ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) จ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดให้กับผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 600 บาทต่อเดือน ผู้ที่มีอายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 700 บาทต่อเดือน ผู้ที่มีอายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 800 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 1,000 บาทต่อเดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป
ที่ผ่านมา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้คนชรากว่า 7 ล้านคน ยังคงได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามอัตราเดิมที่ 500 บาทต่อเดือน ไปจนกว่างบประมาณปี 2555 จะมีผลบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่สุด สิ่งที่คนชราที่รอคอยกันมานาน ขณะนี้ใกล้เป็นจริงแล้ว ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555
นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา อธิบดีกรมส่งแสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในเรื่องของการเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีผลบังคับใช้ ทางสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบฯ อุดหนุนเฉพาะกิจวงเงิน 34,321 ล้านบาท มาให้ สถ. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 จากนั้น ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ตนก็ได้โอนเงินเข้าบัญชีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ 7,778 แห่ง พร้อมกับทำหนังสือแจ้งให้ อปท. ทราบว่าทาง สถ. ได้โอนเงินเข้าบัญชี อปท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับกำชับให้ อปท. เร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดให้กับผู้สูงอายุโดยเร็ว เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
“ส่วนการเบิกจ่ายเงินส่วนต่างเบี้ยยังชีพ เนื่องจาก ค.ร.ม. มีมติให้จ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 แต่กฏหมายงบประมาณยังไม่ผ่านสภาฯ จึงยังเบิกจ่ายไม่ได้ ทำให้ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพอัตราเดิมที่ 500 บาทต่อเดือน ไปจนกว่างบฯ ปี 2555 จะมีผลบังคับใช้ และล่าสุดงบฯ ปี 2555 มีผลบังคับใช้แล้ว ผมได้กำชับให้ อปท. เร่งจ่ายเงินส่วนต่างเบี้ยยังชีพในส่วนที่ยังติดค้างผู้สูงอายุอยู่ ไปพร้อมๆ กับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได” นายวีระยุทธกล่าว
นายวีระยุทธกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับงบฯ ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณวงเงินกว่า 34,000 ล้านบาท เพื่อที่จะนำมาจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพรายเดือนให้กับผู้สูงอายุ ในปีงบประมาณ 2555 ตนคิดว่าเพียงพอที่จะเบิกจ่ายได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2555 แต่ถ้า อปท. แห่งใดมีเงินไม่เพียงพอ ก็ให้ไปกู้ยืมจากบัญชีเงินสะสมของ อปท. มาจ่ายก่อนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ร้องเรียนมาว่ายังไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ทั้งอัตราเดิมที่ 500 บาท และอัตราใหม่แบบขั้นบันได นายวีระยุทธตอบว่า “กรณีของการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขันบันได ก็เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุที่เบิกจ่ายที่ช้าเพราะเงินงบประมาณปี 2555 เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 พอถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงบประมาณโอนมาให้ ผมก็รีบโอนเงินไปให้ท้องถิ่นทันที และยังทำหนังสือแจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศด้วยว่าผมโอนเงินไปให้ทั้งหมดแล้ว”
ส่วนกรณีที่มีผู้สูงอายุบางพื้นที่ยังไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือนนั้น คิดว่าเป็นเรื่องการบริหารเงินภายใน อปท. แต่ละแห่งเอง ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นโอนเงินไปให้แล้ว แต่ อปท. อาจจะโยกเงินไปใช้จ่ายในภาระกิจอื่นก่อน อย่างเช่น หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ต้องนำเงินไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งจ่ายเยียวยาผู้ประสบภัย เป็นต้น ขณะที่งบประมาณมีจำกัด เพราะงบฯ ปี 2555 ก็เบิกได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากยังไม่ผ่านสภาฯ แต่จากนี้ไปคงไม่มีปัญหาแล้ว เพราะได้โอนงบฯ ปี 2555 ส่งให้ไปทั้งก้อน และมีเพียงพอที่เบิกจ่ายกันได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2555
“หากผู้สูงอายุพื้นที่ใดยังไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยยังชีพ 500 บาท เลย ให้ทำเรื่องร้องเรียนมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือร้องเรียนผ่าน “ศูนย์ดำรงธรรมท้องถิ่น” ผมจะรีบทำหนังสือไปสอบถาม อปท. แห่งนั้นว่าเอาเงินไปใช้อะไร ทำไมไม่รีบโอนให้ผู้สูงอายุ” นายวีระยุทธกล่าว
(อ่านรายละเอียด “หนังสือเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ”)
(อ่านเพิ่มเติม รายชื่อ อปท. ที่ได้รับเงินค่าเบี้ยผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ 2555)