ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนา…เรื่องที่ใหญ่กว่าเสือดำ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า มูลค่าของธรรมชาติ และ “วิกฤติอภิสิทธิ์ชน” ในสังคมไทย

เสวนา…เรื่องที่ใหญ่กว่าเสือดำ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า มูลค่าของธรรมชาติ และ “วิกฤติอภิสิทธิ์ชน” ในสังคมไทย

29 เมษายน 2018


เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจัดกิจกรรม
เสวนาเรื่อง “เสือดำและเรื่องที่…ใหญ่กว่า”

คดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกเป็นผู้ต้องหา แม้ในทางคดีจะไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากนัก ล่าสุดกรณีมีรายงานข่าวนายเปรมชัยกล่าวยืนยันในงานประชุมผู้ถือหุ้นว่าไม่ได้ฆ่าเสือดำ แต่ก็ถูกสังคมพิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากคดีนี้ยังมีแง่มุมหลากหลายมิติให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “เสือดำและเรื่องที่…ใหญ่กว่า” ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปะกรุงเทพฯ เพื่อการกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเกี่ยวเนื่องระหว่างการอนุรักษ์กับประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และสังคม ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ด้วยน้ำมือมนุษย์

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวในฐานะนักอนุรักษ์ว่า สิ่งที่ใหญ่กว่าการลักลอบฆ่าเสือดำ คือการสูญพันธ์ของสัตว์ป่าสงวน การทำลายพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าหรือพื้นที่ป่า รวมถึงการพัฒนาที่เข้าไปทำลายระบบนิเวศน์ของป่าด้วยฝีมือมนุษย์

“การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหลายชนิดมีผลทำให้เรากำลังเข้าสู่ยุคสูญพันธุ์ หรือ mass extinction ครั้งที่ 6 ของโลก ซึ่งเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด เพราะมันเร็วมาก และไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟระเบิดหรืออุกกาบาต แต่มันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น”

ที่สำคัญคือ สัตว์ป่าไม่ได้มีไว้ประดับป่าให้ดูโก้ แต่ถือเป็นชีพจรของป่า เวลาคนทำลายป่าแต่ยังมีสัตว์ป่า ศักยภาพของป่าในการฟื้นตัวหรือดูแลตัวเองจะยังมีอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่คนนำสัตว์ป่าออกจากป่า ความสามารถในการฟื้นตัวของป่าจะหายไป เพราะสัตว์หลายชนิดช่วยให้ต้นไม้กระจายพันธุ์ได้ ช่วยผสมเกสร และช่วยฟื้นฟูป่าตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เสือดำ นอกจากจะเป็นตัวควบคุมประชากรสัตว์ที่อ่อนแอแล้ว ยังมีผลต่อองค์ประกอบนิเวศน์ของป่ามากมาย

“สิ่งสำคัญที่อยากจะบอกก็คือ ทุกส่วนในป่ามันมีหน้าที่ มีอาชีพ มีบทบาทเชื่อมโยงกันทั้งหมด เหมือนร่างกายมนุษย์ที่เราอาจบอกว่าหัวใจสำคัญที่สุด แต่จริงๆ แล้วทุกส่วนในร่างกายสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้น การเด็ดใบไม้หนึ่งใบสะเทือนไปถึงดวงดาว เป็นสิ่งที่ไม่ได้กล่าวเกินจริง เพียงแต่เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของระบบนิเวศน์ว่าเราพึ่งพาสิ่งเหล่านี้อย่างมาก”

