ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “B Talk เสวนา” ฟื้นฟูรอยธรรมชาติ ปรับโครงสร้างการผลิตจากเส้นตรงเป็นวงจรปิด “zero footprint” – อู่สู่อู่ ขยะเป็นศูนย์

“B Talk เสวนา” ฟื้นฟูรอยธรรมชาติ ปรับโครงสร้างการผลิตจากเส้นตรงเป็นวงจรปิด “zero footprint” – อู่สู่อู่ ขยะเป็นศูนย์

14 ธันวาคม 2013


มูลนิธิโลกสีเขียวและป่าสาละชวนคุยในซีรีย์เสวนาฺB Talk เรื่อง “ความยั่งยืน” จากทั้งฝ่ายของนักสิ่งแวดล้อมโดย"สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์"(ซ้าย) ฝ่ายนักธุรกิจโดย"สฤณี อาชวนันทกุล"(กลาง) และ ภัทราพร แย้มละออ (ขวา)ณ B House สุขุมวิท 43 เมื่อวันที่  27 พฤศจิกายน 2556  ที่มาภาพ : มูลนิธิโลกสีเขียว
มูลนิธิโลกสีเขียวและบริษัทป่าสาละ ชวนคุยในซีรีย์เสวนา B Talk เรื่อง “ความยั่งยืน” จากฝ่ายนักสิ่งแวดล้อม “สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” (ซ้าย) ฝ่ายนักธุรกิจ “สฤณี อาชวานันทกุล” (กลาง) และ “ภัทราพร แย้มละออ” (ขวา) ณ B House สุขุมวิท 43 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556
ที่มาภาพ: มูลนิธิโลกสีเขียว

ความยั่งยืนคืออะไร ความหมายที่นักสิ่งแวดล้อมนิยามไว้และความหมายที่นักธุรกิจเข้าใจเหมือนกันหรือไม่ ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบเป็นวงกว้างอย่างสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาประเทศที่ยึดโยงกับอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน เราจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยลงแต่เศรษฐกิจคงสามารถเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร

มูลนิธิโลกสีเขียวและบริษัทป่าสาละ ชวนคุยในซีรีย์เสวนา B Talk เรื่อง “ความยั่งยืน” จากทั้งฝ่ายนักสิ่งแวดล้อม “สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” และฝ่ายนักธุรกิจ “สฤณี อาชวานันทกุล” และ “ภัทราพร แย้มละออ” ณ B House สุขุมวิท 43 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556

“สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว หรือที่หลายๆ คนได้ยินชื่อเสียงจากการเขียนบทความและหนังสือเล่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและให้การศึกษาแก่เยาวชน ทั้งนักสืบสายน้ำ นักสืบสายลม และล่าสุด ในเรื่องการเคลื่อนไหวให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานมากขึ้น

ทำไมต้องยั่งยืน สำคัญอย่างไร “สรณรัชฎ์” บอกว่า คำตอบง่ายๆ ก็คือ โลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่มันมีกฎกติกาหลักอันหนึ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติหรือกฎบัญญัติที่เราแก้ไขไม่ได้ ก็คือ ทรัพยากรมีอยู่จำกัด ซึ่ง ณ วันนี้เราอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอีก 10 ล้านชนิด มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันและต่างคนต่างทำหน้าที่ขับเคลื่อนหมุนเวียนวงจรแร่ธาตุ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ของโลกใบนี้ และรักษาให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิต

ความหลากหลายทางชีวภาพมีหน้าที่ที่มีความสำคัญ โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดเปรียบเทียบได้กับสังคมมนุษย์ที่มีอาชีพหลากหลาย ซึ่งแต่ละอาชีพล้วนมีความสำคัญ ถ้าอาชีพไหนหายไปสังคมก็อาจจะเริ่มมีปัญหาและอ่อนแอลง ฉะนั้น ทุกคนทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปได้เช่นเดียวกับพืชและสัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศที่สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้มนุษย์มีวิวัฒนาการ แลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ปรับตัวกัน และขับเคลื่อนระบบสังคม

หรือจะเปรียบเทียบความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ สัตว์บางอย่างอาจจะเป็นเหมือนนิ้วก้อยหรือใบหู ที่หากขาดหายไปเราก็อาจจะยังมีชีวิตอยู่ได้ เพียงแต่ประสิทธิภาพการใช้อาจจะด้อยลง ซึ่งถ้าเมื่อร่างกายเราแหว่งไปเรื่อยๆ ประสิทธิภาพและคุณภาพในการดำเนินชีวิตของเราก็จะด้อยลงไปเรื่อยๆ

แต่สิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น ผึ้ง ถือเป็นสัตว์ที่ทำหน้าที่สำคัญมากในระบบนิเวศ เช่นเดียวกับสมองหรือหัวใจของมนุษย์

