ThaiPublica > เกาะกระแส > การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง (3): โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เปลี่ยนแม่น้ำโขง ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว!

การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง (3): โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เปลี่ยนแม่น้ำโขง ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว!

3 ตุลาคม 2012


การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนบน เกิดขึ้นในประเทศจีนตั้งแต่ พ.ศ.2536 จนกระทั่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 แห่ง คือ เขื่อนม่านวาน เขื่อนเต้าเฉาซาน เขื่อนจินฮง เขื่อนเสี่ยววาน และเขื่อนนัวจาตู้ ซึ่งทำให้การไหลของน้ำโขงเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง

บนพื้นที่เหนือเขื่อน อัตราการไหล ระดับน้ำและความแปรปรวน จะเปลี่ยนแปลง และการกักเก็บน้ำของเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมริมตลิ่งโขงถาวร ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศย่อยและพื้นที่เกษตรริมฝั่งทั้งหมด รวมถึงปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาด้วย

สำหรับพื้นที่ใต้เขื่อน จะเกิดความแปรปรวนของกระแสน้ำอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เช่น หากสร้างเขื่อนไซยะบุรี จะทำให้ระดับน้ำที่ท้ายน้ำในเขตจังหวัดเลยเปลี่ยนแปลง 1-3 เมตรต่อวัน ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม และความแปรปรวนนี้จะส่งผลต่อการประมง การอพยพและวงจรชีวิตปลา ปริมาณตะกอน และการกัดเซาะตลิ่งที่รุนแรงมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ระดับน้ำโขงมีความผันผวนมากทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง อันเกิดจากปัจจัยการสร้างเขื่อนในจีน และสภาวะอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ผลกระทบด้านการประมงที่ชาวบ้านสังเกตเห็นได้คือ ในฤดูแล้งปี 2554 ระดับน้ำโขงขึ้นลงผิดปกติสลับกันในรอบสัปดาห์ทั้งๆ ที่ไม่มีฝนตก และน้ำที่สูงขึ้นก็ไม่ขุ่นแดงเช่นฤดูฝน อีกทั้งน้ำยังสูงกว่าปี 2553 ด้วย เพราะว่าหาดและดอนบางแห่งไม่โผล่พ้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านร้อยละ 90 เชื่อว่าเป็นผลมาจากเขื่อนในจีน

ปัญหาที่เกิดจากระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ เช่น การที่น้ำท่วมตลิ่งนานไม่ถึงเดือนนั้นทำให้วัชพืชไม่ตาย หรือถ้าท่วมไม่ถึงดินก็จะแข็ง ทำให้เพาะปลูกยาก และจะทำให้ปลาไม่ว่ายน้ำเข้าห้วยหรือเข้าบุ่ง เพราะน้ำสูงไม่มากพอ อีกทั้งยังจับปลาได้น้อยลงด้วย ซึ่งชาวบ้านบางคนมองว่า แค่ปัจจุบันน้ำขึ้นลง 20 ซม. ต่อวันก็ทำประมงลำบากแล้ว ถ้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี น้ำขึ้นลง 0.5-1 เมตรต่อวัน คงทำประมงไม่ได้เลย

ปัญหาระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกตินี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเกษตรริมโขงด้วย เพราะเดิมทีแม่น้ำโขงจะค่อยๆ เพิ่มในเดือนมีนาคม-กรกฎาคม และค่อยๆ ลดลงในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ แตกต่างกัน 1-2 เมตร อย่างที่เป็นมาในช่วง 5 ปีนี้

ปัญหาแรก คือ พื้นที่การเกษตรริมโขงเสียหาย เพราะถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง เพราะชาวบ้านไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าน้ำจะขึ้นเมื่อไร แม้แต่ในฤดูแล้งที่น้ำลงก็ยังเกิดน้ำท่วมตลิ่งได้ เมื่อเกษตรกรต้องลงทุนใหม่บ่อยๆ ต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งระดับน้ำที่เปลี่ยนเร็วและกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวทำให้ตะกอนไม่เกาะตลิ่ง ความอุดมสมบูรณ์ของดินก็หมดไปกับน้ำ ทำให้ชาวบ้านต้องใช้ปุ๋ยมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน เวลาน้ำโขงลดก็ลดลงมากผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านต้องลงทุนเพิ่มขึ้นในการสูบน้ำโขงมาใช้ เนื่องจากน้ำอยู่ไกลฝั่งมากขึ้น เช่น ซื้อสายไฟเพิ่มให้ยาวขึ้น จ่ายค่าไฟฟ้ามากขึ้น หรือบางครั้งเครื่องสูบน้ำเสียหายเพราะน้ำท่วมกะทันหัน จึงเคลื่อนย้ายเครื่องสูบไม่ทัน

