ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บัตรเครดิตชาวนา “รูดปรื๊ด” ได้แล้ว ซื้อปัจจัยการผลิต ธกส. ให้วงเงินสูงสุด 5 หมื่นบาท

บัตรเครดิตชาวนา “รูดปรื๊ด” ได้แล้ว ซื้อปัจจัยการผลิต ธกส. ให้วงเงินสูงสุด 5 หมื่นบาท

5 เมษายน 2012


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดทดสอบระบบ "บัตรเครดิตสินเชื่อ" ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดทดสอบระบบ "บัตรเครดิตสินเชื่อ" ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555

“บัตรเครดิตชาวนา” หนึ่งในนโยบายหาเสียงระหว่างเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเริ่มใช้ได้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดโครงการทดสอบระบบ “บัตรสินเชื่อเกษตรกร” ที่อำเภออุทัย กับ อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 จังหวัดนำร่อง (เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี)

โดยมีทั้งชาวนาผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตร และร้านค้าเครือข่ายที่ได้รับคัดเลือกให้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (Electric Data Capture: EDC ) มารับฟังขั้นตอนการดำเนินการด้วยความสนใจ เพราะจะเป็นครั้งแรกที่ชาวนาไทยมีบัตรเครดิตใช้เพื่อ “รูดปรื๊ด” ซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธ์ข้าว ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง

ทั้งนี้ การให้บัตรสินเชื่อเกษตร มี 2 ระยะ ระยะแรก (15 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2555) เป็นโครงการนำร่อง ธ.ก.ส. ได้ออกบัตรให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์แล้วจำนวน 5,522 บัตร ใน 5 จังหวัด พร้อมกับติดตั้งระบบและเครื่องรูดบัตรให้กับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สหกรณ์การเกษตร และร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนกับ สกต. จำนวนไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด

ส่วนระยะที่สอง (1 เมษายน – 15 มิถุนายน 2555) จะขยายพื้นที่เพิ่มให้ครบ 77 จังหวัด และจะออกบัตรให้เกษตรผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 2 ล้านบัตร พร้อมจะติดตั้งเครื่องรูดบัตรเพิ่มเป็น 3,000 เครื่อง ทั้งนี้ ในระยะที่สอง ธ.ก.ส. คาดว่าช่วงแรกจะออกบัตรครบ 1 ล้านบัตรได้ในเดือนพฤษภาคม และทยอยดำเนินการจนครบ 2 ล้านบัตรในปีหน้า

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ชี้แจงกับเกษตรกรว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่จะยกระดับด้านการเงินการธนาคารให้กับพี่น้องเกษตรกร จากเมื่อ 2-3 ปี มีบัตรเอทีเอ็ม และนับแต่นี้เป็นต้นไปที่พี่น้องเกษตรกรจะมีบัตรสินเชื่อเกษตรกร หรือบัตรเครดิตเกษตรกร โดยปีแรกจะจำกัดการใช้ให้รูดบัตรซื้อได้เฉพาะปัจจัยการผลิต 3 ประเภทเท่านั้น คือ เมล็ดพันธุ์ข้าว ปู๋ย และยาฆ่าแมลง แต่ถ้าเกษตรกรรายใดใช้บัตรตามวัตถุประสงค์ และมีความสามารถในการบริหารจัดการก็จะไม่ควบคุมการใช้จ่าย

“วันนี้ เมื่อซื้อสินค้ารูดบัตร หรือวันที่มีการใช้บัตรเครดิต ร้านค้าจะเรียกเก็บเงินกับธนาคาร เพราะฉะนั้นวันนี้จะเป็นวันที่ท่านเป็นหนี้กับธนาคาร” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

นายลักษณ์ย้ำว่า การใช้บัตรขอให้ใช้เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตจริงๆ อย่านำไปแลกเงินสด หากถ้าใครใช้บัตรตามวัตถุประสงค์ วงเงินในบัตรจะขยายเพิ่มขึ้น และปีต่อๆ ไปจะไม่จำกัดวัตถุประสงค์ แต่ถ้าใครไม่ทำตามวัตถุประสงค์ และ ธ.ก.ส. จับได้ จะยกเลิกบัตรและเรียกคืนสินเชื่อทันที

เกษตรกรและเจ้าของร้านค้าที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน สกต. ที่จังหวัดพระนครศรีอยุูธยา เข้าร่วมฟังการเปิดตัว "บัตรสินเชื่อเกษตรกร" เป็นครั้งแรก
เกษตรกรและเจ้าของร้านค้าที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน สกต. ที่จังหวัดพระนครศรีอยุูธยา เข้าร่วมฟังการเปิดตัว "บัตรสินเชื่อเกษตรกร" เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ เงื่อนไขของเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อคือ ต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระและไม่เป็นลูกค้าตามโครงการพักชำระหนี้ และต้องมีอาชีพทำนาข้าว และมีผลผลิตข้าวส่วนเหลือเพื่อขาย และต้องนำผลผลิตข้าวของตนเองมาจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

