ThaiPublica > เกาะกระแส > ธ.ก.ส. ประเมินพักหนี้ดี 3 ปี รายได้หาย 36,000 ล้านบาท มั่นใจลูกค้าไม่เสียวินัยทางการเงิน

ธ.ก.ส. ประเมินพักหนี้ดี 3 ปี รายได้หาย 36,000 ล้านบาท มั่นใจลูกค้าไม่เสียวินัยทางการเงิน

27 เมษายน 2012


ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 1 ใน 4 แห่ง ที่ต้องดำเนินโครงการพักชำระหนี้กลุ่มลูกหนี้ดี (สถานะหนี้ปกติ) เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 24 เมษายน 2555 โดยลูกหนี้ดีของ ธ.ก.ส. มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนี้มีจำนวนมากที่สุดประมาณ 2,946,656 ราย จากลูกหนี้ดีของธนาคารเฉพาะกิจ 4 แห่ง ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการประมาณ 3,758,226 ราย (อ่านเพิ่มเติม)

เงื่อนไขของลูกหนี้ดีที่เข้าร่วมโครงการคือ ต้องเป็นลูกหนี้ปกติมียอดหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท ก่อนวันที่ 24 เมษายน 2555 โดยสามารถเลือกเข้าโครงการพักหนี้ดีได้ 2 แนวทาง คือ

1. ขอพักชำระเงินต้นพร้อมกับลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือ

2. ขอลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี แต่ผ่อนชำระเงินต้นตามปกติเป็นระยะเวลา 3 ปี

โดยต้องลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ถึง 20 สิงหาคม 2555 และเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2558

ดังนั้น ผลกระทบต่อ ธ.ก.ส น่าจะมากกว่าธนาคารเฉพาะกิจอีก 3 แห่งคือ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แต่ ธ.ก.ส. มั่นใจว่าจะไม่กระทบฐานะความมั่นคง และความเชื่อมั่นของ ธ.ก.ส.

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน (วันที่ 26 เม.ย. 2555) ว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นว่าโครงการนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องเกษตรกร และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ลูกหนี้ดีของ ธ.ก.ส. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ธ.ก.ส. ที่กำหนดให้ปี 2554-2556 เป็นปีแห่งการขอบคุณและดูแลลูกค้า

สูญรายได้ 36,000 ล้านบาทใน 3 ปี

สำหรับผลกระทบของโครงการพักหนี้ดี ธ.ก.ส. ประเมินว่า จะทำให้สูญเสียรายได้จากการลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นเม็ดเงิน 12,000 ล้านบาทต่อปี แต่ระยะโครงการ 3 ปี ดังนั้นจะสูญรายได้รวม 36,000 ล้านบาท จากยอดหนี้ทั้งหมด 396,951 ล้านบาท หรือครอบคลุมลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีสิทธิเข้าโครงการประมาณ 2,946,656 ราย

อย่างไรก็ตาม โครงการพักชำระหนี้ดี รัฐบาลมีมติ ครม. จะชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ครึ่งหนึ่งหรือ 1.5% ดังนั้น ในส่วนของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะสูญรายได้ดอกเบี้ยปีละ 12,000 ล้านบาท ก็จะได้เงินชดเชยจากรัฐบาลปีละ 6,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 3 ปี 18,000 ล้านบาทปี นั่นหมายความว่า ธ.ก.ส. จะสูญเสียรายได้จริงๆ ตามโครงการ 3 ปี ประมาณ 18,000 ล้านบาท

“แม้โครงการนี้จะมีผลกระทบทำให้ ธ.ก.ส. สูญเสียรายได้ แต่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีเงินที่ได้จากการที่ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนที่ลดลงไปใช้จ่าย ช่วยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้ และการดำเนินการของธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ทางรัฐมนตรีคลังประเมินว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.4-0.7%”

มั่นใจไม่เสียวินัยการเงิน

สำหรับเรื่องที่เป็นห่วงคือ รูปแบบการพักชำระหนี้ครั้งนี้จะกระทบวินัยการเงินของลูกหนี้ดีหรือไม่นั้น นายลักษณ์เชื่อว่าจะไม่กระทบวินัยทางการเงิน เนื่องจากเป็นการพักชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ดี ที่กำหนดให้มีการชำระดอกเบี้ยทุกงวด และมีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดคือ หากผิดชำระหนี้จะต้องออกจากโครงการ หรือถูกตัดสิทธิไม่ได้ลดดอกเบี้ย 3%

เพราะฉะนั้น ลูกหนี้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการนี้ จะต้องกลับไปเสียอัตราดอกเบี้ยปกติที่เคยจ่าย เช่น 7% และเสียดอกเบี้ยปรับอีก 3% เพราะถือว่าผิดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องดอกเบี้ยปรับเป็นวิธีปฏิบัติปกติของ ธ.ก.ส. ที่มีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นายลักษณ์เล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า ก่อนจะมาเป็นโครงการพักหนี้ดีตามแนวทางข้างต้น ได้มีการหารือมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจาก ธ.ก.ส. เป็นแบงก์ที่จะได้รับผลกระทบโครงการพักหนี้ดีมากที่สุด จึงเป็นห่วงเรื่องวินัยทางการเงินและได้พยายามหาวิธีรักษาวินัยทางการเงิน โดยตอนนั้นเสนอแนวทางคืนดอกเบี้ยเมื่อมีการชำระหนี้ คือ ถ้าจะได้สิทธิคืนดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย ต้องชำระคืนหนี้ก่อน จึงจะคืนดอกเบี้ยให้

แต่หลังจากนำแนวทางดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงคลังและธนาคารเฉพาะกิจด้วยกันทั้ง 4 แห่ง ก็มีความเห็นจากเอสเอ็มอีแบงก์ว่า การดำเนินการตามแนวทางนี้เท่ากับลูกค้ามีรายได้จากดอกเบี้ย จะต้องนำเงินส่วนนี้ไปชำระภาษี ดังนั้นอาจไม่เหมาะสม

“อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขลงโทษถูกตัดสิทธิ์ออกจากโครงการ และถูกคิดอัตราดอกเบี้ยปรับ 3% ถ้าไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ เชื่อว่าจะสร้างวินัยการเงินได้”

นอกจากนี้ เพื่อรักษาวินัยทางการเงินให้กับลูกหนี้ดีหรือลูกหนี้ปกติ นายลักษณ์ระบุว่า จะหาโครงการจูงใจให้ลูกหนี้ดีนำเงินที่ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยหรือที่ได้ส่วนลดดอกเบี้ยมาฝากหรือมาออมกับ ธ.ก.ส. เพื่อสนับสนุนการออมสำหรับลูกค้าที่ต้องการรักษาวินัยการเงิน

ลุ้นลูกหนี้ NPL มีสิทธิ์เข้าโครงการ

นายลักษณ์กล่าวว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมลูกหนี้เอ็นพีแอล (Non Performing Loan: NPL) ที่เข้าโครงการพักหนี้เกษตร 3 ปี ตามมติ ครม. 15 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งโครงการพักหนี้ NPL จะกู้เพิ่มไม่ได้ แต่ถ้าเร่งปรับปรุงสถานะสินเชื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติให้ได้ทันโครงการพักหนี้ดีที่สิ้นสุดการลงทะเบียนภายใน 20 สิงหาคม 2555 จะมีสิทธิเข้าโครงการลดดอกเบี้ย 3% ได้ และสามารถกู้ใหม่เพิ่มขึ้นได้

“ลูกค้าที่เข้าโครงการพักหนี้ดีจะได้สิทธิ์กู้เงินเพิ่มได้อีกโดยไม่จำกัดวงเงินสินเชื่อใหม่ แต่จะพิจารณาศักยภาพของลูกค้าเป็นหลัก”

ทั้งนี้ ลูกหนี้ NPL ของ ธ.ก.ส. ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ไปแล้วมีจำนวน 456,955 ราย มีมูลหนี้รวม 56,826 ล้านบาท

คาดเลือกทั้ง 2 แนวทางอย่างละครึ่ง

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ประเมินว่า ลูกหนี้ดีจะเลือกแนวทางขอพักชำระเงินต้นพร้อมกับลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี กับขอลดดอกเบี้ย 3% ต่อปี แต่ผ่อนชำระเงินต้นตามปกติเป็นระยะเวลา 3 ปี อย่างละครึ่งๆ หรือ 50:50 เนื่องจากการสำรวจลูกหนี้ NPL ปรากฏว่า มีลูกหนี้ NPL ประมาณ 78,000 ราย เป็นมูลหนี้กว่า 10,000 ล้านบาท ไม่ประสงค์เข้าโครงการพักหนี้

โดยลูกหนี้กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า ต้องการเคลียร์ตัวเองเป็นลูกหนี้ที่ดี สะท้อนถึงความซื่อสัตย์ ดังนั้นเชื่อว่า ลูกหนี้รักษาประวัติก็จะพยายามขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้เพื่อรักษาเครดิตกับ ธ.ก.ส.

“ผมเชื่อว่า ลูกหนี้ปกติที่ต้องกาจะรักษาเครดิตกับ ธ.ก.ส. จะเลือกชำระเงินต้น แต่ขอลดดอกเบี้ย แต่ลูกหนี้ที่เหนื่อยมากหน่อยก็อาจขอพักชำระเงินต้น และลดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกันที่่ลูกค้าจะเลือกแนวทางพักทั้งหนี้เงินต้น และขอลดชำระดอกเบี้ย”

ไม่ต้องสำรองโครงการพักหนี้ดี

นายลักษณ์ระบุว่าลูกหนี้ดีที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ดี คือ พักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ย จะไม่เป็นภาระการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เนื่องจากมีการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เห็นตรงกันว่า กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่มีลักษณะเป็นหนี้ปกติ ไม่ใช่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้

