ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่ง “คลัง-สำนักงบฯ-สภาพัฒน์” เพิ่มเบี้ยคนชรา-มติ ครม. ผ่านแผนฟื้นฟู “คลองแสนแสบ” 11 ปี 8 หมื่นล้าน

นายกฯ สั่ง “คลัง-สำนักงบฯ-สภาพัฒน์” เพิ่มเบี้ยคนชรา-มติ ครม. ผ่านแผนฟื้นฟู “คลองแสนแสบ” 11 ปี 8 หมื่นล้าน

14 ธันวาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ เบรก “นิคมอุตฯ จะนะ” ดึงภาค ปชช. ร่วมทำ “SEA”- สั่ง “คลัง-สำนักงบฯ-สภาพัฒน์” เพิ่มเบี้ยคนชรา-จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม. ต่อ 6 เดือน-ไม่ปรับแผนรับมือโควิดฯ หลังพบผู้เสียชีวิตจาก “โอไมครอน” — มติ ครม. ผ่านแผนฟื้นฟู “คลองแสนแสบ” 11 ปี 8 หมื่นล้าน-ชง ครม. จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม. เดือนละ 500 บาท สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี มอบหมาย ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข้อสั่งการและตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

สั่ง “คลัง-สำนักงบฯ-สภาพัฒน์” เพิ่มเบี้ยคนชรา แบบขั้นบันได

เรื่องแรก ดร.ธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ไปร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการเพิ่มเงินให้แก่ผู้สูงอายุเป็นขั้นบันได เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ โดยถือเป็นนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม. ต่อ 6 เดือน

เรื่องที่ 2 นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชม และสนับสนุนการทำงานของ อสม. ทั่วประเทศที่ได้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดฯ ในช่วงที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ อสม. ต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งตรงนี้เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

เบรก “นิคมอุตฯ จะนะ” ดึงภาค ปชช. ร่วมทำ “SEA”

เรื่องที่ 3 โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ได้เสนอที่ประชุม ครม. รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม องค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และได้สั่งให้มีการศึกษาประเมินผลสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ “SEA” ให้มีความโปร่งใส และเน้นสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ก่อนเลิกการประชุม ครม. นายสุพัฒนพงษ์ ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานในที่ประชุม ครม. ว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ฯ, สำนักงบประมาณ และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันจัดทำ SEA โดยให้รับข้อเสนอจากภาคประชาชน เครือข่ายของจะนะ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้ก็มีการดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกัน ก็ขอให้หน่วยงานต่างๆ ชะลอการดำเนินโครงการออกไปก่อน

มอบ “วิษณุ” ศึกษากระบวนการจัดชั้นนักโทษพร้อมเสนอแนะ

และเรื่องสุดท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกระบวนการจัดชั้นนักโทษ ซึ่งได้มอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาตรวจสอบกระบวนการจัดชั้นนักโทษ โดยร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้แก่กรมราชทัณฑ์ใช้เป็นหลักในการจัดชั้นนักโทษ ชั้นดี-เลวต่อไป

ไม่ปรับแผนรับมือโควิดฯ หลังพบผู้เสียชีวิตจาก “โอไมครอน”

จากนั้น ดร.ธนกร ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี คำถามแรกหลังจากผู้ป่วยชาวอังกฤษเสียชีวิตจากโควิดฯสายพันธุ์โอไมครอน นายกรัฐมนตรีจะมีการประเมิน หรือ ปรับมาตรการในประเทศไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. รับทราบและได้พิจารณาสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการใดๆ หลังจากที่ได้มีการประชุม ศบค.ไปแล้วเมื่อวาน แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ หากมีมาตรการแล้ว แต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน ก็ไม่สำเร็จ ส่วนรวมก็จะเดือดร้อน จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกับทำตามมาตรการ Covid Free Setting และ D-M-H-T-T-A รวมทั้งเร่งฉีดวัคซีน

คำถามข้อที่ 2 ครม. มีมติอย่างไรเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีการดำเนินงานให้ครบถ้วน ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประเด็น ซึ่งจะต้องมีการหารือทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ออกมาคัดค้านแล้ว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ ส่วนการทำ SEA จะมีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ เป็นประธาน เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