นพ.รังสฤษฎ์ เห็นว่า อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็มีความตั้งใจดีในการอนุรักษ์ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง ดังนั้นจึงอยากให้ตระหนักและเข้าใจเรื่องธรรมชาติทั้งแบบมีความรู้และรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของธรรมชาติอย่างแท้จริง ทำอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนสามารถปฏิบัติได้จริงในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ผมคิดว่ามนุษย์ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าเราจะพัฒนาไปข้างหน้า แต่ถ้ามองว่าเราเป็นยอดของพีระมิดอย่างที่เราเคยเรียนกันมาว่ามนุษย์คือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย มุมมองอย่างนั้นคงเป็นมุมมองซึ่งจะนำมาสู่หายนะในที่สุด ซึ่งนักอนุรักษ์หรือการอนุรักษ์ เราไม่ได้พูดเรื่องปากท้องว่าพรุ่งนี้จะมีอาหารกินหรือเปล่า แต่พยายามจะพูดถึงหลักประกันของการมีอาหารกินในอีก 5 ปี 10 ปี 100 ปี มองไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะฉะนั้นเราอย่าแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วไปก่อปัญหามากกมายในอนาคต นักอนุรักษ์ไม่ใช่พวกที่จะคอยเบรกไม่ให้เกิดการพัฒนา แต่รถที่ไม่มีเบรกเลย มีแต่คันเร่ง ใครอยากนั่งก็นั่ง แต่ผมเห็นว่ามันอันตราย” นพ.รังสฤษฎ์ กล่าว

นายเพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ICUN) (กลาง)

ผลกระทบจากการล่าสัตว์

นายเพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ICUN) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดคือการล่าสัตว์ การค้าสัตว์ป่า เช่น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีช้างป่าที่แอฟริกาถูกฆ่าปีละประมาณ 2-3 หมื่นตัว เพื่อจะเอางาช้างไปประดับฐานะทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้พิทักษ์ป่าอนุรักษ์ช้างป่าเสียชีวิตจากการพยายามปกป้องทรัพยากรจำนวนหลายร้อยคน หรือเมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานข่าวว่าในประเทศเมียนมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการล่าช้างเพื่อเอาหนังมาตากแห้ง แล้วนำมาป่นเป็นยาแก้ปวดท้อง

“เรื่องการค้าสัตว์ป่าเป็นปัญหาดั้งเดิม แต่ถูกกลับมาให้ความสำคัญทั้งพระราชวงศ์ในอังกฤษ ธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ ก็หันมาให้น้ำหนักกับเรื่องการแก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่า เพราะเรื่องนี้กลับมาเป็นภัยคุกคามที่สำคัญอย่างยิ่ง”

นอกจากนี้ โลกยังมีปัญหาจากขยะพลาสติกที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ต่างประเทศ แต่ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องนี้มากเช่นกัน โดยมีสัตว์ทะเลหากยาก เช่น เต่าทะเล ปลาโลมา ฉลามวาฬ ตายจากการกินขยะพลาสติกและเศษเครื่องมือทำประมงปีละไม่ต่ำกว่า 300 ตัว

และในระยะหลังมานี้มีงานวิจัยระบุว่า ทุกๆ ปีมีขยะพลาสติกอย่างน้อย 8 ล้านตัน ที่หลุดลอยไปในทะเล ส่วนการรีไซเคิลที่ระบุว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ กลับพบข้อมูลตัวเลขจริงที่ระบุว่าการรีไซเคิลยังมีประสิทธิภาพน้อยมาก โดยจำนวนพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมด คาดว่ามีพลาสติกไม่ถึง 10% ที่ได้มีการรีไซเคิลกลับไปใช้ใหม่

รวมทั้งยังพบว่ามีพลาสติกลอยอยู่ในมหาสมุทรมากกว่า 5.25 ล้านล้านชิ้น รวมน้ำหนักราว 269,000 ตัน ไม่นับรวมไมโครพลาสติกอีก 4 พันล้านชิ้นต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร ที่ทับถมอยู่ก้นทะเล ส่วนประเทศที่สร้างขยะทะเลมากที่สุดคือจีนและกลุ่มประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งหากแก้ปัญหาประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ อาจจะแก้ปัญหาได้เกือบครึ่งหนึ่งของโลก

