ThaiPublica > เกาะกระแส > คำแถลง “กิตติรัตน์” เคาะค่าต๋งแบงก์พาณิชย์–แบงก์รัฐ 0.47% มั่นใจเริ่มงวดแรก 31 ก.ค. นี้

คำแถลง “กิตติรัตน์” เคาะค่าต๋งแบงก์พาณิชย์–แบงก์รัฐ 0.47% มั่นใจเริ่มงวดแรก 31 ก.ค. นี้

13 กุมภาพันธ์ 2012


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: http://www.bloomberg.com/image/it9daYOG9Nmo.jpg
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: http://www.bloomberg.com/image/it9daYOG9Nmo.jpg

ในที่สุด กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้เคาะตัวเลขการนำส่งเงินให้ ธปท. เพื่อไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหนี้พันธบัตรกระทรวงการคลัง ที่ออกชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมียอดคงค้างจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ในอัตรา 0.46% และนำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพียง 0.01% รวมแล้วธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งเงิน 0.47% หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.07% ซึ่งน้อยกว่าแนวทางที่เคยหารือไว้ (อ่าน เปิดสูตรคลัง-แบงก์ชาติ 5 แนวทาง เก็บเงินแบงก์แก้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ )

ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจ หรือสถาบันการเงินของรัฐ จากเดิมที่กระทรวงการคลังยืนยันมาตลอดว่าจะไม่เก็บเงินนำส่ง ก็ต้องนำส่งเงิน 0.47% เท่ากับธนาคารพาณิชย์ แต่ให้นำเงินดังกล่าวส่งเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาประเทศ ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ไม่ได้นำเงินไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เหมือนกรณีธนาคารพาณิชย์

ผลการหารือดังกล่าว ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 โดยกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล และภายหลังการหารือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงว่า มีการหารือในประเด็นที่จะปฏิบัติตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.ก. ดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าต้องหารือให้ชัดเจน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งนอนใจ

ทั้งนี้ ในการหารือ มีข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเบื้องต้นว่า อัตราเงินเรียกเก็บที่ ธปท. จะเรียกเก็บจากฐานเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นฐานเดียวกับที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากเรียกเก็บ ซึ่งอัตราส่วนทั้งสองที่เรียกเก็บจะเป็นอัตรารวมกันที่ 0.47% ดังนั้น ในส่วนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รัฐบาลจะประสานให้กำหนดอัตราจัดเก็บอยู่ที่ 0.01% และอัตราเรียกเก็บจาก ธปท. จะอยู่ที่ 0.46%

“เป็นอัตราที่ ธปท. คำนวณแล้วเพียงพอชำระดอกเบี้ยได้ แล้วค่อยๆ ลดเงินต้นลง งวดแรกๆ อาจไม่ต้องรีบลดลง และคำว่า “จะต้องหมดในกี่ปี” เรื่องนี้ไม่อยากให้ความสำคัญกับมันมาก เพราะในอดีต หนี้ก้อนนี้ดูเหมือนไม่มีวันจบเพราะไม่มีใครสนใจจะดูแล แม้กระทั่งดอกเบี้ยก็ไม่เคยเพียงพอ ต้องตั้งงบประมาณไปดูแล และต่อไปนี้ไม่ต้องตั้งงบประมาณแล้ว และหนี้อันนี้ก็จะลดเงินต้นไปเรื่อย เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปเร่งรัด” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ในประเด็นเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่เป็นของรัฐ มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการปฏิบัติลักลั่น ประเด็นนี้ตนทราบ แต่ไม่ค่อยเป็นประเด็นที่มีใครใส่ใจในอดีต ที่จะหยิบยก หรือแม้แต่นำมาพิจารณาแก้ไขปัญหา และไม่จำเป็นต้องดึงสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาดูแลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถดูแลให้ปฏิบัติไม่ลักลั่น หรือลักลั่นน้อยลง ความหมายคือว่า กระทรวงการคลังจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีการกำหนดอัตราเรียกเก็บจากสถาบันการเงินของรัฐในอัตราเท่ากัน คือ 0.47% เพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนาประเทศที่จะพิจารณาจัดตั้งขึ้นใหม่ และจะนำเงินในกองทุนนี้ไปสนับสนุนพันธกิจของสถาบันการเงินของรัฐ โดยจะมีคณะกรรมการที่จะมาพิจารณาเรื่องนี้ให้ชัดเจน ไม่ต้องกังวล

“ผมทราบดี เวลาตั้งอะไรขึ้นมาจะมีความกังวลความเสี่ยงนั้นความเสี่ยงนี้ เพราะฉะนั้น (เงินกองทุนพัฒนาประเทศ) จะไม่ใช่เงินที่รัฐมนตรีคลังหรือบุคลากรทางการเมืองจะไปพูดหรือปฏิบัติ ไปชี้นำว่าจะนำเงินไปทำอะไรต่างๆ ได้ รวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐต้องมีส่วนรวมพิจารณาด้วย”

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การตั้งข้อสังเกตสถาบันการเงินของรัฐได้เปรียบสถาบันการเงินเอกชน แต่ถ้ามองภารกิจหลายเรื่องที่สถาบันเฉพาะกิจของรัฐมีหน้าที่เข้าไปดูแล เนื่องจากระบบธนาคารธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่สนใจเข้าไปดูแลพื้นที่ดังกล่าว เช่น การดูแลสินเชื่อเกษตรกรรายย่อย การดูแลให้ผลิตผลทางการเกษตรมีระดับราคาที่มีเสถียรภาพ การจัดวงเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตร หรือสินเชื่อขนาดกลางขนาดย่อมในส่วนที่ควรได้รับการส่งเสริม ยังเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐอยู่

