ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมแจกเบี้ยยังชีพขั้นบันได 600-800 บาท เตรียมยื่น ครม. ออก กม. บังคับโอนงาน-คน

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมแจกเบี้ยยังชีพขั้นบันได 600-800 บาท เตรียมยื่น ครม. ออก กม. บังคับโอนงาน-คน

1 กุมภาพันธ์ 2012


ในสมัยก่อน ข้าราชการที่เก่งๆ มีความรู้ความสามารถจะถูกส่งออกไปอยู่ตามหัวเมืองหรือในชนบท เพื่อช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ให้มีวิถีมีอยู่มีกินและสุขภาพที่ดีขึ้น การได้ออกไปทำหน้าที่เช่นนั้นเป็นการยกย่องชมเชย แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม กลายเป็นค่านิยมไปเสียแล้วว่า คนที่ออกไปอยู่ต่างหวัดหรือชนบทห่างไกล เป็นพวกที่ “ถูกลงโทษ”

ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกมากขึ้น ความไม่เป็นธรรมในสังคม โครงสร้าง ค่านิยมที่บิดเบี้ยว ทำให้สังคมหลงระเริงกับความสะดวกสบาย ผลตอบแทนสูงๆ ส่งผลให้นโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่มีความคืบหน้าและพัฒนามากนัก

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2545 เพื่อดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งประเทศจำนวน 7,835 แห่ง ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของการบริหารงานบุคคล การเงิน และการคลัง ทั้งนี้เพื่อให้ อปท. มีความเข้มแข็ง มีความเป็นอิสระ และมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ

หน่วยงานแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย นอกจากจะคุมอำนาจการปกครองของท้องถิ่นแล้ว ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 ได้รับการจัดสรรงบอุดหนุนจากรัฐบาล 218,580 ล้านบาท และยังดูแลการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นอีก 308,887 ล้านบาท

แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การกระจายอำนาจปกครองของไทยใช่ว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น กระบวนการกระจายอำนาจของไทยยังคงเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคนานัปการ อาทิ เรื่องการถ่ายโอนงานและภารกิจจากส่วนกลางไปให้ส่วนท้องถิ่น ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ท้องถิ่นมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร

หลังจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารจัดการ นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงแนวคิดและมุมมองการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า

อุปสรรคการกระจายอำนาจ โอนงานแต่ไม่โอนคน-เงิน

ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ปัจจุบันยังคงเป็นระบบที่มีความทันสมัยอยู่ และยังเป็นระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ แต่ที่เป็นปัญหาอยู่จนถึงขณะนี้ เป็นเรื่องการถ่ายโอนงานหรือภารกิจจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่น

ประเด็นปัญหาคือ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เมื่อถ่ายโอนงานมาให้ท้องถิ่นแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้โอนคนมาให้ด้วย เช่น กรมทางหลวงชนบทโอนงานมาให้ท้องถิ่น แต่ไม่ได้โอนคนมาให้ด้วย แถมยังไม่ได้โอนเงินงบประมาณมาให้อีก

ส่วนตัวข้าราชการจากส่วนกลางเอง ก็ไม่อยากโอนย้ายสังกัดมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพราะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีขนาดและฐานะการเงินที่ไม่เท่าเทียมกัน ข้าราชการจากส่วนกลางบางคนคิดว่า หากโอนย้ายไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นแล้ว โอกาสความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานน่าจะลดลง จึงไม่มีใครอยากจะย้ายมาอยู่ท้องถิ่น

“สรุปคือโอนมาแต่งาน ไม่ได้โอนคนตามมาด้วย ทำให้ท้องถิ่นขาดบุคลากรที่มีศักยภาพ ที่ผ่านมาท้องถิ่นก็แก้ปัญหาโดยการเร่งพัฒนาคน แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งงานให้บริการประชาชนในพื้นที่ และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล”

ดังนั้น ถ้าจะให้กระบวนการกระจายอำนาจการปกครองเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ก็จะต้องออกกฏหมายบังคับเลย เมื่อส่วนราชการโอนงานมาให้ท้องถิ่นแล้วจะต้องโอนย้ายคนมาให้ด้วย มิฉะนั้นก็ไม่มีข้าราชการคนไหนยอมโอนย้ายมาอยู่ในสังกัด อปท.

