ThaiPublica > คอลัมน์ > นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป (1)

นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป (1)

5 มีนาคม 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล
[email protected]

การไปร่วมงานเสวนาในหัวข้อ “พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา” ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ผมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อในการเสวนาดังกล่าวเป็นอันมากแล้ว ยังทำให้ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านผู้รู้อย่างใกล้ชิดอีกด้วยครับ

การแลกเปลี่ยนความเห็นดังกล่าวนี้ทำให้เกิดประเด็นชวนคิดติดตามมา โดยประเด็นดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งดูเหมือนกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในอนาคตอันใกล้

ก่อนอื่น ผมขอเท้าความไปที่การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงช่วงเวลาปัจจุบันกันก่อนครับ โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ธปท. ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ Flexible Inflation Targeting

ถ้าจะพูดกันสั้นๆ และง่ายๆ แล้ว การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ก็คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ในกรอบเป้าหมาย ที่ได้มีการประกาศเอาไว้ล่วงหน้านั่นเองครับ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศ กลายเป็นเป้าประสงค์หลักในการดำเนินนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยนั้น ธปท. ได้มีการประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ “แบบยืดหยุ่น” นั่นคือ ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นเป้าประสงค์หลักในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ได้เป็นเพียงเป้าประสงค์เดียวในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ยังมีการคำนึงถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคธุรกิจ ภาคสถาบันการเงิน และภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศประกอบไปด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการร่วมหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อออกมา โดยในช่วงเวลาปัจจุบัน กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 0.5 – 3.0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ธปท. ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นกรอบนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และมีความสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งหลักของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกจากประเทศไทยได้

ส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของการดำเนินนโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศไทย ก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงเวลาปัจจุบันนั้นเป็น “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ซึ่งมีความแตกต่างจาก “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ตามความเข้าใจของพวกเราอยู่เล็กน้อยครับ

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” เป็นอัตราเงินเฟ้อที่พวกเราเข้าใจกัน เป็นตัวสะท้อนถึงระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปในท้องตลาดที่ผู้บริโภคโดยทั่วไปจะต้องประสบพบเจอ การคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว จะอาศัยการรวบรวมข้อมูลการปรับขึ้นของราคาสินค้าที่ผู้บริโภคทั่วไป จะต้องมีการจับจ่ายซื้อหาเพื่อนำมาบริโภคในชีวิตประจำวันครับ

แต่ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ที่ถูกกำหนดอยู่ในนโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของทาง ธปท. นั้น เป็นอัตราเงินเฟ้อของสินค้าที่ผู้บริโภคทั่วไปนำมาบริโภค แต่หักราคาสินค้าในหมวด “อาหารสด” และ “พลังงาน” ออก นั่นคือ ราคาของสินค้าจำพวก ข้าว เนื้อสัตว์ ผลไม้ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม หรือน้ำมันเชื้อเพลิง จะไม่ถูกนำมาคำนวณรวมเข้าไปในอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าว

เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ในบางครั้งที่พวกเรารู้สึกว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูง ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันของพวกเราเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ ธปท. กลับประกาศออกมาว่า “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่จำเป็นจะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวแต่ประการใด

เหตุการณ์ข้างต้นนี้ ก็น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ราคาของอาหารสดและพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคาของสินค้าประเภทอื่นๆ ในประเทศไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากนัก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจำพวกนี้ ที่กระทบกับค่าครองชีพของพวกเราเป็นอย่างมาก จึงไม่ส่งผลต่อ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ซึ่งเป็นเป้าหมายของ ธปท. แต่ประการใด

โดยสาเหตุที่ทำให้ ธปท. เลือกใช้ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” แทนที่จะใช้ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” มาประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ มาจากการที่ระดับราคาของสินค้าในกลุ่มดังกล่าว มีการปรับตัวผันผวนเป็นอย่างมากในระยะสั้น ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ่อยครั้งติดตามมา