รับข้อเสนอ “จะนะรักษ์ถิ่น” สั่งทำ “SEA” – แก้ปัญหาที่ดินทำกิน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติม องค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 330/2564 มอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการดังกล่าว และรับทราบข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ให้มีการจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) และแผนแม่บทต่างๆ โดยให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้รับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีห่วงใยข้อเรียกร้องของประชาชน โดยสั่งให้มีคณะกรรมการเฉพาะเพื่อดูแลปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขข้อห่วงใยและความเดือดร้อนของประชาชน โดยเป้าหมายของโครงการฯ มุ่งสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ได้ผลักดันให้มีการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินโครงการต่างๆ สำหรับการจัดทำ SEA ในโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” จะประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกมิติ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว

ผ่านแผนฟื้นฟู “คลองแสนแสบ” 11 ปี 8 หมื่นล้าน

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ.2564-2574) จำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาดูแลแหล่งน้ำลำคลอง โดยแผนฉบับนี้มุ่งแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบที่เป็นปัญหาอย่างมาก น้ำเสียส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมชุมชนบริเวณริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ โดยในปี 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรก หรือ “บีโอดี” (BOD) อยู่ระหว่าง 6.9-12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร (แหล่งน้ำที่มีค่าบีโอดีมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรง)

ทั้งนี้ ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงแม่น้ำบางปะกงในจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย เนื่องจากคลองแสนแสบมีความยาวตลอดสายประมาณ 74 กิโลเมตร อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 47.5 กิโลเมตร และจังหวัดฉะเชิงเทรา 26.5 กิโลเมตร

ขณะที่วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฟื้นฟู คือ เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี มีระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2564) ระยะกลาง (พ.ศ.2565-2570) และระยะยาว (พ.ศ.2571-2574) ซึ่งจะดำเนินการโดย 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะขับเคลื่อนภายใต้ 5 เป้าประสงค์ คือ 1. การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 2. การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 3. การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 4. การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ 5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ รวม 84 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ โครงการเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10 กิโลเมตร โครงการต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ เป็นต้น

แหล่งที่มาของงบประมาณแผนพัฒนาฟื้นฟูรวม 82,563 ล้านบาท มาจาก 1. งบประมาณแผ่นดิน ร้อยละ 81.40 2. งบ กทม. ร้อยละ 3.50 และ 3. เงินจากเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ร้อยละ 15.10 สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาฟื้นฟู เช่น 1) แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2) เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเร่งการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่ ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่ 3) พัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำ มีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบใน กทม. ทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้ารองรับการใช้บริการ 800-1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือ

กู้ 642 ล้าน เยียวยาค่าเทอมเด็กเล็กอีก 3.21 แสนคน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จำนวน 642 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มจากเดิมที่ได้อนุมัติไปแล้วจำนวน 23,226 ล้านบาท จึงเท่ากับว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแก่นักเรียนรวมทั้งสิ้น 11,934,661 คน โดยงบประมาณที่อนุมัติเพิ่มครั้งนี้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายจำนวน 321,461 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ (กลุ่มตกหล่น) เช่น นักเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นักเรียนในสังกัดโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จำนวน 4 หน่วยงาน รวม 15,264 คน

2. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพปวช. (อายุ 6-18 ปี) ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 231,839 คน

3. กลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กกลางวัน และโรงเรียนอนุบาล ที่มีอายุระหว่าง 2-6 ปี ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดได้ตรวจสอบความซ้ำกับเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยจะส่งข้อมูลให้กระทรวงศึกธิการ จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 74,358 คน

คงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี ’65 ไว้ที่ 1-3%

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1-3 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับปี 2564 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว เป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ให้สามารถรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน ทางกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกัน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ

เห็นชอบกรอบความร่วมมือไทย-กัมพูชา

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมในการประชุมระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. 2564 ณ กรุงพนมเปญ ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ฟื้นฟูไปด้วยกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (Peace, Prosperity, Recovery Together)” ซึ่งจะมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ

    1. การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
    2. ความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองตามแนวชายแดน และ
    3. ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน

ร่างบันทึกการประชุมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมของทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่างๆ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ให้มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและก่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยมีความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้

    1. ด้านสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ เช่น (1) การต่อต้านการลักลอบขนโบราณวัตถุ (2) การส่งเสริมความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายอาญา โดยเฉพาะการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการโอนตัวนักโทษ (3) การให้คนสัญชาติของอีกฝ่ายได้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม (4) การอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันโดยการยอมรับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน

    2. ด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น การยกระดับการลาดตระเวนชายแดน เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย, การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยร่วมมือจับกุมและปราบปรามการค้ายาเสพติด สารตั้งต้น สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทใหม่ ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้าโขงปลอดภัย เพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ (พ.ศ. 2562-2565)

    3. ด้านเศรษฐกิจ เช่น คงเป้าหมายการค้าทวิภาคีไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้ขยายกรอบเวลาออกไปจนถึงปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือและการสนับสนุนกันในกรอบความร่วมมือในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และอนุภูมิภาค ที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสให้ไทยและกัมพูชาได้ร่วมกันทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือในด้านต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้ว่างเว้นจากการจัดการประชุมมากว่า 5 ปี และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19

ปรับเกณฑ์จัดงบบูรณาการ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 13

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ตามที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ได้กำหนดแนวทางที่ยึดโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 สำนักงบประมาณจึงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการใหม่ เพื่อให้สามารถจัดทำงบประมาณในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาประเทศ

ขณะเดียวกัน ครม. ยังได้เห็นชอบแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 11 แผนงาน และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จำนวน 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล

นายวิษณุ เครืองาม จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ทั้งนี้ ให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับแผนงานบูรณาการตามที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่และอำนาจบริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง ปราศจากการทุจริต รวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ

เพิ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน 874 รายการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 3) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นการเสนอขอปรับปรุงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 และ 28 สิงหาคม 2561 ซึ่งครั้งนี้เป็นการขอปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยขอเพิ่มรายการในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด จำนวน 874 รายการ เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาโรคร่วมกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้ พบว่า ที่ผ่านมาสถานพยาบาลไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยเฉพาะกรณีเป็นโรครักษาร่วม เช่น ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้วมีอาการฉุกเฉิน ซึ่งหากไม่รักษาโรคร่วมดังกล่าวแล้วจะรักษาอาการฉุกเฉินไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มยาบางรายการเข้ามาในบัญชี โดยรายการในหมวดที่ 3 ค่ายาและค่าสารอาหารทางเส้นเลือดจำนวน 874 รายการที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นรายการยาที่อยู่ในบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานของไทย เช่น CELEBREX บรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดในโรคข้อกระดูกเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ ราคาต่อหน่วยอยู่ที่ 29.188 บาท และ DYNASTAT (SEARLE) ระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ราคาต่อหน่วย 279.7435 บาท เป็นต้น

น.ส.ไตรศุลีกล่าว่า ที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ของรัฐบาล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา และ ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ UCEP (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 โดยได้เพิ่มรายการในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายจำนวน 1,649 รายการ

ยกเว้นค่าผ่านทางหลวง หมายเลข 7-9 รับวันหยุดปีใหม่

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2565

ทั้งนี้เนื่องจากวันหยุดราชการประจำปี กำหนดให้วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นวันหยุดสิ้นปี และวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2565 เป็นวันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ ทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่รวม 4 วัน จึงคาดหมายว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางคาดว่าการจราจรจะติดขัดหลายกิโลเมตร เนื่องจากประชาชนรอชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ดังนั้นจึงยกเว้นค่าผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ดังกล่าวในวันหยุดต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศและลดมลพิษทางอากาศ

สร้างบ้านพัก ขรก.-ครู 263 หน่วย 211 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) จำนวน 19 โครงการ รวม 263 หน่วย วงเงินงบประมาณ 211 ล้านบาท

โครงการนี้มีขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและสร้างขวัญกำลังใจ ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของหน่วยงานของรัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่ห่างไกลจากภูมิลำเนา ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถจากการได้รับการสนับสนุนสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในการเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

