ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปิดฉากกองทัพเรือซื้อ “เรือดำน้ำเยอรมนี” ยื้อจนเลยกรอบเวลา คาด “เกาหลีใต้-จีน” จ่อคิวแทน

ปิดฉากกองทัพเรือซื้อ “เรือดำน้ำเยอรมนี” ยื้อจนเลยกรอบเวลา คาด “เกาหลีใต้-จีน” จ่อคิวแทน

15 มีนาคม 2012


“เรือดำน้ำ” คือ ยุทโธปกรณ์ใต้ผืนน้ำที่มีบทบาทต่อการป้องปรามและป้องกันอริราชศัตรูอย่างได้ผล เพราะเรือดำน้ำมีคุณลักษณะที่ยากแก่การตรวจพบแม้แต่โดยการตรวจค้นหาด้วยดาวเทียม จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการรบหรือการป้องกันในทะเล

ทางกองทัพเรือได้วางยุทธศาสตร์ 10 ปี กำหนดวิสัยทัศน์กองทัพเรือในปัจจุบัน เพื่อเป็นกองทัพเรือชั้นนำในภูมิภาคด้วยกำลังรบขนาดที่มีความสมบูรณ์ทันสมัย โดยมี “เรือดำน้ำ” เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่อยู่ในแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพเรือมาโดยตลอด

ดังนั้น โครงการซื้อ “เรือดำน้ำ” มือสองจากเยอรมนีแบบ U-206 A จำนวน 6 ลำ มูลค่า 7.6 พันล้าน กลายเป็นโครงการในฝันของทัพเรือไทย ในวันนี้…

ในอดีตที่ผ่านมา “นาวีไทย” เคยมีเรือดำน้ำมาประจำการรบมาแล้ว โดยตอนนั้นกองทัพเรือได้เซ็นสัญญาต่อเรือกับบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2478 สร้างเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีระวางขับน้ำน้ำเพียงลำละ 370 ตันเศษ แต่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับพระราชทานชื่อภายหลังว่า เรือหลวง (ร.ล.) มัจฉาณุ (หมายเลข 1) ร.ล.วิรุณ (หมายเลข 2 ) ร.ล.สินสมุทร (หมายเลข 3) ร.ล.พลายชุมพล (หมายเลข4) และมีพิธีรับมอบ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ เรือดำน้ำคู่แรกของไทย ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 4 กันยายน 2480 กองทัพเรือจึงถือเป็นวันเรือดำน้ำสืบมาจนถึงทุกวันนี้

พิธีรับมอบ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ เรือดำน้ำคู่แรกของไทย ที่มาภาพ : www.navy.mi.th
พิธีรับมอบ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ เรือดำน้ำคู่แรกของไทย ที่มาภาพ : www.navy.mi.th

โดย “เรือดำน้ำ” ทั้ง 4 ได้เข้าประจำการกองทัพเรือไทยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง และภารกิจที่สำคัญต่างๆ จนกระทั่งปลดระวางประจำการในปี พ.ศ.2494

นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันกว่า 61 ปี กองทัพเรือไทยไม่เคยมีเรือดำน้ำเข้าประจำการเพื่อเพิ่มศักยภาพกองทัพเรือต่อการปกป้องอธิปไตยไทยอีกเลย รวมถึงผลประโยชน์อันมหาศาลใต้ทะเลในอ่าวไทยด้วย

จนกระทั่ง ในช่วงปี 2553 “บิ๊กติ๊ด” พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้หยิบโครงการซื้อ “เรือดำน้ำ” มาปัดฝุ่นอีกครั้ง

พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีต ผบ.ทร.
พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีต ผบ.ทร.