ก่อนหน้านี้ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ สถ. เคยยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายกระจายอำนาจฯ โดยเสนอเป็นประมวลกฎหมายท้องถิ่น กำหนดให้มีการถ่ายโอนข้าราชการจากส่วนกลางมาสังกัดท้องถิ่น ร่างแก้ไขดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว และผ่านการตรวจทานถ้อยคำจากกฤษฎีกา เตรียมบรรจุเข้าไปอยู่ในวาระการประชุมรัฐสภา แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเสียก่อน ตอนนี้เรื่องได้ถูกตีกลับมาที่ สถ. ทำให้กระบวนการผ่านร่างกฏหมายต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

ตามขั้นตอนคือ ผมก็จะต้องนำร่างประมวลกฏหมายท้องถิ่น เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ เพื่อขออนุมัติในหลักการ ซึ่งท่านได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน กกถ. แทน เพื่อขออนุมัติเสนอ ครม. บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาต่อไป

สำหรับตัวประมวลกฏหมายกระจายอำนาจที่ สถ. กำลังจะนำเสนอต่อรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งนั้น มีหลักการสำคัญคือ เมื่อส่วนกลางโอนงานมาให้ท้องถิ่น จะต้องบังคับโอนคนตามมาด้วย โดยจะให้ข้าราชการที่ถูกโอนย้ายเข้ามาทดลองเป็นข้าราชการท้องถิ่นก่อนใน 2 ปีแรก หากไม่มีปัญหาใดๆ ก็ให้โอนย้ายมาอยู่ในสังกัดท้องถิ่นไปเลย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องออกกฏหมายมาบังคับ มิฉะนั้นไม่มีใครยอมย้ายมา

แต่ในระหว่างที่กฏหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ตอนนี้ท้องถิ่นก็ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการให้บริการประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กรด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นโอกาสความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ซึ่งจะต้องไปหารือกับสำนักงาน ก.พ. เรื่องการยกระดับตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดให้มีฐานะเทียบเท่ากับผู้อำนวยการระดับสูงของจังหวัด

นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา  อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ผลักดันมุ่่งโปร่งใส-ตรวจสอบได้ ป้องกันคอรัปชั่น

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นใน อปท. ที่มักปรากฏเป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ ในความคิดผม ควรจะต้องมีการวางระบบฐานข้อมูลให้ดี ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือสำนักงาน ปปช. เข้ามาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

อย่างกรณีที่มีผู้รับเหมามาร้องเรียนว่าได้รับเงินล่าช้า พอไปสอบถามเจ้าหน้าที่ได้รับคำตอบว่า สำนักงบประมาณยังไม่ได้โอนเงินค่างวดงานมาให้ อปท. แต่พอตรวจเช็คไปที่สำนักงบประมาณ เจ้าหน้าที่สำนักงบฯ บอกว่าโอนเงินไปให้แล้ว

“กรณีนี้แก้ไขได้ไม่ยาก กล่าวคือ สถ. ก็จะต้องพยายามผลักดันให้ท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด ปัจจุบัน สถ. โอนเงินไปให้ท้องถิ่นผ่านระบบ GFMIS ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัย เมื่อสำนักงบประมาณโอนเงินมาให้ สถ. ผมก็จะรีบโอนเงินไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทันที พร้อมกับออกหนังสือเวียนแจ้งไปยัง อปท. ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ก็เพื่อแจ้งให้ อปท. ทราบว่าเงินมาแล้ว จะได้เข้ามาเบิกเงินกับจังหวัด ทุกขั้นตอนมีหลักฐาน ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน สถ. ก็จะต้องเร่งวางระบบติดตามและประเมินผลว่า ขั้นตอนไหนบ้างที่เป็นปัญหา และปัญหาคืออะไร เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งทั้งหมดต้องทำอย่างจริงจัง”