สำหรับ 19 โครงการที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้ กระจายอยู่ในสถานศึกษาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ วิทยาลัยเทคนิคกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคเขมราฐ จ.อุบลราชธานี, วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 จ.ราชบุรี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต จ.ภูเก็ต, วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จ.ลำพูน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายโครงการบ้านหลวงไว้จำนวน 25,000 หน่วย โดยที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการดำเนินโครงการฯให้หน่วยงานต่างๆ แล้ว ได้แก่ กระทรวงกลาโหม 4 หน่วยงาน,กระทรวงยุติธรรม 5 หน่วยงาน, กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 8,481 หน่วย เมื่อรวมกับการเสนอในรอบนี้อีกจำนวน 263 หน่วย รวมเป็น 8,744 หน่วย งบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,790 ล้านบาท มีการดำเนินการแล้ว 2,963 หน่วย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,010 ล้านบาท

เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร-สงขลา 16 ม.ค. ปีหน้า

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่6 แทนตำแหน่งที่ว่างลง พ.ศ. …. เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายชุมพล จุลใส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) และสมาชิกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายถาวร เสนเนียม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6)

ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ท่านสิ้นสุดลง ทำให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง จึงต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา76 วรรคหนึ่ง คือวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ซึ่งจะครบ 45 วันในวันที่ 21 ม.ค. 2565

ทั้งนี้ เมื่อพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับแล้ว จะจัดเริ่มกระบวนการจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน (ภายในวันที่ 21 ม.ค. 2565) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วันก่อนวันเลือกตั้ง (ภายวันวันที่ 21 ธ.ค. 2564)

อย่างไรก็ตาม กกต. คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในวันที่ 16 มกราคม 2565

รับทราบข้อมูลบุกรุกที่ดินหลวงทำเกษตร

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบข้อมูลการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ประกอบด้วย ข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ชนิดของพืชที่ปลูก ประเภทและจำนวนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก แนวโน้มของการบุกรุก และแนวทางแก้ไขปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาตินำเสนอ ทั้งนี้เป็นผลมาจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบข้อมูลการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิดังกล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้รายงานข้อมูลพอสรุปได้ดังนี้ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมีจำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 41,881 ราย มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 1,512,052 ไร่, พื้นที่ป่าไม้ถาวร จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 3,212 ราย จำนวนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 59,567 ไร่, พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 316,560 ราย พื้นที่ 4,273,726 ไร่, ป่าชายเลน จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 7,803 ราย พื้นที่ 102,222ไร่

พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 34,546 ราย พื้นที่ 1,183,570 ไร่, ที่ราชพัสดุ จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 80,548 ราย พื้นที่ 855,114 ไร่, ที่สาธารณประโยชน์ จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 32,941 ราย พื้นที่ 434,127 ไร่, ป่าไม้ส่วนกลางในที่ดินนิคมสร้างตนเอง จำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 6,097 ราย พื้นที่ 240,348 ไร่ รวมมีจำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 523,588 ราย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 8,660,726 ไร่

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการนำที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุก เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยอนุญาตให้ทำกินและอยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวมให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่ละประเภท โดยจะต้องกำชับให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ตรวจสอบไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากมีการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ของรัฐตามกฎหมายและมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องแล้ว

“อนุทิน ”รับลูกนายกฯ ชง ครม. จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม. สัปดาห์หน้า

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้มีการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อเป็นการค่าเสี่ยงภัยให้ อสม. โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำรายละเอียดโครงการจ่ายค่าเสี่ยงภัยแก่ อสม. เดือนละ 500 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม. ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

โดยการจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้แก่ อสม. อีก 6 เดือนนี้ จะเพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ อสม. ได้รับค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 500 บาทแล้ว ระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งถือเป็นการมอบของขวัญปีใหม่แก่พี่น้อง อสม. ที่ทุ่มเทเสียสละ ทำงานหนักตลอดช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