“ดังนั้น จะเห็นว่าจากกรณีเสือดำ ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องของการบริโภค การใช้แล้วหมดไป แต่มันเกี่ยวข้องกับคนทุกคน เพราะทุกวันนี้เราทุกคนเป็นหนึ่งในผู้บริโภคทรัพยากร จะใช้อย่างไรให้มันยั่งยืน ซึ่งนอกจากนโยบาย กฎหมาย ก็ยังอยู่ที่ตัวเราเองด้วย” นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์กล่าว

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

เรื่องที่ใหญ่กว่าเสือดำ คือ “วิกฤติอภิสิทธิ์ชน”

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการล่าสัตว์ บุกรุกป่า ตัดต้นไม้ แต่ที่แย่กว่านั้นคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็โดนไล่ล่าเหมือนกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ไม่เฉพาะแค่ชีวิตเสือดำเท่านั้น แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ในระบบที่ผ่านมาและสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องที่ใหญ่กว่าเสือดำ คือสังคมไทยกำลังมีปัญหาวิกฤติอภิสิทธิ์ชน มีปัญหาเรื่องอำนาจนิยมและผลประโยชน์ มีปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์ ปัญหาป่าไม้ การฆ่าสัตว์ การโค่นต้นไม้ การค้าของเถื่อนตามชายแดน หรือการฆ่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยมีวิกฤติอภิสิทธิ์ชนเป็นตัวปิดกั้น เป็นตัวบังตา เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ขวางอยู่

“ทุกวันนี้หลายๆ เรื่องไม่ถูกจัดการ ไม่ถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง คนมีอำนาจ คนรวย คนมีเส้นสาย สามารถเอาเปรียบสังคมได้ เพราะว่าทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ ก็น่าเป็นห่วงว่าในวันข้างหน้าหากเราไม่หาทางป้องกันแก้ไขนับตั้งแต่วันนี้ สิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม” ดร.มานะ กล่าว

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

“มูลค่า” ของธรรมชาติ และนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจำนวนมากว่า เมื่อสิ่งแวดล้อมแย่ลงมากถึงจุดหนึ่ง ชีวิตมนุษย์ก็แย่ลงเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษสะสม ปัญหาคุณภาพน้ำและดินที่เสียหาย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการทำกิจกรรมของมนุษย์ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ
ก่อนหน้านี้นักธุรกิจหลายคนอาจจะพูดว่าต้องรักษาสมดุลระหว่างมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แต่โดยส่วนตัวไม่ชอบวิธีมองแบบนั้น เพราะความเป็นจริงคือธุรกิจทุกธุรกิจอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ในระบบสังคมของมนุษย์ และระบบสังคมทั้งหมดของมนุษย์ทั้งโลกอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งแวดล้อมมีปัญหา ไม่มีทางที่มนุษย์จะไม่มีปัญหา

นางสาวสฤณีกล่าวว่า ในการประชุมของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่มีผู้นำระดับโลกทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้นำภาคประชาสังคม ผู้นำทางความคิดมารวมตัวกัน จะผลิตรายงานทุกปีชื่อ “รายงานความเสี่ยงโลก” World Risk Report โดยรายงานช่วงแรกๆ มักจะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อย่างเช่น ปัญหาการว่างงาน หรือปัญหาการขาดวิกฤติทางการคลัง

แต่ในรายงานเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาระบุว่า ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดสูงสุดและมีผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภัยที่ผู้นำทางเศรษฐกิจธุรกิจและการเมืองทั่วโลกลงความเห็นกันว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนที่สุด ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงที่ปฏิเสธไม่ได้ของปัญหาธรรมชาติกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าโลกร้อนคืออะไร เราอาจจะคุยกันขำๆ ว่าใช้ถุงผ้าแก้โลกร้อน หรืออาจจะใส่เสื้อกล้ามให้หายร้อน แต่ทุกนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะหลายเรื่องมีเชื่อมโยงกับเรื่องภัยธรรมชาติที่มีความถี่สูงขึ้น มีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดความเสียหายที่ชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหายก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานกับนักเศรษศาสตร์มากขึ้น เพราะเห็นความเสียหายที่เชื่อมโยงได้ชัดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อ 2007 ธนาคารโลกประเมินว่าการสูบใน้ำใต้ดินมาใช้เกินขนาดของประเทศจีน ก่อความเสียหายรวมกันทั้งหมด 0.3% ของจีดีพี ซึ่งลองคิดดูว่าจีดีพีจีนใหญ่มหึมาขนาดไหน และยังประเมินด้วยว่ามลพิษทางอากาศและน้ำของจีน เกิดความเสียรวมกันเกือบ 6% ของจีดีพี