เมื่อเราใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดมากเกินอัตราที่จะสามารถหมุนเวียนได้ตามระบบธรรมชาติ รวมถึงสังเคราะห์สสารแปลกปลอมที่ระบบธรรมชาติไม่สามารถหมุนเวียนได้ขึ้นมามากๆ นั้น จึงทำให้เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมเพราะระบบตามธรรมชาติไม่สามารถรับมือได้

ภาพนิ่ง 1

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของระบบวงจรสิ่งแวดล้อมโลกทั้งหมด รองลงมาคือ ปัญหาไนโตรเจน ซึ่งเป็นผลกระทบจากปุ๋ยเคมีที่เราใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วซึมลงไปทำลายดิน แม่น้ำ และทะเล ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำและทะเลหลายชนิด อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ วิกฤติโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเรามีทรัพยากรอยู่จำกัด

ระบบผลิตแบบเส้นตรง

หากย้อนดูรากของปัญหาต่างๆ จะพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากระบบผลิตที่สังคมมนุษย์ปฏิบัติกันเป็นระบบผลิตแบบเส้นตรง เราอาจจะหมุนเงินทำเงินมากมาย มีการค้าขายทุนนิยมเสรีต่างๆ และหมุนเงินไป แต่สสารกลับไม่หมุนไปด้วย

การสกัดวัตถุดิบจากธรรมชาติอาจจะทำลายที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ต่างๆ จนสูญพันธุ์ได้ หรือบางครั้งก็ทำให้ชุมชนล่มสลายแล้วเกณฑ์เขามาทำงานในโรงงานผลิตสินค้า และการใช้สารเคมีต่างๆ ในโรงงานก็สร้างมลภาวะมากมาย ส่วนการจัดจำหน่ายก็มีการตลาดมากมายที่พยายามเร่งให้มนุษย์อยากบริโภคมากขึ้น และของเหล่านั้นที่สุดแล้วก็กลายเป็นขยะที่มนุษย์ทิ้งขว้างต่อไปเรื่อยๆ

30 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ใช้ทรัพยากรโลกหมดไปร้อยละ 30 แล้ว และก่อมลภาวะและขยะมากมาย ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่เท่ารัฐเท็กซัสลอยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ดังนั้น ทุกคนต้องตระหนักว่า ตัวเองมีบทบาทในวงจรผลิตแบบเส้นตรงนี้ และมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

การแก้ปัญหาคือ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างวงจรการผลิตของเราทั้งหมด จากแบบเส้นตรงมาเป็นแบบวงกลมหรือวงจรปิด เหมือนระบบหมุนเวียนในธรรมชาติ

ระบบแบบวงกลมหรือวงจรปิด

“ธรรมชาติไม่สร้างขยะ ไม่มีอะไรในธรรมชาติที่เรียกว่าขยะ เพราะของเสียจากสิ่งหนึ่งก็จะกลายเป็นอาหารหรือวัตถุดิบให้กับอีกชีวิตหนึ่งเสมอ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะหมุนได้เป็นวงจร แต่ในระบบมนุษย์เราจะแยกวงจรเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เราต้องเก็บรักษาให้หมุนเวียนอยู่ในสังคมการผลิต กับส่วนที่ทิ้งในธรรมชาติและหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบในธรรมชาติได้”

มีวิธีการมากมายที่จะทำให้เกิดระบบวงกลมได้ เช่น ระบบจัดการ ที่ผูกมัดผู้ผลิตสินค้าว่าต้องรับคืนสินค้าเก่า เช่น บริษัทแอปเปิลผลิตไอโฟนรุ่นใหม่ออกมา ก็ต้องรับคืนไอโฟนรุ่นเก่ากลับไปรีไซเคิล ดังนั้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตต้องออกแบบสินค้าให้สามารถแกะออกมาได้อย่างรวดเร็วและนำไปใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ รวมถึงวัตถุดิบและสสารที่สังเคราะห์ขึ้นมาก็ต้องเป็น green chemistry คือสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้เช่นเดิม

“ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพราะว่าเราคิดบัญชีผิด เราทำให้การสกัดวัตถุดิบใหม่ๆ ขึ้นมามีราคาถูกกว่าการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่”

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนใหม่ๆ มากมาย เช่น “biomimicry” หรือที่คุณสฤณีแปลไว้ว่า “ชีวลอกเลียน” คือการผลิตวงจรปิดที่ลอกเลียนแบบจากธรรมชาติรอบตัว เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างบริการต่างๆ ให้มนุษย์

อาคารสร้างเลียบแบบจอมปลวกที่ซิมบับเว
อาคารสร้างเลียนแบบจอมปลวกที่ซิมบับเว

เช่น ที่ซิมบับเว ได้สร้างอาคารเลียนแบบจอมปลวกในท้องถิ่น โดยดูลักษณะการระบายอากาศของจอมปลวก ที่อุณหภูมิภายในรังปลวกจะเย็นสบายคงที่ไม่ว่าอุณหภูมิภายนอกจะเป็นอย่างไร ทำให้ตึกอาคารนี้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศเลย ฉะนั้น ตึกนี้จึงใช้พลังงานน้อยกว่าตึกขนาดเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงถึงร้อยละ 90 สามารถประหยัดค่าเครื่องปรับอากาศได้ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี ทำให้ค่าเช่าตึกที่นี่และต้นทุนต่างๆ ถูกกว่าตึกอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันมาก

ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ หลายๆ สถาบันก็มุ่งศึกษาและวิจัยโดยลอกเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของใบไม้ เมื่อปีที่แล้ว California institute of technology สามารถทำแผ่นโซลาร์ขนาดเท่าไพ่ป๊อกแล้วใส่ในน้ำ 1 ถัง ซึ่งแผ่นโซลาร์นี้สามารถผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับบ้านหลังหนึ่ง โดยการทำงานของแผ่นโซลาร์นี้คือ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาแตกโมเลกุลของน้ำให้เป็นไฮโดรเจน แล้วไฮโดรเจนนั้นจะกลายเป็นพลังงานที่ไปผลิตไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง เทคโนโลยีนี้ใช้ทรัพยากรน้อยมากในการผลิตต่อชิ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การลอกเลียนแบบการสื่อสารของผึ้งมาเป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับใช้กับระบบ smart grid ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารอย่างหนึ่ง เช่น เรื่องการใช้ไฟฟ้า เราสามารถรู้ได้ว่าบ้านไหนใช้ไฟฟ้ามากเท่าไหร่ มีพีค-โหลด (peak-load; ปริมาณการใช้งานสูงสุด-ต่ำสุด) ตอนนี้เท่าไหร่ ดังนั้นเราก็สามารถปรับพฤติกรรมตัวเองได้ว่า ถ้าเราใช้ไฟฟ้าตอนที่คนอื่นใช้เยอะๆ ค่าไฟจะแพง เราก็อาจจะเลี่ยงไปรีดผ้าตอนอื่น เป็นต้น

กว่าที่เราจะเปลี่ยนจากระบบเส้นตรงไปเป็นระบบวงกลมได้นั้นใช้เวลานานมาก เพราะมีกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่การออกแบบวัตถุดิบ ระบบต่างๆ การวิจัยและพัฒนาสินค้าและการผลิต ฯลฯ ดังนั้น เราจึงจะต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้แล้วทำในจุดที่ทำได้และเร่งทำให้เร็วที่สุด

สำหรับบริษัทหรือธุรกิจของไทย คนที่อยู่นอกธุรกิจจะรู้สึกว่าชอบประชาสัมพันธ์ หรือที่มักพูดว่าซีเอสอาร์ (CSR) แต่จริงๆ ไม่ใช่ เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติกนิดหน่อยก็ประชาสัมพันธ์ต่ออีกมาก ซึ่งไม่ได้เป็นซีเอสอาร์ในเรื่องประกอบการหรือความรับผิดชอบในการประกอบการ

แต่ในแง่ดีก็ยังมองว่า ทำแค่ไหนก็ได้แต่ขอให้ทำ และที่สำคัญที่สุดคือต้องเริ่มทำและพยายามทำให้มากที่สุดไปเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นตัวอย่างของผู้ประกอบการหลายแห่งที่เริ่มทำอะไรดีๆ เพื่อนำไปสู่ระบบผลิตวงจรปิดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ไม่ควรทำและยังมีอยู่มากคือ “การถอยหลัง” กลับไปสู่วิถีการทำลายธรรมชาติทางเดียวแบบเดิมๆ

ระบบแบบเส้นตรงที่เน้นประชาสัมพันธ์และซีเอสอาร์

อย่างกรณีที่ธนาคารไทย 4 แห่ง ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างไทยเพื่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีให้กับรัฐบาลลาวนั้น เป็นการสร้างเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงกระแสหลัก ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยได้ประโยชน์มากมายทั้งไฟฟ้าและธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งคือประเทศเพื่อนบ้านและคนอีสานตอนใต้ต้องเสียความอุดมสมบูรณ์มากมาย เสียความมั่นคงทางอาหาร เสียแหล่งโปรตีน และเสียผืนดินที่ปลูกข้าวและอาหารต่างๆ เพราะเขื่อนไปกั้นการอพยพของปลาและที่วางไข่ของปลา อีกทั้งยังทำให้เวียดนามใต้สูญเสียแผ่นดินจากการกัดเซาะของทะเลปีละ 5 เมตร

“ตราบใดที่ธุรกิจและนโยบายต่างๆ ยังมุ่งไปสู่รูปแบบเดิมที่ทำลายโครงสร้างระบบนิเวศ การสกัดวัตถุดิบแบบไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้ เช่น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คุณก็จะเห็นนักอนุรักษ์ออกมาคัดค้านแบบเดิมๆ ซึ่งหลายคนคงรำคาญและพูดว่านักอนุรักษ์ก็ดีแต่ค้านไปหมดทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือ”