เพราะฉะนั้น ให้ถือว่าลูกหนี้มีลักษณะเป็นหนี้ปกติ จึงกันสำรองปกติเพียง 1% ทำให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไม่มีภาระในการกันสำรองเพิ่ม เรื่องนี้กระทรวงการคลังได้นำเสนอเป็นมติ ครม. ด้วย ดังนั้น ผลกระทบเรื่องการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไม่มี มีเฉพาะผลกระทบด้านรายได้อย่างเดียว

นายลักษณ์ วจานานวัช
นายลักษณ์ วจานานวัช

เพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายบรรเทาผลกระทบ

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบของ ธ.ก.ส. จากโครงการพักชำระหนี้ดี นายลักษณ์กล่าวว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพภายในรวม 3 ด้าน ได้แก่

1. บริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยตั้งเป้าจะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.34% ให้ลดลงเหลือ 3.25% ภายใน 3 ปี ถ้าดำเนินการได้จะทำให้ประหยัดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ปีละ 3,500 บาท

2. การขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดิมปี 2555 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 75,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท ไปยังกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ ทั้งเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการ (Smart Famers) การขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่เกษตรรายเดิมที่เป็นลูกหนี้ดีผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร การขยายสินเชื่อไปชุมชน เช่น สถาบันการเงินชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

การขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถมีรายได้เพิ่มและลดผลกระทบโครงการพักหนี้ดีได้ประมาณปีละ 200 ล้านบาทต่อปี หรือ 3 ปี ก็ประมาณ 600 ล้านบาท

3. การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดย ธ.ก.ส. จะปรับกระบวนการทำงานสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการมอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มลูกค้าช่วยงาน ธ.ก.ส. ที่มีประมาณ 300,000 คนทั่วประเทศ เป็นผู้แทน ธ.ก.ส. ในด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ การตรวจสอบการให้สินเชื่อ การติดตามกำกับการประกอบอาชีพของเกษตรกร โดยจะกำหนดค่าตอบแทนให้บางส่วน

นอกจากนี้จะจ้างลูกจ้างช่วยดำเนินการในโครงการที่เป็นนโยบายรัฐบาล และจะประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ และการใช้วิธีจ้างเหมาการให้บริการแทนการจ้างงานพนักงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ ธ.ก.ส. ปีละ 300 ล้านบาทต่อปี หรือ 3 ปี 900 ล้านบาท

ดังนั้น หากดำเนินการทั้ง 3 แนวทาง ได้บรรลุตามเป้าหมาย จะทำให้ ธ.ก.ส. มีรายได้ช่วยลดผลกระทบโครงการพักหนี้ดีประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท หรือ 3 ปี 12,000 ล้านบาท

นายลักษณ์กล่าวว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังอนุมัติรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายหรือกำไรเบื้องต้นจากปีบัญชี 2554 จำนวน 4,500 ล้านบาท สมทบเข้าบัญชีเจ้าหนี้ เพื่อนำไปชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการดำเนินโครงการพักหนี้ดี ซึ่งเป็นการลดผลกระทบในส่วนที่รัฐบาลไม่ได้ชดเชยรายได้ดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ในอัตรา 1.5%

ขอคลังเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยอมรับว่า การดำเนินงานโครงการพักหนี้ดี จะส่งผลให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ ธ.ก.ส. จากปัจจุบันอยู่ที่ 10.37% ลดลงเหลือประมาณ 9.6% ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดคือ 8.5% แต่ต่ำกว่าข้อตกลงที่กระทรวงการคลังต้องการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่า 10%

ดังนั้น เพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านการเงินของ ธ.ก.ส. และรักษาสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ให้เป็นไปตามข้อตกลงที่กระทรวงการคลังกำหนด คณะกรรมการ ธ.ก.ส. จึงมีมติเสนอขอให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพิ่มทุนจำนวน 10,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

โดยขอให้กระทรวงการคลังทยอยเพิ่มทุนตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 1,000 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 4,000 ล้านบาท และปี 2557 จำนวน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีเงินกองทุน 50,000 ล้านบาท ถ้ามีการเพิ่มทุนภายใน 3 ปีตามแผน จะทำให้ ธ.ก.ส. มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ระดับสูงกว่า 10%

นายลักษณ์ย้ำว่า การทำโครงการพักหนี้ดี ธ.ก.ส. พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะไม่ต้องการให้้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อธนาคาร จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไปมั่นใจว่า ธ.ก.ส. และฐานะการเงินของ ธ.ก.ส. ยังแข็งแกร่ง ไม่กระทบการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.

“หาก ธ.ก.ส. ดำเนินการได้กรอบที่วางไว้ คาดว่าผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. จะมีกำไรสุทธิประมาณปีละ 4,500-5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินและประชาชนทั่วไป ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาล และดูแลพี่น้องประชาชน”