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังตรวจสอบพบว่า ท้องถิ่นมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารพาณิชย์รวมกันเป็นเงิน 2 แสนล้านบาทนั้น ต้องอย่าลืมว่าทั่วประเทศมี อปท. ทั้งหมด 7,800 แห่ง เวลา อปท. มีเงินเหลือก็เอาไปฝากไว้กับจังหวัด ซึ่งทางจังหวัดจะเปิดบัญชีเงินฝากไว้ให้เป็นราย อปท. เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถมากู้เงินออกไปใช้ได้ บัญชีของ อปท. จึงมีทั้งบัญชีเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งเป็นสิทธิของ อปท. แต่ละแห่ง สถ. จะไปบริหารเงินในส่วนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของ อปท. แต่ละแห่ง

แหล่งรายได้ของหลักของ อปท. จะมีอยู่ 3-4 แหล่ง คือ รายได้จากภาษี ทั้งเก็บเองหรือส่วนกลางจัดเก็บให้ และมีรายได้จากงบอุดหนุนของรัฐบาล พอมีเงินเหลือก็เอาไปฝากธนาคาร เงินไม่พอก็กู้แบงก์หรือกู้จากเงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียน เพราะฉะนั้น จึงไม่มี อปท. ไหนฐานะยากจน เรามีเงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาลคอยปล่อยกู้ให้กับ อปท. ที่ขาดสภาพคล่อง

ปัจจุบัน อปท. หรือเทศบาลใช้วิธีการกู้แบงก์ หรือกู้เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล ซึ่งทาง สถ. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ว่า ท้องถิ่นที่จะกู้เงินได้ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้ภายใน 10 ปี และจะต้องกันวงเงินกู้เอาไว้ใช้ในการบริหารงานภายใน อปท. ไม่น้อยกว่า 35% ของวงเงินกู้ที่ได้รับการอนุมัติ โดยท้องถิ่นที่ประสงค์จะกู้เงินต้องส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้ลงนามอนุมัติ แต่ถ้าวงเงินเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ

ส่วนเรื่องการออกพันธบัตรกู้เงิน เพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างบริการสาธารณะ ตอนนี้ยังไม่มี อปท. แห่งใดกล้าออกพันธบัตรมาระดมทุน เพราะกระทรวงการคลังยังไม่ยอมออกกฏหมายให้อำนาจ อปท. ออกพันธบัตรกู้เงินจากประชาชนได้โดยตรง เพราะเกรงว่า หากปล่อยให้แต่ละแห่งต่างคนต่างกู้โดยไม่มีการควบคุมให้ดี อาจจะทำให้กลายเป็นปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศได้

รอพ.ร.บ.งบประมาณ พร้อมแจกเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได

นอกจากงานให้บริการประชาชนในพื้นที่แล้ว ท้องถิ่นยังต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาลด้วย อย่างเช่น เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได

“ขณะนี้ผมได้รับนโยบายมาจากรัฐบาลแล้ว ทันทีที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก็ให้เริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดได้เลย และให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ด้วย หมายความว่า สำหรับผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน แต่ก่อนหน้านี้ได้รับเงินไปแค่ 500 บาท ก็ให้จ่ายเพิ่มไปอีกเดือนละ 100 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่กฏหมายงบฯ มีผลบังคับใช้ ส่วนผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับเงินเดือนละ 800 บาท แต่ได้รับแค่ 500 บาท ก็จ่ายเพิ่มให้อีก 300 บาท เป็นต้น คือจะจ่ายเป็นเงินตกเบิกย้อนหลังให้กับคนชรา”

สิ่งที่อยากจะฝากไปถึง อปท. ทั่วประเทศ คือ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ร่วมแรงร่วมใจกันให้บริการประชาชนกันอย่างเต็มที่ อำนวยความสะดวก บริการอย่างรวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้

อ่าน ประวัติอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น