ความเสียหายต่อพืชผลเกษตรริมโขง ยังไม่เป็นที่รับรู้หรือปรากฏอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเกษตร และนโยบายการชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ เหมือนกับระบบการเกษตรอื่นๆ เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน

อาชีพเลี้ยงปลากระชังได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ทั้งระดับน้ำที่ขึ้นลง คุณภาพน้ำ กระแสการไหลของน้ำ เพราะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำสูง มีความเสี่ยงที่ปลาจะตายยกกระชัง

นอกจากนี้ อาชีพเพาะพันธุ์ปลาก็ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หากน้ำท่วมบ่อ ปลาก็หายหมด หากน้ำโขงแล้งมาก ก็ไม่พอสูบเข้าบ่อเลี้ยงปลา หรือถ้าคุณภาพน้ำไม่ดี ก็จะผลิตลูกปลาได้น้อย

อีกปัญหาหนึ่งคือ การพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านเองก็บอกว่ามีมานานแล้วหลาย 10 ปี แต่ว่าเสียหายไม่มาก เนื่องจากจะมีตะกอนมาทับถมแทน แต่ความเสียหายรุนแรงนี้เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

สาเหตุสำคัญที่ทำลายตลิ่งพังคือ กระแสน้ำโขงเปลี่ยนทิศทางการไหลเข้ากัดเซาะตลิ่งและมีความรุนแรงมาก ซึ่งเกิดจากมีดอน เกาะ แก่ง เกิดใหม่หรือขยายใหญ่ขึ้นขวางทางน้ำเดิม ทำให้ตลิ่งเลื่อนลง ทรุดตัว และพังทลายเกือบ 2 เมตรต่อปี ทำให้ตะกอนที่สมบูรณ์ถูกพัดไปกับน้ำ และมีรอยแยกเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่งสัญญาณว่าตลิ่งจะพังอีก ทำให้ชาวบ้านสูญเสียพื้นที่การเกษตรและโอกาสในการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว อีกทั้งเสาอาคารและบ้านเรือนก็ทรุดตัวด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ตลิ่งพัง เช่น กระแสน้ำโขงมีความรุนแรงมากผิดปกติ การขึ้นลงผิดปกติของน้ำโขง ที่แม้ว่าจะมีปัจจัยจากธรรมชาติ เช่น ฝนตก หรือป่าไม้ถูกทำลาย แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าอาจเกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน หรือการกักน้ำปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อการชลประทาน

สรุปความเสียหายจากที่ดินที่ถูกน้ำเซาะพังไปในพื้นที่ศึกษา 3 ตำบล 74 ครัวเรือน รวมแล้วมีพื้นที่เสียหายกว่า 63 ไร่ คิดเป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท

ด้านการท่องเที่ยวยกตัวอย่างกรณี แก่งคุดคู้ ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ที่มีทั้งแก่ง หาดหิน และทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชม เกิดกิจการ ร้านค้า ที่พัก บริการนักท่องเที่ยวมาก สร้างรายได้ให้ชุมชน

แต่หากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จแล้ว สภาพธรรมชาติของแก่งคุดคู้เดิมจะเปลี่ยนไป เพราะน้ำที่ปล่อยออกมาจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจะท่วมแก่งและหาดหินเหล่านี้จนหมด ส่งผลให้คนมาท่องเที่ยวน้อยลง

กรณีสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม

เขื่อนบ้านกุ่มมีมูลค่าการลงทุน 95,348 ล้านบาท กำลังการผลิตติดตั้ง 1,872 เมกะวัตต์ แต่มีกำลังผลิตพึ่งได้ 375.68 เมกะวัตต์หรือร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตติดตั้ง

เขื่อนนี้จะเก็บกักน้ำที่ระดับ 115 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เกิดพื้นที่น้ำท่วมเกือบ 1 แสนไร่ ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชุมชนฝั่งไทย 30 หมู่บ้าน ฝั่งลาว 18 หมู่บ้าน