สำหรับวงเงินสินเชื่อเกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตของเกษตรนั้น ธ.ก.ส. กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของผลผลิตส่วนเหลือเผื่อขาย แต่ในส่วนของบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. จะกำหนดวงเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมในการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละราย แต่วงเงินสูงสุดกำหนดไว้ไม่เกิน 50,000 บาท โดยเมื่อรูดใช้บัตรจะได้รับการยกเว้นหรือปลอดดอกเบี้ย 30 วัน จากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ (MRR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7% ต่อปี

นายลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า วงเงิน 70% ของผลผลิตส่วนเหลือเผื่อขาย สมมติเป็นเงินสินเชื่อ 100,000 บาท จะแบ่งจ่ายให้เกษตรกรเป็นเงินสด 70,000 บาท และอีก 30,000 บาทเป็นวงเงินสำหรับบัตรเครดิตชาวนา หรือแบ่งสัดส่วนให้เป็นเงินสด 70% และวงเงินบัตรสินเชื่อเกษตร 30% แต่บางรายอาจวงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกรอาจได้สูงสุดถึงเพดานที่กำหนดไว้ 50,000 บาท

“บัตรเครดิตชาวนา เป็นวงเงินสินเชื่อเดิมที่ ธ.ก.ส. ให้ลูกค้าอยู่แล้ว เพียงแต่แบ่งวงเงินส่วนหนึ่งมาเปิดเป็นวงเงินบัตรเครดิต หรือเปลี่ยนวิธีใช้จากเงินสดมาเป็นบัตรเครดิต เพื่อความสะดวกสบายในการซื้อปัจจัยการผลิต จึงไม่ได้ทำให้เกษตรกรก่อหนี้มากขึ้น หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เพราะไม่ใช่สินเชื่อใหม่” ผู้จัดการ ธ.ส.ก. กล่าว

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. มั่นใจว่า บัตรสินเชื่อชาวนาจะเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องถือเงินสดติดตัว และการซื้อสินค้าเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตจากจุดบริการที่ ธ.ก.ส. ขึ้นไว้ทะเบียนจะทำให้มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพและราคา รวมถึงความปลอดภัยของเกษตรกรที่ใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้คุณภาพ

สินค้าในร้าน สกต.
สินค้าในร้าน สกต.

“ที่ สกต. สหกรณ์ และที่ร้านค้าขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. จะติดป้ายบอกราคาสินค้าไว้ และมีใบแสดงราคาสินค้าแต่ละชนิดให้ดูอย่างละเอียด เพื่อใช้เปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ทำให้เกษตรกรเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเป็นธรรม”

ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรชาวนาได้รับมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรแล้ว ก็มีการนำไปรูดซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธ์ข้าว และยาฆ่าแมลง ได้ที่่ร้านค้าของ สกต. สหกรณ์การเกษตร และร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนกับ สกต. โดยการทดสอบระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกรในครั้งแรกนี้ ได้ให้เกษตรกรผู้มีบัตรสินเชื่อเกษตรกรดำเนินการรูดบัตรซื้อสินค้าที่ได้สั่งไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้าน สกต.

ทดสอบระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกร
ทดสอบระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกร

นางจู ทองมูล ผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสินเชื่อชาวนา มีพื้นที่อำเภออุทัย มีที่ทำนา 82 ไร่ ได้วงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกร 30,000 เล่าว่า วันนี้จะมารูดบัตรฯ ซื้อเมล็ดพันธ์ข้าวที่ สกต. ปกติจะซื้อจากร้านค้าทั่วไป ซึ่งถ้าซื้อแบบเงิน “เชื่อ” ยังไม่จ่ายเงินจะถูกคิดดอกเบี้ย 3% ต่อเดือน แต่รูดบัตรฯ เดือนแรกไม่เสีย และจากนั้นจะเสียดอกเบี้ย 7% ต่อปี ก็น่าจะช่วยประหยัดขึ้น

หลังจากผ่านกระบวนการรูดบัตรซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จนมาถึงขั้นตอนรับสินค้า นางจูบอกว่า สะดวก ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องพกเงินสดมาซื้อของ และต่อไปถ้าจะรูดบัตรฯ ซื้อของเพิ่มเติมก็ไม่ลำบาก เพราะแถวบ้านมีร้านค้าเครือข่ายที่มีเครื่องรูดบัตรฯ

นางจู ทองมูล โชว์สลิปและใบรายการซื้อสินค้า หลังจากใช้บริการ "รูดปื๊ด" ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว
นางจู ทองมูล โชว์สลิปและใบรายการซื้อสินค้า หลังจากใช้บริการ "รูดปื๊ด" ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว

นางจูบอกว่า แต่ถ้าของที่ต้องการซื้อ เช่น ปุ๋ย หรือ ยาฆ่าแมลงชนิดที่ต้องการไม่มี ก็คงไปซื้อร้านค้าทั่วไป แต่ต้องใช้เงินสดไปซื้อ หรือถ้าซื้อแบบเชื่อก็จะถูกคิดดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือถ้าวงเงินบัตรฯ หมดก็ต้องไปซื้อร้านค้าทั่วไปอยู่ดี