หรือมีรายการสารคดีไปคุยกับเด็กจีน ซึ่งเด็กจีนหลายเมืองบอกว่าเกิดมาไม่เคยเห็นดวงอาทิตย์ ไม่รู้ว่าดวงอาทิตย์เป็นยังไง เพราะท้องฟ้าเต็มไปด้วยฝุ่นควันจนไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์

หรือแม้แต่งานวิจัยของ TEEB (The Economics of Ecosystems and Biodiversity) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่พยายามประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ด้านต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลข โดยเป็นการประเมินด้วยฐานคิดที่ว่า

“ธรรมชาติพูดกับเราไม่ได้ ต้นไม้พูดกับเราไม่ได้ แต่ธรรมชาติให้บริการกับมนุษย์มากมาย โดยที่ไม่เคยส่งบิลมาเก็บเงิน”

วิธีคิดของการประเมินมูลค่าเรียกว่า Ecosystem Services เสมือนหนึ่งลองคิดว่าธรรมชาติเป็นผู้ให้บริการกับเรา อย่างเช่น ป่าไม้ช่วยฟอกอากาศให้เรา ถ้าปีหนึ่งเขาต้องส่งบิลมาเก็บเงิน เราจะต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่บางท่านก็บอกว่าจะเป็นไปได้ยังไง เพราะมันต้องเป็นมูลค่าที่มหาศาลมากๆ แต่มีความพยายามในการประเมินให้เป็นตัวเลขสักส่วนเสี้ยวก็ยังดี เพราะถ้าท่านไม่ทำอะไรให้เป็นตัวเลข ก็จะคุยต่อกับนักการเงินไม่ได้ นักการเงินก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าไม่สามารถออกมาเป็นตัวเลข

ฉะนั้น ความสำคัญของตัวเลขคือ ถ้าสามารถเอามูลค่าต่างๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินอยู่แล้ว แต่มันมีประโยชน์จริงๆ มาแปลงให้เป็นตัวเงิน แล้วเปรียบเทียบกับตัวเงิน มันสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจได้ สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจทางนโยบายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศทำมาแล้ว

ดังนั้น ถ้ามองจากนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์สายสิ่งแวดล้อม เขาจะบอกว่าต่อไปนี้เวลาจะทำอะไรก็ตาม ต้องมองให้ครบถ้วนทุกมิติ อย่ามองแต่สิ่งที่เป็นเงินอย่างเดียว อย่ามองแต่สิ่งที่มันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องมองประเด็นทางสังคม ประโยชน์ทางสังคม ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ว่ามันมีอะไรบ้าง แล้วจะได้เปลี่ยนแปลงการทำงานได้

ส่วนที่เรากำลังพูดคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน พูดคำว่า inclusive economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งถ้าจะพูดคำว่า inclusive economy การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องมองการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของการทำเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ โอกาสเรื่องความเหลื่อมล้ำจะแย่ลง เพราะท่านกำลังทำลายฐานทรัพยากรของคนที่เขาพึ่งพาธรรมชาติอยู่ นี่คือความเชื่อมโยงที่ค่อนข้างชัดเจน

ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก แต่ก็ได้แสดงความพยายามรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดภายในปี 2030 แล้วหลังจากนั้นจะลดลง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก

ล่าสุดงานวิจัยจาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) เผยว่า หากอากาศในจีนดีขึ้น คนจีนจะตายก่อนวัยน้อยลง มีสุขภาพที่ดีขึ้น จากการมีอากาศที่ดีขึ้น โดยคนจีนจะประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งหมดรวมกัน 339,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จีนจะใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่จึงเป็นเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมถึงต้องมาคุยกันเรื่องตัวเลข เพื่อนำไปใช้จริงในการทำนโยบาย