ด้านนักอนุรักษ์ก็ต้องจำทนกับภาพของคนที่ดีแต่ค้านการพัฒนาเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่เราไม่ต้องการคือ “การพัฒนาในรูปแบบที่ทำลาย” และเบื่อการที่ต้องออกมาคัดค้านเช่นกัน เราอยากเหลือเกินที่จะก้าวไปสู่ข้างหน้าแล้วร่วมมือกับคนในวิชาชีพอื่นๆ แล้วร่วมกันออกแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่สุดแล้วเรามองว่าสิ่งแวดล้อมนั้นใหญ่กว่ามนุษย์และยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเราต้องง้อธรรมชาติแต่ธรรมชาติไม่ต้องง้อเรา สิ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือระบบการผลิตที่เป็นวงจรปิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของธุรกิจสีเขียวและเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนสังคมให้เท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะโยนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์น้อยลง มีวิธีแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันได้มากขึ้น

ถ้าเราทำได้ทั้งหมดนี้ก็จะสามารถที่จะขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรของเราให้เป็นวงจรปิดได้ และเก็บรักษาส่วนอื่นๆ ทั้งพืชและสัตว์ให้อยู่ในสภาพของระบบนิเวศได้ พืชและสัตว์ต่างๆ เขาไม่ได้อยู่เฉยๆ เขาทำงานหนักเพื่อดูแลระบบนิเวศ ระบบแร่ธาตุ และวัฏจักรต่างๆ ให้สามารถหมุนเวียนในลักษณะที่เกื้อกูลและเอื้อเฟื้อต่อภาวะที่เหมาะสมกับชีวิตของเราตราบต่อไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน นี่คือ “ความยั่งยืน” (อ่านเพิ่มเติม)

ด้านนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เจ้าของงานเขียนและงานแปลกว่า 50 เล่มในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา พูดถึงความยั่งยืนในมุมมองของนักธุรกิจว่า การเป็นนักสิ่งแวดล้อมนั้นเหนื่อย การเป็นนักธุรกิจอาจเหนื่อยน้อยกว่าหน่อย แต่เวลาที่นักธุรกิจคิดถึงความยั่งยืนนั้นก็เหนื่อยไม่แพ้กันเลย เพราะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ว่า ความยั่งยืนคืออะไร เพราะว่าเวลาเราทำธุรกิจเราก็จะคุ้นเคยกับการตั้งเป้า ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือ กำไร และการทำกำไรก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าวัดผลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งอย่างในธุรกิจ ถึงที่สุดแล้วต้องเป็นส่วนที่วัดได้

สำหรับการเปลี่ยนระบบการผลิตจากเส้นตรงเป็นระบบวงกลมนั้น สิ่งแรกที่นักธุรกิจต้องการคือ สิ่งที่จะเชื่อมโยงปัญหาหรือเชื่อมโยงเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมเข้ากับการดำเนินธุรกิจ

เช่น เราเป็นเจ้าของบริษัทน้ำมัน แล้วมีคนบอกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นเราต้องการที่จะสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน เราบอกว่าเราเชื่อแนวคิดนี้และพยายามที่จะทำเป็นวงจรปิด แล้วเราต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงในระหว่างที่เราทำเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไม่เจ๊งไปก่อน เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาต้องมีแนวทางที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป นี่คือความท้าทายหลักของนักธุรกิจเวลาพูดถึงความยั่งยืนในมุมของสิ่งแวดล้อม

คอนโดที่สร้างไม่เสร็จในรัฐเนวาดา สหรัฐฯ (ซ้าย) ศาลเจ้าอิเซะ ลัทธิชินโต ประเทศญี่ปุ่น (ขวา)

จากภาพ ด้านซ้ายคือ คอนโดที่สร้างไม่เสร็จในรัฐเนวาดาของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มก่อสร้างก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์ที่สหรัฐฯ พอเกิดวิกฤติตึกนี้จึงสร้างไม่เสร็จและปัจจุบันก็ไม่มีคนอยู่ ส่วนด้านขวาคือศาลเจ้าอิเซะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศาลเจ้าสำคัญของลัทธิชินโต ที่สวยงามและสร้างจากไม้ทั้งหลัง ดังนั้นจึงมีการผุกร่อนและทุกๆ ประมาณ 20 ปีจะมีพิธีสร้างใหม่จากพิมพ์เขียวเดิมที่ใช้กันมาหลายร้อยปีแล้ว โดยใช้ไม้จากป่ารอบๆ ศาลเจ้านั่นเอง ฉะนั้น ต้องมีการดูแลป่าไม้รอบๆ ศาลเจ้านั้นเพื่อให้มีไม้สร้างศาลเจ้าต่อไปอีกใน 20 ข้างหน้า

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าความยั่งยืนคืออะไร ซึ่งเราจะเข้าใจคำว่า “ยั่งยืน” ชัดเจนขึ้น ถ้าเรามองเห็นความไม่ยั่งยืนหรือผลกระทบทางลบจากความไม่ยั่งยืนก่อน เพราะคงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดวิกฤติและคอนโดที่เนวาดาจะสร้างไม่เสร็จ ในทางกลับกัน เราก็คิดว่าศาลเจ้าอิเซะก็น่าสามารถจะสร้างต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะอีกกี่ปี จะเห็นว่าศาลเจ้าอิเซะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความยั่งยืนมากกว่าคอนโดที่เนวาดา

