้จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ที่ผ่านมาบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ หรือ IFC (International Finance Corporation) ซึ่งเป็นองค์กรในกลุ่มธนาคารโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาภาคเอกชน และช่วยประเทศกำลังพัฒนาผ่านการลงทุนและระดมทุนในประเทศต่างๆ ได้เคยเข้ามารณรงค์ให้สถาบันการเงินของไทย นำหลักการปล่อยเงินกู้สีเขียวหรือการปล่อยเงินกู้ให้โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม 10 ข้อ เพื่อช่วยสร้างมาตรฐานและลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการ ในชื่อหลักการ “อิเควเตอร์” (Equator Principles) มาแล้ว (ข้อมูลเพิ่มเติม: ภาคการเงินปรับโฟกัสสู่ความยั่งยืน (1): ชูไอเดีย “สินเชื่อสีเขียว”)

และสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ที่สถาบันทางการเงินหลายแห่งของไทยมีโครงการที่จะไปลงทุนร่วมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้ IFC มองเห็นถึงความสำคัญของการเป็นผู้นำในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ของสถาบันการเงินไทย

IFC จึงได้มีนโยบายที่จะผลักดันสถาบันการเงินของไทย ให้มีการนำมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของ IFC มาประยุกต์ใช้ในโครงการที่สถาบันทางการเงินของไทยจะไปลงทุน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยมีการยกตัวอย่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ได้นำหลักการและมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของ IFC ไปปรับใช้คือ เขื่อนเทินหินบูน ประเทศลาว

ปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” หรือแหล่งพลังงานสำรองในภูมิภาคนี้ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา รัฐบาลลาวได้อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 65 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะมีความสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20,906 เมกะวัตต์ และจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนา (MOU) ด้านไฟฟ้าระหว่างไทยและลาว ฉบับล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 มาจากความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลไทยได้ตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว เพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ภายในปี พ.ศ. 2558 โดยมีเขื่อนเทินหินบูนเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญ

แม้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จะเป็นที่ตระหนักรับรู้ของผู้คนในสังคมว่า การสร้างเขื่อนจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่เป็นจำนวนมหาศาล แต่วิถีการใช้ชีวิตของคนในประเทศลาวและประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศไทยกลับสวนทาง ทำให้รัฐบาลลาวมีการพิจารณาสร้างเขื่อนมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงาน แม้ความขัดแย้งหรือความเห็นไม่ลงรอยในเรื่องการก่อสร้างเขื่อนจะประเด็นสำคัญ แต่หลังจากผ่านการถกเถียงจนไปสู่ข้อสรุปอนุมัติให้สร้างเขื่อนของรัฐบาลแล้ว ประเด็นต่อมาที่จะต้องให้ความสำคัญด้วยคือ จะก่อสร้างอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

เขื่อนเทินหินบูน เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 210 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 500 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ได้จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 440 เมกะวัตต์และอีก 60 เมกกะวัตต์ขายให้การไฟฟ้าลาว

เขื่อนเทินหินบูนมีมูลค่าโครงการรวม 260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เจ้าของโครงการคือ บริษัทไฟฟ้าเทินหินบูน (Theun Hin Boun Power Company) มีผู้ถือหุ้นที่สำคัญ คือ บริษัท จีเอ็มเอสลาว จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 20 การไฟฟ้าลาวถือหุ้นร้อยละ 60 และกลุ่ม Nordic Hydropower AB ถือหุ้นร้อยละ 20 โดยมีรัฐบาลประเทศนอร์เวย์และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asain Development Bank – ADB) เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินที่สำคัญ

เขื่อนเทินหินบูน ประเทศลาว - ที่มา: องค์กรแม่น้ำสากล
เขื่อนเทินหินบูน ประเทศลาว - ที่มา: องค์กรแม่น้ำสากล

ตัวอย่างของการก่อสร้างเขื่อนเทินหินบูน ที่ IFC ได้นำเสนอต่อสถาบันการเงินของไทยคือ การนำมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ เช่น การใช้มาตรฐานประเมินความยั่งยืนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydropower Sustainability Assessment Protocol) ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดผลและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) คุณภาพน้ำ ความปลอดภัยของเขื่อน การโยกย้ายถิ่นฐาน และการมีส่วนร่วมของผู้ถือผลประโยชน์ร่วม (stakeholder engagement)

โดยผู้ก่อสร้างเขื่อนเทินหินบูนได้อ้างว่า โครงการเขื่อนเทินหินบูนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยเพราะเป็นเขื่อนฝายน้ำล้น ตั้งอยู่บนที่สูง จึงอาศัยความแรงและเร็วของกระแสน้ำที่ตกมาจากที่สูงไปหมุนใบพัดขนาดใหญ่แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน ทำให้ไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่จะเป็นผลกระทบกับสิ่งมีชีวิต บริเวณสองฟากฝั่งก็ไม่เสียหาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของน้ำแต่อย่างใด

ในขณะที่การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้น การการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ราว 4,000 คน บริษัทไฟฟ้าเทินหินบูนได้ทยอยอพยพประชาชนกว่า 750 ครัวเรือน ใน 12 หมู่บ้าน ออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบ ไปอาศัยทำกินในแหล่งใหม่ที่บริษัทผู้ลงทุนจัดให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และชุดสุดท้ายได้ออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2554 โดยบริษัทผู้ลงทุนจัดสร้างและจัดหาที่ทำกินให้พร้อมจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งจัดระบบสาธารณูปโภค สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์ชุมชนให้ด้วย มีกองทุนเพื่อการพัฒนามูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และงบประมาณเพื่อก่อสร้างระบชลประทานอีก 33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบใช้ประโยชน์

แม้ในภายหลังจะมีองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม อย่างองค์กรแม่น้ำสากล (International Rivers) ออกมาคัดค้านว่า ผลกระทบที่เจ้าของโครงการและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียมากล่าวอ้างความสำเร็จนั้น น้อยเกินกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างหลักการอิเควเตอร์ หรือมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มาปรับใช้กับโครงการ ได้ทำให้เจ้าของโครงการต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าโครงการทั่วไป

สำหรับประเทศไทย หลังจากที่ IFC ได้เสนอให้สถาบันการเงินไทยนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้กับโครงการลงทุนที่จะมีในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนด้านเขื่อน หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก็ได้มีเสียงตอบรับจากภาคการเงินของไทยว่า เขื่อนของประเทศลาวที่สามารถนำมาตรฐานเหล่านี้ไปใช้ได้นั้น ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากผู้ลงทุนใหญ่ในโครงการ ซึ่งก็คือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อการพัฒนา ไม่ใช่แสวงหากำไรสูงสุดเหมือนธนาคารเอกชนอื่นๆ

ดังนั้น การจะให้ภาคการเงินของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนนำมาตรฐานเหล่านี้มาปรับใช้ คงต้องใช้เวลาเพื่อให้สถาบันการเงินนำหลักการไปพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการลงทุน แต่โดยปกติ การตัดสินใจลงทุนของภาคการเงินไทยต้องพิจารณากฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศที่จะไปลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเพียงพอ ไม่สร้างให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป แต่มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ IFC เสนอในลักษณะนี้ เป็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ได้เป็นกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ การปฏิบัติจึงต้องอาศัยความสมัครใจ ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี