ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ภาคการเงินปรับโฟกัสสู่ความยั่งยืน (จบ): แชร์ประสบการณ์ “กรีนเครดิต”

ภาคการเงินปรับโฟกัสสู่ความยั่งยืน (จบ): แชร์ประสบการณ์ “กรีนเครดิต”

5 กันยายน 2011


อินดัสเตรียล แบงก์ (IB) เป็นธนาคารแห่งแรกของจีนที่ใช้หลักสินเชื่อสีเขียว
อินดัสเตรียล แบงก์ (IB) เป็นธนาคารแห่งแรกของจีนที่ใช้หลักสินเชื่อสีเขียว
(ที่มาของภาพ: http://english.taizhou.gov.cn)

สิ่งที่ได้จากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย คือ แนวคิด “สินเชื่อสีเขียว” รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์จากสถาบันการเงินที่เริ่มปรับเปลี่ยนมาเอาจริงเอาจังกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคการเงินไปสู่ความยั่งยืน

“ไซมอน แอนดรูว์ส” ผู้จัดการ IFC ระดับภูมิภาคเขตประเทศไทย กัมพูชา ลาวและเวียดนามอธิบายว่า ความสำเร็จของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ใช้หลักการ Equator Principles เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าระบบธนาคารที่ยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่สามารถทำงานควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ขณะเดียวกับก็สามารถประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ได้

“ภาคเอกชนเป็นตัวการขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบัน สถาบันการเงินเริ่มเอาเรื่องเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะเอเชียที่เริ่มเอาใจใส่เรื่องนี้ ขณะที่ระดับรัฐบาลก็สนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน”

“จีน” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงการคิดใหม่ทำใหม่ ถึงแม้แดนมังกรจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันยักษ์เอเชียรายนี้เริ่มหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงภาคการเงินที่หันมาจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยจีนมีนโยบายสินเชื่อสีเขียว (Green Credit Policy) ที่กระตุ้นให้ธนาคารในประเทศลดการปล่อยกู้แก่วิสาหกิจที่ใช้พลังงานและปล่อยมลภาวะมาก หันมาปล่อยสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยสู่โลก

นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของภาครัฐที่จะจัดการกับปัญหามลภาวะและการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งบั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลและธนาคารชั้นนำของจีนจึงเริ่มหาแนวปฏิบัติที่ดีที่ผนวกเรื่องเหล่านี้เข้าไปด้วย ขณะที่ IFC เข้าไปมีส่วนแบ่งปันแนวคิดเรื่อง Equator Principles

ข้อมูลจากสมาคมธนาคารจีนพบว่า ในปี 2552 ธนาคารจีนรายหลักๆ ลดการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมที่บริโภคพลังงานมากและปล่อยมลพิษสูง ขณะเดียวกันก็หันมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลภาวะ

โดยธนาคารจีนยุติการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้า 2,348 ราย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่บริโภคพลังงานเข้มข้นและปล่อยมลภาวะสูง เพิ่มขึ้น 823 ราย หรือกว่า 50 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อสีเขียวที่ปล่อยให้แก่โครงการรักษ์โลกมีมูลค่ารวมประมาณ 8.56 แสนล้านหยวนในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วน 8.93 % ของการปล่อยกู้ทั้งหมดของภาคธนาคารจีน

นายหยานเฟย เหย รองผู้อำนวยการฝ่ายสถิติ คณะกรรมการกำกับดูแลกฎระเบียบธนาคารจีน (CBRC) กล่าวถึงบทบาทของทางการจีนต่อเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะลดการบริโภคพลังงานลง 20 % ต่อหน่วยจีดีพี ในระหว่างปี 2549-2553 และสามารถลดการบริโภคลงได้ 19.1 % ขณะที่วางเป้าลดการปล่อยสารมลพิษหลักๆ ลง 10 % ในช่วงเดียวกัน ส่วนเป้าหมายในระหว่างปี 2554-2558 ต้องการลดการใช้พลังงานลง 17 % ต่อหน่วยจีดีพี และลดการปล่อยสารมลพิษหลักๆ 8-10 %

นอกจากนี้ ทางการจีนยังกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นและปล่อยมลภาวะมาก ทั้งยังวางกลไกบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง การสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอบรมความรู้ความเข้าใจให้กับธนาคาร รวมถึงตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลเรื่องสินเชื่อสีเขียวโดยเฉพาะ

ปัจจุบัน จีนมีสถาบันการเงินที่ประกาศใช้หลักการ Equator Principles ได้แก่ “อินดัสเตรียล แบงก์” (IB) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของจีนที่ใช้แนวคิดกรีนเครดิตและธนาคารได้รับรางวัลสุดยอดธนาคารที่ยั่งยืนแห่งเอเชียประจำปี 2552 จากไฟแนนเชียล ไทม์ส

นางสาวไบหยิง ลู่ หัวหน้าฝ่ายการเงินยั่งยืนของอินดัสเตรียล แบงก์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า ธนาคารมีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนและมีโครงการซึ่งเรียกว่า “กรีน ทู โกลด์” ธนาคารยังได้ร่วมมือกับ IFC ที่จะใช้หลักการ Equator Principles เป็นส่วนหนึ่งในการก้าวสู่ความยั่งยืน ซึ่งประกาศใช้หลักการนี้ในปี 2551

โดยธนาคารพยายามที่จะผลักดันการใช้หลักการนี้ผ่านการจัดวางโครงสร้างอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาระบบ การสร้างขีดความสามารถ วางกลไกในการพิจารณาโครงการที่ยื่นขอกู้โดยคำนึงถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักเรื่องนีในหมู่ลูกค้า รวมทั้งเน้นแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ

อินดัสเตรียล แบงก์ มีหน่วยงานด้านความยั่งยืนที่อยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของบอร์ดบริหาร ขณะที่ธนาคารเน้นสร้างความ สามารถในเรื่องนี้ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมในหลากหลายระดับ การส่งเสริมแนวคิดที่ยั่งยืนและผลักดันให้เรื่องนี้ลงลึกไปถึงวัฒนธรรมองค์กรและเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับความยั่งยืนไว้บนเว็บไซต์

น่าสนใจว่า นับถึงเดือนธันวาคม ปี 2553 อินดัสเตรียล แบงก์ พิจารณาโครงการที่ยื่นขอสินเชื่อรวม 577 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมด 6 แสนล้านหยวน โดยธนาคารใช้หลักการ Equator Principles ซึ่งในจำนวนนี้มี 75 โครงการที่เข้าเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อสีเขียวและอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยกู้รวมประมาณ 9.93 หมื่นล้านหยวน

ขณะที่ 20 โครงการ จาก 75 โครงการดังกล่าวเดินมาถึงขั้นตอนการจ่ายเงินกู้แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการปล่อยกู้ราว 2.4 หมื่นล้านหยวน ทั้งนี้ 3 โครงการถูกจัดอยู่ในประเภท A (อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก) ส่วนอีก 17 โครงการเป็นประเภท B (ส่งผลกระทบปานกลาง)

หนึ่งในตัวอย่างของลูกค้าที่ร่วมมือกับอินดัสเตรียล แบงก์ คือ ชานซี เกียงเว่ย เปเปอร์ โค. ที่ต้องการขอกู้สร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับผลิตพลาสเตอร์บอร์ด 300,000 ตัน โดยใช้หลักการ Equator Principles เพราะมองเห็นประโยชน์ในระยะยาวที่จะทำธุรกิจโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป

บทเรียนจากจีนสะท้อนว่า ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมที่จะผลักดันเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อสีเขียว ในส่วนของรัฐบาลก็เน้นสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อให้ภาคการเงินเป็นกรีนมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าที่ขอกู้ก็ต้องเล็งเห็นประโยชน์ในระยะยาวที่จะควบคุมการปล่อยมลภาวะและร่วมมือกับแบงก์เพื่อให้ผ่านมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้