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว หากถามนักธุรกิจว่า รักษาสิ่งแวดล้อมกับทำธุรกิจจะเลือกอะไร แทบทุกคนจะตอบว่าต้องเลือกเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ธุรกิจ เพราะเมื่อก่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่รุนแรงมาก และเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ยังไม่เคยมีปัญหาอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อกันทั้งโลกมาก่อน

ปัจจุบันไม่ควรจะมาเถียงกันแล้วว่าจะเลือกอะไร เพราะธุรกิจคือส่วนสำคัญและส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในสังคมมนุษย์ และสังคมมนุษย์อยู่ในระบบธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การดูแลรักษาธรรมชาติก็คือการดูแลระบบที่รองรับมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องบอกว่าเราต้องไม่ทำหรือเรามีสิทธิที่จะไม่ทำอีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและกระตุ้นให้นักธุรกิจสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง คือกราฟทั้ง 9 กราฟ ที่แสดงแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังภาพ

ภาพนิ่ง7

3 กราฟบนที่เป็นเส้นสีแดงแสดงจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มจาก 3,000 ล้านคนเป็น 7,000 ล้านคนภายใน 50 ปี, จีดีพี หรือรายได้รวมทั้งโลกที่เพิ่มสูงมาก, การลงทุนจากต่างชาติหรือเงินที่ไหลข้ามประเทศนั้นก็เพิ่มสูงขึ้น

3 กราฟกลางที่เป็นเส้นสีฟ้าพูดถึงปริมาณน้ำที่เราบริโภคทั้งโลก, ปริมาณกระดาษที่เพิ่มขึ้นทั้งโลก, ปริมาณการขนส่ง ซึ่งวัดโดยปริมาณรถยนต์ของโลก

3 กราฟล่างที่เป็นเส้นสีเขียวแสดงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือปริมาณการตัดไม้ทำลายป่า, ปริมาณคาร์บอน, การสูญเสียจำนวนพันธุ์พืชและสัตว์

ทั้ง 9 กราฟนี้บอกว่า การพัฒนาที่ผ่านมาของระบบเศรษฐกิจนั้นเป็นเส้นตรงจริงๆ มันไม่ใช่แค่เส้นตรงจากอู่สู่สุสานอย่างเดียว แต่เป็นเส้นตรงของการทำลายธรรมชาติและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องพูดถึงความยั่งยืน

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” คือยังไม่มีโมเดลที่เป็นรูปแบบที่อธิบายได้ชัดเจนว่าต้องผลิตอย่างไร ขายอะไร ขายอย่างไร ใครเป็นคนซื้อ

เวลามนุษย์สร้างรอยเท้าต่อระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่ว่าสัตว์ตายไปเรื่อยๆ และโลกร้อนเรื่อยๆ แล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา เพราะธรรมชาติแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากในรูปแบบของ “ภัยธรรมชาติ” ที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์

รัฐมนตรีฟิลิปปินส์บอกว่า มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากภัยธรรมชาติเฉพาะพายุไห่เยี่ยนประมาณ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และพายุนี้เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้นำทีมเจรจาลดการปล่อยคาร์บอนจากฟิลิปปินส์ถึงร้องไห้กลางที่ประชุมแล้วบอกว่า “ถ้าทั้งโลกไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนในการลดระดับคาร์บอน ประเทศฟิลิปปินส์ไม่รอดแน่นอน เพราะว่าปีหน้าก็จะเจอพายุที่แรงกว่านี้อีก” เพราะเขาคือทีมเดียวกับที่ไปเจรจาในหลายๆ รอบที่ผ่านมา และฟิลิปปินส์ก็เจอพายุรุนแรงเสมอ แต่ประเทศเจริญแล้วก็ยังตกลงกันไม่ได้

ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกในบางประเทศ มันคือความเป็นความตายของเขา ซึ่งนอกจากฟิลิปปินส์ก็มีประเทศที่ประสบปัญหาหนักยิ่งกว่า นั่นคือ ประเทศเฮติกับมัลดีฟส์ ซึ่งประธานาธิบดีมัลดีฟส์ถึงกับบอกว่า “ถ้าประเทศที่รวยแล้วไม่ตกลงเรื่องโลกร้อนกันสักทีเช่นนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ก็คิดว่าประเทศรวยก็ต้องหาแผ่นดินใหม่ให้ชาวมัลดีฟส์อยู่ เพราะว่าประเทศเขาจะจมทะเล”

สำหรับตัวเลขความเสียหายในทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดภัยธรรมชาตินั้นชัดเจนมาก สามารถวัดค่าความเสียหายได้ ซึ่งข้อมูลนี้ก็คือ “ต้นทุนของความไม่ยั่งยืน”

