ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.75% รับเศรษฐกิจไตรมาสแรกส่งสัญญาณชะลอตัวกว่าคาด – เตรียมพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายอื่นดูแลเสถียรภาพการเงิน

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.75% รับเศรษฐกิจไตรมาสแรกส่งสัญญาณชะลอตัวกว่าคาด – เตรียมพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายอื่นดูแลเสถียรภาพการเงิน

8 พฤษภาคม 2019


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ว่า คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศยังมีอยู่สูงในระยะข้างหน้า ในการประชุมครั้งนี้ กนง.จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น

“ถามว่า กนง.ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพลดลงและให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นหรือไม่ จริงๆ กนง.ทุกคนยังกังวลเสถียรภาพระบบการเงิน คือเสถียรภาพระบบการเงินถ้าเกิดอะไรขึ้นมาผลกระทบเยอะ เพียงแต่เป็นอะไรที่กระทบในระยะข้างหน้ายาวออกไป แต่ว่าเรื่องการเติบโต 1-2 ปีเป็นระยะสั้นกว่า ก็เป็นอะไรที่ต้องหาสมดุลกัน ด้านหนึ่งคือการขยายตัวระยะสั้นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่จะสะท้อนการขยายตัวระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ดำเนินนโยบาย ทั้งดอกเบี้ย ทั้งมาตรการอื่นๆ ไปแล้วระดับหนึ่ง แล้วระยะข้างหน้าต่อไปก็ยังต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายจัดการเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เพียงแต่จังหวะเวลาความเหมาะสมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็ชัดเจนว่าบางตัวก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างหนี้ครัวเรือน” นายทิตนันทิ์กล่าว

ในรายละเอียด เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการลงทุน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการจ้างงานโดยรวมที่เริ่มทรงตัวและมีสัญญาณ การชะลอลงของการจ้างงานในภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อส่งออก การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ

“สัญญาณของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกเห็นว่าออกมาต่ำกว่าที่คาด เช่น การส่งออก การลงทุน รวมไปถึงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วก็แผ่วลง คาดว่าโดยรวมอาจจะต่ำลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลง แต่ภาคท่องเที่ยวถือว่าเติบโตได้ดีอยู่ ส่วนที่ว่าจะลามไปถึงไตรมาส 2 ของปีหรือไม่คิดว่าต้องรอดูข้อมูลบางส่วนก่อน แต่เราก็ติดตามอย่างใกล้ชิดในทุกประเด็น เช่น ในไตรมาสแรกมีสัญญานว่าการจ้างงานในภาคก่อสร้างและการผลิตเพื่อการส่งออกชะลอตัว เราก็เตรียมสถานการณ์รองรับไว้ว่าอาจจะกระทบกับการบริโภคหรือไม่ แค่ไหน” นายทิตนันทิ์กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งจะติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“ความไม่แน่นอนตอนนี้มีทั้งภายในและภายนอก อย่างการเมืองจะส่งผลในหลายมิติอันหนึ่งที่ต้องจับตาเรื่องการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งในแง่ของจำนวนเงินและจังหวะเวลา รวมไปถึงการขับเคลื่อนงบประมาณโดยรวมอีกด้วย และแนวนโยบายในระยะต่อไป ถ้าหากไม่ทันจริงๆ ส่วนที่เป็นงบรายจ่ายประจำยังสามารถใช้ของปีที่แล้วได้ แต่ส่วนที่เป็นงบลงทุนอาจจะกระทบ  ส่วนปัจจัยภายนอกเรื่องสงครามการค้าอาจจะเร็วไปที่จะบอกว่าทำให้การส่งออกไทยติดลบ ยังไม่แน่นอนอาจจะเป็นเกมการเจรจาอะไรอยู่ แล้วบางผลกระทบก็อาจจะมีด้านที่เป็นบวกอยู่ด้วย แม้ว่าโดยรวมจะไปในทางลบมากกว่า ซึ่งบางส่วนได้ประเมินอยู่ในการประมาณการของเราแล้ว แต่โดยหลักเราทำสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้และเตรียมนโยบายมาตรการรองรับเอาไว้ ถ้าหากเกิดเป็นแบบนี้มีผลกระทบแบบนี้ต้องใช้มาตรการแบบนี้ คิดว่ารอดูให้ชัดเจนก่อน เพราะอย่างเรื่องการเมืองตอนก่อนเลือกตั้งก็มีความไม่แน่นอน พอหลังเลือกตั้งไปแล้วก็ยังไม่แน่นอนอยู่อีก กนง.ก็ติดตามใกล้ชิดทุกประเด็นที่กระทบต่อเป้าหมายของ กนง. และก็เตรียมมาตรการรองรับไว้” นายทิตนันทิ์กล่าว

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ช่วยชด
เชยผลของราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งในระยะข้างหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน นับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาจะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ภายหลังการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) มีผลบังคับใช้ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไป ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

“มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันยังมีความเหมาะสม โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป” นายทิตนันทิ์กล่าว