ด้วยเหตุผลคือ การรักษาเส้นทางคมนาคมของประเทศทางทะเลซึ่งใช้ในการลำเลียงขนส่งสินค้าในยามสงบ กับยุทโธปกรณ์ในยามสงครามทั้งเข้าและออกจากประเทศ ซึ่งหากไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ ก็จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนขีดความสามารถของกองทัพไทยในยามสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์ และยุทธปัจจัยจากภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ หลายประเทศในโลกนี้เริ่มตื่นตัวต่อการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเล ทำให้ในอนาคตเกิดการอ้างกรรมสิทธิ์เขตเศรษฐกิจรวมไปถึงเกาะหรือพื้นที่ทับซ้อนกัน

ดังนั้น สถานการณ์เหล่านี้ล้วนแต่อาจจะทำให้เกิดการใช้กำลังทางเรือต่อสู้กันได้ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางเรือในการป้องกันประเทศด้วยการวางกำลังป้องกันเป็นชั้นๆ โดยชั้นนอกสุดจะเป็นการใช้เรือดำน้ำ

เนื่องจากเรือดำน้ำจะถูกข้าศึกตรวจพบและทำลายได้ยาก ตลอดจนสามารถปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีกำลังทางอากาศของข้าศึกปฏิบัติการอยู่อย่างหนาแน่นได้ และเพื่อให้สนองตอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำมาใช้ราชการ

สำหรับการเตรียมกำลังทางเรือของกองทัพเรือเพื่อป้องกันประเทศนั้น มีความจำเป็นต้องพัฒนากำลังรบให้มีความสอดคล้องและสมดุลกัน ทั้งบนผิวน้ำในอากาศและใต้ทะเล กล่าวคือ กำลังรบทางเรือจะต้องมีทั้งส่วนที่เป็นเรือรบผิวน้ำ เครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการในทะเล และเรือดำน้ำ โดยจะต้องมีทั้งจำนวนและประเภทที่สมดุลสอดคล้องกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่ได้

ปัจจุบันนี้ กองทัพเรือได้จัดหาเรือผิวน้ำและเครื่องบินนาวีเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงมีความต้องการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ เพื่อให้เป็นกำลังรบที่สมบูรณ์มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะใช้ในการป้องกันประเทศ

จากการติดตามความเคลื่อนไหวด้านการทหารของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค พบว่าหลายประเทศได้ให้ความสนใจในการเตรียมการ และจัดหาเรือดำน้ำมาใช้งานในกองทัพเรือของตน อาทิ เวียดนามได้ส่งกำลังพลไปฝึกอบรมการปฏิบัติงานในเรือดำน้ำที่สหพันธรัฐรัสเซีย ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ได้จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้วจำนวนหนึ่ง ส่วนอินโดนีเซียก็มีเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้ว และกำลังพิจารณาจะจัดหาเพิ่มเติมอีก 2 ลำ

นี่เป็นความเคลื่อนไหวของเพื่อนบ้านในอาเซี่ยนที่มีเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือ

ดังนั้น “เรือดำน้ำ” จะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ในทางลับได้เป็นอย่างดี การที่กองทัพเรือมีเรือดำน้ำจะทำให้ประเทศที่เป็นศัตรูไม่กล้าที่จะส่งกำลังทางเรือ เข้ามาปฏิบัติการรุกรานอาณาเขตทางทะเลของประเทศและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของไทย

ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ได้ไฟเขียวกองทัพเรือไทยให้จัดหา “เรือดำน้ำ” แต่เมื่อทำเรื่องของบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่ 2 ลำ (ยังไม่ระบุเรือดำน้ำประเทศใด) วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท โครงการฯ ได้ถูกตีกลับเนื่องจากใช้งบประมาณมากเกินไป ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้

เรือดำน้ำแบบ U-206A  ที่มาภาพ : www.navy.mi.th
เรือดำน้ำแบบ U-206A ที่มาภาพ : www.navy.mi.th

แม้ว่าจะถูกตีโครงการฯ กลับ แต่กองทัพเรือก็ได้ข่าวดี เมื่อกองทัพเรือเยอรมนีเตรียมปลดระวางเรือดำน้ำแบบ U-206 A จำนวน 6 ลำ พอดี ทำให้สามารถขอซื้อเรือดำน้ำมือสองในราคาถูกได้ ซึ่งหลังการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ได้ข้อตกลงที่ตัวเลข 7.6 พันล้านบาท พร้อมแพคเก็จเครื่องฝึกระบบปฏิบัติการจำลองแบบจริง ระบบอาวุธ อะไหล่อุปกรณ์ ตอร์ปิโดรุ่นใหม่ ทุ่นระเบิด และส่งกำลังพลไปฝึกที่เยอรมนี