ในทางเศรษฐศาสตร์ มูลค่าของความยั่งยืนคือ การลงทุนเพื่อกำจัดมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือก็คือต้นทุนของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมลพิษ

ประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับธุรกิจนั่นก็คือว่า ถ้าเรารู้ว่าการดำเนินธุรกิจจะก่อให้เกิดความเสียหายอะไรแล้ว ถ้าเราลงทุนไม่ให้เกิดได้ก็เรียกว่าประหยัดต้นทุน สมมติเรารู้ว่าจะเกิดความเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาท ถ้าเราลงทุน 10 ล้านบาทแล้วไม่เกิดความเสียหายนั้นก็แปลว่าเราคุ้มแล้ว เพราะว่าเราประหยัดเงินได้ 90 ล้านบาท

ถ้าเราดูวิธีคิดของนักธุรกิจว่าเวลาเขาคิดเรื่องความยั่งยืนแล้วเขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงนั้น นักธุรกิจที่เริ่มจากต้นทุน ก็จะมองเรื่องพวกนี้ก่อน คือการประหยัดต้นทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยง

ทีนี้ พอเราเริ่มพูดถึงต้นทุน ประโยชน์ก็คือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเริ่มมีคนคำนวณว่า นิเวศบริการต่างๆ มีมูลค่าอย่างน้อยเท่าไหร่นั้นเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แล้วการคำนวณเหล่านี้ก็เริ่มมีผลกระทบต่อธุรกิจเหมือนกัน

เช่น บริษัทเป็ปซี่ ใช้น้ำปริมาณมหาศาลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงโดยตรงของบริษัทคือ การขาดแคลนน้ำ ทำให้การสนับสนุนรักษาแหล่งน้ำหรือฟื้นฟูแหล่งน้ำต่างๆ ที่เป็ปซี่ไปทำธุรกิจนั้น จึงมีมูลค่าทางธุรกิจสำหรับเป็ปซี่ ซึ่งนี่ไม่ได้พูดถึงซีเอสอาร์แล้ว แต่พูดถึงเหตุผลทางธุรกิจที่ต้องทำอะไรแบบนี้

แล้วถ้าจะเปลี่ยนจากระบบเส้นตรงไปสู่ระบบวงกลม จะต้องทำอย่างไร

ลองจินตนาการว่าตอนนี้คุณเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ มีแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ 100 แท่นทั่วโลก แล้วบอกว่าวันนี้จะไม่ขุดเจาะน้ำมัน แล้วผู้ถือหุ้น พนักงานจะรู้สึกยังไง แล้วจะอยู่ได้ไหมในขณะนั้น คู่แข่งจะทำอะไร มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัว เพราะธุรกิจก็ต้องพยายามปรับตัวในทางที่รักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่มาของการที่บริษัทน้ำมันหลายๆ บริษัทบอกว่า ถ้าอยากให้เราปรับตัวจริงๆ กฎเกณฑ์ของรัฐบาลก็ต้องเข้มกว่านี้ บ้างก็บอกว่าออกกฎมาเลยจะได้เท่าเทียมกัน ออกภาษีคาร์บอนมาเลยจะได้รู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ ทุกคนจะได้เปลี่ยน ต้นทุนทางธุรกิจจะได้สูงขึ้น

ในขณะที่ภาครัฐก็ยังลังเล ไม่ได้ตัดสินใจ การตกลงระหว่างประเทศก็ยังไม่เกิด ก็มีความพยายามเยอะมากที่จะชี้ความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ในทิศทางที่พยายามทำให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้น พยายามทำให้เชื่อมโยงกับผู้บริโภคมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น รายงาน Carbon Tracker ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยที่ลอนดอน เขาก็ไปตามดูว่าในบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่มีทุนสำรองที่เป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือถ่านหินนั้น มีมูลค่าสำรองเท่าไหร่ที่ขุดขึ้นมาใช้ไม่ได้ ถ้าเกิดว่าเราจะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซสเซียส ตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ ก็เชื่อมโยงข้อมูลมาเพื่อที่จะบอกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้อาจจะสูงเกินจริง

เนื่องจากมูลค่าหุ้นกำหนดมาจากแนวโน้มที่เขาจะมีรายได้ในอนาคต เราซื้อหุ้นก็เพราะคิดว่าปีหน้าบริษัทนี้จะมีกำไรอันจะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น กำไรของบริษัทเหล่านี้ก็มาจากการใช้สินทรัพย์ ซึ่งสินทรัพย์หลักของบริษัทคือก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ ที่ขุดขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมีแนวโน้มว่าจะขุดขึ้นมาไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยการออกกฎหมายของรัฐหรือการเก็บภาษี ก็จะทำให้มูลค่าหุ้นตกทันที เพราะถือว่าสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ใช่สินทรัพย์อีกต่อไปแล้ว

ทั้งหมดคือเหตุผลที่นักลงทุนเริ่มมองว่า นี่อาจจะเป็นเสี่ยงความแล้ว จึงเคลื่อนไหวกดดันบริษัทให้อย่างน้อยเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนว่าคืออะไร แล้วบริษัทมีการจัดการความเสี่ยงอย่างไรบ้าง