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือมากมายที่นักเศรษฐศาสตร์รณรงค์ให้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น PES (Payments for Ecosystem Services) ซึ่งทำในหลายเมือง หลายประเทศ เช่น ประเทศเม็กซิโก เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น หรือนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เมืองเหล่านี้เริ่มต้นจากการมองเห็นคุณค่าของธรรมชาติ คุณค่าของสิ่งแวดล้อม มองเห็นว่ามันไม่ขัดแย้งกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และจำเป็นด้วยซ้ำไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะว่าถ้าธรรมชาติเละเทะ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจก็จะแย่ แล้วหลังจากนั้นหาวิธีเชื่อมโยงที่จะแปลงให้เป็นมูลค่าที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้นักการเงินเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการอนุรักษ์

ยกตัวอย่างเล็กๆ นี้เพื่อให้เห็นว่า สำหรับนวัตกรรมทางการเงิน จุดสำคัญของความสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่นวัตกรรมหรือการเงิน แต่ส่วนสำคัญกว่าคือการคิดว่ามีโครงการที่มาช่วยแก้ปัญหาที่ดีกว่าเดิมหรือเปล่า แล้วเห็นมูลค่าของการทำโครงการเหล่านี้จริงหรือเปล่า

ดังนั้น ความท้าทายคือ สังคมมองเห็น “มูลค่า” ของการอนุรักษ์แล้วหรือยัง ทั้งต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจ แล้วเราใส่ใจที่จะมองผลลัพธ์ในระยะยาวหรือเปล่า เพื่อให้รุ่นลูกหลานได้ใช้ชีวิตที่ไม่แย่ไปกว่ารุ่นพวกเรา

ลำดับเหตุการณ์สำคัญคดี “นายเปรมชัย” กับพวกล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

6 ก.พ. 2561 ตำรวจจับกุมนายเปรมชัยกับพวก รวม 4 คน ทนายความยื่นขอประกันตัวคนละ 150,000 บาท
6 ก.พ. 2561 ก.ล.ต. แจงกรณีนายเปรมชัย เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวคุณสมบัติผู้บริหาร บจ.
13 ก.พ. 2561 ออกหมายเรียกนายเปรมชัยและพวก เพื่อเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา
15 ก.พ. 2561 นายเปรมชัยพร้อมพวกไม่มาตามนัด ทนายขอเลื่อมรับทราบข้อหา
22 ก.พ. 2561 นายเปรมชัยไม่พร้อมพวกไม่มาตามนัดครั้งที่ 2
2 มี.ค. 2561 นายเปรมชัยและพวกเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
14 มี.ค. 2561 นายเปรมชัยพร้อมทนายเข้าพบตำรวจ ปทส. รับทราบข้อหาครอบครองปืน- งาช้างผิดกม.
20 มี.ค. 2561 นายเปรมชัยเดินทางมาที่ บก.ปปป. รับทราบข้อกล่าวหาติดสินบนเจ้าพนักงาน
21 มี.ค. 2561 นายเปรมชัยและพวกเดินทางมาที่ ปทส. ให้ปากคำเพิ่มเติม
23 มี.ค. 2561 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ทำหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์เป็นปัญหาผู้บริหารไม่เกี่ยวกับบริษัท
31 มี.ค. 2561 อัยการรับคดีนายเปรมชัยและพวกร่วมกันติดสินบนเจ้าพนักงาน
4 เม.ย. 2561 อัยการสั่งฟ้องนายเปรมชัย 6 ข้อกล่าวหา เรียกค่าเสียหาย 4.6 แสนบาท
25 เม.ย. 2561 มีรายงานข่าวระบุว่านายเปรมชัย แจงผู้ถือหุ้นบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ว่าไม่ได้ทำความผิด
รวบรวม: สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า