ThaiPublica > Sustainability > Headline > IFC หนุนเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเล ลงทุน Blue Bond แรกของไทยจากทีเอ็มบีธนชาต

IFC หนุนเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเล ลงทุน Blue Bond แรกของไทยจากทีเอ็มบีธนชาต

11 พฤษภาคม 2022


Makhtar Diop กรรมการผู้จัดการ IFC(ขวา) และ ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ttb ในพิธีลงนามการเข้าลงทุน ttb Blue Bond

IFC สนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเล (Blue Economy) ของไทย ผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล (Blue Bond) ครั้งแรกโดย ทีเอ็มบีธนชาต

กรุงเทพฯ ประเทศไทย 11 พฤษภาคม 2565 — IFC ได้เข้าลงทุนครั้งใหม่ในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล (Blue Bond) ซึ่งออกโดยธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเลในประเทศไทย การลงทุนในครั้งนี้จะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโครงการเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเล (Blue Economy) ต่าง ๆ ในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น IFC จะเข้าจองซื้อตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเลดังกล่าวเป็นจำนวนไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยให้ทีเอ็มบีธนชาตขยายขอบเขตการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับสินทรัพย์เพื่อความยั่งยืนทางทะเลที่เข้าเกณฑ์ได้ และยังช่วยในการจัดโครงสร้างของตราสารหนี้ พัฒนากลยุทธ์ และกรอบการทำงานด้านการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล นอกจากนี้ IFC จะยังเดินหน้าสนับสนุนในเรื่องความยั่งยืนให้แก่ทีเอ็มบีธนชาต ซึ่งรวมถึงการเข้าจองซื้อตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bond) เป็นจำนวนไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อการจัดหาแหล่งเงินทุนของลูกค้าของธนาคารในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในภาคการขนส่ง ทั้งนี้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว โดยคิดเป็นร้อยละ 17 ของจำนวนการปล่อยมลพิษทั้งหมด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการก่อตั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของประเทศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของประเทศไทย คือ การคุกคามต่อเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเล ซึ่งมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณร้อยละ 30 ของทั้งหมด โดยคาดว่าประเทศไทยจะอยู่ในหกอันดับแรกของโลกในการก่อให้เกิดมลพิษจากพลาสติกในทะเล ดังนั้น การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเลจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมลพิษจากพลาสติกในทะเลสูง

“กลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจของทีเอ็มบีธนชาต มุ่งสู่กรอบการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนโดยเสมอ และหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของธนาคาร คือ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน (Climate Finance) การสนับสนุนของ IFC จะช่วยให้ทีเอ็มบีธนชาตสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอการให้สินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเรา เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และสร้างความสามารถในการระบุสินทรัพย์เพื่อความยั่งยืนทางทะเล (Blue Assets) ที่เข้าข่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น การรีไซเคิลพลาสติกในทะเล การอนุรักษ์น้ำ และโครงการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ” นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าว

Makhtar Diop กรรมการผู้จัดการของ IFC กล่าวว่า “IFC อยู่ในระดับแนวหน้าในการสร้างตลาดการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อความยั่งยืนทางทะเลในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ด้วยการลงทุนนี้ IFC คาดว่าจะสร้างสินทรัพย์ประเภทใหม่ในตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย และใช้ประโยชน์จากการลงทุนในเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทางทะเลและเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของประเทศไทย”

  • ทีเอ็มบีจับมือ IFC ลุย Green Financing ออก Green Bond ขับเคลื่อนธุรกิจบนกรอบความยั่งยืน
  • เกี่ยวกับ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC)

    บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เป็นสมาชิกและหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลก เป็นสถาบันระดับโลกเพื่อการพัฒนาและมุ่งเน้นการทำงานกับภาคธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ มีการดำเนินการในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยนำเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพร่วมเสริมโอกาสและสร้างตลาดให้กับท้องที่ที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ในปีงบประมาณ 2564 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือเงินทุนเป็นจำนวน 31,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ โดยใช้ศักยภาพของภาคเอกชนเพื่อช่วยสร้างความเจริญและขจัดความยากจน ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวจะต้องต่อสู้กับผลกระทบของการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดู www.ifc.org

    เกี่ยวกับทีเอ็มบีธนชาต

    ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) หรือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) เกิดจากการรวมกิจการของ ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) โดย ทีเอ็มบีธนชาต ได้ประสานจุดแข็งและศักยภาพจากทั้งสองธนาคาร เพื่อนำมาพัฒนาและนำเสนอการธนาคารในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเท่านั้น หากแต่มุ่งเน้นการมอบองค์ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) และ โซลูชันทางการเงิน (Financial Solution) ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงชีวิต ตามพันธกิจหลักของธนาคารในการมุ่งสร้างชีวิตทางการเงิน (Financial Well-being) ที่ดีขึ้น ให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต​

    ดูรายละเอียดเกี่ยวกับทีเอ็มบีธนชาตเพิ่มเติมได้ที่ www.ttbbank.com