แรงผลักดัน การเห็นความเสี่ยง การลดต้นทุนหรือประหยัดต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อลดความเสียหาย คือเหตุผลหลัก แต่มีเหตุผลทางธุรกิจอีกมากมายที่บริษัทอยากจะเปลี่ยนด้วย

การลดต้นทุน เป็นสิ่งที่นักธุรกิจที่ดีเขาก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นของนักธุรกิจก็คือการสร้างตลาดใหม่ การหารายได้ใหม่ การหาลูกค้าใหม่

ธุรกิจสีเขียวในต่างประเทศ
ธุรกิจสีเขียวในต่างประเทศ

ปัจจุบันก็มีบริษัทจำนวนมากในต่างประเทศที่ทำธุรกิจสีเขียว แต่ในประเทศไทยยังมีธุรกิจสีเขียวน้อยอยู่ ซึ่งก็ต้องหาเหตุผลต่อไปว่าเพราะอะไร

ธุรกิจที่ยั่งยืนก็มีหลายระดับ เรื่องแรกๆ ที่เขาจะมองเห็นคือการลดต้นทุน เพราะว่าต้นทุนเป็นความเสียหายที่เกิดจริง วัดได้จริง

ขั้นต่อไปคือ ถ้าเริ่มเห็นวิธีการลดต้นทุนหรือจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องหาทางเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนมองเห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ หรือว่าดึงผู้ค้ามาร่วมด้วย ซึ่งก็คือเริ่มขยับออกไปนอกพรมแดนของการประหยัดต้นทุน

ขั้นต่อไปก็ต้องพยายามที่จะสร้างและขายสินค้าที่ดี ที่ยั่งยืนกว่าเดิม ก็เริ่มเข้าไปสู่วงจรวงกลมอย่างที่คุณสรณรัชฎ์พูดถึง เพราะว่าถ้าแค่ลดต้นทุน บรรเทาความเสียหาย ก็ยังไม่เป็นวงกลม มันก็คือลดปัญหาจากเส้นตรงแต่ก็ยังเป็นเส้นตรงเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เข้าสู่ระดับที่เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนที่โฆษณาได้ ก็ต้องไปสู่การสร้างตลาด หาลูกค้าใหม่ หาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาขาย

ภาพนิ่ง6

แล้วเป้าหมายสุดท้ายในความหมายของเศรษฐกิจวงกลมที่ว่า zero footprint ก็คือเป็นธุรกิจที่ไร้ขยะ ไม่สร้างรอยเท้าต่อระบบนิเวศ เพราะฉะนั้น ตามหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีคนนิยามไว้นานมากแล้วว่า หมายถึงการพัฒนาที่รุ่นลูกหลานของเรานั้นมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ด้อยไปกว่ารุ่นเรา ธุรกิจที่ยั่งยืนก็จะอยู่ในความหมายเดียวกัน แต่ว่าอยู่ในระดับธุรกิจ

ตัวอย่างบริษัทที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบริษัทที่ยั่งยืนแห่งแรกๆ ของโลก และอยู่บนเส้นทางที่กำลังจะเป็นเศรษฐกิจวงกลม นั่นคือ บริษัทผลิตพรม “Interface” ซึ่งทำธุรกิจขายพรมสำนักงานใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ในปี 1994 ผู้ก่อตั้งไปเยี่ยมโรงงานแล้วสังเกตเห็นว่าลำธารนอกโรงงานเป็นฟองสีขาวแปลกๆ เต็มไปหมด จึงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อไปถามคนแถวนั้นก็ได้รับคำตอบว่ามาจากโรงงานของเขา เขาก็ตกใจว่าสารเคมีที่เขาใช้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มคิดว่าจะเปลี่ยนการผลิต

หลังจากนั้นก็ไปอ่านหนังสือชื่อ Ecology of Commerce เขียนโดย พอล ฮอว์เคน ซึ่งเป็นนักรณรงค์เรื่องธุรกิจที่ยั่งยืนคนแรกๆ เมื่ออ่านแล้วก็เกิดความคิดขึ้นมามากมายว่าจะต้องเปลี่ยนทั้งบริษัทให้เป็น zero footprint ให้ได้ โดยประกาศเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้ภายในปี 2020

เริ่มจากเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานในการผลิตสินค้าต่อหน่วยให้น้อยลงเรื่อยๆ ส่วนเงินที่ประหยัดได้ก็เอามาลงทุนในการวิจัยผลิตภัณฑ์ว่าวัสดุแต่ละชิ้นมี life cycle assessment มาจากไหนบ้าง มีรอยเท้าต่อระบบนิเวศอย่างไร ใช้พลังงานเท่าไหร่ เผาผลาญอะไรบ้าง เพื่อให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเขานั้นยั่งยืนจริงหรือไม่

