ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ฝ่ายค้านเตรียมซักฟอกรัฐบาล 9-12 พย.นี้ จับ 2 เรื่อง “น้ำท่วมล้มเหลว-นิวไทยแลนด์ 9 แสนล้าน”

ฝ่ายค้านเตรียมซักฟอกรัฐบาล 9-12 พย.นี้ จับ 2 เรื่อง “น้ำท่วมล้มเหลว-นิวไทยแลนด์ 9 แสนล้าน”

4 พฤศจิกายน 2011


นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าวันที่ 9-12 พฤศจิกายนนี้ที่จะมีการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ประเด็นอภิปรายซักฟอกรัฐบาลที่เตรียมไว้ คือเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2555 กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2555 อีก 50,000 ล้านบาทและเตรียมแผนกู้เงินเพื่อมาทำโครงการนิวไทยแลนด์อีก 9 แสนล้านบาท

“ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่จะทำได้เลย เพราะจะทำหมดทุกอย่างทั้งนโยบายประชานิยมที่เคยหาเสียงเอาไว้ โครงการลงทุนระบบชลประทานครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “นิวไทยแลนด์” อีก ถ้าทำหมดทุกอย่างตามที่กล่าวมานี้ คงจะต้องมีการกู้เงินเป็นจำนวนมหาศาลเกินกว่าที่ฐานะการคลังจะรองรับได้ เพราะหวังว่าจะเรียกคะแนนเสียงกลับคืนมาให้ได้ หลังจากที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐประสบความล้มเหลว และตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นข้อมูลเลยว่ารัฐบาลจะไปหาเงินจากแหล่งใดมาใช้ในการทำโปรเจกต่างๆ ตามที่เคยประกาศเอาไว้”

นายกรณ์กล่าวต่อว่าเมื่อ 2–3 วันมานี้เพิ่งได้รับเอกสารงบประมาณปี 2555 จากรัฐบาลปึกใหญ่ๆ หลายเล่ม เป็นเอกสารแจกให้กับส.ส.ทั้งสภาฯในเวลาที่กระชั้นชิดมาก ยอมรับว่าคงจะเตรียมข้อมูลได้ไม่ทัน ดังนั้นประเด็นที่จะอภิปรายนั้น ในเรื่องของงบฯคงพูดโดยภาพรวม ไม่ลงลึกในรายละเอียดเป็นรายโครงการมากนัก แต่จะเชื่อมโยงไปที่เรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล เพราะไม่รู้ว่าบริหารอย่างไรประชาชนถึงต้องลอยคอกันทั่วกรุงเทพ โดยเฉพาะในช่วงที่ผมลงพื้นที่พบปะชาวบ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมามากพอสมควร

ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการออกกฎหมายพิเศษกู้เงิน 9 แสนล้านบาทเพื่อทำโครงการนิวไทยแลนด์ ตอนนี้ไม่มีประเด็นที่เป็นปัญหา เพราะตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดเพดานให้รัฐบาลก่อหนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 60 % ของจีดีพี ขณะนี้หนี้สาธารณะมีสัดส่วนแค่ 40 % ของจีดีพี ยังมีช่องทางให้กู้เพิ่มเติมได้ถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลกู้ 9 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 50 % ของจีดีพี ส่วนโครงการนิวไทยแลนด์คงจะต้องขอรอดูนโยบายของรัฐบาลให้ชัดเจนก่อน ถ้าเป็นนโยบายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่ถ้าเป็นโครงการลงทุนระยะ 3 – 5 ปี ก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน

อนึ่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ค.ร.ม.ได้อนุมัติมีการปรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2555 เพิ่มขึ้นอีก 50,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 2.33 ล้านล้านบาท เป็น 2.38 ล้านล้านบาท ทำให้ยอดขาดดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3.5 แสนล้านบาท เป็น 4 แสนล้านบาท

งบประมาณปี 2555
งบประมาณปี 2555

นอกจากการปรับเพิ่มวงเงินงบฯขึ้นไปอีก50,000ล้านบาทแล้ว ในวันที่ 18 ตุลาคม 2554 รัฐบาลได้มีการอนุมัติรายการที่เกี่ยวกับข้องกับการจัดสรรงบฯปี 2555 ไปหลายเรื่อง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ ค.ร.ม.ได้มอบหมายให้สำนักงานประมาณไปทำการทำลดงบประมาณในปี 2555 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อเตรียมกันวงเงินงบฯเอาไว้ใช้ในการเยียวยาฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ล่าสุดทางสำนักงบประมาณรายงานว่าได้ดำเนินการปรับลดงบฯของส่วนราชการกับรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของรัฐบาลไปแล้ว 70,000 ล้านบาท และยังได้มีการจัดสรรงบฯไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 10,000 ล้านบาท รวมแล้วในปี 2555 รัฐบาลจะมีงบฯที่จะนำไปแก้ปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมาอีก 80,000 ล้านบาท

แม้ว่างบฯปี 2555 ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ ตามกฏหมายงบประมาณให้อำนาจรัฐบาลเบิกจ่ายเงินงบฯออกไปใช้จ่ายล่วงหน้าพลางๆ ก่อนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2554 ซึ่งในการประชุมค.ร.ม.วันที่ 18 ตุลาคม ที่ประชุมได้อนุมัติงบกลางในหมวดรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไปใช้ สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) วงเงิน 6,000 ล้านบาท และใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีก 1,500 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ค.ร.ม.ได้อนุมัติวงเงินงบกลางในหมวดนี้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2,000 ล้านบาท วันที่ 17 ตุลาคม 2554 (ค.ร.ม นัดพิเศษ) อนุมัติงบกลางในหมวดนี้ไปสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)อีก 1,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมติให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นแบบขั้นบันได ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโดยกำหนดให้จ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี เดือนละ 600บาท,อายุ 70-79 ปี เดือนละ 700 บาท, อายุ 80-89 ปี เดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณรายจ่าย 2555 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ไปใช้วงเงินงบอุดหนุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล

ทั้งนี้เดิมเบี้ยยังชีพคนชราแบบคงที่เดือนละ 500 บาท อปท.มีภาระค่าใช้จ่ายปีละ 16,220 ล้านบาท เมื่อจ่ายเงินเป็นแบบขั้นบันได อปท.มีภาระค่าใช้จ่าย 52,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,008 ล้านบาท