แต่ทว่า การซื้อเรือดำน้ำมือสองเยอรมนี จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ทั้งลำ และเรือดำน้ำสามารถใช้ปฏิบัติภารกิจได้เพียงแค่ 4 ลำ รวมถึงการให้กำลังพลได้ศึกษา ส่วนอีก 2 ลำถูกนำมาใช้เป็นอะไหล่…

ทำให้ตลอดระยะเวลาการดำเนินการขออนุมัติการจัดซื้อจากรัฐบาล มีข่าวโจมตีออกเป็นระยะๆ ถึงความคุ้มค่า รวมถึงค่าคอมมิชั่นในโครงการฯ ดังกล่าว

ยิ่งช่วงสุดท้ายในตำแหน่ง “พล.อ.ประวิตร” ผู้เป็นพี่ใหญ่ของกองทัพที่น้องๆ ให้ความเคารพและมีอำนาจบารมีในตอนนั้น ก็ยังไม่มีการอนุมัติโครงการ พร้อมทั้งดอง “เรือดำน้ำ” เยอรมนีไว้ จนมีข่าวหนาหูว่า คนใกล้ชิดกับพ่อค้าอาวุธพยายามวิ่งเต้นเพื่อเปลี่ยนโครงการมาซื้อ “เรือดำน้ำ” ประเทศเกาหลีใต้แทน

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา (ซ้าย) รองนายกรัฐมนตรี และ  พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมต.กลาโหม
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมต.กลาโหม

ถึงแม้จะเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของไทยก็ตาม เก้าอี้ “รมว.กลาโหม” เปลี่ยนมือมาที่ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พร้อมทั้งกองทัพเรือเข้าสู่ยุค “บิ๊กหรุ่น” พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ทว่าเรือดำน้ำก็ยังถูกแช่ไว้เช่นเดิม

จนกระทั่ง “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นั่งเป็น “รมว.กลาโหม” ก็ได้ให้คำมั่นกองทัพเรือ เมื่อวันตรวจเยี่ยมกองทัพเรือว่า “พร้อมสนับสนุนโครงการเรือดำน้ำเยอรมนี ขอเวลา 1-2 วัน ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี อย่างช้าก็ไม่เกินสัปดาห์หน้า”(อ่าน “พล.อ.อ.สุกำพล” ปฏิบัติการซื้อใจ “กองทัพ” ไฟเขียวซื้อรถถัง เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ติง-คลื่นใต้น้ำยังมีอยู่! )

แต่ทว่า โครงการเรือดำน้ำฯ ดังกล่าว ก็ไม่เข้า ครม. เสียที ปล่อยให้กองทัพเรือรอแล้วรอเล่า จนกระทั่งเลยวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา ตามกรอบเวลาที่ทางกองทัพเรือเยอรมนีกำหนด พร้อมทั้งข่าวสะพัดว่า “พล.อ.อ.สุกำพล” ล้มโครงการนี้ไปแล้ว

จนเมื่อ “พล.อ.อ.สุกำพล” ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ล้มโครงการเรือดำน้ำเยอรมนีเนื่องจากติดปัญหาเทคนิค และเลยกรอบเวลาที่เยอรมนีกำหนด แต่พร้อมสนับสนุนโครงการเรือดำน้ำรุ่นอื่น…!!!

ปิดฉากโครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” มือสองแบบ U-206 A จากกองทัพเรือเยอรมนี จำนวน 6 ลำ งบประมาณ 7.6 พันล้านบาท อย่างเป็นทางการ…ที่มาพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยื้อโครงการจนเลยเวลา แต่ไม่มีคำตอบว่าเพราะสาเหตุใด

ก็ไม่เหนือการคาดเดา!!

แต่ที่แน่ๆ “เรือดำน้ำ” สัญชาติเกาหลีใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างเข้าคิวรอแล้ว….