“นายอนุทิน ได้หารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ โดยตลอดเกี่ยวกับการการสร้างขวัญ กำลังใจ ให้บุคลากรที่ทำงานต่อสู้กับโควิด-19 และทุกครั้งที่เสนอนายกรัฐมนตรีจะรับไปพิจารณาทันที รวมถึงครั้งนี้ที่พี่น้อง อสม. จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม ซึ่งนายอนุทิน ได้ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ทอดทิ้งคนทำงาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ผ่านเกณฑ์เก็บค่าธรรมเนียม ย้ำต้องมี กม.ระดับ พ.ร.บ.ให้อำนาจ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าบริการ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะของค่าธรรมเนียม และจำแนกค่าธรรมเนียมออกจากค่าบริการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน กำหนดหลักการพื้นฐานว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ และกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ในกฎหมาย กำหนดปัจจัยและกระบวนการที่หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และกำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย หรือกฎที่มีการกำหนดค่าธรรมเนียม ต้องแก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์นี้

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ลักษณะของค่าธรรมเนียม และจำแนกค่าธรรมเนียมออกจากค่าบริการ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมีดังนี้ “ค่าธรรมเนียม” จะเป็นกรณีที่รัฐจะใช้อำนาจทางปกครองฝ่ายเดียวในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อควบคุมหรือกำกับดูแลในเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปด้วยดี โดยกำหนดให้ประชาชนจะต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต จากรัฐก่อนที่จะดำเนินการบางอย่างได้ ซึ่งรัฐอาจกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามอัตราที่กฎหมายกำหนดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการดำเนินการให้บุคคลนั้น หากไม่จ่าย หน่วยงานจะไม่ดำเนินการให้ จึงมีลักษณะทำนองเดียวกับภาษี เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ส่วน “ค่าบริการ” เป็นกรณีที่รัฐจะให้บริการสาธารณะ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นการผลิตและจำหน่ายสินค้า หรือบริการในทำนองเดียวกับธุรกิจเอกชน การเรียกเก็บค่าบริการนี้มีลักษณะคล้ายกับค่าบริการของเอกชน เพื่อตอบแทนสินค้าและบริการที่ได้ ซึ่งหากไม่ต้องการจะได้สินค้า หรือ บริการนั้น ก็ไม่ต้องเสียค่าบริการ โดยผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่จะใช้บริการภาครัฐ หรือใช้บริการที่มีการดำเนินการ โดยบุคคลอื่นก็ได้ รวมถึงการบริการในทำนองเดียวกัน เช่น การให้บริการถ่ายเอกสาร การให้บริการห้องสมุด การให้บริการทางด่วน หรือทางพิเศษ การให้บริการจอดรถในที่จอดรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไว้ดังนี้คือ

1. ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดของรัฐ ต้องไม่สูงเกินสมควร โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต หรือ การให้บริการต่อหน่วย และเทียบเคียงกับอัตราที่เรียกเก็บกันในนานาประเทศ

2. ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดของรัฐต้องไม่สูงหรือต่ำเกินสมควร โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการต่อหน่วย และ

3. ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันโดยเสรีในตลาด ต้องไม่ต่ำเกินสมควรที่อาจกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า เว้นแต่รัฐมีอำนาจแทรกแซงในเรื่องนั้น เพื่อรักษาราคาที่เหมาะสมในตลาด ทั้งนี้ ค่าบริการไม่พึงกำหนดไว้ในกฎหมาย และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรสูงสุดดังเช่นเอกชน

ตั้ง “สุกิจ จันทร์ทอง” คุมองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ มีรายละเอียด ดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายพงศธร อาสนศักดิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสงขลา สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
    2. นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
    3. นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
    4. นางสาวรมณี คณานุรักษ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
    5. นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
    6. นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ตามข้อ 1 4 และ 5 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายสิทธินันท์ มานิตกุล ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งนายสุกิจ จันทร์ทอง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

5. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายมานิต ธีระตันติกานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เสนอ แต่งตั้ง นายประวิทย์ ศรีบัณฑิตมงคล เป็นกรรมการผู้แทนสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ แทนกรรมการเดิมที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เพิ่มเติม

ป้ายคำ :