นายมานิจ คงสุวรรณ์ เกษตรกรอำเภออุทัย ผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสินเชื่อชาวนาบอกว่า เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทำนาอยู่ 60 ไร่ ได้วงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกร 50,000 บาท แต่ขอวงเงินกำหนดไว้เพียง 10,000 บาท เนื่องจากได้สินเชื่อระยะสั้นจากธนาคารมาก่อนหน้านี้ จึงไม่อยากเปิดวงเงินไว้เยอะ แต่ถ้าต่อไปไม่พอก็ไปบอกธนาคารให้เพิ่มวงเงินได้ เพราะธนาคารไม่ได้บังคับว่าต้องใช้วงเงินเต็มตามที่กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

“รอบนี้จะซื้อแค่ปุ๋ยอย่างเดียว ถ้ารอบหน้าซื้อเยอะก็อาจจะขอวงเงินเพิ่ม ซึ่งก็ต้องระมัดระวังเหมือนกันจะได้ไม่เป็นหนี้เยอะ และถ้าไม่มีภัยธรรมชาติ ปกติก็ชำระหนี้ส่งตามกำหนดธนาคารได้ทุกปี” นายมานิจกล่าว

ขณะที่นายโสภา ศรีรักษา เกษตรกรอำเภอภาชี มีที่ทำนา 40 ไร่ ได้สิทธิ์รับบัตรสินเชื่อเกษตรกรวงเงิน 50,000 บาท และได้รูดบัตรฯ ในวันแรกเพื่อซื้อปุ๋ย 1 ตัน ราคา 14,400 บาท เล่าความรู้สึกหลังใช้บัตรฯ ว่า ก็เหมือนเงินกู้ แต่ไม่ต้องเสียเวลาเซ็นสัญญา และไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

นายโสภา ศรีรักษา โชว์บัตรสินเชื่อเกษตร ซึ่งได้รับวงเงินสูงสุด 50,000 บาท
นายโสภา ศรีรักษา โชว์บัตรสินเชื่อเกษตร ซึ่งได้รับวงเงินสูงสุด 50,000 บาท

นายโสภาบอกด้วยว่า การกู้เงินแบบนี้จะไม่เสียดอกเบี้ยดอกเบี้ย 30 วัน หลังจากนั้นธนาคารจะคิดดอกเบี้ย 7% ต่อปี และการชำระคืนเงินกู้จำนวนนี้ เริ่มผ่อนชำระในเดือนที่ 4 หรือตามฤดูการผลิต จึงมั่นใจว่าสามารถผ่อนชำระได้ตามที่ธนาคารกำหนดไว้

นอกจากนั้น จากการสอบถามเกษตรกรที่ได้รับบัตรสินเชื่อเกษตรกรหลายๆ ราย พบว่า ส่วนใหญ่พึงพอใจกับการมีบัตรสินเชื่อเกษตรกร และไม่กังวลเรื่องบัตรหายเมื่อเทียบกับบัตรเอทีเอ็ม เพราะไม่มีเงินสดอยู่ในบัญชี และการใช้ต้องใช้คู่กับบัตรประชาชนทำให้มั่นใจว่า ถ้าบัตรหายก็ไม่มีใครสามารถนำไปใช้ได้ ทำให้เกษตรกรสบายใจที่จะถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรไว้ใช้ซื้อปัจจัยการผลิต

ส่วนตัวแทนร้านค้า 2-3 ราย จากการสอบถามพบว่า ร้านค้าที่ได้รับคัดเลือกจะต้องวางขายสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ สกต. กำหนด ทำให้เกษตรกรได้ของดี มีคุณภาพ และน่าจะทำให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถขายปัจจัยการผลิตได้มากขึ้น เพราะเกษตรกรที่มีบัตรต้องมาใช้บัตรซื้อปัจจัยการผลิตกับร้านที่มีเครื่องรูดบัตร

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางราย ไม่แน่ใจว่าจะแข่งขันกับร้านค้าทั่วไปได้หรือไม่ เพราะร้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่จะมีสินค้าหลากหลายชนิด หลายสูตร และเมื่อซื้อสินค้าครบตามจำนวน หรือวงเงินที่กำหนดจะมีของแจกของแถมให้เยอะมาก เช่น แจกพัดลม เป็นต้น แต่ถ้าซื้อที่ สกต. ที่สหกรณ์ หรือร้านค้าตัวแทนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้เฉพาะเงินปันผลแต่ละปีเท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตร หากดำเนินการครบ 2 ล้านบัตร ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีสิทธิ์ได้รับบัตรทั้งหมด นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ประเมินว่า วงเงินสินเชื่อบัตรทั้งหมดจะมีประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแต่ละบัตรจะมีวงเงินประมาณ 20,000 บาท

นอกจากนี้ หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า จะต่อยอดบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้เป็นบัตรเครดิต และอาจขยายบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปสู่เกษตรกรอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากอาชีพทำนา

บัตรสินเชื่อเกษตรกร จึงถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งของบริการทางการเงิน ที่จะยกระดับการบริการด้านการเงินการธนาคารให้กับเกษตกร ทำให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทันสมัยและปลอดภัยเหมือนอาชีพอื่นๆ