ThaiPublica > คอลัมน์ > จักรยาน คุณภาพชีวิต และความเหลื่อมล้ำในสังคม

จักรยาน คุณภาพชีวิต และความเหลื่อมล้ำในสังคม

26 มีนาคม 2012


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

เมื่อปี ค.ศ. 2009 มีหนังสือสำคัญออกมาเล่มหนึ่งชื่อ “The Spirit Level” (ไม้วัดระดับ) เขียนโดย Richard Wilkinson และ Kate Pickett

สาระสำคัญคือ การพิสูจน์ด้วยสถิติจากข้อมูลจำนวนมากที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ตามหน่วยงานรัฐ ธนาคารโลก และองค์กรสหประชาชาติว่า จีดีพีและ/หรือรายได้เฉลี่ยของคนในชาติหนึ่งๆ ไม่มีความสัมพันธ์ต่อความเป็นปกติสุขในสังคม (กราฟบน) ตัวบ่งชี้ที่สะท้อนปกติสุขของสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือคุณภาพชีวิตในสังคมได้ดีกว่า กลับเป็นดัชนีความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของผู้คนภายในสังคมใดสังคมหนึ่งต่างหาก (กราฟล่าง)

สถิติ “คุณภาพชีวิต” นั้นดูได้จากอัตราการเกิดปัญหาต่างๆ ในสังคม ทั้งปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาที่คุกคามความอยู่ดีมีสุขอื่นๆ ในสังคม อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการขาดความไว้วางใจกันในสังคม ปัญหาวัยรุ่นท้อง ติดยา การขาดโอกาสในการเลื่อนสถานภาพในสังคม เป็นต้น อัตราการเกิดปัญหาเหล่านี้ถูกนำมารวมกันเป็นคะแนนดัชนีปัญหาสุขภาพและสังคม ส่วนดัชนีความเหลื่อมล้ำของรายได้ในหนังสือเล่มนี้ คำนวณจากสัดส่วนความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนรวยสุด 20 เปอร์เซ็นต์ และคนจนสุด 20 เปอร์เซ็นต์ภายในประเทศ (Quintile Income Ratio) ยิ่งตัวเลขสูงยิ่งหมายถึงความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันสูง (ดูเพิ่มเติมได้จาก คลิปวีดีโองาน TEDTalk บรรยายไทยแปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล)

ดังนั้น ถ้าดูแต่จีดีพี เราก็จะมองไม่เห็นว่ารากปัญหาในสังคมอยู่ตรงไหน เราอาจคิดว่าที่หมู่ประเทศรวยๆ มีอัตราอาชญากรรมแตกต่างกันมากมาย เป็นสาเหตุจากรายละเอียดทางวัฒนธรรมและ/หรือการใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีส่วน แต่มันน่าสนใจว่า เมื่อเราหันมาดูความสัมพันธ์ของอัตราอาชญากรรมกับดัชนีความเหลื่อมล้ำภายในสังคม เรากลับเห็นเส้นความสัมพันธ์เป็นแนวค่อนข้างตรง สอดคล้องกันในทุกสังคม ไม่ว่าจะดูในระดับประเทศหรือระดับรัฐ สังคมแล้วสังคมเล่า ก้าวข้ามตัวแปรของวัฒนธรรมท้องถิ่น

และเมื่อเราหันไปแยกดูปัญหาสังคมด้านอื่นๆ เราก็พบรูปแบบความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกัน ลองดูในประเทศอื่นๆ ก็เห็นอะไรคล้ายๆ กัน (แต่ศึกษาได้ยากกว่า ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล) ชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยสากลที่สัมพันธ์กับความไม่เป็นปกติสุขในสังคม และความแตกต่างถ่างมากขึ้นเมื่อพิจารณาการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล นอกเหนือไปจากรายได้ประจำ

ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างกันและกัน สร้างความขมขื่น ความเครียด และสร้างความรู้สึกอยุติธรรมในสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องขยายความกันต่อไป แต่วันนี้อยากจะให้ดูรูปธรรมของความเหลื่อมล้ำกับการพัฒนาสังคมเมือง โดยอาศัยจักรยานเป็นแว่นขยาย

ผู้เขียนได้ลองศึกษากราฟภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตและความเหลื่อมล้ำในสังคมของ Wilkinson และ Pickett เพิ่มเติม โดยนำข้อมูลสัดส่วนการเดินทางด้วยจักรยานของคนในแต่ละประเทศมาร่วมเปรียบเทียบด้วย จัดแบ่งเป็นหมวดสี

สีแดงคือประเทศที่มีสัดส่วนเที่ยวเดินทางด้วยจักรยานน้อย เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์

สีเหลืองใช้จักรยาน 3-5 เปอร์เซ็นต์ สีเขียวอ่อน 6-10 เปอร์เซ็นต์

และสีเขียวเข้มใช้จักรยานกันมาก ตั้งแต่ 11 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

น่าสนใจว่ากลุ่มประเทศที่ผู้คนใช้จักรยานมาก ล้วนแล้วแต่กองไปทางด้านซ้าย คือเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำไม่สูงมากนักและมีปัญหาสังคมน้อย ส่วนประเทศที่ใช้จักรยานน้อย ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงและมีปัญหาสังคมมาก ข้อยกเว้นเห็นจะได้แก่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งหลายเมืองตั้งบนทางลาดชันและอาศัยระบบขนส่งมวลชนมากกว่า

ประเทศทั้งหมดนี้ถือเป็นประเทศรวย ประชาชนมีกำลังซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้ได้ แต่สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำเลือกนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยาน ถ้าเข้าไปศึกษารายละเอียดจะพบว่า เขาสร้างระบบสัญจรที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับคนเดิน คนขี่จักรยาน และระบบขนส่งมวลชน ส่วนรถยนต์ส่วนตัวจะได้รับความสำคัญต่ำสุด โดยเฉพาะสำหรับการเดินทางในเมือง

สะท้อนอะไร?

