ธ.ก.ส. ชงคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ขอใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 5.5 หมื่นล้านบาท ผสมสินเชื่อ New Gen รักบ้านเกิด วงเงิน 1 แสนล้านบาท ลุยปล่อยกู้สร้างงาน-อาชีพในชนบท รองรับแรงงานกลับบ้านเกิด
หลังจากที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ตามกรอบของกฎหมายได้แบ่งการใช้จ่ายเงินกู้ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและเกษตรกร และด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 600,000 ล้านบาท และ 2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่วงเงิน 400,000 ล้านบาท
โดยภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินเป็นลำดับแรกคือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก โดยการจ่ายเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เข้าไปหล่อเลี้ยงกลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านคน และเกษตรกรอีก 10 ล้านคน โดยใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ประมาณ 390,000 ล้านบาท คู่ขนานไปกับภารกิจที่ 2 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่วงเงิน 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับการค้า การผลิต การตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นำไปสู่พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมทำเรื่องเสนอต่อ “คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้” ที่มีเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ขอใช้เงิน พ.ร.ก.กู้เงินฯ จำนวน 55,000 ล้านบาท จัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อนำเงินทุนปลอดดอกเบี้ยมาร่วมสมทบกับ “สินเชื่อ New Gen รักบ้านเกิด” ของ ธ.ก.ส. โดยนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่าหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่ความปกติรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “New Normal” คาดว่าจะมีแรงงานจำนวนมากเดินทางกลับที่บ้านเกิด ทาง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ ธ.ก.ส. จัดหามาตรการสินเชื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว โดยให้เน้นความสำคัญในเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ และปฏิรูปภาคการเกษตรให้กับคนในชนบท เป็นหลักการสำคัญ
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ธ.ก.ส. ได้นำเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและแก้ปัญหาภัยแล้งต่อที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. ที่มี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ รับทราบหลักการในเบื้องต้น โดย ธ.ก.ส. จะทำเรื่องขอใช้เงินกู้วงเงิน 55,000 ล้านบาท เสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาอนุมัติ จัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อนำเงินมาสมทบกับ “โครงการสินเชื่อ New Gen รักบ้านเกิด” วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ “ซอฟต์โลน” ให้กับเกษตรกร 3 ระดับ คือ กลุ่มแรก ปล่อยกู้เป็นรายบุคคล รายละ 30,000-50,000 ส่วนนี้ไม่ได้ใช้เงินกู้ หรือ งบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน โดย ธ.ก.ส. จะเชิญชวนเกษตรกรหรือลูกหลานเกษตรกรที่เดินทางกลับบ้านเกิดเข้าร่วมโครงการ 459 ที่สาขาของ ธ.ก.ส. เรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ฝึกอบรมอาชีพแบบง่ายๆ มีให้เลือกหลายหลักสูตร เช่น ปลูกผัก เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์
กลุ่มที่ 2 สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำแก่กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เพื่อใช้เป็นแกนนำในการจ้างแรงงานที่เดินทางกลับบ้านเกิดเข้าไปทำงาน หรือ ว่าจ้างให้ผลิตสินค้า โดย ธ.ก.ส. จะให้การสนับสนุนเงินทุน ยกตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ต้องการ 100,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนจ่ายค่าจ้างแรงงาน หรือซื้อปัจจัยการผลิต ธ.ก.ส. ก็จะจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 50,000 บาท สมทบกับเงินกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอีก 50,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับสนับสนุนเงินกู้ในต้นทุนที่ต่ำมากๆ แต่ถ้าวิสาหกิจชุมชนต้องการลงทุนสร้างห้องเย็น 1 ล้านบาท ธ.ก.ส. ก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 บาท สมทบกับเงินกองทุนฯ อีก 500,000 บาท เป็นต้น
“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ทำงานร่วมกันในเครือข่ายเกษตรกรหลายแห่ง เช่น เครือข่ายสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย จัดทำแพลตฟอร์มสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และเครือข่ายระดับจังหวัด ซึ่งเราเตรียมแผนงานไว้เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะนำมาขยายผลต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายอภิรมย์กล่าว
กลุ่มที่ 3 สถาบันเกษตรกร เครือข่ายของเกษตรกรระดับจังหวัด และสหกรณ์การเกษตร กลุ่มนี้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกิจการ เช่น ลงทุนซื้อรถไถ โดรนเพื่อการเกษตร เครื่องสีและอบข้าว โดยแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการปล่อยอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน คือใช้เงินจากกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากไม่เกิน 50% ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ ที่เหลือใช้วงเงินสินเชื่อปกติของ ธ.ก.ส.
“ตามแผนงานที่กำหนดไว้จะมีการนำเสนอรายละเอียดของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและแก้ปัญหาภัยแล้งให้ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. พิจารณาอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้น ธ.ก.ส. ก็ต้องทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้อนุมัติ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563” นายอภิรมย์กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับ ธ.ก.ส. เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรประมาณ 2 โครงการ คือ โครงการยกระดับการแปรรูปสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กับ โครงการพาลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ผ่านเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็งประมาณ 1,000 แห่งจากทั้งหมด 3,000 แห่ง ขณะนี้มีสหกรณ์การเกษตรประมาณ 300 แห่ง เริ่มส่งลูกหลานของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินทำกิน เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรบ่มเพาะอาชีพกับ ธ.ก.ส. แล้ว
“เดิมทีคนกลุ่มนี้ไม่กล้าตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาประกอบอาชีพเกษตรกร เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปรอดหรือไม่ แต่เมื่อจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้มีลูกหลานเกษตรจำนวนมากตัดสินใจกลับมาทำงานบ้านเกิด และก็มีลูกหลานเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพจาก ธ.ก.ส. แล้วเกิดความมั่นใจ พร้อมที่จะเริ่มต้นการใช้ชีวิตใหม่ ทาง ธ.ก.ส. ก็จะให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ” นายพิเชษฐ์กล่าว