นอกจากนั้น การปรับตัวของระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานนั้น มักจะได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศไทย ที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของนโยบายการเงิน ลองคิดถึงการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดูครับ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาจากตลาดโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นลงของประเทศเล็กๆ อย่างฃประเทศไทยอาจไม่สามารถปรับลดระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกได้

ในทางทฤษฎีนั้น การเลือกใช้ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ โดยข้อดีก็คือ การเลือกใช้อัตราเงินเฟ้อ ที่นโยบายการเงินของประเทศสามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของมันเป็นอย่างมาก จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว ถ้าหาก ธปท. บอกว่าจะดำเนินนโยบายเพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และ ธปท. สามารถปรับลดอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวได้จริง จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการดำเนินนโยบายของ ธปท. ซึ่งความน่าเชื่อถือนี้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประวัติศาสตร์โลกครับ

แต่การเลือกใช้ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ก็มีข้อเสียในลักษณะที่มันไม่มีความเชื่อมโยงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศโดยตรง ค่าครองชีพที่ผู้คนในประเทศรับรู้กัน อาจไม่ถูกสะท้อนออกมาใน “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ซึ่งทำให้ ธปท. สามารถสื่อสาร หรือทำความเข้าใจในการดำเนินนโยบายของตนเอง ต่อสาธารณชนได้อย่างยากลำบาก ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเช่นเดียวกันครับ

ในช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา จึงได้เกิดกระแสข่าวขึ้นมาว่าทางกระทรวงการคลังได้เข้าหารือกับ ธปท. เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปี 2555 โดยอาจมีการนำเอา “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” มาเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย แทนที่ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” และกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว ให้อยู่ในระดับ 1.5–4.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี

โดยสาเหตุหลักของการปรับเปลี่ยนมาใช้ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ทาง ธปท. ภายหลังการหารือกับกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว ในระยะหลังมีความแตกต่างไปจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นอย่างมาก สืบเนื่องมาจากการปรับตัวของสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานอยู่ในระดับสูง การปรับเปลี่ยนมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเอื้อต่อการสื่อสาร ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินไห้ดียิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน จะคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งอาจทำให้ ธปท. จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ของประเทศไทย ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นักจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

แต่การคัดค้านดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า โครงการในการปรับเปลี่ยน “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” มาใช้แทน “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” จะถูกยกเลิกไปอย่างถาวรครับ แต่จะเป็นเพียงการชะลอการปรับเปลี่ยนดังกล่าวออกไประยะหนึ่งเท่านั้น

ในช่วงที่ผ่านมา ตัวผมเองรู้สึกว่าประเด็นการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของทาง ธปท. มากนัก

อย่างไรก็ตาม จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านผู้รู้ที่ผมพูดถึงไปแล้วช่วงต้นนั้นได้ทำให้ผมมองเห็นถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศไทยในอนาคต

ประเด็นของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวอยู่ที่ ในอนาคต เป้าประสงค์หลักของการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. อาจเปลี่ยนแปลงไปครับ เนื่องจากการควบคุมให้ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” อยู่ในกรอบที่กำหนด อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไปควบคุมดูแลการปรับตัวของ “อัตราแลกเปลี่ยน” ของประเทศไทยด้วย

อย่างที่ผมได้พูดถึงบ้างแล้วครับว่า การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก ต่อตลาดสินค้าอาหารสดและพลังงานในระดับโลก การจะเข้าไปควบคุมระดับราคาสินค้าในหมวดดังกล่าว จึงอาจถูกแทนที่ด้วยการเข้าไปดูแลการเคลื่อนไหวของ “อัตราแลกเปลี่ยน” เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำให้ราคาสินค้าอาหารสดและพลังงานในหน่วยเงินบาท ไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงมากเกินไป

ยังมีประเด็นสืบเนื่องที่น่าสนใจหลายๆ ประการติดตามมาครับ ในครั้งหน้าผมจะพูดถึงในรายละเอียดต่อไป