ต่อมาจึงเปลี่ยนวัตถุดิบจากการใช้ใยสังเคราะห์มาใช้ซังข้าวโพดแทน ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ 100% เพื่อลดการใช้สารเคมีและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้เขาสามารถลดของเสียลงได้เกือบ 80%

การเปลี่ยนแปลงของ Interface ช่วงแรกๆ มีคนตั้งคำถามจำนวนมาก ทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น ฯลฯ ว่าการลงทุนต่างๆ เหล่านี้จะกระทบต่อกำไรหรือยอดขายแค่ไหน ซึ่งที่ทำมาก็พิสูจน์แล้วว่ากำไรและยอดขายยังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังรักษาความเป็นผู้นำต่อไปได้ จึงทำให้ปัจจุบัน Interface กลายเป็นบริษัทที่ได้รับการขนานนามอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการทำซุปเกลือต่ำของ Campbell’s soup โดยการฉวยโอกาสสร้างตลาดจากประเด็นสังคมหลังจากที่มีงานวิจัยและนักวิจัยออกมารณรงค์ว่า อาหารที่ใส่เกลือมากทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง

ดังนั้น เขาจึงร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อรณรงค์ลดการใช้เกลือในอาหาร และเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นซุปเกลือต่ำ ซึ่งยอดขายซุปเกลือต่ำคิดเป็น 30% ของสินค้าทั้งหมด และต่อมาก็มีบริษัทอื่นๆ ทำตามจำนวนมาก

สาเหตุที่ Campbell’s soup ทำอย่างนี้ได้เพราะเขามีข้อมูลจากงานวิจัยรองรับว่าเกลือสูงในอาหารก่อให้เกิดอะไร และค่าเกลือสูงนั้นคือเท่าไหร่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่นักธุรกิจอยากรู้ ถ้านักวิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ต่อนักธุรกิจ เพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งนี่คือความท้าทายอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงปัญหาโลกร้อนหรือปัญหาคาร์บอน อย่างหนึ่งที่นักธุรกิจยังมองไม่เห็นหรือไม่รู้ก็คือว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นสร้างผลกระทบหรือเรียกว่ายั่งยืนได้หรือยัง แล้วเขาจะต้องทำอย่างไร

ทั้งหมดที่เล่ามาก็พยายามจะมองในมุมของความท้าทายของธุรกิจในเรื่องความยั่งยืน วันนี้ข้อดีก็คือมีนักธุรกิจจำนวนมากที่เริ่มจับตามองเรื่องนี้ เริ่มตระหนักและอยากจะเปลี่ยน แต่ก็เป็นความท้าทายว่าจะเปลี่ยนแค่ไหน อย่างไรในทางที่จะรักษาความได้เปรียบทางธุรกิจเอาไว้ หรือว่าจะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจใหม่ๆ จากประเด็นนี้ได้อย่างไร หรือว่าสร้างได้หรือไม่

ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่มองเห็นอยู่ 5-6 เรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นแรงผลักดันให้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คือ

โครงการซีเอสอาร์ประเภทปลูกป่า สร้างฝาย แจกผ้าห่ม หรือให้ทุนการศึกษานั้น ในมุมมองของนักประชาสัมพันธ์มีผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆ เพราะมีคนทำกันจำนวนมาก และสื่อก็อาจจะไม่อยากลงข่าวให้แล้ว

เศรษฐกิจประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ในภูมิภาคอาเซียนก็มีประเด็นสิ่งแวดล้อมร่วมกันหรือใกล้เคียงกันมากมาย ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า จับปลาเกินขนาด รวมถึงปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้พลังงาน ซึ่งปัญหาก็คือ หากเป็นเออีซี ตรงนี้มีช่องทางที่จะรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามประเทศได้หรือไม่ ซึ่งก็อยู่ที่ว่าธุรกิจจะจับมือกันได้มากน้อยแค่ไหน

ความเข้มข้นขึ้นของแรงผลักดันต่างๆ ทางสังคม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่

ด้านมาตรฐานสากลก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ตอนนี้หลายๆ บริษัทของไทยที่ทำธุรกิจส่งออกก็เริ่มปรับตัวแล้ว เนื่องจากถูกบังคับมาอีกทีจากอียูหรือประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ ซึ่งรัฐบาลเหล่านั้นก็ถูกคนในประเทศบังคับมาอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นความเชื่อมโยงกันเพราะสังคมออนไลน์และสื่อต่างๆ ก็ทำให้ผู้บริโภคต่างประเทศได้รับรู้ข้อมูลอย่างรวดเร็วแล้วสร้างแรงกดดันได้อย่างรวดเร็ว

กฎการเปิดเผยข้อมูลก็มีแนวโน้มจะบังคับใช้ในปี 2014 ก็จะเป็นครั้งแรกที่ตลาดหุ้นไทยมีกฎการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน เป็นตัวเลขที่เป็นข้อมูลหรือเปล่า ก็ต้องรอดูกันต่อไป

สุดท้าย คือความตื่นตัวของผู้บริโภคและการรวมตัวกันในประเด็นต่างๆ มากขึ้น

อ่านประกอบ