ในที่ที่คนเข้ามาอยู่รวมตัวกันมากๆ จนเป็นเมือง พื้นที่สาธารณะจะเป็นทรัพยากรจำกัด และถนนหนทางเป็นพื้นที่สาธารณะส่วนกลางที่สำคัญที่สุด เป็นทรัพยากรมีค่าที่ต้องแบ่งปันกันใช้ การส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวได้สะดวกสบายที่สุดจึงเป็นการส่งเสริมให้คนเบียดเบียนกัน ผลักดันให้คนดิ้นรนหารถยนต์มาใช้ พากันเบียดเบียนอากาศหายใจ เบียดเบียนพื้นที่สัญจร พื้นที่หย่อนใจใช้ชีวิตริมทางนอกบ้านแคบๆ เบียดเบียนความปลอดภัยแก่ชีวิตผู้ร่วมใช้ถนนหนทางสาธารณะที่พวกเขาเองก็ร่วมจ่ายภาษีทำนุบำรุง

สังคมที่ส่งเสริมรถยนต์ส่วนตัวเหนือพาหนะสัญจรอื่น จึงเป็นสังคมที่ให้รางวัลกับพฤติกรรมการแก่งแย่งเห็นแก่ตัว

ในทางกลับกัน บ้านเมืองที่ผู้คนขี่จักรยานได้สะดวกเป็นที่ที่มีโครงข่ายถนนหนทางปลอดภัยสำหรับคนเดินและจักรยาน เป็นสังคมที่เลือกพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เลือกจัดสรรให้ผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัวเป็นประโยชน์ที่สอดคล้องกัน สะท้อนค่านิยมในสังคมว่า พวกเขาเห็นหัวมนุษย์ทั้งสังคมที่อยู่ร่วมกัน เห็นความสำคัญในการพิทักษ์ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องทำตัวลีบกระโดดหนีรถยนต์เหมือนแมลงสาบหนีหมา

น่าสนใจว่า การศึกษาของ Wilkinson และ Pickett ยังพบว่า สังคมเหล่านี้เป็นสังคมที่รีไซเคิลขยะมากกว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง นั่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นสังคมที่มีจิตเพื่อสาธารณะสูงกว่า

น่าสนใจอีกว่า ประเทศสเปนซึ่งลดความเหลื่อมล้ำลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กำลังมุ่งพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับจักรยาน และจำนวนการใช้จักรยานในเมืองต่างๆ กำลังถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดูกราฟแล้วบางคนอาจสงสัยว่าตัวเลขประเทศไทยเป็นอย่างไร ขอบอกว่า ถ้าใส่ลงไปก็เลยพื้นที่กราฟ เพราะดัชนีความเหลื่อมล้ำของรายได้ตัวเดียวกันนี้ ไทยแลนด์มีค่าความเหลื่อมล้ำสูงถึง 15 (UNDP 2011) หมายความว่าคนรวยสุด 20 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้สูงกว่าคนจนสุด 20 เปอร์เซ็นต์ ถึง 15 เท่า นับว่าเหลื่อมล้ำมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (ถ้าไม่นับประเทศพม่าซึ่งไม่มีข้อมูล)

ส่วนจำนวนการขี่จักรยานในเมืองไทยยังไม่มีการจัดเก็บเป็นสถิติเลยด้วยซ้ำ แต่ประเมินคร่าวๆ ว่าในกรุงเทพฯ อาจขี่จักรยานกันอยู่ราว 0.1 – 0.2 เปอร์เซ็นต์

นักการเมือง ข้าราชการ และผู้มีอำนาจเส้นก๋วยจั๊บอื่นๆ ชอบเดินทางไปเมืองนอก บ่อยครั้งด้วยภาษีของเรา กลับมาคุยฟุ้งว่าเมืองนั้นเมืองนี้บรรยากาศดีอย่างไร ขี่จักรยานได้ไปไหนมาไหนกันแสนรื่นรม…แต่บ้านเราทำไม่ได้หรอก ว่าแล้วก็ขึ้นรถเบนซ์มีคนขับ แถมตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์นำหน้ากันไปตามเดิม

เรามาเรียกร้องให้ ส.ส. และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนหรือจักรยานกันอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง เป็นกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติเพื่อดึงสมอบาทาท่านๆ ผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายพัฒนาและออกกฎหมาย ได้อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชนกันดีกว่า

เผื่อเขาจะเห็นว่าบ้านเราก็เหมือนบ้านใครๆ ทำได้เหมือนกัน