แม่น้ำโขงคือหัวใจหลักในการหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านริมโขง เพราะอาชีพหลักของพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะการทำประมงหรือการเกษตร ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน แต่ไม่เคยถูกคิดรวมเป็นเศรษฐกิจหลักในระดับมหภาค
มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการทำประมง
จากกิจกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งหมด ได้แก่ การประมง การปลูกพืชริมตลิ่งในฤดูแล้ง การหาสัตว์น้ำ สัตว์และแมลงอื่นๆ ตามบุ่ง และการท่องเที่ยว พบว่า ชาวบ้านจะทำประมงมากที่สุดประมาณร้อยละ 52 และมีรายได้จากการประมงเกือบ 10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากกิจกรรมอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 30 ของรายได้รวม
แม้ว่าปลาส่วนใหญ่ที่จับมาจะถูกขายออกสู่ตลาด แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็บริโภคปลาจากน้ำโขงด้วย เช่น ปลาขาว โดยมีผู้ที่บริโภคปลาจากน้ำโขงทุกวันหรือเกือบทุกวันมากถึงร้อยละ 62
สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อปีที่แต่ละครัวเรือนได้รับจากการทำประมงนั้น ก็แตกต่างกันตามพื้นที่ ต่ำสุดอยู่ที่ 15,699 บาทต่อครัวเรือนต่อปีในพื้นที่วิจัย 5 จังหวัด
มูลค่าทางเศรษฐกิจเกษตรริมโขง
ในฤดูแล้งที่น้ำโขงลดลงต่ำ ชาวบ้านจะใช้พื้นที่ริมตลิ่งทำการเกษตร เช่น ยาสูบ มะเขือเทศ ข้าวโพด กระเทียม หอมแดง มันแกว โดยเฉพาะยาสูบซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและราคาดี พบว่า สร้างรายได้สุทธิให้ครัวเรือนได้สูงสุดที่ ต.กองนาง จ.หนองคาย 120,904 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่มีต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกัน เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน
นอกจากนี้ยังมี “จิ้งกุ่ง” แมลงที่สามารถกินได้อยู่ตามหาดทรายด้วย ซึ่งพื้นที่ริมแม่น้ำโขงนี้ถือเป็นแหล่งอาหารและรายได้เงินสดที่สำคัญของชาวบ้าน
มูลค่าทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงปลากระชัง
จากการศึกษาการเลี้ยงปลากระชังใน ต.ไชยบุรี จ.นครพนม และ ต.กองนาง จ.หนองคาย พบว่า ปัจจุบันชาวบ้านอยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารปลามีต้นทุนสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของต้นทุนรวม แต่ไม่สามารถเลิกทำได้เนื่องจากวงจรหนี้สินที่เกิดขึ้น
มูลค่าทางเศรษฐกิจของการเพาะพันธุ์ปลา ศึกษาเฉพาะใน ต.กองนาง รวม 28 ครัวเรือน พบว่า ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ย 241,049
มูลค่าทางเศรษฐกิจของการทำนาโดยใช้น้ำจากแม่น้ำโขง โดยศึกษาใน ต.กองนาง รวม 50 ครัวเรือน พบว่าชาวบ้านปลูกทั้งข้าวนาปีและปรัง มีรายได้สุทธิเฉลี่ยครัวเรือนละ 32,723 บาทต่อปี
มูลค่าทางเศรษฐกิจการค้าชายแดน โดยศึกษาใน ต.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ พบว่า อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
1. กลุ่มรับจ้างแบกสินค้าจำนวน 30 ราย มีรายได้เฉลี่ย 47,400 บาทต่อปี
2. กลุ่มผู้ประกอบการค้าขายชายแดนไทย จำนวน 15 ราย มีรายได้ (ไม่หักต้นทุน) เฉลี่ย 832,666 บาทต่อปี
3. กลุ่มผู้ประกอบการเรือรับจ้างขนส่งสินค้าชายแดน 12 ราย มีรายได้ (ไม่หักต้นทุน) เฉลี่ย 15,301 บาทต่อปี
มูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยศึกษาแหล่งท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ ที่ ต.เชียงคาน จ.เลย พบว่า ชาวบ้านมีรายได้อยู่ระหว่าง 42,000-336,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับธุรกิจที่ทำคืออะไร เช่น ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร เรือรับจ้าง ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือรายได้ ณ ปัจจุบันของชาวบ้านริมโขง ที่เกิดจากการพึ่งพาแม่น้ำโขงเพื่อยังชีพและหาเลี้ยงครอบครัว แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นอย่างไรเมื่อแม่น้ำโขงกำลังถูกเปลี่ยนแปลง??อ่านต่อตอนที่3(จบ)