ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สถาบันประกันเงินฝากการันตีผู้ฝากเงิน แม้เงินนำส่งรายปีลดลงจาก 28,000 ล้าน เหลือ 700 ล้าน

สถาบันประกันเงินฝากการันตีผู้ฝากเงิน แม้เงินนำส่งรายปีลดลงจาก 28,000 ล้าน เหลือ 700 ล้าน

16 กุมภาพันธ์ 2012


หลังจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่ประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ตัดสินใจเดินหน้าเรื่องการจัดเก็บอัตราเงินนำส่งของสถาบันการเงินให้ ธปท. เพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยไม่รอการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกำหนดจะแถลงผลคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ขัดมาตรา 184 กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 22 ก.พ. นี้ เวลา 14.00 น. หลังจากเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด คำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ) ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการกำหนดวงเงินนำส่ง 0.47% ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาด

ทั้งนี้วงเงินนำส่ง 0.47% ของฐานเงินฝากที่จัดเก็บจากธนาคารพาณิชย์นั้น นำส่งให้ ธปท. 0.46% และอีก 0.01% นำส่งสถาบนประกันเงินฝาก ซึ่งประเด็นการปรับลดเงินนำส่งเข้าให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากเพื่อเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเหลือ 0.01% จากเดิม 0.4% ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก (อ่าน คำแถลง “กิตติรัตน์” เคาะค่าต๋ง แบงก์พาณิชย์- แบงก์รัฐ 0.47% มั่นใจงวดแรกเริ่ม 31 ก.ค. นี้) เริ่มสร้างความกังวลใจให้กับผู้ฝากเงินว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีเงินเพียงพอรองรับการคุ้มครองเงินฝากในอนาคตหรือไม่ เพราะจำนวนเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเหลือปีละประมาณ 700 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับเงินนำส่งประมาณปีละ 28,000 ล้านบาท

ดร.นริศ ชัยสูตร ประธาน คณะกรรมการ สคฝ. (ขาว) กับ นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการ สคฝ. (ซ้าย)
ดร.นริศ ชัยสูตร ประธาน คณะกรรมการ สคฝ. (ขาว) กับ นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการ สคฝ. (ซ้าย)

ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กับ นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการ สคฝ. จึงออกมาแถลงเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2555 สร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงินว่า แม้จะมีการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก แต่เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่ดำเนินการจัดเก็บจากสถาบันการเงินในอัตรา 0.4% นับตั้งแต่จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเมื่อปี 2551 ปัจจุบันมีเงินอยู่ระดับใกล้เคียง 100,000 ล้านบาท เพียงพอรองรับการคุ้มครองเงินฝาก พร้อมกับประกาศจุดยืน เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่รัฐบาลดำเนินการ เนื่่องจากถ้าแก้ปัญหาหนี้ให้ลดลงได้ รัฐบาลจะได้มีเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลทางอ้อมให้สถาบันการเงินแข็งแรงด้วย

ทั้งนี้ เดิมในการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รัฐบาลได้ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นและประโยชน์ในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงิน และได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธปท. และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ร่วมกันศึกษาหลักการที่เกี่ยวข้องกับระบบการประกันเงินฝาก เช่น การกำหนดวงเงินประกันยอดเงินฝากที่เหมาะสม การกำหนดจำนวนและวิธีการกำหนดเบี้ยประกันที่เรียกเก็บจากสถาบันการเงินสมาชิกให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจในประเทศและข้อบังคับกฎหมายที่นำมาใช้ รวมทั้งประเมินโอกาสที่สถาบันการเงินจะล้มว่ามีประมาณเท่าไร โดยใช้โมเดลจากต่างประเทศในการประมาณการ ซึ่งในตอนนั้นมีการประเมินว่า ต้องมีเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก 200,000 ล้านบาท ถึงจะพอเพียง

“ตอนนั้น โมเดลที่คิดว่าเหมาะสมคือต้องมีเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก 200,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่มีอยู่ปัจจุบันครึ่งหนึ่ง แต่จากเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่คิดว่าจะมีความเสียหายไปถึงขนาดนั้น ปัจจัยสมติฐานที่ดูตอนนี้เชื่อว่าโอกาสเกิดปัญหาสถาบันการเงินมีน้อยมาก ดังนั้น โอกาสที่จะเร่งเก็บเงินนำส่งตอนนี้ให้ถึง 200,000 ล้านบาท อาจไม่จำเป็น และหากเร่งดำเนินการอาจทำให้ภาระการเยียวยาแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็จะด้อยประสิทธิภาพลงไป” ผู้อำนวยการ สคฝ.กล่าว

แม้เดิมจะมีการกำหนดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากให้ได้ 200,000 ล้านบาท แต่นายสิงหะยืนยืนว่า ไม่เคยมีการฟังธงว่าจะต้องเก็บให้ได้ภายในกี่ปี และคิดว่าในขณะนี้มีเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากอยู่เพียงพอ เพราะสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก และเรามีบทเรียนที่เจ็บปวดมาเมื่อปี 2540 ดังนั้น ทุกคนระมัดระวังความเสี่ยงมากกว่าเดิม และเศรษฐกิจไทยก็ยังไปได้ดีหลังน้ำท่วม หากเศรษฐกิจดี ผลพวงในการที่สถาบันการเงินจะย่ำแย่ลงไปก็คงไม่มี นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีกระบวนการเข้าแก้ปัญหาสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้เร็วกว่าในอดีตที่กว่าจะดำเนินการได้มีความล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหายมาก

“ปัจจุบัน โอกาสที่จะเกิดปัญหากับสถาบันการจึงเงินค่อนข้างจะน้อย เพราะมีกระบวนการพยายามเข้าไปแก้ปัญหาข้อบกพร่องสถาบันการเงินหลายมาตรการ โอกาสที่จะนำสู่การปิดสถาบันการเงิน แล้วเราต้องดำเนินการจ่ายเงินคุ้มครองเงินฝากมีโอกาสน้อยมาก” นายสิงหะกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเกิดเหตุที่ไม่ควรจะเกิดหรือเกิดอุบัติเหตุต่อสถาบันการเงิน ดร.นริศ ระบุว่า ขอให้มั่นใจว่าดูแลได้ เพราะ สคฝ. เป็นส่วนหนึ่งของราชการ และคณะกรรมการ สคฝ. มีตัวแทนจาก ธปท. อัยการ กระทรวงการคลัง จึงมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานราชการเข้าแก้ไขปัญหาดูแลผู้ฝากเงิน

“สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะฉะนั้น ไม่อยากให้ประชาชนกังวลใจ ขอให้มั่นใจว่าเราดูแลผู้ฝากเงินได้” ดร.นริศกล่าว