กรณีสร้างเขื่อนปากชม

เขื่อนปากชมตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง พรมแดนไทย-ลาว อยู่ใกล้บ้านห้วยขอบ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ของไทย และ ใกล้บ้านห้วยหาง แขวงนครเวียงจันทน์ ของลาว มีระดับเก็บกักน้ำปกติ 192 เมตร รทก. พื้นที่อ่างเก็บน้ำรวม 50,217 ไร่ ขนาดความจุ 807.77 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ตลิ่งฝั่งไทยประมาณ 800 ไร่ ฝั่งลาวประมาณ 3,300 ไร่

ราคาโครงการเขื่อนปากชมเท่ากับ 69,641 ล้านบาท มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,079 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตพึ่งได้ 210.14 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสุทธิเฉลี่ยปีละ 5,051.90 ล้านหน่วย และได้พลังงานไฟฟ้าพึ่งได้สุทธิปีละ 1,752.40 ล้านหน่วย

หมู่บ้านริมตลิ่งแม่น้ำโขงเหนือเขื่อนปากชม และบางส่วนของชุมชนที่จะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ได้แก่ บ้านหาดคัมภีร์ บ้านปากมั่ง บ้านสงาว บ้านปากเนียม บ้านศรีภูธร และอำเภอปากชม

นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนยังปิดกั้นการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง และทำลายอาชีพประมงของชุมชนทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนด้วย ระดับน้ำและกระแสน้ำใต้เขื่อนไฟฟ้าปากชมเกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายและผ่านเขื่อนได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น

กรณีสร้างเขื่อนไซยะบุรี

เขื่อนไซยะบุรีมีระดับเก็บกักน้ำ 275 เมตร รทก. มีพื้นที่ 49 ตารางกิโลเมตร จุน้ำกว่า 700 ล้าน ลบ.ม. หากระบายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มที่เท่ากับ 5,000 ลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนผันผวน

เอกสารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนระบุว่า ต้องส่งไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง และรวมทั้งปีไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ชั่วโมง ไม่รวมวันอาทิตย์

ในฤดูร้อน เลือกสมมติฐานที่ต้องจ่ายไฟฟ้าให้ กฟฝ.วันละ 8 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าเขื่อนจะปิดนาน 16 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับการปล่อยน้ำผ่านเทอร์ไบน์เพื่อจ่ายไฟให้ กฟผ.

จากข้อมูลความเร็วของการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง จากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า หากปิดเขื่อนนาน 16 ชั่วโมงแล้วแม่น้ำโขงจะแห้งลงมาเป็นระยะทาง 258 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรี ลงมาชายแดนลาว เข้าเขตไทย ผ่าน อ.เชียงคาน จ.เลย ไปจนถึง อ.ปากชม จ.เลย

และหากเปิดเขื่อนในช่วงฤดูแล้งนาน 8 ชั่วโมง ระดับน้ำท้ายเขื่อนจะสูงขึ้น 3-5 เมตร ยาว 50 กิโลเมตร ทำให้ระดับน้ำที่เชียงคานเปลี่ยนแปลงสูงสุด 1-2 เมตรต่อวัน ที่อุบลราชธานีระดับน้ำโขงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 0.5 เมตรต่อวัน

ระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลเสียต่ออาชีพประมงชาวบ้าน สร้างความเสียหายแก่เรือและอุปกรณ์ประมงต่างๆ รวมถึงอาชีพด้านท่องเที่ยวจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหาดทรายตลอดริมโขงได้อีกต่อไป

ประเด็นสำคัญที่เขื่อนจะทำลายคือ พันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง เพราะรูปแบบน้ำท่วมในลุ่มน้ำโขง เช่น บุ่ง นั้น ทำให้ปลาสามารถอพยพไปมาได้ และกระตุ้นให้ปลาวางไข่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความหลากหลายทางอุทกวิทยาของแม่น้ำไว้ทั้งภายในปีและระหว่างปี เพื่อรักษาปริมาณให้ยั่งยืน อีกทั้งพันธุ์ปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์หรือลดจำนวนลงจากการสร้างเขื่อน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วทั้งภูมิภาค

การเก็บกักน้ำจากเขื่อนไซยะบุรีที่ระดับ 275 เมตร รทก. น้ำจะท่วมขึ้นไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งตั้งอยู่เหนือเขื่อนตามลำน้ำโขงขึ้นไปประมาณ 79 กิโลเมตร ระดับน้ำที่หลวงพระบางจะสูงกว่าระดับน้ำในฤดูแล้งเฉลี่ยประมาณ 5 เมตร ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมการประมง, การร่อนทอง และการปลูกพืชริมตลิ่ง ตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรีไปจนถึงเมืองหลวงพระบางทั้งหมด