“สถาบันการเงินของรัฐจะต้องมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน เวลานี้ การกำหนดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า ภารกิจทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งช่วยประคับประคองให้ประเทศมีความเข้มแข็งในระบบเงินฝาก อีกด้านหนึ่งช่วยพัฒนาประเทศ”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังกล่าวว่า การดำเนินการตรงนี้ มั่นใจว่าจะมีการดำเนินการผ่านศาลรัฐธรรมนูญ และมีการดำเนินการผ่านกระบวนการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถ้ากระบวนการส่วนนี้เรียบร้อย กำหนดการจัดเก็บครั้งแรก 31 ก.ค. 2555 และน่าจะนำไปสู่การที่รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณดำเนินการในส่วนนี้ ในปีงบประมาณประจำปี 2556 และการดำเนินการให้หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ไม่เป็นภารต่องบประมาณ ก็จะทำให้มั่นใจได้ว่า หนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจะได้รับการดูแลอย่างดี หนี้เก่าก็ไม่ได้ถูกซุกซ่อนอยู่ใต้พรมเป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้รับการแก้ไข เพราะว่าแนวทางแก้ไขทั้งการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นมีความชัดเจน

สำหรับเงินในส่วนที่จะจัดเก็บจากสถาบันการเงินของรัฐ ในอัตราที่เท่ากันกับเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์นั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า จะนำเงินไปพัฒนาประเทศในส่วนอื่นๆ ดังนั้น ในแง่การปฏิบัติเพื่อให้เท่าเทียมกันได้ถูกแก้ไข ส่วนการคุ้มครองเงินฝากก็เช่นเดียวกัน คือ สถาบันการเงินของรัฐได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะธนาคารออมสิน มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ดังนั้น ไม่เชื่อว่าจะมีผู้ใดไปปรับลดการคุ้มครองเงินฝากเหล่านี้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติในเรื่องความเท่าเทียมกัน และให้มีความลักลั่นน้อยลงหรือใกล้เคียงกัน และทบทวนการคุ้มครองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เอกชนให้สูงขึ้นกว่าที่พิจารณาไว้เดิม

“ปัจจุบันเขาค้ำประกันกันน้อยนิด จะมีผลเดือนสิงหาคมนี้ ผมให้แนวทางไป ให้กลับไปทบทวนพิจารณาดูว่า จะดูแลเงินฝากของผู้ฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้แค่ไหน ขณะนี้การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินโดยที่ ธปท. ได้ดูแลสถาบันการเงินใกล้ชิดอยู่แล้ว การที่เราจะให้ความเชื่อมั่นพี่น้องผู้ฝากเงินสูงขึ้น ผมเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้”

นายกิตติรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความตั้งใจเดิมทราบว่า อยากให้มีเงินนำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ได้ระดับ 2 แสนล้านบาท แต่เชื่อจริงๆ หรือว่าเงิน 2 แสนล้านบาท เพียงพอต่อการคุ้มครองระบบเงินฝาก ถ้าน้อยเกินไปต้องการเพิ่มเป็น 5 แสนล้าน หรือเป็น 8 แสนล้านบาท แต่ระบบเศรษฐกิจไหนจะเอาเงินมากองมากๆ เพื่อรองรับความมั่นใจผู้ฝากเงินที่จะได้ความคุ้มเงินฝาก ประเทศควรจะนำเงินจำนวนมากๆ มากองเพียงเพื่อบอกว่าเราน่าเชื่อถือจริงๆ หรือเปล่า

“กระบวนการทำงานในการตรวจสอบกำกับดูแลของ ธปท. ที่มีต่อธนาคารพาณิชย์ ต่อสถาบันการเงินต่างหาก ที่ยืนยันว่าสถาบันการเงินของเรามีความเข้มแข็ง ขอให้ผู้ฝากเงินมั่นใจได้ ขอให้เราเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ และกลับไปสำรวจดูแลผู้ฝากเงินให้เข้มแข็งกว่านี้ ซึ่งถ้าจะถามว่าวิธีคิดเดิมเป็นอย่างไร วิธีคิดใหม่เป็นอย่างไร ก็สามารถชี้แจงได้ แต่อยากเรียนว่า การจะดูแลหนี้สาธารณะ ให้เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข รวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐด้วย” นายกิตติรัตน์

นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า “คุณมั่นใจการกำกับของ ธปท. ต่อธนาคารพาณิชย์ไหม ผมต้องมอบหมายไปว่า กลับไปพิจารณาแล้วจะคิดออกเอง กลับไปพิจารณากันก่อน ผมไม่เห็นด้วย จะคุ้มครองน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น จะคุ้มครองมากกว่านี้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันคุ้มครองเงินฝากควรกลับไปพิจารณากัน”

ทั้งนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากโดยทยอยลดการคุ้มครองในช่วง 5 ปี นับตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อ 11 ส.ค. 2551 โดยปี 3 ปีแรก (11 ส.ค. 2551 – 10 ส.ค. 2554) คุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ปีที่ 4 (11 ส.ค. 2554 – 10 ส.ค. 2555) ลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือเกิน 50 ล้านบาทต่อบัญชี และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2555 เป็นต้นไป จะคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท (ดูข้อมูลเพิ่มเติม)